ระบอบกึ่งเผด็จการ หรือระบบเผด็จการแบบอ่อน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต  

 

ระบอบกึ่งเผด็จการ หรือระบบเผด็จการแบบอ่อน

          ในการอธิบายระบอบกึ่งเผด็จการในที่นี้จะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ หนึ่ง นิยามทั่วไปของระบอบกึ่งเผด็จการ สอง การศึกษาและคุณลักษณะของระบอบกึ่งเผด็จการ และสาม การวัดและประเมินระบอบกึ่งเผด็จการ

นิยามทั่วไปของระบอบกึ่งเผด็จการ

          ระบอบกึ่งเผด็จการ (semiauthoritarianism หรือ semi-authoritarian regime) หรือระบบเผด็จการแบบอ่อน (soft authoritarianism) หรือระบอบพันทาง (Hybridge regime) หมายถึง รูปแบบของการปกครองที่ไม่ได้เป็นทั้งรูปแบบประชาธิปไตยเต็มใบ (full democracy) หรือเผด็จการเต็มใบ (full authoritarianism) อันเป็นผลจากการที่ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมได้ปรับตัวโดยนำเอาลักษณะบางอย่างในระบอบประชาธิปไตยมาใช้ ทำให้การปกครองมีลักษณะของระบอบประชาธิปไตยแต่มีการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมือง[1] ทำให้การนิยามระบอบกึ่งเผด็จการจะอยู่ในพื้นที่สีเทา (gray zone) ระหว่างระบอบประชาธิปไตยและระบอบอำนาจนิยม[2] การศึกษาระบอบการเมืองในอดีตได้พยายามบ่งชี้คุณลักษณะของระบอบกึ่งเผด็จการในชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น ประชาธิปไตยอำพราง (façade democracy) ประชาธิปไตยครึ่งใบ (quasi-democracy) ระบบหลายพรรคแบบเทียม (pseudo-multiparty systems) ระบอบเผด็จการที่เปิดเสรี (dictablanda) ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (democradura) กึ่งประชาธิปไตย (semi-democratic system) อำนาจนิยมเชิงแข่งขัน (competitive authoritarianism) เป็นต้น[3]

การศึกษาและคุณลักษณะของระบอบกึ่งเผด็จการ

          การศึกษาเกี่ยวกับระบอบกึ่งเผด็จการในชื่อเรียกที่แตกต่างกันมาจากปรากฎการณ์การพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศทั่วโลกที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การเกิดปรากฎการณ์ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม (Third Wave of democracy) ในประเทศโปรตุเกสเมื่อ ค.ศ. 1974 มีข้อสังเกตว่าประเทศจำนวนมากที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในต้นทศวรรษที่ 1990 ที่แผ่ขยายไปในประเทศในภูมิภาคยุโรปใต้ ยุโรปกลาง ละตินอเมริกา เอเชียและแอฟริกา พบว่าประเทศเหล่านี้จำนวนมากไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยแต่กลับชะงักงันด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการแทรกแซงทางการทหาร จนภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นใน ค.ศ. 1989 แม้จะมีประเทศที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นจากการสิ้นสุดของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และชัยชนะของฝ่ายโลกเสรี แต่มีหลายประเทศที่เริ่มเข้าสู่ภาวะชะงักงันในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 จากประเทศเกือบ 100 ประเทศที่เข้าสู่ภาวะเปลี่ยนผ่านแต่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืนมีเพียง 20 ประเทศเท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้หรือเกิดภาวะเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตยขึ้น[4] ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความพยายามในการอธิบายปรากฎการณ์ประเทศที่อยู่ในพื้นที่สีเทาระหว่างระบอบอำนาจนิยมและระบอบประชาธิปไตยในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบขึ้นมา

 

แผนภาพที่ 1 : ความเป็นลูกผสมของระบอบกึ่งเผด็จการ

RTENOTITLE
RTENOTITLE

ที่มา : ดัดแปลงจาก Michael Wahman, Jan Teorell, and Axel Hadenius, "Authoritarian Regime Types Revisited: Updated Data in Comparative Perspective," Contemporary Politics 19, no. 1 (2013/03/01 2013): 27, http://dx.doi.org/10.1080/13569775.2013.773200.

 

          อย่างไรก็ตาม การบ่งชี้ว่าอะไรคือระบอบกึ่งเผด็จการเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นระบอบที่มีลักษณะลูกผสมที่ซ้อนทับกับระบอบหลายระบอบ อีกทั้งในระบอบกึ่งเผด็จการจะมีส่วนผสมของลักษณะของสถาบันหรือระบบแบบประชาธิปไตยและสถาบันหรือระบบแบบอำนาจนิยมเข้าด้วยกัน เพียงแต่ว่าในระบอบกึ่งเผด็จการจะสะท้อนความผสมผสานกันของสถาบันในระบอบอำนาจนิยมโดยรวมมากกว่า จากแผนภาพที่ 1 จะเห็นว่าลักษณะของระบอบพรรคการเมืองที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย (ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว ระบบพรรคการเมืองหลายพรรค และระบบไม่มีพรรคการเมือง) เมื่อผสมเข้ากับระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยม (เช่น ระบอบราชาธิปไตย ระบอบทหาร) ทำให้ได้ระบอบลูกผสมของระบอบประชาธิปไตยและระบอบอำนาจนิยม อาทิ ระบอบทหารหรือระบอบราชาธิปไตยแต่ยังให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมือง[5]

          ในงานของลูแกน เวย์ (Lucan Way) และสตีเวน เลวิตสกี (Steven Levitsky) ได้นำเสนอเส้นทางของการไปสู่ระบอบกึ่งเผด็จการหรือที่พวกเขาเรียกว่าระบอบอำนาจนิยมเชิงแข่งขัน (competitive authoritarianism) ไว้ 3 แนวทาง คือ

          เส้นทางที่หนึ่ง ความถดถอยของระบอบอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ (the decay of a full-blown authoritarian regime) หมายถึง ประเทศในระบอบอำนาจนิยมที่มีอยู่เดิมเผชิญกับแรงกดดันจากภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องปรับประยุกต์เอารูปแบบสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยหรืออิงแอบกับสถาบันประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ พบว่าในบางประเทศเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจภายในและแรงกดดันจากนานาชาติทำให้ชนชั้นนำในระบอบอำนาจนิยมจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เกิดระบบการเลือกตั้งที่มีหบายพรรคการเมือง แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยยังไม่อาจเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เพราะชนชั้นผู้ปกครองเดิมยังต้องการรักษาอำนาจไว้

          เส้นทางที่สอง ความล่มสลายของระบอบอำนาจนิยมเพื่อนำไปสู่ระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน (the collapse of an authoritarian regime, followed by the emergence of a new, competitive authoritarian regime) หมายถึง ประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมยังมีระบอบการเลือกตั้งที่อ่อนแอเนื่องจากบริบทภายในประเทศยังปราศจากการมีธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตยและมีภาคประชาสังคมที่อ่อนแอ ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถปกครองบ้านเมืองแบบอำนาจนิยมได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ขาดศักยภาพในการสร้างความเข้มแข็งต่อการปกครองแบบอำนาจนิยมเต็มรูปแบบแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

          เส้นทางที่สาม ความถดถอยของระบอบประชาธิปไตย (the decay of a democratic regime) หมายถึง ประเทศประชาธิปไตยที่เกิดสภาพเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการบั่นทอนสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากเกิดสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง ผู้นำในประเทศประชาธิปไตยอาจสามารถทำการปฏิวัติตนเองหรือใช้อำนาจคุกคามอย่างเลือกสรรและค่อยเป็นค่อยไป แต่ผู้นำยังไม่สามารถหรือมีศักยภาพพอที่จะทำลายสถาบันประชาธิปไตยโดยรวมทั้งหมด[6]

 

การวัดและประเมินระบอบกึ่งเผด็จการ

          การวัดและประเมินระบอบกึ่งเผด็จการเป็นความพยายามในการแปลงกรอบมโนทัศน์ว่าด้วยระบอบกึ่งเผด็จการมาสู่นิยามเชิงปฏิบัติการ (operationalization) ที่สามารถชี้วัดได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ โดยทั่วไปการวัดและประเมินว่าประเทศใดที่สามารถบ่งชี้ว่าอยู่ในระบอบกึ่งเผด็จการจะทำควบคู่กับการวัดและประเมินความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นอำนาจนิยมด้วย การจำแนกความแตกต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยและระบอบอำนาจนิยมจึงมีความจำเป็นมากในการถกเถียงทางด้านกรอบแนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาในการวัดและประเมินความเป็นประชาธิปไตย/อำนาจนิยม โดยทั่วไปมักพิจารณาผ่านตัวแปรความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างกันว่าประชาธิปไตยเป็นตัวแปรต่อเนื่อง (continuous variable) หรือเป็นตัวแปรทวิภาค (dichotomous variable)

          จากมุมมองประชาธิปไตยเป็นตัวแปรต่อเนื่อง (continuous variable) มองว่าประชาธิปไตยเป็นคุณภาพเชิงสถาบันที่มีระดับ (degree) แตกต่างกัน ประชาธิปไตยสามารถเปลี่ยนแปลงระดับจากมากสู่น้อยหรือจากน้อยไปมากก็ได้ อาทิ การพิจารณาการเกิดปรากฎการณ์พรรคการเมืองหลายพรรคก็อาจจะสะท้อนระดับประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน ถ้ามีพรรคการเมืองหลายพรรคแต่ปราศจากการแข่งขันและมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวได้เปรียบอาจบ่งชี้ว่าระบบพรรคการเมืองหลายพรรคนี้มีลักษณะอำนาจนิยมและสะท้อนระดับประชาธิปไตยที่ต่ำ แต่ถ้าพรรคการเมืองหลายพรรคมีการแข่งขันอย่างเสมอภาคก็สะท้อนระดับความเป็นประชาธิปไตยที่สูง เป็นต้น ขณะที่มุมมองประชาธิปไตยเป็นตัวแปรทวิภาค (Dichotomous Variable) สมมติฐานว่าสามารถจำแนกความแตกต่างของรูปแบบเชิงสถาบันและการปกครองที่ก่อร่างขึ้นได้อย่างแยกขาดขัดเจน โดยแบ่งแยกว่าตัวแปรใดบ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตยและตัวแปรใดบ่งชี้ความเป็นอำนาจนิยม ตัวอย่างเช่น การมีระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวบ่งชี้ความเป็นอำนาจนิยม ขณะที่มีระบบพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรคบ่งชี้ถึงความเป็นประชาธิปไตย เป็นต้น[7]

          ปัจจุบัน มีสถาบันวิจัยของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้พัฒนาตัวชี้วัดและประเมินสถานการณ์เพื่อวัดระบอบกึ่งเผด็จการจำนวนมาก แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพียง 2 แหล่ง คือ ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) และ Global State of Democracy Indices (GSoD Indices)

          1. การประเมิน “ประเทศกึ่งเสรี” (Partly Free: PF) โดยฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House)  

          ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ได้จัดทำรายงานชื่อว่าเสรีภาพในโลก (Freedom in the World) โดยได้มีการให้คะแนนกับจัดลำดับและการพรรณาถึงสถานการณ์สิทธิพลเมืองและเสรีภาพพลเมืองในแต่ละประเทศ การประเมินของฟรีดอมเฮาส์จะพิจารณาจากการมีสิทธิและเสรีภาพที่เกิดขึ้นจริงต่อตัวปัจเจกบุคคลเป็นหลักโดยคำนึงว่าสิทธิและเสรีภาพได้รับอิทธิพลจากตัวแสดงของรัฐและนอกภาครัฐเสมอ นอกจากนี้ จะมุ่งพิจารณาและประเมินทั้งสิทธิและเสรีภาพที่ถูกระบุในทางกฎหมายและที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติเพราะมองว่าการให้หลักประกันทางกฎหมายยังไม่เพียงพอต่อการเติมเต็มรากฐานของสิทธิและเสรีภาพ ในเกณฑ์การประเมินของฟรีดอมเฮาส์ ค.ศ. 2021 จะให้คะแนนรวมที่ 100 คะแนน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง สิทธิพลเมือง (political right')' จำนวน 40 คะแนน ประกอบด้วยกระบวนการเลือกตั้ง การมีการเมืองแบบพหุนิยมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการปฏิบัติงานของรัฐบาล และ สอง เสรีภาพพลเมือง (civil liberties) จำนวน 60 คะแนน ประกอบด้วยเสรีภาพในการแสดงออกและความเชื่อ สิทธิด้านสมาคมและองค์การ นิติรัฐ และการมีอิสรภาพส่วนบุคลและสิทธิส่วนบุคคล[8]

          จากคะแนนที่ได้จะนำมาแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ประเทศเสรี (Free: F) ประเทศกึ่งเสรี (Partly Free: PF) และประเทศไม่เสรี (Not Free: NF) ตามตารางการจำแนกข้างล่าง มีงานบางชิ้นที่ไช้ข้อมูลของฟรีดอมเฮาส์เพื่อชี้สถานการณ์ระบอบกึ่งเผด็จการจากการวัด “ประเทศกึ่งเสรี” และตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่ปกครองโดยระบอบกึ่งเผด็จการมีจำนวนมากขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ที่ฟรีดอมเฮาส์พัฒนาการชี้วัดสถานการณ์ประเทศกึ่งเสรีตั้งแต่ ค.ศ. 1974[9] จากข้อมูลการประเมินระดับเสรีภาพระหว่าง ค.ศ. 2005-2020 พบว่าประเทศกึ่งเสรีมีจำนวนค่อนข้างคงที่โดยใน ค.ศ. 2020 มีประเทศกึ่งเสรีจำนวน 59 ประเทศ แต่ประเทศเสรีมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องขณะที่จำนวนประเทศไม่เสรีมีเพิ่มขึ้น[10]

 

ตารางที่ 1 : การให้คะแนนและจำแนกระดับเสรีภาพของประเทศ

สถานะ

คะแนนสิทธิพลเมือง (political right score)

0-5

6-11

12-17

18-23

24-29

30-35

36-40

คะแนน

เสรีภาพพลเมือง

(civil liberties score)

53-60

PF

PF

PF

F

F

F

F

44-52

PF

PF

PF

PF

F

F

F

35-43

PF

PF

PF

PF

PF

F

F

26-34

NF

PF

PF

PF

PF

PF

F

17-25

NF

NF

PF

PF

PF

PF

PF

8-16

NF

NF

NF

PF

PF

PF

PF

0-7

NF

NF

NF

NF

PF

PF

PF

ที่มา : Freedom House, "Freedom in the World Research Methodology," accessed 4 March, 2021. https://freedomhouse.org/reports/freedom-world/freedom-world-research-methodology.

หมายเหตุ: ตัวย่อในที่นี้หมายถึงประเทศเสรี (Free: F) ประเทศกึ่งเสรี (Partly Free: PF) และประเทศไม่เสรี (Not Free: NF)

 

แผนภูมิที่ 1: จำนวนประเทศแบ่งตามระดับเสรีภาพ ค.ศ. 2005-2020

RTENOTITLE
RTENOTITLE

ที่มา : Sarah Repucci and Amy Slipowitz, Freedom in the World 2021: Democracy under Siege (Washington, D.C.: Freedom House, 2021), 4.

 

          2. การประเมิน “ระบอบพันทาง” (Hybridge Regime) โดย International IDEA

          International Institute for Democracy and Electoral Assistance (International IDEA)  ได้จัดทำตัวชี้วัดชื่อ Global State of Democracy Indices (GSoD Indices) ได้จัดทำเครื่องมือชี้วัดสถานะประชาธิปไตยครั้งแรกใน ค.ศ. 2017 เพื่อประเมินสมรรถนะประชาธิปไตยของแต่ละประเทศโดยใช้ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ย้อนหลังมารวบรวมและประเมินระหว่าง ค.ศ. 1975- ถึงปัจจุบันใน 166 ประเทศทั่วโลก การประเมินของ GSoD Indices ได้กำหนดกรอบมโนทัศน์คุณลักษณะประชาธิปไตยไว้ 5 ด้าน คือ

          1) การมีรัฐบาลตัวแทน (representative government) คือ การเลือกตั้งที่ใสสะอาด การมีสิทธิเลือกตั้งอย่างถ้วนหน้า การเปิดให้พรรคการเมืองแข่งขันอย่างเสรี และการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

          2) สิทธิขั้นพื้นฐาน (fundamental Rights) คือ การเข้าถึงความยุติธรรม การมีเสรีภาพของพลเมือง และการมีสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม

          3) การตรวจสอบรัฐบาล (checks on government) คือ การมีรัฐสภาที่มีประสิทธิผล การมีตุลาการที่เป็นอิสระ และการมีสื่อที่มีคุณธรรม

          4) การบริหารที่เที่ยงธรรม (impartial administration) คือ มีการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่คาดการณ์ได้และแน่นอนและปราศจากการทุจริต และ

          5) การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (participatory engagement) คือ การมีประชาธิปไตยท้องถิ่น การมีประชาธิปไตยทางตรง การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมในภาคประชาสังคม[11]

          จากกรอบมโนทัศน์ดังกล่าวได้มีการแปลงมาสู่ตัวชี้วัดและข้อคำถามที่มีการให้ค่าคะแนน โดยคะแนนที่ได้สามารถนำมาบ่งชี้ถึงระบอบการเมืองที่แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ระบอบพันทาง (Hybridge Regime) และระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian regime)[12] โดยให้ความหมาย ดังนี้

          ระบอบประชาธิปไตย (Democracy) หมายถึง ประเทศที่ประชาชนสามารถควบคุมการสร้างการตัดสินใจและมีความเท่าเทียมทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่จะมีอำนาจควบคุมการตัดสินใจอย่างเท่าเทียมกัน ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องมีรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม โปร่งใส และมีการแข่งขันอย่างเพียงพอ การเลือกตั้งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำของการเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอ ดังนั้นในประเทศประชาธิปไตยจึงมีการวัดสมรรถนะ (performance) เพื่อประเมินคุณภาพประชาธิปไตยของประเทศแบ่งย่อยออกเป็นสามระดับ คือ ประเทศที่มีสมรรถนะประชาธิปไตยสูง (high performing democracies) ประเทศที่มีสมรรถนะประชาธิปไตยปานกลาง (mid-range performing democracies) และประเทศที่มีสมรรถนะประชาธิปไตยต่ำ (weak performing democracies)[13] 

          ระบอบพันทาง (Hybridge Regime) หมายถึง ประเทศที่นำเอาคุณลักษณะของระบอบประชาธิปไตยและระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน แต่จะให้น้ำหนักกับการมีอยู่ของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าและไม่ได้ยึดมั่นการมีการเลือกตั้งที่มีการแข่งขัน (competitive election) กล่าวได้ว่า ระบอบพันทางจึงเป็นส่วนผสมขององค์ประกอบของระบอบอำนาจนิยมที่เจือด้วยประชาธิปไตย (authoritarianism with democracy) ที่นำเอาคุณลักษณะประชาธิปไตยเชิงรูปแบบของประชาธิปไตยมาใช้แต่มีความเคารพต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความจำเป็นของการจำแนกระบอบพันทางออกจากระบอบอำนาจนิยมเพื่อแสดงให้เห็นความหลากหลายของสถานการณ์ประชาธิปไตยในระดับโลก[14]

          ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian regime) หมายถึง ประเทศที่ชนชั้นนำทางการเมืองพยายามครองอำนาจโดยตัดโอกาสของคู่แข่งทางการเมืองและปิดกั้นให้ไม่มีการเลือกตั้งที่มีการแข่งขัน (competitive election) หรือใช้ระบบเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของระบอบอำนาจนิยมอย่างหยั่งรากและเป็นระบบมากกว่าเป็นเครื่องมือในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันมีการจำกัดบั่นทอนเสรีภาพของพลเมือง ปราศจากการแบ่งแยกอำนาจโดยที่ฝ่ายตุลาการอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหาร มีการจำกัดการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และมีการควบคุมสื่อ ประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองอำนาจนิยมมักพบในการปกครองแบบอัตตาธิปไตย (autocracy) ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว (one-party system) ระบอบทหาร (military regimes) ระบอบกษัตริย์แบบอำนาจนิยม (authoritarian monarchy) และรัฐล้มเหลว (failed states)[15] [16]

บรรณานุกรม

Freedom House. "Freedom in the World Research Methodology." Last modified 2021. Accessed 4 March, 2021. https://freedomhouse.org/reports/freedom-world/freedom-world-research-methodology.

Goebel, Christian. "Semiauthoritarianism." In 21st Century Political Science: A Reference Handbook, edited by John Ishiyama and Marijke Breuning, 258-66 Thousand Oaks, CA: Sage, 2012.

International IDEA. The Global State of Democracy 2019: Addressing the Ills, Reviving the Promise. Stockholm: International IDEA, 2019.

Levitsky, S. and Steven Lucan A. Way. "Elections without Democracy: The Rise of Competitive Authoritarianism." Journal of Democracy 13 (2002): 51 - 65.

Repucci, Sarah and Amy Slipowitz. Freedom in the World 2021: Democracy under Siege. Washington, D.C.: Freedom House, 2021.

The Global State of Democracy Indices. "Methodology." Last modified 2020. Accessed 28 June, 2021. https://www.idea.int/gsod-indices/sites/default/files/gsod-methodology-november-2020.pdf.

Wahman, Michael, Jan Teorell, and Axel Hadenius. "Authoritarian Regime Types Revisited: Updated Data in Comparative Perspective." Contemporary Politics 19, no. 1 (2013/03/01 2013): 19-34. http://dx.doi.org/10.1080/13569775.2013.773200.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. "ระบอบประชาธิปไตยและระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย: การศึกษาระบอบการเมืองเชิงเปรียบเทียบ." ใน การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์, ประจักษ์ ก้องกีรติ (บรรณาธิการ), 145-85. กรุงเทพมหานคร: สยามปริทัศน์, 2564.

ศิวพล ชมภูพันธุ์. "หน่วยที่ 9 การถดถอยของประชาธิปไตยและระบอบการปกครองแบบผสม." ใน เอกสารสอนชุดวิชา 83203 ประชาธิปไตยและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย, ธนศักดิ์ สายจำปา (บรรณาธิการ), 1-58. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2562.

อ้างอิง

[1] Christian Goebel, "Semiauthoritarianism," in 21st Century Political Science: A Reference Handbook, ed. John Ishiyama and Marijke Breuning (Thousand Oaks, CA: Sage, 2012), 258.

[2] ประจักษ์ ก้องกีรติ, "ระบอบประชาธิปไตยและระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย: การศึกษาระบอบการเมืองเชิงเปรียบเทียบ," ใน การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์, ประจักษ์ ก้องกีรติ (บรรณาธิการ) (กรุงเทพมหานคร: สยามปริทัศน์, 2564), 153. และศิวพล ชมภูพันธุ์, "หน่วยที่ 9 การถดถอยของประชาธิปไตยและระบอบการปกครองแบบผสม," ใน เอกสารสอนชุดวิชา 83203 ประชาธิปไตยและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย, ธนศักดิ์ สายจำปา (บรรณาธิการ) (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2562).

[3] ดูตัวอย่างการใช้คำได้ใน ศิวพล ชมภูพันธุ์,  ใน เอกสารสอนชุดวิชา 83203 ประชาธิปไตยและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย, 24.

[4] ประจักษ์ ก้องกีรติ,  ใน การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์, 150-53. และ Goebel, in 21st Century Political Science: A Reference Handbook, 259.

[5] Michael Wahman, Jan Teorell, and Axel Hadenius, "Authoritarian Regime Types Revisited: Updated Data in Comparative Perspective," Contemporary Politics 19, no. 1 (2013/03/01 2013): 27-28, http://dx.doi.org/10.1080/13569775.2013.773200.

[6] S. Levitsky and Steven Lucan A. Way, "Elections without Democracy: The Rise of Competitive Authoritarianism," Journal of Democracy 13 (2002): 60-61.

[7] ดูใน Wahman, Teorell, and Hadenius,  21-23.

[8] Freedom House, "Freedom in the World Research Methodology," accessed 4 March, 2021. https://freedomhouse.org/reports/freedom-world/freedom-world-research-methodology.

[9] Goebel,  in 21st Century Political Science: A Reference Handbook, 258.

[10] Sarah Repucci and Amy Slipowitz, Freedom in the World 2021: Democracy under Siege (Washington, D.C.: Freedom House, 2021), 4.

[11] The Global State of Democracy Indices, "Methodology," accessed 28 June, 2021. https://www.idea.int/gsod-indices/sites/default/files/gsod-methodology-november-2020.pdf.

[12] ดูรายละเอียดการวิธีการวิจัยในการหาค่าคะแนนเพื่อบ่งชี้ระบอบการเมืองใน ibid., 5-8.

[13] Ibid., 6.

[14] Ibid., 7.

[15] Ibid.

[16] International IDEA, The Global State of Democracy 2019: Addressing the Ills, Reviving the Promise (Stockholm: International IDEA, 2019), 3-4.