ลัทธิล่าอาณานิคม
เรียบเรียงโดย : ดร. คัททิยากร ศศิธรามาศ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ลัทธิล่าอาณานิคม
ลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism) เป็นปรากฏการณ์ที่ชาติต่างๆ ในยุโรปต่างพากันเข้าสำรวจ ยึดครองพื้นที่ ตั้งถิ่นฐาน และครอบครองทรัพยากรมีค่าในส่วนต่างๆ ของโลก[1] รวมถึงการเข้ายึดครอง หรือครอบครองประเทศอื่น[2] นิยามนี้สอดคล้องกับนิยามของนักวิชาการด้านลัทธิการล่าอาณานิคม เช่น โรนัล เจ ฮอร์วาร์ต (Ronald J. Horvath) ที่กล่าวว่า ลัทธิล่าอาณานิคมคือการเข้าครอบครองรูปแบบหนึ่ง ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าควบคุมดินแดน หรือความประพฤติของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ถูกควบคุม[3] ส่วนเยือเกน โอสเตอร์ฮัมเมลล์ (Juergen Osterhammel) กล่าวว่า ลัทธิอาณานิคมคือความสัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่นั้น กับผู้รุกรานชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นชนส่วนน้อย นโยบายหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ที่ถูกยึดครอง จะถูกประกาศโดยผู้ยึดครอง ที่ตัดสินใจโดยยึดเอาความสนใจและผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลัก และผู้ยึดครองจะปฏิเสธวัฒนธรรมใดๆ ของผู้ถูกยึดครอง เนื่องจากผู้ยึดครองจะมั่นใจว่าพวกเขาเหนือกว่าทางด้านวัฒนธรรม ดังนั้น จึงมีสิทธิสมควรที่จะปกครองผู้ถูกยึดครอง[4] และแดเนียล บัทท์ (Daniel Butt) กล่าวว่า องค์ประกอบหลักของลัทธิล่าอาณานิคมมีด้วยกัน 3 ประการ การเข้าครอบครอง การกำหนดให้มีข้อบังคับทางวัฒนธรรม และการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยอธิบายว่า การเข้าควบคุมทางวัฒนธรรมนับเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสถาปนาอำนาจควบคุมทางด้านการเมือง และยกตัวอย่างของการเข้ายึดครองทรัพยาการธรรมชาติว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เข้าตนเองที่เห็นแก่ตัว[5]
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่ยังเห็นพ้องกันว่า นิยามของคำว่าลัทธิล่าอาณานิคมมีความเกี่ยวพันและแยกออกจากกันได้ยากจากนิยามของคำว่าลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)[6] ซึ่งมีการนิยามเอาไว้ว่าเป็นนโยบายหรือการปฏิบัติของรัฐเพื่อขยายอำนาจและเขตการปกครองของตน โดยเฉพาะโดยการใช้วิธีผนวกดินแดนโดยตรง หรือโดยการแสวงหาอำนาจเพื่อควบคุมทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ดังนั้น นักวิชาการส่วนหนึ่งจึงชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างลัทธิล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมว่า ในขณะที่ลัทธิล่าอาณานิคมเกี่ยวโยงกับการอพยพประชากรของประเทศผู้เข้าปกครองไปสู่ดินแดนใหม่ โดยที่พวกเขาต้องตั้งรกรากเป็นเวลานานและสามารถเชื่อมโยงอำนาจทางการเมืองกับประเทศแม่ได้ ลัทธิจักรวรรดินิยมไม่จำเป็นต้องส่งประชากรเข้าไปตั้งถิ่นฐานอย่างจริงจัง เพียงแต่ต้องสามารถควบคุมพื้นที่ได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น การควบคุมทางด้านเศรษฐกิจ[7]
จากคำนิยามข้างต้น คำว่าลัทธิล่าอาณานิคมอาจถูกแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ลัทธิล่าอาณานิคมแบบตั้งถิ่นฐาน (Settler Colonialism) ซึ่งเน้นที่การเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ของผู้ยึดครอง และลัทธิล่าอาณานิคมแบบแสวงหาผลประโยชน์ (Exploitation Colonialism) โดยผู้ยึดครองเน้นไปที่การแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานในดินแดนใหม่เป็นหลัก นอกจากนั้น คำนิยามที่กล่าวข้างต้นยังชี้ให้เห็นว่า ลัทธิล่าอาณานิคมไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคใหม่ แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกรีกและโรมัน เมื่อกรีกเข้ายึดครองดินแดนแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำในช่วงราว 500 ปีก่อนพุทธศักราช ส่วนจักรวรรดิโรมันเข้ายึดครองดินแดนในตะวันออกใกล้ แอฟริกาตอนเหนือ และดินแดนในยุโรปตะวันตกด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่พุทธศักราชที่ 1 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไป ลัทธิล่าอาณานิคมทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากความรู้และเทคโนโลยีทางการเดินเรือที่ก้าวหน้าขึ้นมากของยุโรป บุคคลที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือที่ล้าหลังของยุโรปที่จำกัดอยู่เพียงบริเวณชายฝั่งทวีปให้ออกสู่มหาสมุทร คือ เจ้าชายเฮนรี ราชนาวิก (Infante Henrique of Portugal/ Henry the Navigator พ.ศ. 1937-2003) โอรสแห่งพระเจ้าจอห์นที่ 1 แห่งโปรตุเกส (John I. พ.ศ. 1928-1976) เจ้าชายเฮนรี ราชนาวิกทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการค้า โดยเฉพาะการค้าเครื่องเทศ ซึ่งจะทำให้โปรตุเกสร่ำรวยมหาศาล ใน พ.ศ. 1961 พระองค์จึงทรงจัดตั้งกองเรือเพื่อสำรวจชายฝั่งทวีปแอฟริกาตอนเหนือและหาทางไปยังอินเดีย ในเวลาต่อมา พระองค์ทรงก่อตั้งโรงเรียนราชนาวีขึ้นที่แหลมซาเกรส (Cape Sagres) ทางด้านใต้ของประเทศเพื่อสอนเรื่องการเดินเรือและทำแผนที่ โรงเรียนราชนาวีประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนส่งผลให้นักเดินเรือของโปรตุเกสมีความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ การทำแผนที่ การใช้เข็มทิศ เครื่องแอสโทรแลบ (Astrolabe)[8] และการสร้างเรือขนาดใหญ่ หรือ “เรือคาราเวล” (Caravel)[9] จนทำให้พวกเขาสามารถสำรวจและทำการค้าน้ำตาล และสินค้าอื่นๆ เช่น ทองคำ เกลือ และยางไม้กับดินแดนชายฝั่งแอฟริกาตอนเหนือ ต่อมา ใน พ.ศ. 1988 ดินิส ดิอัส (Dinis Dias) เดินเรือไปถึงและเข้ายึดเคปกรีน (Cape Green) ซึ่งเป็นจุดตะวันตกสุดของทวีปแอฟริกา และหลังเจ้าชายเฮนรีสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2003 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสสามารถเดินทางสำรวจทวีปแอฟริกาไปจนถึงแหลมเมซูราโด (Cape Mesurado) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไลบีเรียในปัจจุบันนี้
พัฒนาการก้าวสำคัญของโปรตุเกสในด้านการเดินเรือเกิดขึ้นเมื่อบาร์โทโลมิว ไดแอส (Bartholomew Dias พ.ศ. 1994-2043) สามารถเดินทางอ้อมแหลมแห่งพายุ (Cape of Storms) สำเร็จใน พ.ศ. 2031 ความสำเร็จนี้ทำให้วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama พ.ศ. 2003-2067) เดินทางตามเส้นทางที่ไดแอสสำรวจไว้ และต่อไปถึงเมืองกาลิกัตในฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2041 จึงทำให้โปรตุเกสซื้อเครื่องเทศมาขายในยุโรปได้โดยตรง และทำกำไรได้มหาศาล 2 ปีต่อมา เปโดร อัลวาเรส กาบราล (Pedro Alvares Cabral พ.ศ. 2010-2063) นำกองเรือเดินทางไปอินเดีย แต่ระหว่างทางกลับค้นพบชายฝั่งทะเล ที่ต่อมาถูกตั้งชื่อว่าบราซิล[10] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2043 เขาจึงอ้างสิทธิในการครอบครองดินแดนนั้นให้แก่พระเจ้ามานูแอลที่ 1 (Manuel I. พ.ศ. 2012-2064) กษัตริย์แห่งโปรตุเกส ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังอินเดีย จากอิทธิพลของโปรตุเกสที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ใน พ.ศ. 2046 โปรตุเกสก่อสร้างป้อมในโกชิน (Cochin) และอีก 7 ปีต่อมา โปรตุเกสสามารถยึดรัฐกัว (Goa) และเมืองกาลิกัตได้ และในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ โปรตุเกสยังเข้ายึดเมืองการค้าทางชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกอีกหลายเมือง อย่างไรก็ตาม โปรตุเกสสนใจจะขยายอิทธิพลทางด้านการค้าของตนในทวีปเอเชียให้กว้างขึ้น จึงส่งกองเรือไปสำรวจแถบช่องแคบมะละกาจนยึดเมืองมะละกาได้สำเร็จใน พ.ศ. 2054 ทำให้โปรตุเกสสามารถลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับกษัตริย์พม่าและชวาได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน และต่อมาใน พ.ศ. 2059 โปรตุเกสลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับอยุธยา จึงทำให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานีการค้าและค้าขายกับชนพื้นเมือง รวมถึงนำมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาด้วย[11]
นอกจากโปรตุเกสแล้ว ในพุทธศตวรรษที่ 21 สเปนเป็นอีกชาติหนึ่งที่มีเทคโนโลยีด้านการเดินเรือที่ก้าวหน้าและต้องการขยายอิทธิพลทางด้านการค้าของตนแข่งกับโปรตุเกส ดังนั้น เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus พ.ศ. 1993-2049) ออกเดินทางไปยังทิศตะวันตกเพื่อค้นหาเส้นทางเดินเรือระหว่างยุโรปและเอเชียในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2035 เขาจึงได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากราชสำนัก หลังออกเดินทางได้ราว 2 เดือน โคลัมบัสได้ค้นพบหมู่เกาะบาฮามาส (Bahamas) และอ้างสิทธิการปกครองของสเปนเหนือเกาะนี้[12] การค้นพบในครั้งนี้ทำให้สเปนส่งกองเรือเข้าสำรวจต่อในทางตอนใต้ของอเมริกาเหนือเรื่อยไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้ จนแอร์นัน คอร์เตส (Hernan Cortes พ.ศ. 2028-2090) นักสำรวจและนักผจญภัยชาวสเปน เข้ายึดเมืองเทนโนธิทลัน (Tenochtitlan) เมืองหลวงของชาวแอสเต็กได้ใน พ.ศ. 2064 และต่อมาฟรันซิสโก ปิซาโร (Francisco Pizarro พ.ศ. 2014-2084) เข้ายึดเมืองกุสโก (Cusco) เมืองหลวงของชนเผ่าอินคาได้ใน พ.ศ. 2075 หลังจากที่สเปนเข้ายึดครองดินแดนของชนเผ่าแอสเต็กและอินคาสำเร็จ สเปนก็สามารถขยายอำนาจของตนออกไปได้อีกมาก จนทำให้ใน พ.ศ. 2085 สเปนสามารถก่อตั้งราชอาณาจักรเปรู ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ประเทศเปรูในปัจจุบันไปจนถึงส่วนใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ต่อมา ใน พ.ศ. 2086 สเปนได้ก่อตั้งราชอาณาจักรนิวสเปน ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมตั้งแต่ประเทศเม็กซิโกไปจนถึงเวเนซูเอลาในปัจจุบันและยังครอบคลุมพื้นที่ไปถึงกลุ่มเกาะมลายูและเกาะบางแห่งในแถบไมโครนีเซีย
นอกจากโปรตุเกสและสเปน ในพุทธศตวรรษที่ 22 เนเธอแลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นอีก 3 ประเทศหลักที่เข้ายึดครองอาณานิคมในโพ้นทะเลด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ใน พ.ศ. 2145 เนเธอแลนด์ได้ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company) ขึ้น เพื่อส่งคนเข้าไปตั้งสถานีการค้า และนำสินค้าที่มีค่าจากทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเครื่องเทศกลับมาขายในยุโรป และอีก 19 ปีต่อมาก็ได้ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch West India Company) เพื่อทำการค้าในทวีปอเมริกาและแอฟริกาตะวันตก จึงทำให้บริษัทมีส่วนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการค้าทาสด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทอินเดียตะวันตกก็ต้องพบกับปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาเรื่องดินแดนกับอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ และกับโปรตุเกสในอเมริกาใต้ ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ในขณะเดียวกัน บริษัทอินเดียตะวันออกกลับประสบความสำเร็จมากกว่า โดยใน พ.ศ. 2164 บริษัทประสบความสำเร็จในการตั้งสถานีการค้าที่บาทาเวีย (Batavia) และต่อมาใน พ.ศ. 2184 บริษัทยึดมะละกามาจากโปรตุเกสได้ และยังสามารถตั้งสถานีการค้าในอีกหลายเมืองใกล้เคียงได้ ส่วนในอยุธยา พ่อค้าชาวดัชต์ได้รับสิทธิในการเปิดโรงงานและค้าขายตั้งแต่ พ.ศ. 2151[13]
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ใน พ.ศ. 2143 อังกฤษได้ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกขึ้น (East-India Company) และเข้าครอบครองดินแดนหลายแห่งในอินเดียแทนโปรตุเกส เช่นที่มาดราส (Madras) บอมเบย์ (Bombay) และกัลกัตตา โดยที่อังกฤษใช้กำลังทางด้านการทหารเข้าควบคุมอาณานิคมของตนด้วย นอกจากในอินเดีย อังกฤษยังมีอาณานิคมในส่วนอื่นของโลกอีก เช่นในทวีปอเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย หลังจากที่กัปตันเจมส์ คุก (James Cook พ.ศ. 2271-2322) แล่นเรือมาพบทวีปนี้ใน พ.ศ. 2313 และอ้างสิทธิการครอบครองและจัดตั้งอาณานิคมให้อังกฤษ ส่วนฝรั่งเศสเข้าครอบครองอาณานิคมทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ แต่ต่อมากลับต้องเสียดินแดนส่วนนี้ให้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ
การล่าอาณานิคมในพุทธศตวรรษที่ 24
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป ส่งผลให้ประเทศในทวีปยุโรปผลิตสินค้าได้มากขึ้น จึงต้องการแหล่งวัตถุดิบรวมถึงแหล่งระบายสินค้า นอกจากนั้น แนวคิดที่อ้างความชอบธรรมของชาวยุโรปในการเข้าครอบครองดินแดนในโพ้นทะเล[14] ยังเป็นอีกแรงบันดาลใจให้ประเทศในยุโรปแสวงหาอาณานิคมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม อิตาลีและสเปนต่างแย่งชิงกันเข้าครอบครองอาณานิคม[15] จนเป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อว่า “Scramble for Africa” นอกจากแอฟริกา ทวีปเอเชียยังเป็นอีกทวีปหนึ่งที่มหาอำนาจยุโรปให้ความสนใจ นับตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นไป อังกฤษพยายามขยายเขตอาณานิคมของตนในทวีปเอเชีย ใน พ.ศ. 2342 อังกฤษขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากอียิปต์ ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ อังกฤษเข้าครอบครองสิงคโปร์ มะลากา และยึดพม่าและฮ่องกงได้ใน พ.ศ. 2369 และ 2385 ตามลำดับ ส่วนในอินเดีย อังกฤษกำจัดอิทธิพลของชาวฝรั่งเศส และสามารถครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียสำเร็จจนประกาศให้อินเดียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษใน พ.ศ. 2401 ในขณะที่อังกฤษครอบครองพื้นที่จำนวนมากของเอเชีย เนเธอร์แลนด์ได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองพื้นที่ในส่วนที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันนี้ และจัดตั้งขึ้นเป็นหมู่เกาะตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East Indies)
ส่วนฝรั่งเศสได้ก่อตั้งอินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina) ขึ้นเป็นอาณานิคมของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน พ.ศ. 2430 ประกอบด้วยเวียดนามเหนือ (Tonkin) เวียดนามกลาง (Annam) เวียดนามใต้ (Cochinchina) และกัมพูชา และต่อมาใน พ.ศ. 2436 ก็ได้ลาวมาเพิ่ม รัสเซียยังเป็นอีกประเทศหนึ่งในยุโรปที่สนใจแสวงหาอาณานิคมและได้เข้าครอบครองดินแดนจำนวนมากในเทือกเขาคอเคซัสหลังชนะสงครามกับเปอร์เซียระหว่าง พ.ศ. 2347-2356 และระหว่าง พ.ศ. 2369-2371 นอกจากประเทศที่กล่าวมาแล้ว สหรัฐอเมริกาถือเป็นมหาอำนาจใหม่ที่สนใจครอบครองอาณานิคมในโพ้นทะเล และได้เกิดการขัดแย้งกับสเปน มหาอำนาจเก่า เพื่อแย่งชิงอาณานิคมในอเมริกาใต้และเอเชีย ความขัดแย้งลุกลามเป็นสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับสเปน (Spanisch-American War) ใน พ.ศ. 2441 ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของสหรัฐอเมริกา ทำให้สเปนต้องเสียเปอร์โตริโกในทะเลแคริบเบียน เกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิกซีกตะวันตก และฟิลิปปินส์ให้กับสหรัฐอเมริกา สงครามครั้งนี้ยังทำให้คิวบาได้รับเอกราชจากสเปน แต่กลับตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
นอกจากมหาอำนาจตะวันตก ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียที่ดำเนินนโยบายล่าอาณานิคมอย่างจริงจัง ใน พ.ศ. 2447 ญี่ปุ่นทำสงครามกับรัสเซีย (Russo-Japanese War) และสามารถเอาชนะได้ จึงทำให้ญี่ปุ่นได้ครอบครองเกาะซัคคารินทางด้านใต้ และเข้าไปสร้างอิทธิพลของตนในเกาหลีและแมนจูเรียแทนรัสเซีย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2474 เป็นต้นไป ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลเข้าไปในจีน จนสามารถยึดหนานจิงได้ใน พ.ศ. 2481 หลังจากเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาไตรภาคีกับเยอรมนี และอิตาลี (Tripartite Pact) หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่าแกนอักษะ (Axis Powers) ใน พ.ศ. 2483 และเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลครอบครองดินแดนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต้อนคืนดินแดนเหล่านี้เมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2488 และตกเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง ประเทศมหาอำนาจตะวันตก ทั้งประเทศที่ชนะและพ่ายแพ้สงคราม ต่างอ่อนแอลงเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงหลังสงคราม ในขณะเดียวกัน ชาติที่ถูกยึดครองเป็นอาณานิคมมองเห็นการเอารัดเอาเปรียบในการถูกยึดครองชัดเจนขึ้น และได้อาศัยโอกาสที่ชาติเจ้าอาณานิคมอ่อนแอลงนี้เป็นโอกาสของตนในการเรียกร้องเอกราช การเรียกร้องเอกราชเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น ในแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ในบางพื้นที่เป็นการเรียกร้องเอกราชแบบสงบ แต่ในบางพื้นที่ เป็นเหตุการณ์รุนแรง เจ้าอาณานิคมได้ใช้กำลังทางทหารเข้าปราบปรามผู้เรียกร้องเอกราชจนกลายเป็นสงครามปลดแอกตามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ประเทศอาณานิคมต่างๆ เริ่มได้รับเอกราชตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
บรรณานุกรม
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2554). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์.
Stoffers, Andreas. (1995). Im Lande des weissen Elefanten. Die Beziehungen zwischen Deutschland und Thailand von den Anfaengen bis 1962. Bonn: Deutsch-Thailaendische Gesellschaft e.V.
Webster, A. Richard, Charles E. Nowell and Harry Magdoff. (2016). Colonialism. Encyclopaedia Britannica. Retrieved from https://global.britannica.com/topic/colonialism on 22 August 2016.
Kohn, Margaret. (2006). “Colonialism”. Stanford Encyclopedia of Philosophy. Standford University. Retrieved from http://plato.stanford.edu/entries/colonialism/ on 22 August 2016.
[1] Webster, A. Richard, Charles E. Nowell and Harry Magdoff. (2016). Colonialism. Encyclopaedia Britannica. Retrieved 22 August 2016.
[2] Kohn, Margaret. (2006). “Colonialism”. Stanford Encyclopedia of Philosophy. Standford University. Retrieved 22 August 2016.
[3] Horvath, J. Ronald. (February, 1972). A Definition of Colonialism. Current Anthropology. Vol. 13, No. 1. S, 47.
[4] Osterhammel, Juergen. (2005). Colonialism: A Theoretical Overview. trans. Shelley Frisch. Markus. Princeton: Markus Wiener Publishers, S. 16.
[5] Butt, Daniel. (2013). Colonialism and Postcolonialism. The International Encyclopedia of Ethics. Retrieved 24 August 2016.
[6] Britannica Online. (2007). Imperialism. Encyclopaedia Britannica. Retrieved 22 August 2016.
[7] Kohn, Margaret. (2006). “Colonialism”. Stanford Encyclopedia of Philosophy. Standford University. Retrieved 22 August 2016.
[8] เครื่องแอสโทรแลบคือเครื่องมือสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า เพื่อวัดมุมทิศและมุมเงยของวัตถุท้องฟ้า เครื่องแอสโทรแลบมีประโยชน์ในการคำนวณระยะทางเดินเรือจากจำนวนองศาระหว่างดวงอาทิตย์ หรือดาวเหนือกับแนวขอบฟ้า และคำนวณเป็นระยะห่างของเรือจากเขตเส้นศูนย์สูตร ทำให้การเดินเรือมีความปลอดภัย รู้ตำแหน่งของเรือ และไม่หลงทางหรือทิศ
[9] อนันต์ชัย เลาหะพันธุ อธิบายไว้ในหนังสือยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815 ว่า เรือคาราเวลเป็นเรือขนาดใหญ่ มีน้ำหนักราว 100-200 ตัน และปรับปรุงมาจากเรือประมงให้มีขนาดเรียวลง ใบเรือประกอบด้วยเสากระโดง 3-4 เสา ติดผ้าใบสี่เหลี่ยมผืนใหญ่เพื่อรับลม ในจำนวนเสากระโดงดังกล่าว 1-2 เสาใช้ผ้าใบสามเหลี่ยม เพราะสามารถบังคับให้หันเอียงเข้าหาลมต้านได้
[10] ชื่อบราซิลถูกตั้งขึ้นตามชื่อต้นไม้ เปา-บราซิล (pau-brasil) ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามบริเวณนั้น
[11] Andreas Stoffers, Im Lande des weissen Elefanten. Die Beziehungen zwischen Deutschland und Thailand von den Anfaengen bis 1962, (Bonn: Deutsch-Thailaendische Gesellschaft e.V., 1995), p. 16
[12] โคลัมบัสพบชนพื้นเมืองที่มีผิวคล้ำที่นี่ เขาจึงคิดว่าเขาเดินทางถึงทวีปเอเชียแล้ว
[13] Andreas Stoffers, Im Lande des weissen Elefanten. Die Beziehungen zwischen Deutschland und Thailand von den Anfaengen bis 1962, (Bonn: Deutsch-Thailaendische Gesellschaft e.V., 1995), p. 17
[14] หนึ่งในแนวคิดที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับชาติในยุโรปในการเข้าครอบครองอาณานิคมโพ้นทะเล ได้แก่แนวคิดของชาร์ล โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin พ.ศ. 2352-2425) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เสนอเรื่องการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ไว้ในผลงานเรื่อง On the Origins of Species ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2402
[15] ถึงแม้จะมีมหาอำนาจหลายชาติแย่งกันเข้าครอบครองดินแดนในทวีปแอฟริกา แต่อังกฤษและฝรั่งเศสเป็น 2 ชาติหลักที่ได้ครอบครองอาณานิคมมากที่สุด ส่วนชาติอื่นได้ครอบครองพื้นที่ไม่มากนัก