รายได้ของพรรคการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต


รายได้ของพรรคการเมือง

'1'. แนวคิด/ความหมาย

          พรรคการเมืองจัดเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่งที่ต้องจดทะเบียนรับรองสถานะทางกฎหมาย เมื่อพรรคการเมืองเป็นองค์กรทางการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ด้วยการส่งสมาชิกพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา การบริหารจัดการของพรรคการเมืองจึงจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ รายได้ของพรรคการเมืองที่จะนำมาใช้จ่ายในกระบวนการทางการเมืองเหล่านี้จะมาจากแหล่งรายได้ใดได้บ้างเพื่อให้กิจกรรมทางการเมืองเป็นไปด้วยความอิสระทั้งจากภายนอกและภายในของพรรคเอง รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระบวนการทางการเมืองที่ไม่โปร่งใสจากแหล่งรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยช่องทางอื่น ๆ จึงมีกฎหมายเข้ามาควบคุม ตรวจสอบแหล่งรายได้และกระบวนการจัดหารายได้ของพรรคการเมืองขึ้น ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 รายละเอียดของรายได้พรรคการเมือง มีดังนี้

 

'2'. รายได้ของพรรคการเมือง

          พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้[1]

          (1) เงินทุนประเดิม

          ในระยะเริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองกฎหมายกำหนดให้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองทุกคนร่วมกันจ่ายเงินทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาทแต่ไม่เกินคนละห้าหมื่นบาท โดยทุนประเดิมเริ่มต้นต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท[2]

          (2) รายได้จากเงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ

          รายได้ในส่วนนี้กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีข้อบังคับในส่วนของรายได้ และ อัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละหนึ่งร้อยบาท[3] เมื่อพรรคการเมืองได้รับค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ออกใบเสร็จรับเงิน ตามแบบ พ.ก.9[4]

(3) รายได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง

          การจำหน่ายสินค้าหรือบริการต้องไม่มุ่งแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกันในทางธุรกิจ โดยราคาหรือค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าหรือการให้บริการจะต้องคำนึงถึงราคาตามปกติในท้องที่นั้น เมื่อพรรคการเมืองดำเนินการจำหน่ายสินค้าหรือบริการให้ออกใบเสร็จรับเงินตามแบบ พ.ก.9 ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และพรรคการเมืองจะต้องบันทึกบัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับ และ ให้แสดงในงบการเงินประจำปีของพรรคการเมืองให้ครบถ้วนและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

          ข้อห้ามของการจำหน่ายสินค้าและบริการของพรรคการเมือง คือ ห้ามกระทำในช่วงเก้าสิบวันก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร และต้องไม่กระทำในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจากการ ครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร[5]

(4) รายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง

          การหารายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผย และแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องระบุชื่อบุคคลผู้สนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าหนึ่งแสนบาทขึ้นไปด้วย[6] เมื่อพรรคการเมืองดำเนินการจัดกิจกรรมระดมทุนให้ออกใบเสร็จรับเงินตามแบบ พ.ก.9 ให้แก่ผู้สนับสนุนเงิน และต้องบันทึกบัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับและนำไป แสดงในงบการเงินประจำปีของพรรคการเมืองให้ครบถ้วนและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

(5) รายได้จากการรับบริจาค

          5.1 การบริจาคต้องเปิดเผย ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้พรรคการเมืองต้องประกาศรายชื่อผู้บริจาคให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปและต้องรายงานแก่นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบเป็นประจำทุกเดือน[7] การบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป ต้องเปิดเผยชื่อผู้บริจาคแก่สาธารณชน

          5.2 กำหนดวงเงินบริจาค กฎหมายกำหนดให้บุคคลธรรมดาจะบริจาคให้พรรคการเมืองเกินปีละสิบล้านบาทไม่ได้ สำหรับนิติบุคคลจะบริจาคให้พรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาทมิได้[8]

          5.3 ต้องมีหลักฐานการรับบริจาค เมื่อพรรคการเมืองได้รับหลักฐานบันทึกการรับบริจาคให้ออกใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการรับบริจาคทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดภายในวันที่ที่ได้รับบริจาค แล้วจัดส่งใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับบริจาคให้แก่ผู้บริจาค ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ออกหลักฐานนั้น[9]

          5.4 ต้องแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในกรณีของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่ารวมกันแล้วเกินหนึ่งหมื่นบาทต่อวัน หรือ หากกรณีเป็นสิ่งของไม่อาจนำรส่งพรรคการเมืองได้หรือเป็นของสดเสียให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นแจ้งให้พรรคการเมืองทราบเพื่อบันทึกมูลค่าของสิ่งนั้นไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครผู้นั้น ต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบภายในเจ็ดวนนับแต่วันที่ได้รับบริจาค[10]

          5.5 การบริจาคในรูปแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถบริจาคได้ปีละห้าร้อยบาทถ้วน[11]

          5.6 ห้ามรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย[12] รวมถึงห้ามรับบริจาคจากบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลต่างประเทศ หรือ นิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศด้วย[13]

          5.7 ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวน ให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[14] และห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่บริจาคให้แก่พรรคการเมืองหรือเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อระดมทุนให้พรรคการเมือง[15]

(6) รายได้จากเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

กองทุนถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนพรรคการเมืองและดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการพัฒนาพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด[16] โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง[17] เงื่อนไขที่พรรคการเมืองจะได้รับเงินสนับสนุนจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมาย กำหนด กล่าวคือ

          6.1 ในกรณีของพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ จะต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายในหนึ่งปีต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา และพรรคการเมืองนั้นต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          6.2 ในกรณีของพรรคการเมืองที่จัดตั้งมาก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จะต้องมีการจัดส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้รับคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 องคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมกัน หรือได้รับคะแนน เสียงจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5
ของคะแนนเสียงที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน ได้รับในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศ

 

(7) รายได้จากดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

ทั้งนี้ การหารายได้ตามข้อ 2 และข้อ 7 ให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด และเมื่อพรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อหารายได้เข้าพรรคการเมืองในแต่ละครั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยรายงานกิจกรรมที่จัดขึ้นและรายได้ที่หาได้ ทั้งนี้ ให้ระบุชื่อบุคคลผู้สนับสนุนทางการเงินเป็นจำนวนตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จัดกิจกรรม

 

'3'. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. คู่มือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด. มีนาคม 2561.

 

อ้างอิง

[1] มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[2] มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[3] มาตรา 15(15) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[4] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, คู่มือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด, มีนาคม 2561 หน้า 28

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 28

[6] มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[7] มาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[8] มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[9] มาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[10] มาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[11] มาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[12] มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[13] มาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[14] มาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[15] มาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[16] มาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[17] มาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560