ยุทธศาสตร์ชาติ
ยุทธศาสตร์ชาติ
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
ความหมาย
“ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นแผนยุทธศาสตร์หลักในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมาจากการริเริ่ม ในปี พ.ศ. 2558 จากนั้นก็นำไปสู่การจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในหมวดนโยบายแห่งรัฐ ส่งผลให้ยุทธศาสตร์ชาติมีสภาพบังคับ ให้หน่วยงานราชการที่เป็นกลไกของฝ่ายบริหารต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังได้ ให้อำนาจหน้าที่กับวุฒิสภาชุดที่ 12 ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเพิ่มเติมมาด้วย ทั้งหมดนี้เป็นการวางพื้นฐานให้ยุทธศาสตร์ชาติเข้าไปมีบทบาท ในเชิงสถาบันทางการเมืองระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ชาติได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2561 โดยมีระยะเวลาใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2580 รวมทั้งสิ้น 20 ปี
ที่มาของ “ยุทธศาสตร์ชาติ”
จุดกำเนิดของ “ยุทธศาสตร์ชาติ” มีจุดเริ่มต้นมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเชื่อมโยงกับแนวทางการปฏิรูปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอ โดยให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีระยะเวลา 20 ปี เพื่อให้เป็นแนวการปฏิรูปที่ต่อเนื่อง และสอดประสานกันของทุกภาคส่วน[1] ซึ่งผลผลิตที่สำคัญของการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2559 และมีการรับฟังความคิดเห็น ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ[2] จากนั้นในปี พ.ศ. 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติในมาตรา 65 บัญญัติว่า
“รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการ มีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”[3]
จากบทบัญญัติดังกล่าว ส่งผลให้ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 6 คณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง (2) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (4) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (5) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (6) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ[4] ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเสร็จสิ้นและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561 จากนั้นได้เสนอไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติและได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และได้มีการประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561[5]
หลักการและรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติ
ยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็น “เป้าหมาย” ในการพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยมีวิสัยทัศน์ประเทศ คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” โดยมีหลักการและรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1) หลักการของยุทธศาสตร์ชาติ
ยุทธศาสตร์ชาติได้วางอยู่บนหลักการที่สำคัญ นั่นคือ “การกำหนดเป้าหมายและแนวทางระยะยาวของการประเทศ” เพื่อให้การพัฒนาประเทศเกิดขึ้นอย่างมีแนวทางที่ชัดเจน โดยวางอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การวางแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Planning) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
การวางแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Planning) ถือเป็นกระบวนการสำคัญของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management: NPM) ที่ถือว่าแผนยุทธศาสตร์เป็นเค้าโครงในการดำเนินนโยบายของหน่วยงาน เพื่อให้การนโยบายที่มีการจัดทำขึ้นมานั้นมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้ ยังช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดินมีทิศทางที่ชัดเจนผ่านการกำหนดเป้าหมาย (Goals) และวัตถุประสงค์ (Objectives) อีกทั้งยังมีกลไกของการนำแผนไปปฏิบัติ (Implementation) และการประเมินผลการปฏิบัติ (Evaluation) ซึ่งช่วยให้แนวทางที่วางไว้ในแผนยุทธศาสตร์มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ[6] ดังนั้น เมื่อพิจารณามิติการบริหารประเทศในภาพรวม จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์สำหรับเป็นแนวทางที่จะพัฒนาประเทศโดยรวม
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นแนวคิด ที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เอาไว้ 17 ประการ โดยเป้าหมายดังกล่าวว่าด้วยการพัฒนาที่สนองตอบต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องประนีประนอมยอมลดทอนความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง[7] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จะต้องเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความสมดุล หรือมีปฏิสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันในระหว่างมิติอันเป็นองค์ประกอบที่จะท้าให้ชีวิตมนุษย์อยู่ดีมีสุข ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม จิตใจ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อคนในรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต
2) รายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติ
ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ได้กำหนดรายละเอียดที่เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายไว้ 6 ด้าน โดยแบ่งเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ คือประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เน้นการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย เอกราช อธิปไตย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ สังคม ชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยี และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีความพร้อมสามารถรับมือกับ ภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ และทุกระดับความรุนแรง ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ใช้กลไกการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้งกับส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาสังคม และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศทั่วโลกบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล[8]
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมาย การพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ (1) “ต่อยอดอดีต” โดยมองกลับไปที่รากเหง้าทางเศรษฐกิจอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศในด้านอื่น ๆ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ (2) “ปรับปัจจุบัน” ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่งโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต และ (3) “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ผสมผสานกับยุทธศาสตร์ที่รองรับอนาคต บนพื้นฐานของการต่อยอดอดีตและปรับปัจจุบัน พร้อมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางและลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศได้ในคราวเดียวกัน[9]
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน และมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จ่าเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตสู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่และอื่น ๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตนเอง[10]
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญที่ให้ความสำคัญการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปสู่กลไกบริหารราชการแผ่นดินในระดับท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง และการเตรียมความพร้อมของประชากรไทยทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ สามารถพึ่งตนเอง และทำประโยชน์ แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้นานที่สุด โดยรัฐให้หลักประกันการเข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง[11]
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อน่าไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกันทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างบูรณาการ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน และการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในแบบทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานการเติบโตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตโดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้าน อันจะน่าไปสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไปอย่างแท้จริง[12]
ยุทธศาสตร์ที่ 6 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่ยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ แยกแยะบทบาทหน่วยงาน ของรัฐที่ท่าหน้าที่ในการกำกับหรือในการให้บริการยึดหลักธรรมาภิบาล ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัย และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า และปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล รวมทั้งมีลักษณะเปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกันและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์ และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้น กฎหมายต้องมีความชัดเจน มีเพียงเท่าที่จำเป็น มีความทันสมัย มีความเป็นสากล มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและเอื้อต่อการพัฒนา โดยกระบวนการยุติธรรมมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและการอำนวยความยุติธรรมตามหลักนิติธรรม[13]
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนระดับรองจากยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่ (1) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการนำเอาประเด็นยุทธศาสตร์ในยุทธศาสตร์ชาติมาร้อยเรียงเป็นแผนแม่บท จำนวน 23 ประเด็น (2) แผนการปฏิรูปประเทศ เป็นแผนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคี สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ
ความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ
ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นประเด็นที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และยิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2561 และอาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ชาติมีความสำคัญต่อสังคม การเมืองไทยอยู่ 2 ประการ นั่นคือ ความสำคัญในทางการเมือง และความสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน
“ความสำคัญในทางการเมืองของยุทธศาสตร์ชาติ” เกิดขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ” ไว้ในมาตรา 65 ซึ่งอยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐเพื่อให้เป็นแนวทางหลักสำหรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นแผนแม่บท (Master Plan) ให้กับรัฐบาลต่าง ๆ ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้การดำเนินการทางการเมือง (Political Operation) ต่าง ๆ ต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ การเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่มีต่อรัฐสภา รวมทั้งการให้บทบาทกับวุฒิสภาชุดที่ 12 ซึ่งเกิดขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทำหน้าที่ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของฝ่ายบริหารด้วย ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติ (Executive-Legislative Relations)[14] ในรูปแบบใหม่ที่ถือเป็นการควบคุมการบริหารราชหารแผ่นดินในลักษณะใหม่ของการเมืองไทย
“ความสำคัญในทางการบริหารราชการแผ่นดินของยุทธศาสตร์ชาติ” เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ มีลักษณะเป็นแผนระดับบนสุดของแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดที่ใช้ในการบริหารกิจการของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นแผนแม่บทสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้ควบคุมในภาพรวมของการบริหารราชการแผ่นดินตามยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด และยังมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้ประสานติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในระดับหน่วยงานต่าง ๆ และด้วยเหตุที่ยุทธศาสตร์ชาติเป็นแผนในระดับสูงสุด ก็ส่งผลให้แผนที่มีอยู่ทั้งหมดกลายเป็นแผนระดับรองภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีการแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 ระดับ[15] ได้แก่ (1) แผนระดับที่หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ชาติ (2) แผนระดับที่สอง คือ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและ (3) แผนระดับที่สาม คือ แผนปฏิบัติการด้านต่าง ๆ และแผนบูรณาการด้านต่าง ๆ ฉะนั้น แผนทั้ง 3 ระดับนี้ เป็นฟันเฟืองของการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศในระยะ 20 ปี โดยแบ่งเป็น 4 ระยะย่อย[16] คือ ระยะที่หนึ่ง ปี พ.ศ. 2561 – 2565 ระยะที่สอง ปี พ.ศ. 2566 – 2570 ระยะที่สาม ปี พ.ศ. 2571 – 2575 และระยะที่สี่ ปี พ.ศ. 2576 – 2580 ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2580 ตามกรอบเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ
นานาทัศนะต่อยุทธศาสตร์ชาติ
นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2561 ก็จะเห็นปฏิกิริยาของสังคมไทยที่มีต่อยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 2 แนวทาง กล่าวคือ แนวทางแรกเป็นแนวทางที่เห็นด้วยกับการมียุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งเป็นแนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับการมียุทธศาสตร์ชาติ
“แนวทางที่เห็นด้วยกับการมียุทธศาสตร์ชาติ” ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในวุฒิสภา ชุดที่ 12 ที่เน้นภารกิจพิเศษตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นั่นคือ การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งวุฒิสภาชุดดังกล่าวมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ในชื่อว่า “คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือ คณะกรรมาธิการ ตสร.”[17] ซึ่งมีสมาชิกวุฒิสภาในคณะกรรมาธิการสามัญทุกคณะมาเป็นกรรมาธิการ โดยการทำงานของคณะกรรมาธิการ ตสร. จะมุ่งเน้นการมีอยู่ของยุทธศาสตร์ชาติ ที่เชื่อว่าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง[18] ส่งผลให้บทบาทของวุฒิสภาในชุดดังกล่าวนี้กลายเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับการมียุทธศาสตร์ชาติที่ค่อนข้างปรากฏบทบาทที่ชัดเจน
“แนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับการมียุทธศาสตร์ชาติ” ปรากฏให้เห็นได้ทั้งในกรณีของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่มองว่ายุทธศาสตร์ชาติขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้มีความพยายามในการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 จะเห็นการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ พรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ในบางเรื่อง และยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับของ คสช. ในหมวด 6 ยกเลิกมาตรา 65 เกี่ยวกับการทำยุทธศาสตร์ชาติ และให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 142 และมาตรา 162 โดยให้ตัดคำว่ายุทธศาสตร์ออก รวมทั้งยังเสนอให้ยกเลิก มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 275 และมาตรา 279 โดยให้เหตุผลว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ที่บังคับให้ทำไม่น้อยกว่า 20 ปีนั้น ยาวนานไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และอาจจะเป็นพันธะต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
หรือในกรณีของพรรคภูมิใจไทยเห็นว่าเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญนั้น มีความ ไม่เหมาะสม เนื่องจากการกำหนดระยะเวลา 20 ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป[19] ขณะที่พรรคก้าวไกล ก็มองว่ายุทธศาสตร์ชาตินั้น ไม่ได้ออกแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)[20]
บทสรุป
ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นแผนยุทธศาสตร์สำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2580 โดยประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาจำนวน 6 ด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติจึงถือเป็นแผนยุทธศาสตร์สูงสุดของประเทศที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามเป้าหมายนี้ รวมทั้งยังมีความสำคัญในทางการเมืองอันเกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติเรื่องยุทธศาสตร์ชาติไว้ และให้อำนาจกับวุฒิสภาในการควบคุมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติของฝ่ายบริหารอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ชาติที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันก็เป็นที่ถกเถียงและพูดถึงของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการมียุทธศาสตร์ชาติ ที่มีวุฒิสภา เป็นกลุ่มหลักสำคัญ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการมียุทธศาสตร์ชาติ ที่ปรากฏชัดเจนในสภาผู้แทนราษฎร จนทำให้เกิดความพยายามในการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติให้หมดสิ้นไป
บรรณานุกรม
หนังสือ
ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน ณัชปกร นามเมือง และยิ่งชีพ อัชฌานนท์. (2561). เปิดเบื้องหลังยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. (กรุงเทพฯ : โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)).
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2558). แนวทางปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร. (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า).
ศิริรัตน์ ชุณหคล้าย. (2558). การบริหารจัดการองค์การตามทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
เว็บไซต์
“'ก้าวไกล' ฉะยุทธศาสตร์ชาติไม่สอดคล้องวิกฤติโควิด เปรียบมัดตราสังให้ประเทศ,” เข้าถึงจาก ไทยโพสต์ออนไลน์ <https://www.thaipost.net/main/detail/103841>, เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564.
ข่าวการเมือง, “‘วุฒิสภา’ ถกรายงานยุทธศาสตร์ชาติปี’63 ชี้โควิด-ม็อบการเมืองกระทบแผนฯ แนะรัฐเร่งเสนอ กม.เข้าสภา,” เข้าถึงจาก มติชนออนไลน์ <https://www.matichon.co.th/politics/news_2889383>, เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564.
ข่าวการเมือง, “3 พรรค เห็นพ้องเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี,” เข้าถึงจาก ไทยรัฐออนไลน์ <https://www.thairath.co.th/news/politic/2122741>, เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564.
ความเป็นมาและภารกิจโครงการ, เข้าถึงจาก โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน <https://www.sdgmove.com/background-and-mission/>, เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564.
ยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับข้าราชการ, เข้าถึงจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ <http://nscr.nesdc.go.th/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4/>, เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564.
กฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560.
มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (นร 0505/ว 190) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2558.
ราชกิจจานุเบกษา
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562, ข้อ 175, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 219 ง, 2 กันยายน 2562.
ประกาศคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 242 ง, 29 กันยายน 2560.
'ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. '2561 - 2580), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561.
[1] ดูเพิ่มใน มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (นร 0505/ว 190) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2558.
[2] ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน ณัชปกร นามเมือง และยิ่งชีพ อัชฌานนท์,เปิดเบื้องหลังยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. (กรุงเทพฯ : โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์), 2561), หน้า 29 – 31.
[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มาตรา '65'.
[4] ประกาศคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 242 ง, 29 กันยายน 2560.
[5] ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. '2561 - 2580)', ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561.
[6] ศิริรัตน์ ชุณหคล้าย, การบริหารจัดการองค์การตามทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558), น. 19-21.
[7] ความเป็นมาและภารกิจโครงการ, เข้าถึงจาก โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน <https://www.sdgmove.com/background-and-mission/>, เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564.
[8] ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. '2561 - 2580)', ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561.
[9] ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. '2561 - 2580)', ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561.
[10] ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. '2561 - 2580)', ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561.
[11] ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. '2561 - 2580)', ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561.
[12] ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. '2561 - 2580)', ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561.
[13] ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. '2561 - 2580)', ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561.
[14] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และภูริ ฟูวงศ์เจริญ. แนวทางปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร. (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2558), หน้า 39.
[15] ยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับข้าราชการ, เข้าถึงจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ <http://nscr.nesdc.go.th/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4/>, เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564.
[16] ยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับข้าราชการ, เข้าถึงจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ <http://nscr.nesdc.go.th/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4/>, เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564.
[17] ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562, ข้อ 175, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 219 ง, 2 กันยายน 2562.
[18] ข่าวการเมือง, “‘วุฒิสภา’ ถกรายงานยุทธศาสตร์ชาติปี’63 ชี้โควิด-ม็อบการเมืองกระทบแผนฯ แนะรัฐเร่งเสนอ กม.เข้าสภา,” เข้าถึงจาก มติชนออนไลน์ <https://www.matichon.co.th/politics/news_2889383>, เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564.
[19] ข่าวการเมือง, “3 พรรค เห็นพ้องเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี,” เข้าถึงจาก ไทยรัฐออนไลน์ <https://www.thairath.co.th/news/politic/2122741>, เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564.
[20] “'ก้าวไกล' ฉะยุทธศาสตร์ชาติไม่สอดคล้องวิกฤติโควิด เปรียบมัดตราสังให้ประเทศ,” เข้าถึงจาก ไทยโพสต์ออนไลน์ <https://www.thaipost.net/main/detail/103841>, เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564.