วันเสียงปืนแตก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


7 สิงหาคม 2508 วันเสียงปืน

ทั้งในแวดวงขบวนการฝ่ายซ้ายไทย(นักศึกษา, ปัญญาชน, กรรมกร, ชาวนา และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) นักปราบคอมมิวนิสต์ และผู้สนใจการเมืองไทยสมัยใหม่ต่างก็ถือกันว่า วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ในฐานะ “วันเสียงปืนแตก” เพราะเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เกิดการปะทะด้วยอาวุธปืนกับกองกำลังตำรวจฝ่ายรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกที่บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จังหวัดนครพนม หลังจากทำงานเคลื่อนไหวจัดตั้งชาวนาอยู่ในชนบทโดยการหลีกเลี่ยงการปะทะกับทหารของรัฐบาลมาเป็นเวลานานหลายปี

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 พรรคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ได้เปิดการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองขยายวงขึ้นที่ภูพาน เพื่อพิจารณากรณีนี้ และได้มีมติ 2508 ให้ประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตชนบทอย่างเป็นทางการเพื่อป้องกันตนเองและตอบโต้การปราบปรามของฝ่ายรัฐบาล โดยให้ค่อยๆ เปิดทีละเขตงานตามเงื่อนไขที่เป็นไปได้ จากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ประกาศให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็นวันเสียงปืนแตกและเป็นวันเริ่มต้นของสงครามประชาชนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ประกาศจัดตั้งกองกำลังอาวุธของฝ่ายประชาชนในชื่อ “พลพรรคประชาชนต่อต้านอเมริกาแห่งประเทศไทย” (พล ปตอ.)[1]

อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึง “วันเสียงปืนแตก” ในปัจจุบันนี้ ยังไม่เป็นเอกฉันท์ เนื่องจากได้มีนักประวัติศาสตร์บางท่านเสนอหลักฐานโต้แย้งอย่างมีน้ำหนัก ข้อเสนอของเขาซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้าก็คือ “วันเสียงปืนแตก” ไม่ใช่วันที่ 7 แต่เป็นวันที่ 8 สิงหาคม 2508

ก่อนจะถึง “วันเสียงปืนแตก”

อาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ถอนผู้ปฏิบัติงานจากเมืองไปจัดตั้งมวลชนชาวนาในชนบทตาม “แนวทางชนบทล้อมเมืองและยึดเมืองในที่สุด” ก็คงไม่มี “วันเสียงปืนแตก” เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า แรกเริ่มเดิมที พคท. ไม่ได้คิดที่จะใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ กล่าวคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2485 และนับจากนี้จนถึงวันเสียงปืนแตก พคท. ได้มีจัดการประชุมสมัชชาพรรคขึ้นถึง 3 ครั้งโดยแต่ละครั้งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายการทำงานที่ต่อมาจะไปเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของวันเสียงปืนแตกอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ ในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 พรรคได้ออกนโยบาย 10 ข้อโดยพุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างแนวร่วมต่อต้านญี่ปุ่นและรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามซึ่งร่วมมือกับญี่ปุ่น ในระยะนี้พรรคได้ส่งผู้ปฏิบัติงานไปทำงานจัดตั้งกรรมกรในโรงงานให้ลุกขึ้นกู้ชาติ

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 พคท. ได้จัดการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 ขึ้น นโยบายของ พคท. ในช่วงนี้คือ ยอมรับบทเรียนการปฏิวัติจากประเทศจีนซึ่งสำเร็จในปี 2492 โดยได้รับเอา “ความคิดเหมาเจ๋อตุง” มาเป็นความชี้นำของพรรคเช่นเดียวกับลัทธิมาร์กซ-เลนิน และผ่านมติให้สนใจชนบทมากขึ้น เพื่อเน้นการจัดตั้งชาวนา เพราะถือว่าชาวนาเป็น “ทัพหลวง” เป็นพลังดันที่สำคัญที่สุดของการปฏิวัติ และการปฏิวัติจะดำเนินไปได้ก็ต้องมีการสร้างพันธมิตรกันระหว่างกรรมกรและชาวนาให้แน่นแฟ้น[2] อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ พคท. ยังไม่ได้มีการประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างเป็นทางการ

ต้องรอจนถึงหลังปี พ.ศ. 2504 เมื่อ พคท. จัดการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 ขึ้นที่กรุงเทพมหานครและมีนโยบายให้มีการต่อสู้ทุกรูปแบบโดยใช้ชนบทอันกว้างใหญ่เป็นฐาน ปลุกระดมชาวนาให้ลุกขึ้นสู้ หลังการประชุมได้ตระเตรียมที่จะก่อตั้งกองทัพขึ้นในชนบทและได้ตั้งโรงเรียนการทหารของพรรคในเขตลาวขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รวม วงศ์พันธ์ ซึ่งเป็นสมาชิกกรมการเมืองถูกจับและถูกประหารชีวิตโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนเมษายน 2504 คณะกรรมการกรมการเมืองของ พคท. ก็ได้ตัดสินใจเร่งปรับขบวน โดยได้ถอนผู้ปฏิบัติงานของพรรคเข้าสู่ชนบทมากขึ้น และตระเตรียมที่จะย้ายศูนย์การนำไปสู่ชนบทเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกปราบปราม และในที่สุด พคท. ก็ได้ย้ายศูนย์การนำไปสู่เขตภูพาน ทางภาคอีสานเหนือ [3]

หลังจากนั้น แม้ว่า พคท. จะมีนโยบายให้ผู้ปฏิบัติงานเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนชาวนาโดยพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล ดังที่ วิรัช อังคถาวร ผู้นำคนสำคัญของ พคท. ในช่วงเวลานั้น เล่าว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px ก่อนกลางปี 2508 เราหลีกเลี่ยงการปะทะเพื่อช่วงชิงสร้างพื้นฐานมวลชน ความจริงก่อนสมัชชา 3 เราก็ได้ทำงานในชนบทแล้ว มีบางระยะก็คิดจะต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่เวลาส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างนั้น เมื่อแดงเข้าก็โยกย้ายผู้ปฏิบัติงาน มาถึงช่วงนี้เราได้ค้นพบวิธีใหม่คือเมื่อแดงแล้วไม่ย้ายจากท้องที่นั้น แม้อยู่บ้านไม่ได้ก็ออกมาอยู่ป่าทำการเคลื่อนไหวมวลชนต่อไป ส่วนศัตรูเล่า ก็สนใจค้นหาพวกเราตามหัวไร่ปลายนาป่าดงใกล้หมู่บ้าน ดังนั้น ถึงแม้เราจะอยู่ในป่าและคอยหลบหลีกก็ไม่อาจหลบเลี่ยงการปะทะกับศัตรูได้ ต่อมาการปะทะก็เกิดขึ้น [4] width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

แต่ดูเหมือนว่า ความพยายามนี้จะไร้ผล เพราะในอีก 4 ปีต่อมา ก็ได้เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธอย่างรุนแรงระหว่างผู้ปฏิบัติงานของ พคท. กับ กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลในวันที่ 7 สิหาคม 2508 ที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ซึ่งต่อมาเหตุการณ์ครั้งนี้จะกลายเป็นตำนานที่รู้จักกันดีในฐานะ “วันเสียงปืนแตก”

ร่องรอยและความทรงจำเกี่ยวกับ “วันเสียงปืนแตก”

แม้ “วันเสียงปืนแตก” จะเป็นวันที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ แต่อาจกล่าวได้ว่า มีหลักฐานไม่มากนักที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวันที่ 7 สิงหาคม 2508 หรือ “วันเสียงปืนแตก” เอกสารภายในของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ชื่อ “ประวัติการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยสังเขป” ซึ่งเขียนขึ้นราวปี พ.ศ. 2520 ระบุโดยย่อว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px

4. ระยะหลังการประชุมสมัชชาครั้งที่ 3 จนถึงปัจจุบัน หลังการประชุมสมัชชาครั้งที่ 3 ถึง 7 ส.ค.

          หลังสมัชชาฯครั้งที่ 3 ผู้ปฏิบัติงานชั้นนำของพรรคทยอยกันเข้าสู่ชนบท ร่วมกันอยู่ร่วมกันทำงานกับสมาชิกพรรคและมวลชนปฏิวัติในป่าเขา ปลุกระดมชาวนาเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ บ่มเพาะผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆโดยเฉพาะในด้านการทหาร

          วันที่ 17 พ.ค. 2505 จักรพรรดินิยมอเมริกาส่งทหารเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2506 กรมการเมืองของพรรคมีมติให้เริ่มดำเนินการตระเตรียมสร้างฐานที่มั่นในเขตป่าเขา

          งานในชนบทของพรรคนับวันขยายตัวออกไป ศัตรูได้พยายามติดตามและปราบปรามอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดวันที่ 7 สิงหาคม 2508 เสียงปืนประเดิมชัยก็ได้ระเบิดขึ้นที่บ้านนายัง ต.เรณูนคร อ.ท่าพนม [บ้านนาบัว ต.เรณูนคร อ. ธาตุพนม-ผู้อ้าง] จ.นครพนม สงครามปฏิวัติประชาชนได้เริ่มขึ้นแล้ว เสียงปืน “7 สิงหา” กระเทือนไปทั่วประเทศไทย ชนชั้นปกครองปฏิกิริยาตกใจมาก จึงส่งกำลังออกปราบปรามกองกำลังอาวุธปฏิวัติอย่างขนานใหญ่หวังจะตัดไฟแต่ต้นลม แต่พวกมันก็ประสบความล้มเหลว[5]

width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

จากข้อมูลที่อ้างมาข้างบน จะเห็นได้ว่า แม้แต่ประวัติ พคท. ที่เขียนโดย พคท. เอง ก็ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับ “วันเสียงปืนแตก” น้อยมาก การเขียนถึง “วันเสียงปืนแตก” โดยไม่ให้รายละเอียดอะไรเลยแบบนี้ ยังสามารถเห็นได้อีกในข้อเขียนเกี่ยบกับประวัติ พคท. ชื่อ “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา” ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2520 โดยผู้นำระดับสมาชิกกรมการเมืองของพรรคอย่าง วิรัช อังคถาวร ดังนี้

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px กรณี “7 สิงหาคม” เป็นการปะทะครั้งใหญ่ครั้งแรก ครั้งนี้ศัตรูมาล้อม เราเสียสหายคนหนึ่ง ศัตรูชั้นนายสิบตำรวจตาย 1 คน นายพันตำรวจโทขาหัก 1 คน นี่เป็นกรณีใหญ่ ข่าวดังไปทั่วประเทศ ศัตรูได้รู้แน่ชัดว่า พรรคคอมมิวนิสต์เตรียมต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ละหน่วยงานมีปืน ขณะนั้นเราใช้ป้องกันตนเอง[6] width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

แม้ว่า “7 สิงหา วันเสียงปืนแตก” จะเป็นกรณีที่มีคนรู้และให้รายละเอียดน้อยมาก แต่ “7 สิงหา วันเสียงปืนแตก” ก็ยังคงเป็นวันแห่งตำนานของ พคท. มาเป็นเวลายาวนาน หลายปีต่อมาเมื่อ อุดม สีสุวรรณ อดีตสมาชิกกรมการเมืองของ พคท. และอดีตประธานคณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย (กป.ชป.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2522 ผู้ประกาศแยกตัวจาก พคท. และเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ในปี 2525 เขียนถึง “วันเสียงปืนแตก” ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 เขาก็เล่าถึงกรณีนี้อย่างสั้นๆ แต่ดูมีชีวิตชีวาขึ้นว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px แต่อย่างไรก็ดี คนเขตนี้ได้สร้างความโด่งดังให้แก่ถิ่นของตนเองจนเลื่องลือออกไปทั่วประเทศและทั่วโลก นั่นก็คือ “สหายเสถียร” ที่อยู่ภายใต้การนำของขุนรมย์ ได้เป็นผู้สร้างวันเสียงปืนแตก “7 สิงหาคม 2508” ที่หมู่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร ไม่ห่างจากหมู่บ้านนาขามเท่าไรนัก โดยหน่วยลาดตระเวณของ “สหายเสถียร” ได้ปะทะกับกำลังของตำรวจเข้าโดยบังเอิญ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็เกิดยิงกันขึ้น “สหายเสถียร” ได้ยิงคุ้มกันให้สหายของตนถอยออกไปได้ แต่ตนเองต้องตกอยู่ในที่ล้อม จนมุมอยู่แคมคันนากลางทุ่งกว้าง และเสียชีวิต ณ ที่นั้น

เสียงปืนที่ดังขึ้นในวันนั้นกับการเสียชีวิตของ “สหายเสถียร” เป็นคนแรกนั้น ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็น “ทางการ” ว่า นั่นก็คือเสียงปืนที่ประกาศสงครามของขบวนปฏิวัติ[7]

width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ “วันเสียงปืนแตก”

แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า วันที่ 7 สิงหาคม 2508 คือ “วันเสียงปืนแตก” ซึ่งเป็นวันที่ พคท. ทำการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นก็ตาม แต่ในหลายปีต่อมาก็ได้มีผู้ตั้งข้อโต้แย้งว่า การปะทะกันทางอาวุธครั้งแรกระหว่าง พคท. กับ กองกำลังตำรวจ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “วันเสียงปืนแตก” นั้น ไม่น่าจะใช่วันที่ 7 สิงหาคม 2508 แต่เป็นวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ผู้ตั้งข้อโต้แย้งที่ว่าก็คือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเสนอว่า “เหตุการณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันภายหลังในฐานะ ‘วันเสียงปืนแตก’ เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2508 ไม่ใช่วันที่ 7 สิงหาคม 2508”[8]

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยืนยันข้อเสนอของเขาโดยการอ้างข้อมูลที่ได้จาก บางกอกโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษเพียงฉบับเดียวที่ติดตามและตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์มาอย่างต่อเนื่อง รายงานข่าวของบางกอกโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 เกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างคอมมิวนิสต์กับตำรวจในวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ซึ่งสมศักดิ์แปลเป็นภาษาไทย มีข้อความดังนี้

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
ระดมกวาดล้างพวกแดงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          หลังจากการรบในจังหวัดนครพนมเมื่อวานนี้ซึ่งมีรายงานว่า ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 2 นาย ได้มีคำสั่งให้กวาดล้างให้สิ้นซาก กลุ่มคนที่น่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ติดอาวุธกลุ่มแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย 1 ในผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต ตำรวจในท้องที่อาจจะได้รับการช่วยเหลือจากทหารในการระดมกวาดล้างนี้ถ้าจำเป็น ตามการบอกเล่าของ พ.ต.อ. สงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสในการสู้รบ พวกผู้ก่อการร้ายได้รับการฝึกฝนมาจากขบวนการประเทศลาวในลาว
การรบ
          ผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ถูกกำลังตำรวจหน่วยหนึ่งไล่ล่าติดตามและเข้าโจมตีเมื่อวานนี้ในป่าจังหวัดนครพนมใกล้กับแม่น้ำโขงตรงข้ามกับลาว มีรายงานว่า ตำรวจ 1 นาย ส.ต.อ. ไพรัตน์ นิ่มดวง เสียชีวิต พ.ต.อ. สงัด ซึ่งนำกำลังตำรวจดังกล่าวด้วยตัวเอง ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุน 3 นัด เขาถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯ โดยเฮลิคอปเตอร์และนำส่งโรงพยาบาลตำรวจเมื่อคืนนี้ เขายังไม่ทราบข่าวการเสียชีวิตของ 1 ในตำรวจลูกน้องของเขา พล ต.ต. เอื้อ เอี่ยมพันธ์ ผู้บัญชาการตำรวจภาคสี่ (ซึ่งคลุมนครพนม) ได้สั่งให้ส่งกำลังตำรวจไปเสริมในพื้นที่แล้ว
พ.ต.อ. สงัด ซึ่งทางโรงพยาบาลประกาศว่าได้พ้นขีดอันตรายแล้วเมื่อเช้านี้ว่า:
          “ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนในสงครามกองโจรจากขบวนการประเทศลาว ในจังหวัดมหาชัยของลาว พวกเขาหลบซ่อนตัวอย่ในป่าบริเวณรอยต่ออำเภอนาแก เรณู และธาตุพนม” ผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ลงมือลอบสังหารหลายราย ในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ ผู้ถูกฆ่ารวมถึงถึงนายตำรวจผู้ใหญ่บ้านกำนันและผู้เป็นสายให้ตำรวจ หลังจากรู้ที่ซ่อนล่าสุดของผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ พ.ต.อ. สงัด ได้นำกำลังตำรวจ 20 นาย รีบรุดไปยังจุดนั้น โดยเดินทางตลอดคืนวันเสาร์
การรบ
          ประมาณ 07.00 น. เมื่อวานนี้ กำลังตำรวจก็พบกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายประมาณ 15 คน พ.ต.อ. สงัด นำการรบด้วยตัวเอง โดยมีเพียงปืนขนาด .22 ม.ม. เมื่อผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้าหา พ.ต.อ. สงัดได้ยิงด้วยปืนของเขา แต่ลูกกระสุนมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะทำอันตรายผู้โจมตีได้ พ.ต.อ. สงัด จึงพุ่งไปข้างหน้าเพื่อคว้าตัวผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าใกล้กัน ผู้ก่อการร้ายคนนั้นได้ยิงใส่เขา 3 นัด กระสุนนัดหนึ่งเข้าทางไหล่ซ้ายเขา ทะลุออกด้านหลังตรงซี่โครงซ้าย อีกนัดหนึ่งทะลุผ่านน่องขวาของเขา ส่วนนัดที่ 3 ทะลุเท้าเขาข้างหนึ่ง แล้วผู้ก่อการร้ายที่โจมตีเขา ก็ถูกตำรวจนายหนึ่งยิงตาย ตำรวจอีกนายหนึ่ง ส.ต.อ. เฉลิมพล ยวนชมพลซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ พ.ต.อ. สงัดก็ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน
          พ.ต.อ. สงัด และ ส.ต.อ. เฉลิมพล ได้รับการนำตัวออกจากพื้นที่สู้รบด้วยเกวียนควายลาก ขณะเดียวกับที่ได้ส่งข่าวขอความช่วยเหลือจากเฮลิคอปเตอร์ เฮลิคอปเตอร์เครื่องหนึ่งได้รับการส่งไปจากตัวจังหวัดนครพนม และบินนำ พ.ต.อ. สงัด เข้ากรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรีถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดและพล อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และเสนาธิการทหารสูงสุดได้ส่งดอกไม้ไปให้กำลังใจแก่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ ส.ต.อ. เฉลิมพลได้รับการประกาศว่าพ้นขีดอันตรายเช่นเดียวกัน นายแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ทำการใส่เหล็กดามขาข้างที่ถูกกระสุนของ พ.ต.อ. สงัด พ.ต.อ. สงัด ได้ทำงานอย่างแข็งขันมาหลายปีในการต่อสู้กับการแทรกซึมและบ่อนทำลายของคอมมิวนิสต์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          เกี่ยวกับการรบครั้งนี้ ถวิล สุนทรศารทูล ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า “นี่อาจจะหมายความว่าคอมมิวนิสต์กำลังเริ่มต้นสงครามกองโจรในประเทศไทย” ถวิลยืนยันว่า รัฐบาลมีคำสั่งให้ใช้ความพยายามเต็มที่เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เขากล่าวด้วยว่า พวกผู้ก่อการร้ายได้ทิ้งใบปลิวคอมมิวนิสต์ไว้เป็นจำนวนมาก[9]
width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

อีกหนึ่งปีต่อมาข้อเสนอนี้ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ได้ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้งโดย พุทธพล มงคลวรวรรณ ในวิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิตของเขาที่ชื่อ “ขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตภูพาน พ.ศ. 2504 - 2525” อย่างไรก็ตาม พุทธพลได้ค้นข้อมูลจำนวนหนึ่งเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อเสนอนี้ เอกสารที่สำคัญก็คือเอกสารของกรมตำรวจซึ่งถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมถึงการสัมภาษณ์อดีตสหายที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ด้วย

สำหรับหัวข้อ “เสียงปืนแตก 8 สิงหาคม พ.ศ. 2508” พุทธพลเสนอว่า การปะทะกันระหว่างกองป่าที่ทำการเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้การนำของผู้ปฏิบัติงานพรรคชื่อ ขุนรมย์ จิตมาตย์ กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลในที่ราบแถบเรณูนคร จังหวัดนครพนม และต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของ พคท. ในฐานะ “วัน 7 สิงหา” หรือ “วันเสียงปืนแตก” นั้น แท้ที่จริงแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2508

พุทธพลให้รายละเอียดว่า ในช่วงหัวค่ำกองป่าจำนวน 8 คนได้เข้าไปทำงานมวลชนที่เถียงนาบ้านนาบัว แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ล่วงรู้ไปถึงสายลับตำรวจ หนูลา จิตมาตย์ หนึ่งในกองป่า 8 คนนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับ ธันวา ใจเที่ยง ว่า ฝ่ายกองป่าเองก็ทราบข่าวการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่จากชาวบ้านเช่นเดียวกัน หนูลาจึงบอกให้ชาวบ้านไปเตือนสหายที่นอนพักอยู่บริเวณริมห้วยบังให้หลบออกไปก่อน แต่เมื่อเสร็จจากงานในเวลาประมาณ 21 นาฬิกา เขาก็กลับไปนอนที่เดิม ในขณะที่สหายที่นอนพักก็ยังคงนอนพักอยู่ในจุดเดิมที่หนนูลาเตือนให้ย้ายที่ตั้ง

จนกระทั่งเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ขณะที่ผู้ปฏิบังาน พคท. กำลังนอนพักผ่อนอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้นำกำลังมาล้อมปราบในเวลาประมาณ 7 นาฬิกา โดยใช้การโอบล้อมแบบพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวและยิงปืนใส่สหายที่กำลังนอนหลับอยู่ การปะทะครั้งนี้ส่งผลให้ฝ่าย พคท. เสียชีวิต 1 คนคือ สหายเสถียร ซึ่งทางการระบุว่า คือ นายยน คำเผือก ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 คน คือ ส.ต.อ. ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง บาดเจ็บสาหัสอีก 2 คน คือ พ.ต.อ. สงัด โรจนภิรมย์ และ ส.ต.ต. มนต์ชัย โพธิดอกไม้[10]

ในวันเกิดเหตุ นายสวัสดิ์ ยะสารวรรณ รักษาการณ์แทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ก็ได้ส่งโทรพิมพ์ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px พ.ต.อ. สงัด โรจนภิรมย์ พร้อมด้วยกำลังตำรวจประมาณ 30 คน ได้ไปล้อมจับพวกคอมมิวนิสต์ที่บริเวณป่าบ้านดงอีนำ ต.พระซอง อ.นาแก วันนี้ เวลา 07.00 น. ได้เกิดยิงต่อสู้กัน คนร้ายตาย 1 คน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ส.ต.อ. ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง ถูกยิงตาย พ.ต.อ. สงัด โรจนภิรมย์ ถูกยิงที่ขาขวาท่อนล่างและถูกที่เหนือราวนมขวา 1 นัด หลังเท้าขวา 1 นัด ส.ต.ต. มนต์ชัย โพธิดอกไม้ ถูกยิงขาขวาทะลุ นอกนั้นยังไม่ทราบรายละเอียด ได้ติด บฮ. ของทหารอเมริกันไปรับคนเจ็บนำส่ง รพ. แล้ว กำลังที่เหลือได้ติดตามคนร้ายต่อไป[11] width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

อาจกล่าวได้ว่า แม้จะดูเหมือนเป็นเพียงประเด็นเล็กๆ แต่ก็ถือได้ว่า จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถระบุ “วันเสียงปืนแตก” ที่ชัดเจนเป็นเอกฉันท์ได้ เนื่องจากหลักฐานที่ถูกนำมาโต้แย้งว่า “วันเสียงปืนแตก” เป็นวันที่ 8 สิงหาคมไม่ใช่วันที่ 7 สิงหาคมนั้น ค่อนข้างมีน้ำหนักและมีความน่าเชื่อถือมากพอสมควร แต่ไม่ว่าจะเป็นวันใดก็ตาม “วันเสียงปืนแตก” ก็ยังคงเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

ธันวา ใจเที่ยง. “วันเสียงปืนแตก” และพลวัตรทางสังคมของชุมชนแห่งการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย. มปท.: สำนักงานกองทุนชินากุลเพื่อการพัฒนากลุ่มชน 2 ฝั่งโขง, 2544.

พ. เมืองชมพู (นามแฝง). สู่สมรภูมิภูพาน. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2543)

พุทธพล มงคลวรวรรณ. “ขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตภูพาน พ.ศ. 2504 – 2525.” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2548.

สมศักดิ์ เจียมธรสกุล. “ประวัติ พคท.โดย พคท.(1)” และ ธ.เพียรวิทยา (นามแฝง), “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน 2546)

สมศักดิ์ เจียมธรสกุล. “7 สิงหา” (2508) ไม่น่าจะใช่ “วันเสียงปืนแตก” (8 สิงหา ต่างหาก !). มติชนสุดสัปดาห์ 24, 1254 (13 – 19 สิงหาคม 2547): 25 – 26.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. “ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ใน วารสาร อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2546 – พฤษภาคม, 2547)

อ้างอิง

  1. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ใน วารสาร อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2546 – พฤษภาคม, 2547) หน้า 170.
  2. เพิ่งอ้าง, หน้า 164.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 169.
  4. ธ.เพียรวิทยา (นามแฝง), “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน 2546) หน้า 188.
  5. หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, D 59 เอกสารพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย, วารสาร เพลิงธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (ธันวาคม 2520) เรื่อง “ประวัติการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยสังเขป”, หน้า 15.
  6. ธ.เพียรวิทยา (นามแฝง), “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา”, หน้า 188.
  7. พ. เมืองชมพู (นามแฝง). สู่สมรภูมิภูพาน. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2543) หน้า 26.
  8. สมศักดิ์ เจียมธรสกุล. “7 สิงหา” (2508) ไม่น่าจะใช่ “วันเสียงปืนแตก” (8 สิงหา ต่างหาก !). มติชนสุดสัปดาห์ 24, 1254 (13 – 19 สิงหาคม 2547): 26.
  9. สมศักดิ์ เจียมธรสกุล. “7 สิงหา” (2508) ไม่น่าจะใช่ “วันเสียงปืนแตก” (8 สิงหา ต่างหาก !) หน้า26.
  10. พุทธพล มงคลวรวรรณ. “ขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตภูพาน พ.ศ. 2504 – 2525.” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2548. หน้า 124.,
  11. เพิ่งอ้าง, หน้า 124 – 125.