ม.จ.สิทธิพร กฤดากร
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ม.จ.สิทธิพร กฤดากร : ผู้เจอคดีกบฎบวรเดช
การขัดแย้งทางการเมืองในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 นั้นได้ปะทุรุนแรงจนเกิดการสู้รบช่วงชิงอำนาจที่เรียกกันว่า “กบฏบวรเดช” นั้นได้ทำให้มีคนเจอข้อหากบฎและต้องเข้าคุกเพราะคดีการเมืองอยู่หลายคน มีทั้งผู้ที่มีผู้คนรู้จักชื่อดีและมีทั้งคนที่ถูกลืม ท่านที่โดนข้อหาเหล่านี้ ว่าที่จริงก็ล้วนเป็นคนดีมีฝีมือมากของไทย หากแต่มีความคิดทางการเมืองต่างกัน และเกิดมีการยกทัพมาต่อสู้ชิงอำนาจกัน ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องได้รับโทษ คนเก่งคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีท่านหนึ่งก็คือ หม่อมเจ้า สิทธิพร กฤดากร ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังด้านการเกษตรของไทย
ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ประสูติเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2426 โดยเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และหม่อมสุภาพ กฤดากร ในด้านการศึกษา ท่านทรงศึกษาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ประเทศอังกฤษ เรียนจบแล้วเดินทางกลับประเทศ ท่านได้เข้าทำงานรับราชการที่กระทรวงการคลัง ในปี 2444 ตอนนั้นอายุของท่านยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ดี เจริญก้าวหน้ามาด้วยดีในอาชีพการงานจนได้เป็นอธิบดีกรมฝิ่น ชีวิตครอบครัวของท่านนั้นได้สมรสกับหม่อมทิพ ต่อมาหม่อมทิพถึงแก่กรรม ท่านได้สมรสกับเจ้าศรีพรหมา ธิดาเจ้านครน่าน หลังรับราชการอยู่ประมาณ 20 ปี ในปี 2464 ม.จ.สิทธิพร ได้ลาออกจากราชการทั้งๆ ที่อายุเพียง 40 ปีเท่านั้น เพื่อจะออกไปทำเกษตรกรรมที่บางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ แต่ประมาณ 10 ปีต่อมาเศรษฐกิจได้ตกต่ำแทบจะทั่วโลก ประเทศไทยเองก็กระทบกระเทือนไปด้วย ในครั้งนี้นั้นเองที่ ม.จ.สิทธิพร นักเกษตรกรรมที่มีความสามารถได้ถูกเรียกตัวกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง มาเป็นอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม เพื่อดูแลงานด้านเกษตรช่วยราษฎรไทยให้มีผลผลิตที่ดีขึ้น ปีนั้นคือปี 2475 แต่เป็นเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน กลับเข้ารับราชการยังไม่ทันถึงปีก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นจึงเป็นการกลับเข้ามาทำงานที่ยังไม่ทันเห็นผล
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปได้เพียงปีกว่าๆ ก็มีกองทัพหัวเมืองบุกเข้ามาที่พระนคร ยื่นคำขาดให้รัฐบาลยอมแพ้ เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ คือ กบฎบวรเดช มีหัวหน้าผู้ก่อการ คือ อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พลเอก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร ผู้เป็นพี่ชายของ ม.จ.สิทธิพร เมื่อการยกทัพเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมปฏิบัติการหรือรู้เห็นเป็นใจด้วย จึงต้องเดือดร้อนเจอข้อหากบฎ ม.จ.สิทธิพร กฤดากรเองก็ตกเป็นผู้ต้องหาและถูกตัดสินให้ติดคุก ต้องถูกส่งไปจองจำที่เกาะตะรุเตา ลำบากยากแค้น มาได้รับการปล่อยตัวในปี 2487 เพราะมีการอภัยโทษนักโทษการเมือง ในสมัยรัฐบาลของนายควง อภัยวงค์ และผู้สำเร็จราชการนาย ปรีดี พนมยงค์ ทั้งสองท่านนี้คือผู้นำคณะราษฎรที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง การเมืองไทยก็กลับมาคึกคักและมีความแตกแยกในบรรดาผู้นำคณะราษฎรปรากฏให้เห็นในการเลือกตั้งต้นปี 2498 ผู้นำที่เคยเป็นมิตรกันก็ลงเลือกตั้งแข่งขันกันแม้แต่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน หลังเลือกตั้งนายควง อภัยวงศ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ดีว่ามีการตกลงประสานกันได้ แต่แล้วรัฐบาลของนายควงแพ้เสียงในสภาจึงต้องลาออก จนนายปรีดี พนมยงค์ ได้เข้ามาเป็นนายกฯตั้งรัฐบาลแทน ทางนายควงกับผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนได้จัดตั้งพรรคการเมืองคือพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเพื่อจะได้สู้กับพรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคสหชีพที่สนับสนุนนายปรีดี นับว่าเป็นการเปิดหน้าดำเนินการต่อสู้กันทางการเมืองที่เห็นได้ชัด
เหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองที่ตามมาทำให้มีการเปลี่ยนตัวนายกฯมาเป็นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ แต่การเมืองก็ไม่ค่อยจะมีความมั่นคง คณะรัฐประหารถือโอกาสที่การเมืองขัดแย้งกันสูง นำทหารเข้ายึดอำนาจในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 ล้มรัฐบาล ยกเลิกรัฐธรรมนูญและพยายามล้มอำนาจของคณะราษฎรที่ยังเหลืออยู่ นายควง อภัยวงศ์ ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลเพื่อจัดการเลือกตั้ง ในรัฐบาลของนายควง ชุดหลังการรัฐประหารนี่เอง ม.จ.สิทธิพรได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และในการเลือกตั้งที่ตามมาในเดือนมกราคม ปี 2491 ม.จ.สิทธิพรก็ได้ลงเล่นการเมือง ในการลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ที่มีผู้แทนราษฎรได้ 1 คน ชื่อเสียงของท่านที่เป็นเจ้าของสวนเกษตรบางเบิด ที่เปิดทำการเกษตรที่ทันสมัย และเป็นที่รู้จักและรักของประชาชนในพื้นที่ ท่านจึงชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนฯเข้าสภา ครั้นนายควง ได้เป็นนายกฯต่อมา ท่านจึงได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเดิมสืบมา แต่อายุรัฐบาลของนายควงหลังการเลือกตั้งแทนที่จะยาวกลับสั้น เพราะอยู่ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน ปีเดียวกันเท่านั้น นายควงยอมลาออกจากนายกรัฐมนตรีตามคำเรียกร้องของคณะรัฐประหาร
นายกรัฐมนตรีคนต่อมา คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่วน ม.จ.สิทธิพรเองออกจากการเป็นรัฐมนตรีแล้วท่านก็ยังเป็นผู้แทนสืบมา ในเรื่องการเมืองนี้ ม.จ.สิทธิพรครั้งหนึ่งท่านเคย “รับเป็นประธานพรรคการเมือง ‘ช่วยชาวนา’” แต่การเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นไม่มีต่อมาอีก ท่านได้มุ่งทำงานทางด้านเกษตรกรรม และได้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดังปรากฏว่าในปี 2510 ในสมัยที่จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ ผู้คนจึงได้รับข่าวที่น่ายินดีของ ม.จ.สิทธิพร นั่นคือท่านได้รับรางวัลแมกไซไซของประเทศฟิลิปปินส์ อันเนื่องจากผลงานที่ท่านทำทางด้านการเกษตร ขณะนั้นท่านอายุได้ 76 ปี
ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ได้มีชีวิตอยู่ต่อมาอีก 4 ปีจึงได้สิ้นชีพตักษัย ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2514