รัฐบาลไทยกับความชอบธรรมทางการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

รัฐบาลไทยกับความชอบธรรมทางการเมือง(Thai Government with Political Legitimacy)

วีระ เลิศสมพร (Veera Lertsomporn)

กรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จ.เชียงใหม่


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2552) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “...ในยามที่ประเทศชาติประสบวิกฤต พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามารับผิดชอบบริหารประเทศ เช่นเดียวกับช่วงเวลานี้ประเทศชาติเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ จากสาเหตุดังกล่าวทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการเมือง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ จึงเป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาบริหารประเทศในฐานะที่เป็นรัฐบาล ได้พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยความชอบธรรมจากการดำเนินตามกติกาของรัฐธรรมนูญ กระบวนการรัฐสภา และกระบวนการยุติธรรม สัญญาณที่บ่งบอกว่าประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินงานต่อไป คือ ผลการเลือกตั้งซ่อมในเดือนมกราคม และผลการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ...”

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้แถลงถึง 6 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่โรงแรมเรดิสัน ว่าด้วยเรื่อง “เสวนา 6 เดือน รัฐบาลอภิสิทธิ์ : ล้มเหลวจากที่มาและกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” (2552) ซึ่งทำให้เป็นปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล โดยมีใจความตอนหนึ่งดังนี้

“...ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองบ่อยนัก แต่ถึงตอนนี้เห็นว่า เป็นโอกาสครบ 6 เดือนของการบริหารรัฐบาลปัจจุบัน น่าจะได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลเสียบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนก็เคยวิจารณ์การทำงานของ คมช. ในการติดตามผลงานการทำงานรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพบว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ต้องประสบวิกฤตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทำให้ประเทศไทยประสบวิกฤตหนักหนาสาหัสมากกว่าครั้งใด ๆ ในรอบหลายสิบปี ในการที่จะต้องมารับกับวิกฤตอย่างนี้ และพบว่ารัฐบาลปัจจุบันประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง

รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากประชาชนในการเลือกตั้ง แต่มาจากการใช้กติกาและกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาเปลี่ยนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาแทนที่ โดยอาศัยหลายฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาชนมาสนับสนุน จึงเป็นรัฐบาลที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล มีความเกรงอกเกรงใจมากเป็นพิเศษ จนรัฐบาลนี้ไม่อาจจะเป็นตัวของตัวเองได้ จากสภาพความขัดแย้งที่มาอย่างต่อเนื่อง จากความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่เป็นธรรม ทำให้ไม่มีทางที่จะสร้างบรรยากาศของการลงทุนให้เกิดขึ้นได้

ที่สำคัญรัฐบาลนี้ยังขาดความสามารถในการบริหาร กำหนดนโยบาย การสั่งการ การประสาน ปรึกษาหารือกับผู้รับผิดชอบงานในด้านต่าง ๆ จะเห็นผู้นำของรัฐบาลหรือคนสำคัญของรัฐบาลจะเน้นการพูด การชิงไหวชิงพริบ รวมถึงคนในรัฐบางส่วนเน้นการทำลายฝ่ายตรงข้ามมากกว่าที่จะหาทางแก้ปัญหาของบ้านเมือง...”

ประยูร (2552) ได้แสดงทัศนะไว้ในบล็อกของเนชันว่า

“...ปี 2552 ทั้งปี จะเป็นปีแห่งการแย่งชิงพื้นที่ข่าว การแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมือง การแย่งชิงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านแน่นอน การแข่งขันแย่งชิงต่าง ๆ ดังกล่าว ย่อมต้องมีสาระแก่นสารอันได้แก่ผลการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นสรณะ แต่แม้เมื่อรัฐบาลสามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นได้แล้วก็ตาม หากโฆษกรัฐบาลและทีมงานไม่มีความสามารถในการนำเสนอ หรือไม่มีความสามารถในการกำหนดจังหวะการรุก การรับ และการยันทางการเมืองอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะช่วงชิงพื้นที่ข่าวและช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมือง ก็อาจจะยากที่รัฐบาลจะได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน แม่ทัพสำคัญที่จะกำหนดท่วงทำนองจังหวะจะโคนในการนำเสนอ ก็คือ โฆษกรัฐบาล ดังนั้นการแต่งตั้งโฆษกรัฐบาลที่จะมีในอนาคตจึงจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญประการหนึ่งในการทำนายเสถียรภาพของรัฐบาล...”

หนึ่งปีก่อนหน้านั้นมีข่าวเรื่อง “ปชป. ชี้รัฐบาลหมดความชอบธรรม” (2551) ถูกนำเสนออกมาในช่วงความเป็นพรรคฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนต่อกรณีเหตุการณ์ทางการเมืองวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

“...สถานการณ์ขณะนี้นายสมชายและรัฐบาลยังคงใช้ความพยายามจะอยู่ในอำนาจต่อไป โดยการใช้วิธีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีหมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งไปแล้ว วิธีการดังกล่าวทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น นอกจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้วยังโยนบาปตั้งข้อกล่าวหาให้กับผู้ชุมนุม วิธีการดังกล่าวนับเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น พรรค ปชป. จึงเห็นว่าการอยู่ในตำแหน่งต่อไปของนายกรัฐมนตรีเป็นปัญหาต่อการแก้ไขสถานการณ์ของบ้านเมือง

พรรค ปชป.เห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีความชอบธรรมอยู่ในตำแหน่งต่อไป และไม่อาจแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อีกแล้ว สอดคล้องกับความเห็นของอธิการบดี 30 สถาบัน นพ.ประเวศ วะสี และนักธุรกิจ รวมถึงนักวิชาการ ซึ่งต่างเรียกร้องตรงกันว่า นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง...”

ทางด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551ว่าด้วยเรื่อง “รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรง และต้องตรวจสอบ ทบทวน ความชอบธรรม และความรับผิดชอบของรัฐบาล” (2551) ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ตามที่มีการชุมนุมคัดค้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ในขณะนี้ปรากฏว่าสถานการณ์กำลังเลวร้ายลง โดยที่รัฐบาลเริ่มใช้ความรุนแรงกับ ผู้ชุมนุม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอแถลงดังนี้

1.การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล โดยมีเหตุผลสำคัญอย่างน้อยประการหนึ่งที่สังคมได้เห็นและรับรู้มาโดยตลอด และรัฐบาลก็ไม่อาจปฏิเสธได้ กล่าวคือ แม้รัฐบาลมาจาก การเลือกตั้งของประชาชนและมีเสียงข้างมาก แต่รัฐธรรมนูญก็รับรองอำนาจการตรวจสอบของประชาชนต่อการบริหารประเทศและการใช้อำนาจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลดำเนินการโดยขาดความชอบธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

2.โดยที่รัฐบาลได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงตกอยู่ในสถานะขาดความชอบธรรมในการบริหารปกครองประเทศ เพราะไม่เคารพเจตนารมณ์และสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย โดยได้ดำเนินการหลายประการอย่างไม่นำพาต่อการมีส่วนร่วมและเสียงทักท้วง และการคัดค้านของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ซึ่งดูเสมือนหนึ่งว่ามีจุดประสงค์ที่จะล้างมลทินและความผิดของพวกพ้องของตน ตลอดจนการดำเนินการขัดกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง และลิดรอนอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยในเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร โดยมิได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อยืนยันว่าการกระทำของรัฐบาลนั้นขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ในเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้แสดงในความรับผิดชอบใด ๆ นอกจากนั้นรัฐบาลยังประกาศดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและมิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริงตามนัยมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ดังเช่นโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ และโครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงในหลาย ๆ จุด โดยเฉพาะที่บ้านกุ่ม จังหวัดอุบลราชธานี

3.ความล้มเหลวของรัฐสภาในการถ่วงดุล ควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นผลให้ประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ภาคประชาชนต้องออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้อง

4.โดยที่รัฐบาลอาจจะไม่คำนึงถึงปัญหาความชอบธรรมและความรับผิดชอบของตนเอง และอาจจะใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน เพื่อมุ่งที่จะใช้อำนาจโดยพลการของรัฐบาลแต่สถานเดียว ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเห็นว่า ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลจะยิ่งเลวร้ายขึ้นไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งยุติการจับกุมแกนนำ เพราะไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา มีแต่ทำให้การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้นในประการสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่การใช้อำนาจรัฐ ต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อกรณีคำแถลงการณ์และข้อเรียกร้องของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยโทกุเทพ ใสกระจ่าง รักษาการโฆษกพรรคพลังประชาชน (พปช.) ได้ออกมาเปิดเผยปรากฏเป็นข่าวเรื่อง “กุเทพเผยนายกฯ ยันไม่ยุบสภา-ไม่ลาออก” (2551) ว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันแข็งขันว่าจะไม่ลาออก และไม่ยุบสภา แต่จะมุ่งมั่นทำงานอย่างอดทน เพราะยังมีภารกิจที่ต้องทำอีก 2-3 เดือนข้างหน้า คือการจัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งนี้รัฐบาลจะยังคงเน้นแนวทางการเจรจา สร้างกติกาที่ทุกคนยอมรับผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำให้การเมืองมีทางออกดีกว่านี้ แต่เมื่อภารกิจทุกอย่างเสร็จสิ้นก็จะพิจารณาถึงแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

จากเนื้อความทั้งหมดข้างต้นผู้เขียนเลือกนำเสนอข้อมูลบางส่วนเฉพาะปี พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2552 ว่าด้วยเรื่องการใช้วาทกรรม “ความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy)” ใน 2 กรณีหลัก คือ กรณีการใช้วาทกรรม “ความชอบธรรมทางการเมือง” เพื่ออธิบายต่อสังคมว่าตนมีความชอบธรรม และกรณีการใช้วาทกรรม “ความชอบธรรมทางการเมือง” เพื่ออธิบายต่อสังคมว่าบุคคลผู้นั้นหรือองค์กรนั้นขาดซึ่งความชอบธรรม โดยประมวลสรุปประเด็นได้ดังนี้

ปี พ.ศ. 2552

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลว่า มีความชอบธรรมจากการดำเนินตามกติกาของรัฐธรรมนูญ กระบวนการรัฐสภา และกระบวนการยุติธรรม จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลว่า เกิดจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ที่มาของรัฐบาลที่มาจากการใช้กติกาและกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และการขาดความสามารถในการทำงานประยูร ผู้ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย วิเคราะห์ว่า เกิดการแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพื่อเป้าหมายในการดึงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนให้โน้มเอียงมาทางฝ่ายตน

ปี พ.ศ. 2551

พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ไม่มีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง เพราะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและมีการโยนบาปตั้งข้อกล่าวหาให้กับผู้ชุมนุมต่อกรณีเหตุการณ์ทางการเมืองวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติวิพากษ์ว่า รัฐบาลขาดความชอบธรรม ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ

1.ละเมิดรัฐธรรมนูญ (ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าด้วยเรื่องการชุมนุม)

2.การพยายามเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 เพื่อล้างมลทินและความผิดของพวกพ้องของตน ตลอดจนการดำเนินการขัดกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

3.การบริหารงาน (มีลักษณะลิดรอนอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย ขาดการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการสำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน) ร้อยโทกุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชนยืนยันว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ลาออกและไม่ยุบสภา ด้วยเหตุผลทำนองว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความชอบธรรมในการดำรงอยู่ต่อไป

นอกเหนือจากข้อมูลเหล่านี้ หากสืบค้นข้อมูลย้อนหลังกลับไปถึงปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย ผู้เขียนเชื่อว่าต้องมีประเด็นเรื่องราวของการใช้วาทกรรม “ความชอบธรรมทางการเมือง” อยู่จำนวนหนึ่งอย่างแน่นอน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่เหตุการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น ๆ ทำให้ผู้เขียนมีประเด็นคำถามเกิดขึ้นหลายข้อด้วยกัน ได้แก่ “ความชอบธรรมทางการเมือง” หมายถึงอะไร มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง ใครบ้างที่มักเป็นผู้ใช้คำ ๆ นี้ (ในบริบทการเมืองไทย) “ความชอบธรรมทางการเมือง” ควรถูกนำไปใช้เฉพาะกับ “รัฐบาล” เสมอไปดังที่มักใช้กันอยู่หรือไม่ และควรมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้างเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่อง“ความชอบธรรมทางการเมือง” กับคนไทยในทางสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับวิถีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และช่วยหนุนเสริมให้การเมืองไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อตั้งโจทย์เช่นนี้แล้ว ผู้เขียนจึงศึกษาค้นคว้าทบทวนวรรณกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

โจทย์ : “ความชอบธรรมทางการเมือง” หมายถึงอะไร มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง

Sternberger (1968) ให้คำนิยามความชอบธรรมว่า “เป็นรากฐานแห่งอำนาจปกครองที่ถูกนำไปใช้ใน 2 นัย ได้แก่ ความตระหนักรู้ในส่วนของผู้ปกครองว่าตนเองมีสิทธิในการปกครอง และการให้การยอมรับต่อการปกครองนั้นของผู้ถูกปกครอง”

Weber (1958) กล่าวว่าจากประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่ผ่านมาสามารถแบ่งประเภทของการใช้สิทธิอำนาจปกครองที่ถือว่าชอบธรรมออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.สิทธิอำนาจปกครองเชิงบารมี (charismatic authority)

ความชอบธรรมในการใช้สิทธิอำนาจปกครองรูปแบบนี้ขึ้นอยู่กับการให้การยอมรับของประชาชนต่อบารมีของผู้นำซึ่งใช้สิทธิอำนาจนั้น ยกตัวอย่างเช่น การให้การยอมรับในการปกครองของหัวหน้าเผ่าที่ถูกมองจากคนในเผ่าว่ามีบารมีเพียงพอในการเป็นหัวหน้าเผ่า เป็นต้น

2.สิทธิอำนาจปกครองเชิงจารีตประเพณี (traditional authority)

ความชอบธรรมในการใช้สิทธิอำนาจปกครองรูปแบบนี้ขึ้นอยู่กับการให้การยอมรับของประชาชนต่อการใช้สิทธิอำนาจที่สืบเนื่องรูปแบบเช่นนั้นมายาวนานจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนกล่าวได้ว่าเป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ประเทศที่ดำเนินตามรูปแบบนี้ อาทิ ประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ (monarchy) เป็นต้น

3.สิทธิอำนาจปกครองเชิงเหตุผลหรือเชิงกฎหมาย (rational/legal authority)

ความชอบธรรมในการใช้สิทธิอำนาจปกครองรูปแบบนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของการใช้สิทธิอำนาจว่าทำตามกฎหมายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพิจารณาได้จากตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเทศที่ดำเนินตามรูปแบบนี้ได้แก่ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน (representative democracy)

Dahl (1971) อธิบายถึงแนวคิดเรื่องความชอบธรรมโดยใช้การอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบกับกรณีเรื่องอ่างเก็บน้ำว่า ตราบใดที่น้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณอยู่ในระดับหนึ่งที่เหมาะสมเพียงพอ ตราบนั้นจะเกิดความมั่นคงกับสรรพชีวิตในบริเวณอ่างเก็บน้ำ แต่ถ้าปริมาณน้ำลดลงมากกว่าระดับที่ควรเป็น ก็จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตโดยรอบ ในทำนองเดียวกันระบอบการปกครองในรัฐส่วนใหญ่ต้องการการยอมรับจากประชาชนจำนวนมากเพื่อรักษาอำนาจแห่งการปกครองเอาไว้ อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าทุกประเทศต้องเป็นไปตามนัยนี้เสมอไป เนื่องจากในหลายประเทศระบอบการปกครองที่แม้ไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายดังเช่นระบอบการปกครองอื่น แต่ระบอบการปกครองดังกล่าวก็สามารถดำรงอยู่ได้ ด้วยได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนน้อยในสังคมที่เป็น “ชนชั้นนำผู้ทรงอิทธิพล (influential elite)” ที่มองว่าระบอบการปกครองในประเทศตนมีความชอบธรรมแล้ว

Lipset (1981) อธิบายว่า “ความชอบธรรมเป็นความสามารถของระบบในการทำให้เกิดและคงไว้ซึ่งความเชื่อที่ว่า สถาบันทางการเมืองที่มีอยู่มีความเหมาะสมมากที่สุดแล้วสำหรับสังคมขณะนั้น”

Beetham (1991) นิยามความชอบธรรมของการใช้อำนาจว่าคือ “มุมมองความเชื่อของประชาชนที่มีต่อการใช้อำนาจนั้น”

Alagappa (1995) อธิบายว่าความชอบธรรมทางการเมืองมีองค์ประกอบอยู่ 4 ประการ ดังนี้

1.การมีแบบแผนและค่านิยมร่วมกันของคนในสังคม (shared norms and values)

การมีแบบแผนและค่านิยมร่วมกันของคนในสังคมที่ผ่านความสืบเนื่องกันมาในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นตัวกำหนดประเภทของระบบการเมือง การใช้อำนาจของรัฐ และการยอมรับของประชาชนต่อการใช้อำนาจนั้น

องค์ประกอบข้อนี้มีตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง ได้แก่

1)ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมือง (conflict over organizing ideology) หากมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่เกิดขึ้นมาท้าทายอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดิมที่มีอยู่และสามารถขยายแนวร่วมได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อแบบแผนและค่านิยมที่เป็นอยู่ ซึ่งความชอบธรรมของผู้ปกครองขณะนั้นย่อมถูกลดทอนลงและอาจถึงขั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมา

2)การใช้กำลังบังคับให้ทำตามของรัฐหรือผู้ปกครองภายใต้ข้ออ้างเรื่องความสงบสุขของสังคม (the use of force in securing compliance) โดยแยกพิจารณาออกเป็น 2 สภาวะ คือ ผู้ใช้กำลังต้องมีความชอบธรรมในตนเอง และการใช้กำลังนั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอันมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม มีคำถามเกิดขึ้นว่า การใช้กำลังที่ว่านี้ถือว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ เพียงใด คำตอบคือ “ไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัว (no clear-cut answer is possible)” เพราะมีความแปรผันไปตามบริบท วัตถุประสงค์ และขอบเขตของการใช้กำลัง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีการใช้กำลังเพื่อจัดระเบียบสังคมให้เกิดเสถียรภาพ ความชอบธรรมในการใช้อำนาจของผู้ปกครองอาจเป็นไปในเชิงบวกภายใต้สายตาของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ถูกใช้กำลังเข้าจัดการ ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ปกครองมีลักษณะยัดเยียดอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับประชาชนและใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงอันขัดกับเจตจำนงของประชาชน ก็อาจได้รับการมองว่าไม่มีความชอบธรรมในการใช้กำลังนั้น ดังเช่นกรณีรัฐบาลทหารพม่า

3)ระดับการให้การสนับสนุนจากสาธารณชน (degree of public support) หากสาธารณชนออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการใช้สิทธิเลือกตั้ง การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมือง การให้การสนับสนุนยอมรับนโยบายของรัฐบาลและสิ่งที่รัฐบาลขอความร่วมมือในบางกรณี และการให้ความเชื่อมั่นในความมีประสิทธิภาพของระบบยุติธรรม เช่นนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการมีแบบแผนและค่านิยมร่วมกันของคนในสังคมที่ก่อให้เกิดมุมมองความชอบธรรมในตัวระบบการเมืองและรัฐบาล ในทางตรงกันข้ามถ้าหากระดับการสนับสนุนจากสาธารณชนมีน้อย ด้วยเพราะมีการขยายตัวของความไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม การหลีกเลี่ยงไม่ให้ความร่วมมือในคำสั่งหรือการจัดระเบียบของทางรัฐบาล การไม่ให้ความเคารพเชื่อฟังทางการเมือง ความเคลือบแคลงใจ และการมองสังคมในแง่ร้าย เช่นนี้ถือว่ามีผลกระทบต่อการมีแบบแผนและค่านิยมร่วมกันของคนในสังคมที่ก่อให้เกิดมุมมองความไม่ชอบธรรมในตัวระบบการเมืองและรัฐบาล

2.การเข้าสู่อำนาจด้วยการทำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ (conformity with established rules for acquiring powers)

ผู้ปกครองหรือรัฐบาลที่ก้าวเข้าสู่อำนาจภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ถือว่ามีความชอบธรรมในสายตาของคนส่วนใหญ่ในชาติของตน หากเข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางอื่นถือว่าขาดความชอบธรรม อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้อาจใช้อธิบายไม่ได้กับกรณีการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เพราะถึงแม้ว่าเกิดเหตุการณ์การได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาลชุดใหม่ที่มิได้มาตามวิถีทางและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ เช่น การก่อรัฐประหาร แต่ก็ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมว่ามีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจนั้น โดยรัฐบาลดังกล่าวสามารถเริ่มต้นสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองได้ 2 ทาง คือ ทางแรก ด้วยการอาศัยกรณีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เพิ่งผ่านพ้นไปในการสร้างแบบแผนและค่านิยมในหมู่ชนให้เกิดการยอมรับในรัฐบาลใหม่ และพยายามลดความชอบธรรมของระบอบเดิมหรือความชอบธรรมของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทางที่สอง ด้วยการอาศัยบารมีของผู้นำคนใหม่ จากนั้นในระยะยาวค่อยเสริมสร้างความชอบธรรมให้เพิ่มมากขึ้น

3.การใช้อำนาจอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (proper and effective use of power)

มีความหมายอยู่ 2 นัย คือ นัยแรกเป็นการใช้อำนาจบริหารประเทศภายใต้กฎเกณฑ์ กระบวนการ และกฎหมาย และนัยที่สองเป็นการใช้อำนาจอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมแก่คนในสังคม มิใช่ตกอยู่กับตนเองและพวกพ้อง

อย่างไรก็ตามเรื่องการทำงานของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจมิได้หมายความถึงการขาดความชอบธรรมเสมอไป เนื่องด้วยหากรัฐบาลนั้นบริหารงานล้มเหลว กระบวนการการเลือกตั้งในครั้งต่อไปจะเป็นตัวตัดสิน (ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) แต่เนื่องจากผู้คนมักคิดเชื่อมโยงเรื่องประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาลเข้ากับเรื่องความชอบธรรม จึงทำให้เรื่องประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาลกลายเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมสำหรับใช้วัดระดับความชอบธรรมของรัฐบาล

4.การให้ความยอมรับในการปกครอง (consent of the governed)

การให้ความยอมรับในการปกครองแตกต่างกันไปตามลักษณะของระบอบการปกครอง ยกตัวอย่างเช่น ในระบอบประชาธิปไตยการให้การยอมรับของประชาชนในการปกครองของผู้ปกครองขึ้นอยู่กับเรื่องของการเปิดกว้างให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และส่วนร่วม ส่วนในระบอบอำนาจนิยมและระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จการให้การยอมรับในการปกครองมุ่งไปที่เรื่องการบริหารงานของรัฐบาลว่าบรรลุเป้าหมายและนโยบายที่แถลงไว้มากน้อยเพียงใด มากกว่าดูที่รูปร่างหน้าตาองคาพยพของรัฐบาล

ในทางทฤษฎีสามารถแยกอธิบายและวิเคราะห์ถึงองค์ประกอบของความชอบธรรมทางการเมือง 4 ประการนี้ออกจากกันได้ แต่ในทางปฏิบัติต้องวิเคราะห์ร่วมกันเนื่องจากองค์ประกอบทั้ง 4 มีความสัมพันธ์เกี่ยวพันซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นความชอบธรรมเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน มีความเป็นพลวัตร และมีระดับ (degree) ที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และยุคสมัย โดยไม่สามารถระบุให้ชัดเจนลงไปได้ว่ามีเพียงแค่ 2 ระดับเท่านั้น คือ มีความชอบธรรม (legitimacy) หรือไม่มีความชอบธรรม (illegitimacy)

ผู้มีอำนาจในทางปกครองจะพิจารณาสร้างภาพลักษณ์ความชอบธรรมทางการเมืองให้เกิดขึ้นใน 3 สถาบันทางการเมือง (three political institutions) ได้แก่ รัฐชาติ (nation-state) ระบอบ (regime) และรัฐบาล (government) โดย “ความรู้สึกว่ามีอัตลักษณ์ร่วมกันของคนในชาติ (shared identity)” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ความชอบธรรมทางการเมืองต่อกรณีรัฐชาติ “การมีแบบแผนและค่านิยมร่วมกันของคนในสังคม (shared norms and values)” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ความชอบธรรมทางการเมืองต่อกรณีระบอบ และ “การเข้าสู่อำนาจด้วยการทำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่และลักษณะของการบริหารงาน (conformity with established rules and performance)” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ความชอบธรรมทางการเมืองต่อกรณีรัฐบาล

ในสารานุกรมออนไลน์ Wikipedia ได้อธิบายถึงความหมายของความชอบธรรมทางการเมือง : Legitimacy (political) (2009) ว่าหมายถึง การให้การยอมรับของประชาชนต่อระบอบการปกครองที่มีสิทธิอำนาจ (authority) ปกครองพวกตน และหากกล่าวถึงในบริบทเรื่องกฎหมาย ควรแยกแยะคำว่า “ความชอบธรรม (legitimacy)” ออกจากคำว่า “ความถูกต้องตามกฎหมาย (legality)” เนื่องจากมีนัยต่างกัน กล่าวคือ การกระทำบางอย่างเป็นการกระทำที่มองว่าถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจปราศจากซึ่งความชอบธรรม (ยกตัวอย่างเช่น เมื่อแรกเริ่มเกิดกรณีข่าว ด.ช.หม่อง ทองดี อายุ 12 ปี เด็กไร้สัญชาติ นักเรียนชั้น ป.4 ร.ร.บ้านห้วยทราย จ.เชียงใหม่ ที่ชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับในประเทศไทย แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ที่เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เพราะกระทรวงมหาดไทยอ้างเหตุผลว่าเด็กชายหม่องเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หากเดินทางออกนอกประเทศ จะไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แม้จะรู้ว่าเด็กไม่ได้มีผลกับความมั่นคง “แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย” ผลปรากฏว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมตามมาทันทีว่า ทางกระทรวงมหาดไทยอาจเน้นตีความตามตัวบทกฎหมายมากกว่าการพยายามตีความเพื่อรับรองสิทธิและให้คุณแก่ประชาชน หรือใช้หลักเมตตาธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนมากกว่าใช้หลักกฎหมายเพียงอย่างเดียว เช่นนี้แล้วอาจถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจที่ขาดซึ่งความชอบธรรมได้ : ผู้เขียน)

ในขณะที่การกระทำบางอย่างเป็นการกระทำที่มองว่ามีความชอบธรรม แต่ไม่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย (ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อชินด์เลอร์ เป็นผู้ดูแลบัตรรายชื่อของนาซี เขาใช้ทั้งเส้นสาย วาทศิลป์ รวมทั้งการติดสินบนทหารบางนายเพื่อนำคนงานชาวยิวมากกว่า 1,100 คน ให้ย้ายไปอยู่ที่โรงงานผลิตอาวุธในเมือง Brunnlitz ของประเทศเช็คโกสโลวาเกีย บ้านเกิดของชินด์เลอร์ และคนงานชาวยิวเหล่านี้ก็อยู่รอดปลอดภัย ไม่ต้องถูกนำไปทำลายที่เตาเผาของค่ายนรก Auschwitz ซึ่งมองได้ว่ามีความชอบธรรมในการช่วยชีวิตคนไม่ให้ถูกจับตัวไปฆ่า แต่เป็นการกระทำที่ขัดกับกฎหมายเนื่องจากมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ : ผู้เขียน)

ใหญ่ เตมีย์ (2544 อ้างจาก Shively) อ้างงานเขียนของ Phillips W. Shively ซึ่งกล่าวถึงความชอบธรรมที่ผู้ปกครองต้องกระทำเพื่อให้เกิดการยอมรับในอำนาจ ซึ่งแบ่งที่มาได้ 4 ประการ คือ

1.ความชอบธรรมโดยผลงาน (legitimacy by results) คือความพยายามที่ผู้ปกครองต้องจัดการตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งยิ่งตอบสนองมากก็ยิ่งมีความชอบธรรมมาก

2.ความชอบธรรมโดยคุณลักษณะ (legitimacy by habit) คือความสามารถในการปรับตัวของผู้ปกครองไปตามบริบทของสภาพสังคมหรือของประชาชน

3.ความชอบธรรมโดยประวัติศาสตร์ ศาสนา หรือเอกลักษณ์เชื้อชาติ (legitimacy by historical, religious, or ethnic identity) คือความชอบธรรมที่เกิดจากการเชื่อมโยงกับความชอบธรรมของผู้ปกครองในอดีตว่ามีทิศทางอย่างไร โดยดูลักษณะทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติของผู้ปกครองกับประชาชนให้มีความสัมพันธ์ที่ไปในทิศทางเดียวกันได้

4.ความชอบธรรมโดยผ่านกระบวนการ (legitimacy by procedures) เป็นการสร้างความชอบธรรมที่เกิดจากผู้ปกครองสร้างขึ้นเอง เพื่อทำให้ประชาชนมีความมั่นใจบนกฎกติกาที่ได้วางไว้ ซึ่งการทำไม่ได้ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ประชาชนก็มีสิทธิเปลี่ยนผู้ปกครองใหม่ได้

Guo (2003) อธิบายถึงองค์ประกอบสองส่วนของความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งได้แก่ ส่วนแรก การอ้างเหตุผลถึงที่มา (original justification) ของสิทธิอำนาจในการปกครอง และส่วนที่สอง การอ้างเหตุผลถึงเรื่องผลประโยชน์ (utilitarian justification) ของประชาชนที่ผู้ปกครองดำเนินการให้เกิดขึ้นตามความต้องการของประชาชน ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ปกครองให้เกิดขึ้นในสายตาและการรับรู้ของคนในสังคม อันนำมาซึ่งการให้การยอมรับในตัวผู้ปกครองและการดำรงไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพของผู้ปกครอง กล่าวโดยสรุปคือผู้ปกครองที่ต้องการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน ต้องอธิบายต่อสังคมให้เกิดการยอมรับในที่มาของผู้ปกครองและยอมรับในประสิทธิภาพของการปกครองของตน

Guo ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติจีนตั้งแต่ครั้งสมัยบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน เขาได้นำเสนอตัวแบบเชิงเปรียบเทียบให้เห็นถึงองค์ประกอบของการสร้างความชอบธรรมทางการปกครองหรือความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อรักษาสถานภาพแห่งการปกครองในยุคสมัยของตนให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงยาวนาน ดังนี้

ในสมัยบรรพกาลที่จีนปกครองด้วยองค์จักรพรรดิในราชวงศ์ต่าง ๆ องค์ประกอบส่วนแรกของการเสริมสร้างความชอบธรรมแห่งการปกครองว่าด้วยที่มาของผู้ปกครอง (original justification) ได้แก่ ปัจจัยความเชื่อของสังคมว่าผู้ปกครองเป็นผู้ซึ่งได้รับอาณัติจากสรวงสวรรค์ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และมีคุณความดี และปัจจัยการมีกฎเกณฑ์ของครอบครัว แบบแผนของวงศ์ตระกูล ขนบธรรมเนียมของชุมชน และจารีตประเพณีของสังคม ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การยอมรับในผู้ปกครองโดยคนคนเดียวได้

องค์ประกอบส่วนที่สองของการเสริมสร้างความชอบธรรมแห่งการปกครองว่าด้วยการทำคุณประโยชน์ของผู้ปกครองแก่ประชาชน (utilitarian justification) ได้แก่ ปัจจัยผลประโยชน์และสวัสดิการที่ประชาชนได้รับจากการปกครอง และปัจจัยการกระจายผลประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับจีนนับตั้งแต่การสถาปนาระบอบสังคมนิยมในสมัยเหมาเจ๋อตุงจวบจนถึงปัจจุบัน การปกครองในระบอบนี้ถูกมองว่าการเมืองการปกครองภายในประเทศยังไม่เปิดกว้างเท่ากับระบอบประชาธิปไตย Guo ตั้งคำถามว่าเหตุใดประชาชนชาวจีนยังคงให้การยอมรับในการปกครองของรัฐบาลจีนมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน Guo ให้เหตุผลว่าเกิดจากกระบวนการในการเสริมสร้างความชอบธรรมทางการเมือง 2 ส่วน ซึ่งได้แก่ original justification และ utilitarian justification ดังนี้

องค์ประกอบส่วนแรกของการเสริมสร้างความชอบธรรมแห่งการปกครองว่าด้วยที่มาของผู้ปกครอง (original justification) ได้แก่ ปัจจัยการทำให้ประชาชนยอมรับในตัวผู้นำผ่านภาพทฤษฎีความเป็นตัวแทน 3 ประการของผู้นำ (การใช้อำนาจเพื่อประชาชน การเชื่อมความรู้สึกของผู้นำไปยังประชาชน และการมุ่งสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน) ปัจจัยการทำให้ประชาชนยอมรับในความรู้ความสามารถของผู้นำ และปัจจัยการทำให้ประชาชนยอมรับในรัฐธรรมนูญและหลักแห่งกฎหมาย

องค์ประกอบส่วนที่สองของการเสริมสร้างความชอบธรรมแห่งการปกครองว่าด้วยการทำคุณประโยชน์ของผู้ปกครองแก่ประชาชน (utilitarian justification) ได้แก่ ปัจจัยการนำเอาหลักการภาวะแห่งความทันสมัย (modernization) มาปรับใช้ในการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และปัจจัยการดำเนินนโยบายที่เน้นกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน

จากการให้คำนิยาม “ความชอบธรรมหรือความชอบธรรมทางการเมือง” ทั้งหมดข้างต้น สามารถประมวลสรุปได้ว่า หมายถึง มุมมองของคนในสังคมที่มีต่อรัฐ (ประเทศ) ระบอบการปกครอง และผู้ปกครอง ซึ่งถ้าเป็นกรณีให้การยอมรับว่ามีความชอบธรรม จะส่งผลให้เพิ่มระดับความมีเสถียรภาพของรัฐ ระบอบปกครอง และผู้ปกครอง ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นกรณีไม่ให้การยอมรับว่ามีความชอบธรรม ความมีเสถียรภาพของรัฐ ระบอบปกครอง และผู้ปกครองคงลดลงจนอาจถึงขั้นล่มสลายได้

สำหรับ “ตัวชี้วัดความชอบธรรมทางการเมือง” ตามข้อมูลข้างต้น ผู้เขียนวิเคราะห์ว่ามีดังนี้ คือ

1. การให้การยอมรับต่อการปกครองนั้นของผู้ถูกปกครอง ซึ่งวัดได้จากระดับการให้การสนับสนุนจากสาธารณชน (degree of public support) ในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมือง การให้การสนับสนุนยอมรับนโยบายของรัฐบาลและสิ่งที่รัฐบาลขอความร่วมมือในบางกรณี และการให้ความเชื่อมั่นในความมีประสิทธิภาพของระบบยุติธรรม

2.การให้การยอมรับในที่มาของการเข้าสู่อำนาจของผู้ปกครองด้วยการทำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่

3.การให้การยอมรับว่าผู้ปกครองใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างเหมาะสมภายใต้กฎเกณฑ์ กระบวนการ และกฎหมาย

4.การให้การยอมรับว่าผู้ปกครองใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

โจทย์ : ใครบ้างที่มักเป็นผู้ใช้คำ ๆ นี้ (ในบริบทการเมืองไทย)

ต่อกรณีคำถามนี้จากประสบการณ์ของผู้เขียน ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าผู้ที่มักใช้คำ ๆ นี้ ยกตัวอย่างได้เช่น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล นักการเมืองฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก นักการเมืองท้องถิ่น นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรอิสระ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ถ้าพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่นำเสนอตอนต้นของบทความ พบว่าฝ่ายการเมือง (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และร้อยโทกุเทพ ใสกระจ่าง) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) และผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง (คุณประยูร) ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นโดยอ้างถึงคำว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” อยู่ด้วย เหตุผลของการกล่าวอ้างถึงคำ ๆ นี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นเรื่องของการใช้วาทกรรม “ความชอบธรรมทางการเมือง” ใน 2 กรณีหลัก คือ กรณีการใช้วาทกรรม “ความชอบธรรมทางการเมือง” เพื่ออธิบายต่อสังคมว่าตนมีความชอบธรรม และกรณีการใช้วาทกรรม “ความชอบธรรมทางการเมือง” เพื่ออธิบายต่อสังคมว่าบุคคลผู้นั้นหรือองค์กรนั้นขาดซึ่งความชอบธรรม ส่วนกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านกำลังช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อความได้เปรียบทางการเมืองนั้น ถือเป็นกรณีมุมมองเชิงวิพากษ์ที่มองเข้าไปหาฝ่ายการเมืองว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ หรือกำลังเล่นเกมอะไรกันอยู่เห็นได้ว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” เป็นคำที่ถูกนำไปใช้โดยคนหลายคน กลุ่มหลายกลุ่ม และองค์กรหลายองค์กร แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่จะเห็นภาพ “ประชาชนทั่วไป” ออกมาแสดงทัศนะโดยใช้คำ ๆ นี้ เรื่องนี้มีนัยสำคัญอย่างไรในทางการเมืองการปกครอง

เรื่องนี้มีนัยสำคัญอย่างแน่นอนในทางการเมืองการปกครองโดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ “ประชาชนทั่วไป” ถือได้ว่าตกเป็นตัวแสดงสำคัญในการใช้วาทกรรมนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่ถูกผูกโยงกำหนดให้แสดงบทตัดสินหรือพิพากษาว่าบุคคลผู้นั้นหรือองค์กรนั้น “มีความชอบธรรม” หรือ “ไม่มีความชอบธรรม” ทว่าประชาชนจำนวนมากไม่ได้ติดตามรับรู้ถึงข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือติดตามบ้างแต่ไม่ลึกซึ้งและต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่มีความรู้ความเข้าใจโดยพื้นฐานว่าอะไรคือ “ความชอบธรรมทางการเมือง” เช่นนี้แล้วจะถือเป็นตัวแสดงที่คาดหวังว่าสามารถสำแดงพลังในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (มีประสิทธิภาพ) ด้วยนัยแห่งการพัฒนาทางการเมืองไทยได้อย่างไร

นี่ยังไม่รวมถึงกรณีการไม่สามารถแยกแยะเรื่องอารมณ์รัก ชอบ โกรธ หลง เกลียด และแค้นส่วนตัวออกจากเรื่องข้อเท็จจริงและเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในประชาชนหลายคน ส่งผลให้ “ความชอบธรรมทางการเมือง” เป็นคำที่มักถูกฝ่ายการเมืองนำไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในแต่ละสถานการณ์ โดยใช้อารมณ์และความรู้สึกของประชาชนเป็นฐานสนับสนุนฝ่ายตน นี่ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เขียนจะได้นำเสนอทางออกในช่วงท้ายบทความ

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ งานวิจัยของธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์ (2551) เรื่อง “ความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองไทย : การศึกษาเปรียบเทียบทัศนะของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในเขตกรุงเทพมหานคร” เป็นการศึกษาในเชิงสำรวจทัศนคติของประชาชนในกรุงเทพ โดยเปรียบเทียบทัศนะที่เหมือนและแตกต่างระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่มีต่อสถาบันทางการเมือง 3 สถาบันซึ่งได้แก่ สถาบันพรรคการเมือง สถาบันฝ่ายบริหาร และสถาบันทหาร ผลการศึกษาพบว่า

1)ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่มีความแตกต่างทางชนชั้นในสังคมมีทัศนคติต่อประเด็นความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองในระดับที่แตกต่างกัน กล่าวคือผู้ที่อยู่ในระดับชนชั้นล่างให้การยอมรับในสถาบันทางการเมืองได้ง่ายกว่าผู้ที่อยู่ในระดับชนชั้นกลาง

2)กรณีสถาบันพรรคการเมือง ทั้ง 2 ชนชั้นมีความเห็นเหมือนกันเกี่ยวกับสถาบันพรรคการเมือง คือ ให้การยอมรับสถาบันพรรคการเมืองจากตัวผู้นำพรรคมากกว่าการยึดหลักการหรืออุดมการณ์ของพรรค แต่ ชนชั้นกลางอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองด้วย เช่น ประเด็นของความซื่อสัตย์หรือปัญหาแตกแยกภายใน

3)กรณีสถาบันฝ่ายบริหาร ในสภาวะปัจจุบันชนชั้นล่างได้รับแรงกระตุ้นให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเกิดจากนโยบายของฝ่ายบริหารที่ให้ความสำคัญกับชนชั้นล่าง แต่อย่างไรก็ดีชนชั้นล่างยังมองฝ่ายบริหารเพียงแค่ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นตน ในขณะที่ชนชั้นกลางมุ่งหวังให้ฝ่ายบริหารมีความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงานมากกว่าที่เป็นอยู่

4)กรณีสถาบันฝ่ายทหาร ทั้ง 2 ชนชั้นมีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยชนชั้นกลางยังไม่ไว้วางใจต่อสถาบันทหาร เพราะผลกระทบจากเหตุการณ์ในอดีต และยังคงมีความพยายามแยกสถาบันทหารออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าทหารจะเข้ามาแทรกแซงด้วยรูปแบบใด แต่สำหรับชนชั้นล่างกลับมีมุมมองที่ดีต่อสถาบันทหาร เนื่องจากการเข้าแทรกแซงทางการเมืองช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากระบบการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ

ผู้เขียนมีความเห็นเพิ่มเติมจากงานวิจัยนี้ว่า การมีทัศนะที่เหมือนและแตกต่างระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่างต่อสถาบันทางการเมือง (เรื่องความชอบธรรม) อาจมองในมุมหนึ่งได้ว่าเป็นความหลากหลายซึ่งความคิดเห็นในวิถีประชาธิปไตย และอาจมองในอีกมุมหนึ่งได้ด้วยเช่นกันว่าเป็นความหลากหลายซึ่งความคิดเห็นที่มีความน่าจะเป็นหรือแนวโน้มนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในสังคม ถ้าความขัดแย้งอยู่ในระดับสูง ก็มีโอกาสนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีประชาชนไม่ว่าชนชั้นใดก็ตามที่ต่างตกเป็นเครื่องมือหรือตัวแสดงสำคัญของขั้วอำนาจทางการเมืองขั้วต่าง ๆ โดยปราศจากภูมิคุ้มกันในตนเอง

กรณีถ้าเห็นด้วยกับมุมมองแรก อาจมีนัยทำนองว่าควรปล่อยให้เกิดความหลากหลายในเรื่องนี้ต่อไป ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือจัดการอะไรทั้งสิ้น ให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาด้วยตัวของมันเอง ถือเป็นความงดงามในวิถีทางประชาธิปไตย แต่ถ้าเป็นกรณีเห็นด้วยกับมุมมองที่สอง อาจส่งนัยทำนองว่าควรมีกระบวนการในการเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่อง “ความชอบธรรมทางการเมือง” กับประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ ให้มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่ ประการใด เพื่อเป็นหลักประกันในระยะยาวว่าด้วยการลดความขัดแย้ง (ที่ต่างคนต่างก็มีแนวคิดและเกณฑ์ชี้วัดเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน) และการร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางการเมืองให้กับประชาชน ไม่ให้ใครมาจูงจมูกหรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ ต่อคำถามนี้คงยังไม่มีคำตอบแน่ชัดตายตัว เพราะเป็นเพียงประเด็นคำถามที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนะอันนำไปสู่การนำเสนอทางเลือกของการแก้ปัญหาทางการเมืองเท่านั้น

โจทย์ : “ความชอบธรรมทางการเมือง” ควรถูกนำไปใช้เฉพาะกับ “รัฐบาล” เสมอไปดังที่มักใช้กันอยู่หรือไม่

จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ความชอบธรรมทางการเมือง” ผู้เขียนพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อกล่าวหรืออธิบายถึงคำ ๆ ว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” ก็มักหมายความถึง “ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล” ไม่ได้ให้คำนิยามขยายขอบเขตไปยังภาคส่วนอื่น ๆ แต่อย่างใด มีงานเขียนน้อยชิ้นมากที่เวลากล่าวถึง “ความชอบธรรมทางการเมือง” แล้วมิได้หมายความถึงแต่เฉพาะรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในการปกครองเท่านั้น หากยังหมายความรวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ทหาร ตุลาการ เป็นต้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่า การกล่าวหรืออธิบายคำ ๆ ว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” ที่มุ่งเน้นไปยัง “ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล” โดยไม่ได้ให้คำนิยามขยายขอบเขตไปยังภาคส่วนอื่น ๆ แต่อย่างใดนั้น มีประเด็นที่น่าขบคิดอยู่ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก อาจมีความถูกต้องระดับหนึ่งภายใต้ตรรกะที่ว่า “รัฐบาล” ถือเป็นหน่วยทางการเมืองหรือสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะมีสิทธิอำนาจในการบริหารประเทศอันมีผลโดยตรงกับทุกภาคส่วนในประเทศ ดังนั้นควรติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเพื่อส่งเสียงสะท้อนกลับไปยังรัฐบาลให้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนในสังคมที่มีต่อรัฐบาล ด้วยมุ่งหวังว่ารัฐบาลจะฟังและนำไปปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานให้ดียิ่งขึ้น แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลรับฟังแบบผ่าน ๆ รับฟังแล้วแก้ตัว หรือรับฟังแล้วทบทวนตนเองอันนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเพียงเล็กน้อย และประเด็นที่สอง อาจเป็นการอธิบายที่ดูคับแคบไปหรือไม่ เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งไปที่คำ ๆ ว่า “การเมือง (politics)” เนื่องจากคำนี้มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมไปยังทุกภาคส่วนของสังคม ไม่เพียงแต่เฉพาะนักการเมืองหรือรัฐบาลเท่านั้น ดังมีคำกล่าวที่ว่า “การเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนในสังคม ไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม” และ “การเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ทุกผู้คนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย และเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ทุกผู้คนตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน” ซึ่งคำกล่าวเช่นนี้มีความหมายทำนองว่า แม้เราไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เรื่องการเมืองก็เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเราอยู่ดี เพราะฉะนั้นแล้วจงอย่าปล่อยให้เรื่องการเมืองมีคนเล่นกันอยู่เพียงแค่ไม่กี่ฝ่าย (เช่น นักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ เป็นต้น) หากประชาชนคนทั่วไปและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมต้องเข้ามาเล่นด้วย จึงจะสามารถกล่าวได้ว่าเกิดปัจจัยที่เอื้อต่อกระบวนการสร้างเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ผู้เขียนมีความเห็นว่าการพิจารณาตามความหมายของคำว่า “การเมือง” ในนัยเชิงกว้าง ช่วยทำให้มองเห็นภาพมุมกว้างของปัญหาและมองเห็นทุกภาคส่วนที่ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานั้นร่วมกัน ผู้เขียนขอนำเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับความชอบธรรมทางการเมือง ว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” ควรมีความหมายกว้างครอบคลุมทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนในปริมณฑลของคำว่า “การเมือง (Politics)” ซึ่งในกรอบแนวความคิดเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้ หากมุ่งเน้นวิพากษ์รัฐบาลว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ในกรณีต่าง ๆ อาทิ ที่มา การบริหารงาน ควรใช้คำว่า “ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล” (ดูแผนภาพที่ 1) เพื่อให้เกิดความชัดเจนลงไปว่ากำลังพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลอยู่ อย่างไรก็ตามในทัศนะของผู้เขียน มีความเห็นว่าหากใช้คำว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” โดด ๆ ไม่มีคำใดต่อท้าย น่าจะมีขอบเขตที่กว้างกว่าคำว่า “ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล” และถ้ามีการขยายขอบเขตของคำนิยามเช่นนี้แล้ว คำถามที่ตามมาคงมิใช่มีแต่เฉพาะการวิเคราะห์ไปที่รัฐบาลเพียงภาคส่วนเดียว หากต้องขยายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คำว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” ไม่ควรเป็นคำที่ใช้กระตุ้นต่อมจิตสำนึกทางการเมืองในเชิงสร้างสรรค์เฉพาะแต่กับรัฐบาลเท่านั้น หากรวมถึงฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา องค์กรด้านตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ประชาสังคม ประชาชนในฐานะปัจเจกชน และภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับ “พัฒนาการการเมืองไทย” ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในเชิงเนื้อหาและกระบวนการ อันนำไปสู่ความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่พึงปรารถนาในที่สุด ดังอธิบายไว้ในแผนภาพที่ 2 ว่าด้วยมุมมองใหม่ : ความชอบธรรมทางการเมือง (ไม่เฉพาะแต่ของรัฐบาล)








แผนภาพที่ 1 ที่มาของความชอบธรรมทางการเมือง (ของรัฐบาล)














แผนภาพที่ 2 มุมมองใหม่ : ความชอบธรรมทางการเมือง (ไม่เฉพาะแต่ของรัฐบาล) มุมมองใหม่ที่ว่านี้ไม่ได้กล่าวถึงแต่เฉพาะความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล หากเชื่อมโยงไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมด้วย เพราะผู้เขียนวิเคราะห์ว่าทุกภาคส่วนควรมีส่วนรับผิดชอบและมีจิตสำนึกร่วมในการสร้างเสริมให้เกิด “ความชอบธรรมทางการเมือง” ขึ้นอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายค้านต้องมีความชอบธรรมในตนเองด้วย มิใช่มุ่งกล่าวหาผู้อื่นแต่เพียงอย่างเดียว การจะกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไม่มีความชอบธรรม ต้องหันมาสำรวจดูตนเองก่อนว่าก่อนหน้านั้นสมัยตนเองเป็นรัฐบาล ตนเองมีความชอบธรรมหรือไม่ (เพราะถ้าไม่ ก็อาจถูกรัฐบาลตอบโต้สวนกลับมาได้ว่าคราวที่ท่านเป็นรัฐบาล ท่านก็ไม่มีความชอบธรรม จนทำให้กลายเป็นวิวาทะระหว่างนักการเมืองด้วยกันเองในท้ายที่สุด โดยมีประชาชนเป็นผู้ดูมวยคู่นี้ คำถามสำคัญก็จะวนกลับมาอีกว่า แล้วประชาชนจะได้อะไรจากการที่นักการเมืองถกเถียงกันเรื่องความชอบธรรม ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงกรณีการต้องตกเป็นเครื่องมือทางวาทกรรมของนักการเมืองแต่ละฝ่าย) และข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมต้องตั้งอยู่บนฐานของความมีเหตุผล ฐานแห่งการติติงตรวจสอบด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มิใช่เพียงเพื่อมุ่งหวังทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม แล้วตนจะได้มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นฝ่ายรัฐบาลแทน กรณีภาคส่วนอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนมีความเห็นว่าต้องหันกลับมาสำรวจมองตนเองเสมอก่อนหน้าไปกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์ใครว่าไม่มีความชอบธรรม เพื่อเป็นการเตือนสติตนเองว่า เรามีคุณงามความดีภายในตัวอยู่แล้วใช่หรือไม่ เราทำหน้าที่ของเราได้อย่างเหมาะสมดีงามต่อสังคมแล้วใช่หรือไม่ ถ้าใช่ถึงจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมจริง ๆ ที่สามารถไปกล่าวถึงผู้อื่นเรื่องความไม่ชอบธรรม ถ้ากระบวนการคิดและกระทำเป็นไปในแนวทางนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญช่วยเรื่องการพัฒนาการเมืองไทยได้อย่างแท้จริง จาก “ตัวชี้วัดความชอบธรรมทางการเมือง” ที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ซึ่งได้แก่ การให้การยอมรับต่อการปกครองนั้นของผู้ถูกปกครอง การให้การยอมรับในที่มาของการเข้าสู่อำนาจของผู้ปกครองด้วยการทำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ การให้การยอมรับว่าผู้ปกครองใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างเหมาะสมภายใต้กฎเกณฑ์ กระบวนการ และกฎหมาย และการให้การยอมรับว่าผู้ปกครองใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพหากพิจารณาตามมุมมองใหม่ที่ผู้เขียนนำเสนอ ก็ต้องมีการเพิ่มเติมตัวชี้วัดไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะมิได้มองว่ามีแต่เพียงภาครัฐเท่านั้น ซึ่งต้องทำการศึกษาค้นหาตัวชี้วัดดังกล่าวต่อไป (ยกตัวอย่าง กรณีตัวชี้วัดความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายค้าน อาทิเช่น การทำหน้าที่ค้านและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลด้วยความโปร่งใสเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เป็นต้น)

โจทย์ : ควรมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้างเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่อง“ความชอบธรรมทางการเมือง” กับคนไทยในทางสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับวิถีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และช่วยหนุนเสริมให้การเมืองไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น

จากทัศนะว่าด้วยเรื่อง “มุมมองใหม่ : ความชอบธรรมทางการเมือง (ไม่เฉพาะแต่ของรัฐบาล)” ส่งผลสืบเนื่องให้ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อตอบโจทย์ข้อนี้ ดังนี้

ต้องมีกระบวนการในการเสริมสร้างองค์ความรู้ “ความชอบธรรมทางการเมือง” และองค์ความรู้อื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ องค์ความรู้รวมเรื่อง “การเมือง” “ประชาธิปไตย” เป็นต้น ให้กับประชาชน ซึ่งผู้เขียนขอ แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมตอนปลาย รวมถึงผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย และส่วนที่เป็นประชาชนทั่วไปที่พ้นจากสถานศึกษาแล้วตั้งแต่วัยรุ่น วัยกลางคน และวัยสูงอายุ ผู้เขียนมีความเห็นว่าความเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สามารถก่อให้เกิดกระบวนการข้างต้นอย่างได้ผลต่อประชาชนทั้งสองส่วน คือ การกำหนดให้มีหลักสูตรขึ้น (ควรคิดค้นคำเรียกขานเป็นอย่างอื่นต่อไป เพราะคำว่า “หลักสูตร” ฟังดูแล้วอาจมีนัยทำนองว่ามีห้องเรียน มีผู้สอน และมีผู้เรียนอยู่ภายในห้อง ๆ หนึ่ง) โดยเป็นหลักสูตรที่มีระยะเวลาความต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี และรูปแบบของกระบวนการต้องมิใช่การสอนในลักษณะท่องจำ แต่ใช้กระบวนการ “เด็กเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ (child center)” กระบวนการ “ประชาเสวนา (citizen dialogue)” และกระบวนการ “ผู้อำนวยเวทีหรือวิทยากรกระบวนการ (facilitator)” เป็นหลักสำคัญ เพราะองค์ความรู้เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของการท่องจำ หากเป็นเรื่องของการตั้งคำถามแล้วช่วยกันขบคิดหาคำตอบโดยมีผู้อำนวยเวที (ไม่ใช้คำว่าผู้สอน) เป็นผู้ค่อย ๆ นำพาประชาชนทั้งสองส่วนไปสู่เป้าหมายปลายทางให้เกิดความรู้ ความตระหนัก ความรับผิดชอบ และจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง (citizenship) ขึ้นอย่างแท้จริง เหตุผลที่ผู้เขียนนำเสนอว่าทำไมต้องดำเนินกระบวนการนี้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ด้วยเพราะผู้เขียนไม่เชื่อว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะสามารถใช้ระยะเวลาบ่มเพาะให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงกับประชาชนทั้งสองส่วนได้ในระยะเวลาอันสั้น อาทิเช่น การนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปสอดแทรกอยู่ในบางรายวิชา การอบรมสัมมนาระยะสั้นเป็นครั้งเป็นคราว เป็นต้น ที่ผ่านมาภาระหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองให้กับประชาชนชาวไทยที่ปรากฏแลเห็นเด่นชัด เพิ่งมีมาประมาณสิบปีนี้เอง นั่นคือ “สถาบันพระปกเกล้า” ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทางวิชาการที่มีเป้าหมายข้อหนึ่งของการก่อตั้ง ได้แก่ การเผยแพร่ประชาธิปไตย มีองค์กรอื่นบ้างบางองค์กรที่พยายามช่วยในเรื่องการเผยแพร่ประชาธิปไตย เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นต้น แต่ยังขาดการทำวิจัยศึกษาในเชิงบูรณาการหลักสูตรเผยแพร่ประชาธิปไตยจากองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งซึ่งผ่านหลักสูตร “การเป็นวิทยากรเผยแพร่ประชาธิปไตย” จากสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปี พ.ศ. 2544 ได้นำความรู้จากหลักสูตรนี้ไปปรับประยุกต์ใช้ในวิชาชีพจวบจนถึงปัจจุบัน คือ ในฐานะอาจารย์ผู้สอนหนังสือให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย 4 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ และในฐานะกรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จ.เชียงใหม่ (เดิมชื่อว่า ศูนย์กิจกรรมร่วมรัฐสภา-ประชาสังคม จ.เชียงใหม่) ผู้เขียนประเมินผลการสอนหนังสือและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยว่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มากนัก โดยผู้เขียนมีความเห็นเชิงวิพากษ์ว่า ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเผยแพร่ประชาธิปไตย อาทิเช่น การค้นหาหลักสูตรเผยแพร่ประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมกับวัยต่าง ๆ และสภาพของบริบทที่แตกต่างกันไปของประชาชนในแต่ละพื้นที่ การเผยแพร่ประชาธิปไตยโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ มีทักษะในการถ่ายทอดเป็นเลิศ และมีเจตคติที่สอดคล้องกับจิตวิญญาณอันแท้จริงของคำว่าประชาธิปไตย การเผยแพร่ประชาธิปไตยไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำในลักษณะเป็นครั้งเป็นคราว การสร้างและขยายเครือข่ายของการเผยแพร่ประชาธิปไตย และการหาแนวร่วมสำคัญในการช่วยเผยแพร่ประชาธิปไตย อาทิ สื่อ เป็นต้น แน่นอนว่าข้อเสนอข้างต้นเป็นข้อเสนอในเชิงระยะกลางและระยะยาว กล่าวคือ ต้องมีการเริ่มต้น การดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และการอดทนรอผลที่จะได้รับในอนาคต เพื่อหวังว่าเมื่อถึงวันนั้น (วันที่รอคอย) ประชาชนคนไทยทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะผู้ที่อยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ จะมีองค์ความรู้สำคัญทางการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ (รวมถึงองค์ความรู้เรื่องความชอบธรรมทางการเมืองด้วย) อย่างแท้จริง อันนำไปสู่ความเข้มแข็งของความเป็นพลเมืองในวิถีทางประชาธิปไตย และเมื่อนั้นพลังของวาทกรรม “ความชอบธรรมทางการเมือง” ที่มาจากประชาชนและทุกภาคส่วนจะถาโถมเข้าไปยังรัฐบาลหรือผู้ที่ถูกสังคมมองและตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม ให้ต้องพิจารณาตนเองตั้งแต่ระดับเบาไปหาระดับหนัก นอกจากนั้นแล้วยังสามารถช่วยแก้ปัญหากรณีคำว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” ถูกฝ่ายการเมืองนำไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในแต่ละสถานการณ์ โดยใช้อารมณ์และความรู้สึกของประชาชนเป็นฐานสนับสนุนฝ่ายตน ได้อีกด้วย ผู้เขียนมีความเห็นว่าข้อเสนอนี้มีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อทิศทางการพัฒนาการเมืองไทยในอนาคต ช่วงระยะเวลา 70 กว่าปีแห่งประชาธิปไตยไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ได้ผ่านการพิสูจน์และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่า ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องของ “รูปแบบ” แต่เพียงอย่างเดียว อาทิ รัฐธรรมนูญ กฎหมายต่าง ๆ ระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง เป็นต้น หากอยู่ที่เรื่อง “เนื้อหา” ด้วย และเนื้อหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดคือ “คน” ตราบใดที่ยังไม่สามารถเสริมสร้างเนื้อหาว่าด้วยองค์ความรู้เรื่อง “ประชาธิปไตย” “การเมือง” “ความชอบธรรมทางการเมือง” และอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นกับ “คน” ได้แล้ว ตราบนั้นปัญหาทางการเมืองก็ไม่สามารถแก้ไขให้คลี่คลายลงและนำไปสู่ความมีเสถียรภาพได้อย่างยั่งยืนดังที่มีความเพียรพยายามแก้ไขกันมาโดยตลอด อีก 10 ปี 20 ปี 30 ปี ... ข้างหน้า วิกฤตการณ์การเมืองไทยอาจมีโอกาสหวนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้งได้อยู่เสมอ ๆ ต่างกันก็ตรงที่เปลี่ยนปี พ.ศ. รายละเอียดของเหตุการณ์ และตัวแสดงเท่านั้น


เอกสารอ้างอิง

กุเทพเผยนายกฯ ยันไม่ยุบสภา-ไม่ลาออก. (2551). ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2552, จาก http://www.ryt9.com /s/iq02/448200/ ธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์. (2551). ความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองไทย : การศึกษาเปรียบเทียบทัศนะของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. แถลงการณ์เรื่องรัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรง และต้องตรวจสอบ ทบทวน ความชอบธรรม และความรับผิดชอบของรัฐบาล. (2551). ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2552, จาก http://www.nhrc.or.th/news. php?news_id=3984 ปชป. ชี้รัฐบาลหมดความชอบธรรม. (2551). ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2552, จากhttp://www.ryt9.com/s/iq02/ 448200/ ประยูร. (2552). โฆษกรัฐบาล... ตำแหน่งสำคัญยิ่ง ของรัฐบาลอภิสิทธิ์. ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2552, จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=376411 เสวนา “6 เดือน รัฐบาลอภิสิทธิ์ : ล้มเหลวจากที่มาและกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”. (2552). ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2552, จาก http://www.pitakthai.com/article/politic/787.html [2552, กันยายน 12]. ใหญ่ เตมีย์. (2544). การสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)ในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อภิสิทธิ เวชชาชีวะ. (2552). ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล : สัญญาณให้บริหารประเทศต่อไป. ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2552, จาก http://www.abhisit.org/visiondetail.php?cate_id=133 Alagappa, M. (Ed.). (1995). Political Legitimacy in Southeast Asia: The Quest for Moral Authority. California: Stanford. Beetham, D. (1991). The Legitimation of Power. NJ: Humanities Press International. Dahl, R. A. (1971). Polyarchy: Participation and Opposition. London: Yale University Press. Guo, B. (2003). Political Legitimacy and China’s Transition. Journal of Chinese Political Science. (8), nos. 1 & 2, 1-25. Legitimacy (political). (2009). Retrieved September 12, 2009, from http://en.wikipedia.org/wiki/ Legitimacy_(political) Lipset, M. S. (1981). Political man, expanded ed. Baltimore: John Hopkins University Press. Sternberger, D. (1968). Legitimacy. In D.L. Sills (Ed.). International Encyclopedia of the Social Sciences. (9), 244. New York: Macmillan. Weber, M. (1958). The three types of legitimate rule. (Hans Gerth Trans.). Berkeley Publications in Society and Institutions, 4 (1), 1-11.