ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง:     
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

          ในช่วงระหว่างการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. 2562 นั้น ได้มีการเกิดเหตุการณ์สำคัญจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) ซึ่งมีผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผลให้ถูกยกเลิกไปก่อนที่จะถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง ดังนั้นเหตุการณ์การยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) นี้จึงมีประเด็นที่น่าสนใจดังที่จะได้อธิบายต่อไปนี้

 

1. ความหมาย หรือ แนวคิด

            เมื่อกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมมีมากมาย กว้างขวาง ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยบุคคลผู้มีความรู้แขนงต่างๆ มารวมกันเป็นองค์กรพรรคการเมืองเพื่อปฏิบัติงานและประสานให้ภารกิจต่างๆ บรรลุวัตถุประสงค์ การเข้ามาทำหน้าที่ของพรรคการเมืองจะเสนอตัวเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาลหรือกลุ่มอิทธิพลกับรัฐบาล เพื่อพยายามจัดสรรและสนองผลประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มากที่สุด มีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่จะได้มาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ดังนั้นพรรคการเมือง ก็คือ กลุ่มบุคคลที่รวมกันขึ้นเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมืองตามวิถีทางของแต่ละรัฐซึ่งกำหนดไว้[1]

          นอกจากนี้มีผู้ให้ความหมายของพรรคการเมืองไว้มากมาย โดยส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันอยู่สามประการ ดังนี้[2]

1. เป็นกลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกัน

2. มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน คือ สมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในแนวทางกว้างๆคล้ายๆกัน

3. มีวัตถุประสงค์ให้ได้มาซึ่งอำนาจมหาชน และใช้อำนาจนั้นดำเนินการหรือบริหารประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น ลักษณะประการนี้สำคัญยิ่งเพราะโดยธรรมชาติในสังคมอาจมีการรวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิดเห็นคล้ายกันเข้าด้วยกัน หากแต่ถ้ากลุ่มดังกล่าวไม่ประสงค์จะเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ย่อมไม่ใช่พรรคการเมือง อาจเป็นสหภาพแรงงาน สมาคม หรือมูลนิธิเท่านั้น โดยสรุป ความหมายของพรรคการเมือง คือ กลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกันโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน โดยกลุ่มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะยึดกุมอำนาจรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เข้าเป็นรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามอุดมการณ์ของตนให้สัมฤทธิ์ผล

          ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองโดยตรง นั้นคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[3] ซึ่งได้นิยาม “พรรคการเมือง” หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นมีขั้นตอนตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ดังนี้ มาตรา 9 บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและ ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ จํานวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนอาจร่วมกันดําเนินการเพื่อจัดตั้ง พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(2) มีอายุไม่ต่ํากว่ายี่สิบปี

(3) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ

(4) อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้

(5) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น

ในการดําเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง กำหนดไว้ในมาตรา 20 ให้พรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์สําคัญเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และมาตรา 22 กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกํากับดูแลมิให้สมาชิกกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคําสั่งของคณะกรรมการ และการสิ้นสุดของพรรคการเมือง กำหนดไว้ในมาตรา 90 พรรคการเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ (1) สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง (2) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และ (3) มีการควบรวมพรรคการเมือง

ต่อมาพบว่า ในช่วงระหว่างการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. 2562 นั้น ได้มีการเกิดเหตุการณ์สำคัญจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมือง ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาคำร้องที่ขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวของพรรคไทยรักษาชาติเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (2) กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 มีมติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคการเมืองได้ต่อไป ซึ่งมติของ กกต. ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีพระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 และในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดประเด็นในการวินิจฉัยคำฟ้องคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) ไว้ 3 ประเด็นดังนี้[4]

ประเด็นแรก พฤติการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติมีเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 หรือไม่ ในประเด็นนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดที่ 2 ได้บัญญัติว่า พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าโดยกำเนิดทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 7 พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ระบุว่า พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เป็นที่เคารพ ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง และควรอยู่เหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาซึ่งพระเดชและพระคุณย่อมอยู่ในวงที่จะถูกติเตียน อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่นโยในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านานกับราษฎรควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วนเจ้านายจะทำนุบำรุงประเทศ ก็ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำและตำแหน่งในวิชาชีพ หลักการพื้นฐานดังกล่าว เป็นเจตนารมณ์ร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่เริ่มแรก และเป็นฉันทานุมัติที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรให้การยอมรับปฏิบัติสืบต่อมาว่าพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงควรอยู่การเมือง

ประเด็นที่สอง กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคสองหรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 : 3 เห็นว่าตามกฎหมายกำหนดว่า เมื่อศาลไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยุบพรรคจึงชอบที่ศาลจะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 แต่มีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาเท่าใด เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องพิจารณาให้ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรกับความร้ายแรงกับโทษ

เมื่อพิจารราจากการกระทำของผู้ถูกร้องซึ่งกระทำเพียงขั้นตอนหนึ่งของการได้มาซึ่งรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสำนึกของกรรมการบริหารที่น้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันที เมื่อรับทราบแสดงให้เห็นว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ 10 ปี ตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

ประเด็นที่สาม ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบจะสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีได้หรือไม่  ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ได้หรือไม่ ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่ากฎหมายไม่ให้ศาลพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองแล้ว ให้นายทะเบียบพรรคการเมืองประกาศคำสั่งยุบพรรคนั้น และห้ามบุคคลใด ใช้ชื่อย่อ หรือภาพพรรคการเมืองซ้ำ และห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค[5]

3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่กำเนิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองที่เคยจดแจ้งจัดตั้งไว้เดิมตั้งแต่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เดิมแรกจดแจ้งได้ใช้ชื่อพรรคการเมืองว่า พรรครัฐไทย ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคใหม่เป็นพรรคไทยรวมพลัง ซึ่งเคยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จนกระทั่งพรรคไทยรวมพลังได้จัดประชุมใหญ่ขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคใหม่เป็นพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีตัวย่อ ทษช. พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค อุดมการณ์ของพรรค นโยบายของพรรค รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งมี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค และมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ล้วนเป็นระดับแกนนำเดิมของพรรคเพื่อไทย ทั้งนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นายแพทย์ เชิดชัย ตันติศิรินทร์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสุธรรม แสงประทุม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ และนางสาวขัตติยา สวัสดิผล ทำให้พรรคไทยรักษาชาติ ถูกมองว่าอาจเป็นพรรคที่จะมาร่วมเก็บคะแนนพรรค เพื่อนำคะแนนไปรวมกับพรรคเพื่อไทยหลังเลือกตั้ง ด้วยกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทย  พรรคไทยรักษาชาติซึ่งเป็นพรรคที่แตกออกมา จึงมีหน้าที่เก็บคะแนนเขตที่พรรคเพื่อไทยเคยแพ้เลือกตั้ง เพื่อนำคะแนนดิบไปแลกเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเห็นได้ชัดจากอดีตแกนนำพรรคจากเพื่อไทย ที่ย้ายพรรคไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติต่างลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ แต่น่าเสียดายที่ต่อมาได้มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ[6]

 

4. สาระบัญญัติ หรือ เนื้อหาหลัก

จากหลักการสำคัญของการจัดตั้งพรรคไทยรักษาชาติเพื่อลงสู้ศึกการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ตามที่เกิดขึ้น แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเป็นเวลา 10 ปีนั้น ผลจากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์ให้ความเห็นความสำคัญในประเด็นผลสะเทือนของคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้พรรคการเมืองในปีก ‘ทักษิณ’ ได้คะแนนเลือกตั้งลดลง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า การยุบพรรคจะลดทอนความเป็นไปได้ที่กลุ่มการเมืองฝ่ายทักษิณจะได้จัดตั้งรัฐบาล

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้นำเสนอรายงานจากความเห็นของนักวิชาการที่มองว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติด้วยข้อกล่าวหาว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นับเป็นการบั่นทอนโอกาสของพรรคการเมืองในปีกต่อต้านบทบาททางการเมืองของทหารที่จะเอาชนะพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลคณะรัฐประหาร ส่วนรศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ ว่าการยุบพรรคไทยรักษาชาติจะลิดรอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เพราะไทยรักษาชาติเป็นหนึ่งในกลุ่มการเมืองใหญ่กลุ่มหนึ่งในปีกของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวด้วยว่า การยุบพรรคไทยรักษาชาติคงไม่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายนายทักษิณได้รับคะแนนเลือกตั้งลดน้อยลง หรือทำให้พรรคฝ่ายนิยมทหารได้เสียงเพิ่มมากขึ้น ผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ตั้งใจจะโหวตเลือกพรรคไทยรักษาชาติจะพากันหันไปเลือกพรรคอื่นในปีกของนายทักษิณแทน การแบ่งขั้วทางการเมืองจะยังดำรงอยู่ต่อไป[7]

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเอพีรายงานว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ปีกพรรคที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เหลือแต่พรรคเพื่อไทยเป็นตัวหลัก เนื่องจากมีการวางยุทธศาสตร์ให้แต่ละพรรคในปีกดังกล่าว แยกกันลงชิงชัยในแต่ละเขตเลือกตั้ง ดังนั้น การขาดพรรคไทยรักษาชาติไปพรรคหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อพันธมิตรการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในประเด็นนี้ ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอพี ก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัย โดยบอกว่าการยุบพรรคไทยรักษาชาติจะลดทอนโอกาสของพรรคการเมืองปีกพรรคที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ลงเป็นอย่างมากในการคว้าชัยชนะและได้จัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง[8]

 

5. สรุป

ในช่วงระหว่างการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. 2562 นั้น ได้มีการเกิดเหตุการณ์สำคัญจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมือง ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาคำร้องที่ขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวของพรรคไทยรักษาชาติเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (2) กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 มีมติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคการเมืองได้ต่อไป ซึ่งมติของ กกต. ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีพระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 และใน

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามประเด็นในการวินิจฉัยคำฟ้องคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) ไว้ 3 ประเด็นได้แก่ ประเด็นแรก พฤติการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติมีเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ประเด็นที่สอง กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคสอง และประเด็นที่สาม ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบจะสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี

 

6. บรรณานุกรม

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข่าวสด. (2562). สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/politics/news_2285423, เข้าถึงเมื่อ 6

มิถุนายน 2563

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.). “พรรคการเมือง”สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title,

สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563

บีบีซีไทย. (2562). สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-47459168, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน

2563

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก

https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

พีพีทีออนไลน์ (2561). กลยุทธ์! เพื่อไทย –ไทยรักษาชาติ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แก้เกมรัฐธรรมนูญ.

สืบค้นจากhttps://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

Panu Wongcha-um and Panarat Thepgumpanat (2019) “Thai court bans party for nominating

princess for PM”, Retrieved from

https://www.reuters.com/article/us-thailand-election/thai-court-bans-party-for-nominating-princess-for-pm-idUSKCN1QO0JK

Tassanee Vejpongsa and Grant PecK (2019). “Thai court disbands political party for

nominating princess” Retrieved from https://apnews.com/08d55a40d0f14003bb2347406cbb3006

 

อ้างอิง

[1] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น.114 – 115

[2] เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.). “พรรคการเมือง”สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title,

สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563

[3] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก

https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

[4] บีบีซีไทย. (2562). สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-47459168, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน

2563

[5] ข่าวสด. (2562). สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/politics/news_2285423, เข้าถึงเมื่อ 6

มิถุนายน 2563

[6]พีพีทีออนไลน์ (2561). กลยุทธ์! เพื่อไทย –ไทยรักษาชาติ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แก้เกมรัฐธรรมนูญ.

สืบค้นจากhttps://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

[8] Tassanee Vejpongsa and Grant PecK (2019). “Thai court disbands political party for

nominating princess” Retrieved from https://apnews.com/08d55a40d0f14003bb2347406cbb3006