ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ผู้เรียบเรียงพัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ข้อมูลพื้นฐานและแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ
โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มประเทศซึ่งมีที่ตั้งของประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศด้วยกัน คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนาน) ตั้งแต่ ค.ศ. 1992 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นผู้สนับสนุนหลัก ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการสนับสนุนการจ้างงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน ตลอดจนใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในการค้าโลก ต่อมาประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคนี้จึงมีแนวคิดจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ( Greater Mekong Subregion Economic Corridors) โดยได้มีการประชุมและเจรจาหารือระหว่างผู้นำและรัฐบาลของประเทศในกลุ่ม GMS เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือ รวมถึงแผนงานและยุทธศาสตร์ต่างๆในการพัฒนาเศรษฐกิจ
แนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนั้น มีขึ้นเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของการขนส่งและกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุน เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว และประชาชนสามารถเดินทางไปมาระหว่างประเทศในกลุ่ม GMS ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องเกิดจากการเสริมสร้างความเชื่อมโยง ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ (Hard Infrastructure) เช่น การก่อสร้างถนน สะพานข้ามแม่น้ำ ที่สำคัญคือ ต้องเกิดจากความเชื่อมโยงทางด้านระบบและกระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ( Soft Infrastructure) จึงจำเป็นต้องอาศัยความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross Border Transport Agreement: CBTA) จะลดความยุ่งยากทางด้านเอกสาร ลดขั้นตอนพิธีศุลกากรซึ่งจะลดระยะเวลาในการขนส่ง อันจะส่งผลให้ภาระต้นทุนการขนส่งในอนุภูมิภาคลดลง
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆของประเทศที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีสาขาความร่วมมือทั้งหมดเก้าสาขา ได้แก่ คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน เกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยทั้งเก้าโครงการนั้น อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่าต้องการเปลี่ยนลุ่มแม่น้ำโขงให้พัฒนาอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาแบบระบบตลาด ทั้งยังต้องการลดความยากจนและต้องการทรัพยากรมนุษย์
อนึ่งเป้าหมายของโครงการ GMS คือการเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าในลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านการสร้างเส้นทางคมนามคมให้อย่างดียิ่งขึ้น ดังนั้นโครงการ GMS จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งระเบียงเศรษฐกิจนี้ประกอบไปด้วย คือ
1. ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ( East West Economic Corridor :EWEC ) มีวัตถุประสงค์เพื่อ เชื่อมโยงตลาดในกลุ่มประเทศ GMS ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาธุรกิจ และอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ช่วยลดต้นทุน และย่นระยะเวลาในการขนส่ง เส้นทางสายเศรษฐกิจนี้มีระยะทาง 1,450 กิโลเมตร เชื่อมโยงสี่ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว พม่าและเวียดนาม โดยมีจุดเชื่อมโยงสำคัญต่างๆ อาทิ เมืองมะละแหม่งและเมืองเมียวดีของพม่ากับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เชื่อมไปยังจังหวัดพิษณุโลก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และจังหวัดมุกดาหารของไทย ต่อไปยังเมืองสะหวันนะเขตและเมืองแดนสะหวันของสปป.ลาวกับเมืองลาวบาว เมืองเว้ เมืองดองฮาและเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เป็นต้น
2.ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ( North-South Economic Corridor :NSEC ) มีวัตถุประสงค์เพื่อ กระจายสินค้า ลำเลียงวัตถุดิบ และส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว เส้นทางประกอบไปด้วยสามเส้นทาง มีระยะทางรวมประมาณ 1,800 กิโลเมตร คือ เส้นทาง R3E เชื่อมต่อจีนตอนใต้เข้าภูมิภาค โดยมีจุดเริ่มต้นของถนนในแนวเหนือใต้ที่คุณหมิงของจีน มายังลาวที่ห้วยทราย แล้วผ่านเข้าไทยที่เชียงราย โดยมีปลายทางที่กรุงเทพ ส่วน R3W มีจุดเริ่มต้นที่คุนหมิง ผ่านท่าขี้เหล็ก พม่า ก่อนเข้าเชียงรายโดยมีจุดปลายคือ กรุงเทพ สำหรับเส้นทาง15 เชื่อมคุนหมิงกับฮานอย และไฮฟองของเวียดนาม ถือเป็นเส้นทางการสายใหม่ (New Trade Lane) ที่ได้รับการพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ
3. ระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ( Southern Economic Corridor :SEC ) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค สนับสนุนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ สนับสนุนการขยายตัวของการค้าและการลงทุน และอำนวยความสะดวกและการพัฒนาตามแนวพื้นที่ ด้านตะวันออก-ตะวันตก ระหว่างไทย กัมพูชา เวียดนาม และบางส่วนทางตอนใต้ของลาว นอกจากนี้ยังเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมเมืองสำคัญในไทย กัมพูชา และเวียดนามโดยผ่านโครงสร้างเครือข่ายถนนเละทางรถไฟ 11 มีเส้นทางสำคัญ 2 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 700 กิโลเมตร คือ เส้นทาง R1 มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพ ผ่านสระแก้ว ก่อนเข้าพนมเปญของกัมพูชา โดยมีปลายทางที่ โฮจิมินห์และวังเตา ประเทศเวียดนาม และอีกเส้นทางหนึ่ง คือ R10 เริ่มต้นที่กรุงเทพ แต่จะเลียบชายฝั่งด้านใต้ไปยังเกาะกงของกัมพูชา โดยมีปลายทางที่เมืองนามคานของเวียดนาม
โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับ ASEAN+3
แม้ว่าโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะได้รับการสนับสนุนจาก ADB แต่ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนี้
ก. ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง อาทิเช่น ได้เข้าช่วยเหลือในโครงการหลัก คือ “East West Economic Corridor” โดยให้กู้เงินจาก Japan Bank for International Cooperation (JBIC) เเละ ADB ในการก่อสร้างเส้นทางต่างๆ อย่างที่ทราบกันดีว่า ADB ได้รับการสนับสนุนหลักจากประเทศญี่ปุ่น และโครงการ GMS ได้รับเงินสนับสนุนและการวางแผนจาก ADB ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างแนวคิดเรื่องการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ว่าจะช่วยให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเชื่อมต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้น บริเวณเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นสนใจคือ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ( East West Economic Corridor : EWEC )
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าฉุกคิดต่อไป คือ การที่ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงนั้น เป็นไปเพื่อให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความพร้อมที่จะรองรับการผลิตของญี่ปุ่นที่จะย้ายมาและเป็นการลดต้นทุนของบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งรากฐานการผลิตอยู่ในประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงหรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อเกิด “ข้อตกลงพลาซ่า” (Plaza Accord 1985) ค่าเงินเยนมีมูลค่าสูงขึ้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีต้นทุนการผลิตที่มากขึ้น ดังนั้นการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่น คือ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
ข. จีน
พลวัตของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เกิดอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ ในบทความนี้ ขอกล่าวถึงด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อประเทศใน GMS เป็นสำคัญ จีนได้กำหนดเขตปกครองตนเองกวางสี เป็นประตูเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศอาเซียน และให้มณฑลยูนนาน มีโครงการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ GMS อาทิเช่น โครงการด้านการเชื่อมโยงการขนส่งและการคมนาคม ซึ่งมีเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างไทย-จีน คือ เส้นทาง R3 (คุนหมิง-ลาว/พม่า-กรุงเทพ) เส้นทาง R9 (แม่สอด-มุกดาหาร-สุวรรณเขต-ดานัง) เส้นทางR12 (นครพนม-คำม่วน-ฮานอย-ผิงเสียง-กวางสี-กวางตุ้ง) , โครงการร่วมมือการท่องเที่ยว,โครงการจุดเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศGMS , การเกษตรแปรรูปเพื่อส่งออก เป็นต้น
ค. เกาหลีใต้
สำหรับประเทศเกาหลีใต้นั้น ถือว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี ประเทศเกาหลีใต้ได้เพิ่มบทบาทเชิงรุกอย่างเต็มตัว ในการเป็นผู้สนับสนุนที่เด่นชัดในภูมิภาคนี้โดยมีกรอบ Han-River Declaration of the Mekong-ROK Comprehensive Partnership for Mutual Prosperity ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมในด้านมิตรภาพและด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญแก่ความร่วมมือเพื่อพัฒนา นอกจากนั้นเกาหลีใต้มีการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในประเทศเวียดนามและประเทศเมียนมาร์เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลทางเศรษฐกิจกับจีนอีกด้วย
GMS กับ ศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีจุดเด่นหลัก ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ ก. ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ติดกันและมีความสัมพันธ์อันยาวนานทางด้านวัฒนธรรม ขนบประเพณีและศาสนา เมื่อประสานความร่วมมือกัน การพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทำได้โดยง่าย
ข. ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงส่วนใหญ่ ยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ยังไม่ได้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านน้ำมัน พลังงานน้ำ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่ธาตุต่างๆ ป่าไม้ และทรัพยากรทางทะเล ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อทำให้อนุภูมิภาคนี้ สามารถแข่งในตลาดโลกได้
ค. นักลงทุนต่างชาติมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศเหล่านี้ เนื่องจากมีอัตราค่าแรงต่ำ
อย่างไรก็ดีศักยภาพที่มีอยู่เหล่านี้อาจถูกมองข้ามจากนักลงทุนหากระบบขนส่ง เส้นทางคมนาคมตลอดจนกฎระเบียบต่างๆ ไม่สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคต่อไปยังประเทศอื่นนอกภูมิภาคได้ ทั้งนี้เป็นที่สังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งอย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างมีความสนใจลงทุนในอนุภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า และการสร้างตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ ดังนี้ ระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจึงมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประเทศในกลุ่ม GMS ได้รับประโยชน์จากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างเต็มที่
เอกสารอ้างอิง
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. 2555.” กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค : ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงกับเกาหลี (Mekong –ROK Cooperation)” http://www.mfa.go.th/business/th/cooperation/245/25432-ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับเกาหลี-(Mekong---ROK.html (accessed 27June 2014)
กระทรวงการต่างประเทศ.2555. “กรอบความร่วมมือ :โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขง Greater Mekong Subregion (GMS) http://www.mfa.go.th/main/th/world/7/19897-โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่ม.html (accessed 27 June 2014)
ณกฤต เศวษตนันทน์.2556.”พร้อมรับ ‘AEC’ หรือยัง”. http://www.aseanthai.net/special-news-detail.php?id=233 (accessed 27 June 2014)
นรุตม์ เจริญศรี.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขง.กรุงเทพฯ:บริษัท สเเควร์ ปรินซ์ 93 จำกัด,2550.
นรุตม์ เจริญศรี.2550.”วาทกรรมการพัฒนาเเละบทบาททุนญึ่ปุ่นในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง : บทศึกษารัฐไทยในกระเเสโลกาภิวัฒน์” .http://v1.midnightuniv.org (accessed 27 June 2014)
ประจักษ์ ฝั้นพรม.2557.“ พลวัตของจีนต่อประเทศใน GMS“ http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/AsianEconomies/Yunnan/Article/DocLib_YNArticle/พลวัตจีนต่อGMS--final.pdf (accessed 27 June 2014)
โพสต์ ทูเดย์.2555. “การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของ GMS : โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างของอาเซียนและประเทศไทย“.http://library.dip.go.th/multim6/edoc/2555/20519.pdf (accessed 27 June 2014)
สถาบันนานาชาติเพื่อเอเชียเเปซิฟิกศึกษา.2556.”การศึกษาโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนากรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าลงทุน ในระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขง (GMS Economic Corridors) เพื่อรับรองการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)”. http://ibmp.bus.tu.ac.th/Documents/GMS_Seminar_30Aug2013%20(Shortened).pdf (accessed 27 June 2014)
สิรินาฏ พรศิริประทาน.2011.” การพัฒนาตามเเนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ”. www.itd.or.th/articles?download=153%3A2011... (accessed 27June 2014)