ยุวกษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขา “สละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์...ไม่ต้องพระราชประสงค์ ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์” สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขณะทรงเจริญพระชนมายุ ๙ พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ด้วยทรงเป็นพระบรมวงศ์พระองค์ที่ ๑ ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗

ระหว่างนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประทับ ณ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ทรงอยู่ในพระอภิบาลของพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งทรงเอาพระทัยใส่ทั้งพระพลานามัย และการศึกษาโดยให้ศึกษาในโรงเรียนเช่นเดิม

สมเด็จพระราชชนนีได้เคยมีจดหมายกราบบังคมทูลอธิบายถึงเหตุของการอภิบาลเช่นนี้ ถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าว่า

“เพราะการเรียนคนเดียวจะทำให้เด็ก ไม่อยากเรียน เพราะไม่มีคนแข่งและไม่สนุกเลยที่ไม่ได้มีเพื่อน.....และพระเจ้าแผ่นดินก็จำเป็นมากที่จะต้องปะปนกับคนอื่น จะได้รู้จักนิสัยคนทั่วไป จะเป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองที่มีการปกครองอย่างประชาธิปไตย”

ยุวกษัตริย์พระองค์ใหม่ จึงมีพระจริยาวัตรไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก คือยังเสด็จไปโรงเรียน ทรงพระสำราญเช่นเดียวกับเด็กๆ ทั่วไป ต่อมาได้เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑ ท่ามกลางความปิติยินดีของพสกนิกรที่เฝ้ารอชื่นชมพระบารมี ด้วยเวลานั้น สยามมิได้มีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ในพระราชอาณาจักรมานานหลายปี

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖