ล้มช้าง
เรียบเรียง:
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2.อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
ล้มช้าง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่คณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้เรียกเป็นชื่อทั่วไปว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งในการลงคะแนนเสียงนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 1 ใบเพื่อกาลงคะแนน แต่สามารถแสดงเหตุผลของการตัดสินใจผ่านบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบได้หลายอย่างทั้งเลือกผู้สมัครในเขต หรือเลือกพรรคการเมืองที่ชอบ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเกิดปรากฏการณ์ “ล้มช้าง”
ในการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
การล้มช้าง หรือการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหน้าใหม่ หรือไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งแต่ผลปรากฏว่าสามารถเอาชนะคู่แข่งที่เป็นตัวเต็งหรือมีฐานเสียงเหนียวแน่นในเขตเลือกตั้งนั้นได้
จากปรากฏการณ์ล้มช้างในเขตเลือกตั้งต่างๆ ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เกิดขึ้นจากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560
ได้อ้างอิงว่าได้นำแนวคิดของระบบการเลือกตั้งดังกล่าวนี้มาจากประเทศเยอรมนี ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจหลักการเลือกตั้งดังกล่าวผู้เขียนจึงนำหลักการเลือกตั้งและประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในเยอรมนีมาอธิบายหลักการสำคัญดังนี้
สนธิ เตชานันท์[1] อธิบายหลักการของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบจัดสรรปันส่วน (Proportional representative election) ของเยอรมนีเพื่อให้เห็นลักษณะสำคัญของหลักการณ์ต่างๆ
ที่ปรากฏในระบบการเลือกตั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนโดยยกตัวอย่างการเลือกตั้งระบบดังกล่าวในเยอรมนีสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศเยอรมนีสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) ได้แบ่งเขตเลือกตั้งของประเทศออกเป็น 35 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งได้กำหนดคะแนนเสียงโควต้าไว้ตายตัวคือ 60,000 คะแนน จะมีผู้แทน 1 คน ดังนั้น ทุกๆ 60,000 คะแนนของคะแนนเสียงรวมจึงเป็นที่นั่งสภาผู้แทนที่แต่ละพรรคได้รับในนามพรรคการเมือง จำนวนรวมของสมาชิกสภาผู้แทนจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงรวมในการเลือกตั้ง สำหรับคะแนนเสียงส่วนเกินในเขตเลือกตั้งนั้นมีวิธีการที่สามารถดำเนินการ 2 วิธี คือ วิธีแรกคะแนนเสียงพิเศษ 1 ที่นั่ง ทุก ๆ 60,000 คะแนนเสียง วิธีที่สองเอาคะแนนเสียงส่วนเกินในทุกเขตเลือกตั้งมารวมกัน
และทำการจัดสรรที่นั่งให้โดยใช้คะแนนโควต้า 60,000 คะแนน จะเห็นว่าระบบที่ใช้คะแนนเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก สภาผู้แทนจะเป็นผลสะท้อนของความเข้มแข็งของพรรคการเมืองในประเทศ ระบบนี้ยังช่วยให้พรรคการเมืองควบคุมสมาชิกได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากพรรคเป็นผู้จัดอันดับรายชื่อในบัญชีเลือกตั้ง
ผลจากการปฏิบัติได้ทำให้มีการปรักปรำระบบนี้อย่างกว้างขวาง เห็นกันว่าระบบนี้ได้ยังผลให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยขึ้นมา จากการรวมคะแนนเสียงที่พรรคนั้นได้รับในหลายๆเขตเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองเหล่านั้นได้รับการจัดสรรที่นั่งอย่างน้อยก็ 2 – 3 ที่สำคัญกว่านั้นก็คือวิจารณ์กันว่าระบบนี้ได้ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้ภายหลังการเลือกตั้ง เกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในสภาผู้แทน ทำให้ไม่สามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพขึ้นมาได้ หรือรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการบัญญัติกฎหมายซึ่งจะมีผลดีต่อประเทศชาติได้ เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ การเลือกตั้งในระบบนี้ทำให้อำนาจตกอยู่กับบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่ก็เกินเลยไปที่จะกล่าวว่าการเลือกตั้งระบบนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้สาธารณรัฐไวมาร์ถึงกาลอวสาน เพราะอันที่จริงแล้วเป็นผลเนื่องมาจากบรรยากาศซึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมรัฐสภา เนื่องจากมีการชิงดีชิงเด่นกันในระหว่างกลุ่ม[2]
ในปัจจุบัน สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี ได้มีการแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคะแนนโควต้าดังกล่าว โดยแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งให้มีระบบการออกเสียงเลือกตั้งที่ผสมกันระหว่างระบบการเลือกตั้งผู้แทนแบบแบ่งเขต ซึ่งเขตเลือกตั้งหนึ่งเลือกผู้แทนได้ 1 คน กับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ระบบนี้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1949 และได้รับการแก้ไขในปี ค.ศ. 1953 และปี ค.ศ. 1956 ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวมีวิธีการดังนี้
1. การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จากจำนวนสภาผู้แทนซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 496 คนนั้น ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้คือ 248 คน จะเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยเขตหนึ่งเลือกผู้แทนได้ 1 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง
2. การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ สมาชิกสภาผู้แทนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งคือ 248 คน จะเป็นการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะเสนอบัญชีรายชื่อของตน
ในการเลือกตั้ง ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะออกเสียงได้ 2 เสียง เสียงแรกจะเป็นการเลือกตัวบุคคลที่สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น อีกเสียงหนึ่งเป็นการเลือกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ อีกนัยหนึ่งก็คือการเลือกพรรค ซึ่งเสียงแรกนั้นไม่มีปัญหาดังกล่าวแล้วในข้างต้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง สำหรับเสียงที่สองซึ่งเป็นการเลือกพรรคการเมืองนั้นจะเอาคะแนนของแต่ละพรรคมารวมกันเพื่อที่จะได้ทราบว่า มีการออกเสียงที่ 2 ให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนเท่าใดบ้าง ต่อจากนั้นก็เอาที่นั่งในส่วนที่สองนี้มาจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ตามคะแนนเสียงแต่ละพรรคได้รับตามสูตรการคิดคะแนนที่วางไว้
สำหรับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับลักษณะของบัตรเลือกตั้ง ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561 กำหนดให้บัตรเลือกตั้งที่จะใช้ลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ประกอบด้วย (1) หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง
(2) ชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง (3) ชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัด ซึ่งบัตรเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นการพลิกโฉมการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ ซึ่งมีการตั้งชื่อว่า “บัตรไฮบริด” คือเป็นบัตรลูกผสมที่มาจากบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เพราะเมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งกากบาทลงคะแนนได้เพียงครั้งเดียวในบัตรเลือกตั้งในใบเดียวดังกล่าว จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกได้ถึง 3 อย่าง ได้แก่
(1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และ (3) บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น
ปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกอย่างสำหรับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปโดยการใช้บัตรเลือกตั้ง “ไฮบริด”
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 คือ มีการกำหนดเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 350 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องจับหมายเลขที่ใช้ในการหาเสียงของตนเอง ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะมีหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับการจับฉลากได้หมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นในเขตเลือกตั้งนั้น ดังนั้น หมายเลข 1 ของแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรคการเมืองแตกต่างกัน ทำให้บัตรเลือกตั้งที่ต้องจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีทั้งสิ้น 350 แบบ จึงเกิดปัญหาสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า พรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะพรรคบางพรรคส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง บางพรรคส่งครบทุกเขตเลือกตั้งเป็นต้น เพราะถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัด เข้าใจว่าพรรคที่ตนชื่นชอบได้ส่งผู้สมัคร และได้ไปกาช่องกากบาทที่ไม่มีผู้สมัครย่อมทำให้บัตรเลือกตั้งใบดังกล่าว กลายเป็นบัตรเสีย สำหรับปัญหาสำคัญสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ เมื่อหมายเลขผู้สมัครของแต่ละพรรคไม่ตรงกันทั้งประเทศ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะจดจำหมายเลขผู้สมัครในเขตของตนอย่างไร ประเด็นปัญหาดังกล่าวเปรียบเหมือนการทำให้การสิทธิเลือกตั้งของประชาชนอยู่ในภาวะถอยหลังลงคลอง เพราะก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกเขตของแต่ละพรรคการเมืองใช้หมายเลขประจำตัวเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและเข้าใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งใช้ปฏิบัติในการเลือกตั้งมาหลายครั้งก่อนหน้านี้และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเริ่มชินกับวิธีการดังกล่าว แต่การให้เหตุผลของผู้ร่างกฎหมายเลือกตั้งในครั้งนี้ที่ว่าไม่สามารถกำหนดหมายเลขของผู้สมัครเหมือนกันทุกเขตทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา เพราะบางพรรคไม่ส่งผู้สมัครให้ครบทุกเขตนั้นพบว่าในทางปฏิบัติไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะหากพรรคไม่ส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น สามารถหาทางออกโดยไม่ต้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาช่องกากบาทที่ไม่มีผู้สมัครของพรรคนั้นในเขตนั้นไปเลย หรืออาจแก้ไขโดยให้พรรคที่ส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขตเลือกตั้งให้อยู่ลำดับท้ายๆ เพื่อป้องกันความสับสน ความสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยคือ ประชาชนต้องมีส่วนในการเมือง เมื่อพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองนั้นย่อมมีหน้าที่ต้องนำนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ กำหนดเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ รูปแบบการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ย่อมทำให้ประชาชนสามารถเลือกพรรคการเมืองที่ตนพอใจได้อย่างถูกต้อง[3]
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
จากการรวบรวมปรากฏการณ์ “ล้มช้าง” ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 สามารถนำเสนอปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในเขตเลือกตั้งจังหวัดต่างๆ ที่เป็นตัวอย่างดังนี้[4]
1. จังหวัดตรัง ที่ถือเป็นเขตเมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นพื้นที่บ้านเกิดของ นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พบว่าเมื่อนับผลคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ กลับปรากฏว่า เขตเลือกตั้งที่ 1 นายนิพันธ์ ศิริธร อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 37,849 คะแนน ชนะ นายแพทย์สุกิจ อัตโถปกรณ์ อดีต ส.ส. หลายสมัย ผู้สมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งได้คะแนน 36,297 คะแนน โดยภายหลังการทราบผลการเลือกตั้ง นายชวน หลีกภัย ได้ออกมาขอบคุณพี่น้องชาวตรัง แต่ยอมรับเสียใจที่นายแพทย์สุกิจ แพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภูมิใจคือทำการเมืองแบบสุจริต
2. จังหวัดนครปฐม ในเขตเลือกตั้งที่ 3 ถือว่าพลิกล็อกถล่มทลาย เพราะ น.ส.สุทธวรรณ
สุบรรณ ณ อยุธยา ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนน 32,617 คะแนน ล้มช้างอย่าง นายก่อเกียรติ
สิริยะเสถียร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัคร ที่สมัครในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งได้คะแนน 10,479 คะแนน และในเขตเลือกตั้งที่ 5 นางจุมพิตา จันทรขจร ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนน 30,613 คะแนน ชนะผู้สมัครอย่างนายสุรชัย อนุตธโต ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้คะแนน 17,611 คะแนนไปแบบขาดลอย
3. จังหวัดขอนแก่น ในเขตเลือกตั้งที่ 2 นายวัฒนา ช่างเหลา ประธานสโมสรฟุตบอลขอนแก่น ยูไนเต็ด บุตรชายของนายเอกราช ช่างเหลา แกนนำพรรคพลังประชารัฐภาคอีสาน และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้คะแนน 44,090 คะแนน สามารถเอาชนะนางอรอนงค์ สาระผล ภรรยานายภูมิ สาระผล ในฐานะ ส.ส. เจ้าของพื้นที่หลายสมัยและอดีต รมช.พาณิชย์ ที่ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เนื่องจากอยู่ในเรือนจำในคดีจำนำข้าว ซึ่งได้คะแนน 33,094 คะแนน ทำให้ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยแพ้ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ และในเขตเลือกตั้งที่ 1 ที่เรียกได้ว่า หักปากกาเซียนไปหลายเล่ม เพราะนายจักริน
พัฒน์ดำรงจิตร อดีต ส.ส. เจ้าของพื้นที่หลายสมัย จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 27,773 คะแนน ถูกล้มด้วยคะแนนแบบทิ้งห่างขาดลอย จากผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ที่แทบจะเรียกได้ว่า no name ในสนามเลือกตั้งอย่างนายฐิตินันท์ แสงนาค ที่ได้คะแนน 36,680 คะแนน
4. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฐานที่มั่นของพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ที่หวังจะเจาะพื้นที่บ้านเกิดตัวเอง โดยผลการเลือกตั้งพบว่า 3 พี่น้องตระกูลเทือกสุบรรณ คะแนนแพ้ทุกเขต โดยเขต 1 นายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย น้องชายนายสุเทพ
เทือกสุบรรณ ที่ย้ายไปอยู่พรรครวมพลังประชาชาติไทยคะแนนหลุดไปอยู่อันดับ 4 ขณะที่เขตเลือกตั้งที่
4 นายเชน เทือกสุบรรณ ผู้สมัครจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย น้องชายนายสุเทพอีกคนที่ย้ายพรรคไปอยู่กับพี่ชาย ได้ 13,214 คะแนน ซึ่งอันดับ 1 คือ นายสมชาติ
ประดิษฐพร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ไป 45,078 คะแนน และในเขตเลือกตั้งที่ 6 นายภูมิ เทือกสุบรรณ สังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอท่าชนะ ได้ 16,528 คะแนน ซึ่งอันดับ 1 คือ นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ไป 40,360 คะแนน
5. จังหวัดชลบุรี หรือเรียกกันติดปากว่า “บ้านใหญ่บางแสน” ชื่อนี้แปลความได้ว่า “ตระกูลคุณปลื้ม” เหล่าลูกหลานกำนันเป๊าะ อดีตสังกัดพรรคพลังชล แต่โยกย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเขต 6 ส่งนาย อิทธิพล คุณปลื้ม อดีต ส.ส.ชลบุรี และอดีตนายกเมืองพัทยา เข้าชิงชัยด้วยคะแนนนิยมแบบนอนมา แต่สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อคะแนนพลิกล็อกแบบถล่มทลาย เพราะเป็นพื้นที่ฐานเสียงของนางกุสุมล คุณปลื้ม
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ภรรยาของนายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่เมื่อนับคะแนนผลปรากฏว่าคะแนนอันดับหนึ่งกลับไปอยู่ที่นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ผู้สมัครสังกัดพรรคอนาคตใหม่ ที่สามารถเอาชนะไปได้ด้วยคะแนน 36,810 ต่อ 32,285 คะแนน ได้เป็น ส.ส. เขตนี้ ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 7 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ บุตรชายนายจรูญ งามพิเชษฐ์
อดีต ส.ส.ชลบุรี ชื่อดังหลายสมัย กลับพ่ายแพ้ให้กับ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ขึ้นมาเป็น ส.ส. โดยหลายคนไม่รู้จัก
6. จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็มี “ช้างล้ม” ไป 2 เชือก คือ นายบุญเลิศ ไพรินทร์ เจ้าของฉายา “โหรส.ว.”
ที่ย้ายสังกัดจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ เสียที่นั่งให้กับนายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ และอีกคนคือนายพิทักษ์ จารุสมบัติ ที่ย้ายสังกัดจากพรรคประชาธิปัตย์ มาลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ ก็แพ้คะแนนต่อนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ผู้สมัครของอนาคตใหม่เช่นกัน
7. จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เรียกว่า “ประชาธิปัตย์สูญพันธ์” เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งอดีต ส.ส. ลงสมัครร่วม 20 คน อาทิ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ,
น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์, มล.อภิมงคล โสณกุล, นายอนุชา บุรพชัยศรี, นายธนา ชีรวินิจ,นายอรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี, นายสรรเสริญ สมะลาภา, นายสามารถ มะลูลีม, นางนาถยา แดงบุหงา,นายสุทธิ
ปัญญาสกุลวงศ์, นายวิลาศ จันทรพิทักษ์, นพ.สุรันต์ จันทรพิทักษ์, นายสากล ม่วงศิริ, พ.ต.ท.สามารถ ม่วงศิริ,นายเอกณัฏฐ์ พร้อมพันธ์, นางอรอนงค์ คล้ายนก, นางนันทพร วีรกุลสุนทร และ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก แต่ผลปรากฏภายหลังการเลือกตั้งว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์แพ้คะแนนอย่างราบเรียบให้กับคู่แข่งหน้าใหม่ของพรรคพลังประรัฐ และพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงคู่แข่งสำคัญในการเลือกตั้งครั้งก่อนคือพรรคเพื่อไทย และการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มี ส.ส. ในเมืองหลวงเลยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518[5]
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
ปรากฏการณ์การล้มช้างที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่ง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อไว้อย่างชัดเจน โดยได้กำหนดรูปแบบการเลือกตั้งระบบใหม่หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “แบบจัดสรรปันส่วนผสม” ตามแบบอย่างของประเทศเยอรมนี
ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้นำมาปรับใช้ในการเลือกตั้งของไทย
จากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นจากการระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่นำไปสู่ระบบเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีเพียงบางพรรคได้รับความนิยมจากประชาชน จนกล่าวกันว่าระบบการเลือกตั้งทำให้การเมืองไทยสร้างเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองขึ้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 จึงต้องการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ลดความรุนแรงและการแข่งขันในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองจากการเลือกตั้งลง ทำให้มีการกระจายหรือมีตัวแทนครอบคลุมอย่างทั่วถึงในกลุ่มผลประโยชน์ ในทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ให้สามารถเข้ามามีส่วนในระบบการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่เป็นระบบ
“one person one vote” คนที่ชนะในเขตเลือกตั้งหนึ่งอาจชนะกันเพียงแค่คะแนนเสียงเดียว ซึ่งเป็นจุดอ่อนของระบบเพราะนำคะแนนมาตัดสินผลชนะเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงข้างมาก[6]
ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม มีหลักการที่วางไว้คือ ทำอย่างไรที่จะให้ทุกคะแนนของผู้ที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถูกนำไปนับเป็นคะแนนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำให้เกิดการจัดสรรปันส่วนของที่นั่ง ส.ส. อย่างเป็นธรรมและเปลี่ยนสภาพการเมืองจากการแข่งดีแข่งเด่นให้หันมาปรึกษาหารือร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการใหม่ของระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คือ
การกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอีกจำนวน 150 คน โดยใช้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตครบทั้ง 350 เขตแล้ว จึงนำคะแนนจากเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมือง
ต่างๆ ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนำมาเป็นคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองเพื่อคิดคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง
ด้วยเหตุที่รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งในการลงคะแนนเสียงนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 1 ใบเพื่อ
กาลงคะแนน แต่สามารถแสดงเหตุผลของการตัดสินใจผ่านบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบได้หลายอย่าง กล่าวคือ บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงใบเดียวที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสามารถตีความการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้หลายประการ ทำให้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์ผลคะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกากบาทลงไปในการเลือกตั้งได้ เพราะเหตุผลเกี่ยวกับตัวบุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น หรือชื่นชอบนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัด หรือเห็นชอบกับรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเสนอ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นภาพของการ “ล้มช้าง” เกิดขึ้นในหลายพื้นที่
ดังที่กล่าวมานั่นเอง
4. สรุป
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่เรียกเป็นชื่อทั่วไปว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป และจำนวนเขตเลือกตั้งทั่วประเทศลดลงจากครั้งก่อนด้วย ซึ่งในการลงคะแนนเสียงนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 1 ใบเพื่อกาลงคะแนน แต่สามารถแสดงเหตุผลของการตัดสินใจผ่านบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบได้หลายอย่างทั้งเลือกผู้สมัครในเขต หรือเลือกพรรคการเมืองที่ชอบ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการยากที่จะคาดเดาล่วงหน้าว่าคะแนนเสียงของประชาชนในเขตเลือกตั้งต่างๆ เป็นของตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเป็นคะแนนนิยมพรรคการเมืองที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัด ทำให้ในหลายพื้นที่ได้มีการเกิดปรากฏการณ์ “ล้มช้าง” ในการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้ง เช่น จังหวัดกรุงเทพมหานครพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์แต่ผลปรากฏว่าผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์แพ้คะแนนผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นทุกเขตเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดตรังที่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น ปรากฏว่าคะแนนของผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐชนะคะแนนผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น รวมทั้งการได้รับเลือกตั้งของผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่ได้เป็นตัวเต็งที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ที่สามารถล้มช้าง หรืออดีต ส.ส. เจ้าของพื้นที่ได้ในหลายๆ จังหวัด เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี เป็นต้น ดังนั้น การล้มช้าง ก็คือการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหน้าใหม่ หรือผู้สมัครที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่ผลปรากฏว่าสามารถเอาชนะคู่แข่งที่เป็นตัวเต็งหรือมีฐานเสียงเหนียวแน่นในเขตเลือกตั้งนั้นได้
5. บรรณานุกรม
ไทยรัฐออนไลน์. (2562). รวมเขตช้างล้ม โดนตีป้อมแตก ผลคะแนนพลิกไม่เป็นท่า อนาคตใหม่แรงทะลุเป้า.
สืบค้นจาก
https://www.thairath.co.th/news/politic/1529268?fbclid=IwAR2sry-pxo2GGWqY9vG5oks8er-juCa2y0vArYN8i9C7YOGF8Hq2DGcbnek, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก
http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563
สนธิ เตชานันท์. (2543). พื้นฐานรัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
อินน์นิวส์. (2562). เลือกตั้ง 2562 ช่างล้มเพียบ "ประชาธิปัตย์" สูญพันธ์ ในเมืองหลวง แถมปักใต้ยังเสียที่นั่ง
ในเมืองใหญ่ และ จังหวัด ฐานเสียงสำคัญ. สืบค้นจากhttps://www.innnews.co.th/politics/news_356731/?fbclid=IwAR0wnNTnwlQzq8w5LJSwsXp33PDTQg7-yLkV7H5xCCOyPdXg9zh7wIy-Ees, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
Meehan, E. J., Roche, J.P. & Stedman, M. S. (1966). The Dynamics of Modern Government.
New York: McGraw-Hill Book Company. P. 134
[1] สนธิ เตชานันท์. (2543). พื้นฐานรัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.น. 215 – 220
[2] Meehan, E. J., Roche, J.P. & Stedman, M. S. (1966). The Dynamics of Modern Government.
New York: McGraw-Hill Book Company. P. 134
[3] รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563
[4] ไทยรัฐออนไลน์. (2562). รวมเขตช้างล้ม โดนตีป้อมแตก ผลคะแนนพลิกไม่เป็นท่า อนาคตใหม่แรงทะลุเป้า. สืบค้นจาก
https://www.thairath.co.th/news/politic/1529268?fbclid=IwAR2sry-pxo2GGWqY9vG5oks8er-juCa2y0vArYN8i9C7YOGF8Hq2DGcbnek, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
[5] เลือกตั้ง 2562 ช่างล้มเพียบ "ประชาธิปัตย์" สูญพันธ์ ในเมืองหลวง แถมปักใต้ยังเสียที่นั่งในเมืองใหญ่ และ จังหวัด ฐานเสียงสำคัญ. สืบค้นจากhttps://www.innnews.co.th/politics/news_356731/?fbclid=IwAR0wnNTnwlQzq8w5LJSwsXp33PDTQg7-yLkV7H5xCCOyPdXg9zh7wIy-Ees, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
[6] รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563