ระบอบประยุทธ์
ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ระบอบประยุทธ์ หรือ การปกครองภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชาและคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงองคาพยพในส่วนอื่นๆ ที่มีการร่วมมือกัน โดยคำนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางจากบทความของประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2561 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความพยายามของกองทัพในการครอบงำทุกหน่วยทางการเมืองท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและการที่รัฐบาลพลเรือนถูกทำให้ไร้เสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงการสร้างหุ้นส่วนกับบรรษัทธุรกิจผ่าน 'โครงการประชารัฐ' แทนที่นโยบายประชานิยมที่ริเริ่มโดยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น
การก่อตัวของระบอบประยุทธ์ เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่การเกิดภาวะตีบตันทางการเมืองโดยการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกอบกับบทบาทขององค์กรอิสระต่างๆ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ ที่นำมาสู่การวินิจฉัยให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 เป็นโมฆะ และนำมาสู่การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพโดยการรัฐประหารในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี ระบอบประยุทธ์ ดำเนินภายใต้ทั้งช่วงเวลาที่อยู่ภายในอำนาจเผด็จการทหาร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชนชั้นนำทางการเมือง และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่ต้องการควบคุมผลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองได้ประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งในช่วงเวลานี้ยังมีการปรามปรามการต่อต้าน เช่น การปรับทัศนคติ การติดตาม การดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมือง การตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมถึงประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารค้น จับกุม กักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และมีอำนาจในการร่วมสอบสวนพร้อมกับตำรวจ มาตรการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการทำให้สังคมปลอดจากการเมืองที่ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มทางการเมืองและกลุ่มด้านทรัพยากร
นอกจากนี้แล้วยังมีการสร้างโครงสร้างต่างๆ เพื่อเป็นแนวร่วมในการดำเนินการเชิงนโยบายและนิติบัญญัติ ได้แก่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการแต่งตั้ง โดยเฉพาะการกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีสภาพบังคับให้รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติตาม เป็นต้น ทั้งนี้ แม้จะมีการออกแบบกฎกติกา การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งที่ล้วนถูกตั้งคำถามถึงความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้บริบททางการเมืองไทยช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 ได้รับการกล่าวถึงในฐานะระบอบเผด็จการ
ครึ่งใบ หรือระบบเผด็จการจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ในฐานะระบอบใหม่ที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่หลังรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา คือ ความพยายามในการรื้อโครงสร้างอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม และการจัดระเบียบสถาบันของรัฐใหม่ จนก่อรูปเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่มีความมั่นคงต่อคณะรัฐประหารในระดับหนึ่ง ซึ่งการอยู่ในอำนาจยาวนานกว่า 5 ปี ทั้งยังเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นระยะเวลาที่นานพอจะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทยตลอดจนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและกลุ่มทุนที่เกื้อหนุนการดำรงอยู่ของโครงสร้างอำนาจในระบอบใหม่ นอกจากนี้แล้ว การแทรกแซงและเข้ามามีบทบาทของกองทัพในทุกภาคส่วนยังส่งผลให้ไม่เพียงแต่เครือข่ายอำนาจของนักการเมืองจากการเลือกตั้งในทุกระดับลดบทบาทลงไป ยังส่งผลให้ระบบราชการที่นำโดยข้าราชการพลเรือนอ่อนแอลงเช่นเดียวกัน สถานการณ์เหล่านี้ได้นำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ ที่ค้ำยันและเอื้อประโยชน์ให้ระบอบประยุทธ์ดำเนินต่อไปได้ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ การเรียกร้องให้กองทัพหยุดแทรกแซงทางการเมือง เป็นต้น
รายการอ้างอิง
ทวีศักดิ์ เกิดโภคา.2562. “เราอยู่ในระบอบอะไร? กระดุม 6 เม็ดก่อรูป ‘ระบอบประยุทธ์’ และแนวทางปลด กระดุม”. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2019/09/84170(24 สิงหาคม 2563).
“2019: สำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทยช่วง ‘รอยต่อ’”.สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2020/ 01/85826(24 สิงหาคม 2563).
“เปิดผังเครือข่ายค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ ตอนที่ 1”. สืบค้นจาก https://thestandard.co/ prayuth-government-network-01/ (24 สิงหาคม 2563).
“เปิดผังเครือข่ายค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ ตอนที่ 2 (ตอนจบ)”. สืบค้นจาก https://thestandard. co/prayuth-government-network-02/(24 สิงหาคม 2563).
Jitsiree Thongnoi. (2019).“Thailand’s Prayuth Chan-ocha: the military man with staying power”. Retrieved from https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/30134 60/thailands-prayuth-chan-ocha-military-man-staying-power
Prajak Kongkirati and Veerayooth Kanchoochat. (2018). The Prayuth regime: Embedded military and hierarchical capitalism in Thailand. TRaNS: Trans -Regional and – National Studies of Southeast Asia, 6(2), 279-305.