ม.จ.ศุภสวัสดิ์ วงศ์สนิท

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท : พันตรี อรุณ

          พันตรี อรุณ เป็น “นามสงคราม” คือ ชื่อที่ใช้ในการทำงานใต้ดินอยู่ในขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ ของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ในบรรดาผู้ที่เข้าร่วมทำงานเสรีไทยสายอังกฤษนั้น กล่าวกันว่าท่านผู้นี้ “มีบทบาทมากที่สุดในปฏิบัติการของเสรีไทยจากประเทศอังกฤษ” หนังสือตำนานเสรีไทย ของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ที่ระบุข้อความข้างบน ยังบันทึกอีกว่า

          “ม.จ.ศุพสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ทรงมีส่วนสำคัญในการเจรจาให้ทางอังกฤษยินยอมรับอาสาสมัครคนไทยจำนวน 36 นายเข้าประจำการในกองทัพบกอังกฤษ เมื่อกลางปี 2485”

          ที่จริงท่านมิใช่เพียงผู้ประสานติดต่อให้คนไทยผู้อาสาทำงานเสรีไทยได้เข้าทำงานเมื่อปี 2485 เท่านั้น ท่านยังเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้เสรีไทยสายอังกฤษกับขบวนการเสรีไทยในเมืองไทยได้ติดต่อกันได้และร่วมงานกันได้ดีต่อมาด้วย ตัวท่านเองก็เสี่ยงภัยเดินทางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยในเวลาปลายสงครามด้วย

          ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯหรือ “ท่านชิ้น” เป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวันนวิศิษฐ์ มีมารดาคือ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2443 ในด้านการศึกษานั้นปรากฏว่าหลังจากศึกษาอยู่ในประเทศจนอายุได้ประมาณ 18 ปี ท่านจึงได้เป็นนักเรียนสังกัดกระทรวงกลาโหมไปศึกษาต่อต่างประเทศที่อังกฤษ โดยได้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนทหารที่มีชื่อคือโรงเรียนนายร้อยทหารบกวูลลิช ซึ่งโรงเรียนทหารแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเรียนมาก่อนแล้วด้วย หลังจากศึกษาจบ ท่านได้กลับมารับราชการเป็นนายทหารปืนใหญ่ในกองทัพสยาม  เมื่อก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ คือเมื่อปี 2474 ท่านชิ้นผู้นี้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 พระองค์เป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ท่านจึงได้ย้ายมาทำงานที่กรมทหารรักษาวัง และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ ท่านจึงได้ตามเสด็จไปด้วย และได้ทำงานรับสนองพระองค์ท่านที่อังกฤษตลอดมา แม้เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติแล้ว ท่านก็ยังอยู่ทำงานโดยไม่เปลี่ยนแปลง และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ประทับอยู่ที่อังกฤษสืบมา ท่านชิ้นก็พำนักอยู่ที่อังกฤษ สำหรับชีวิตสมรสของท่านนั้น เนื่องจากการได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ท่านจึงได้รู้จักกับคุณเสมอ ธิดาของพระยาบุรีนวราษฐ์ ราชทูตสยามที่เดินทางไปประจำกรุงลอนดอน ที่ต่อมากลับมาเมืองไทยแล้วท่านจึงได้สมรสกับคุณเสมอ

          ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังญี่ปุ่นยกทัพเข้าไทยตอนปลายปี 2484 แล้ว และต่อมาในเดือนมกราคม ปี 2485 รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้มีคนไทยในสหรัฐฯไม่เห็นด้วย จึงรวมกลุ่มกันเป็นพวกเสรีไทยสายอเมริกา ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าและส่งคนไปชักชวนคนไทยที่อังกฤษให้ตั้งกลุ่มเสรีไทยร่วมกันทำงานต่อต้านญี่ปุ่นสายอังกฤษขึ้นมา ในเสรีไทยสายอังกฤษนี้แม้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จะไม่ได้ประกาศตนเป็นหัวหน้า แต่ท่านก็เป็นแกนนำสำคัญของคนไทยในอังกฤษที่ร่วมกันทำงานเสรีไทย มีนักเรียนไทยนับถือและให้ความร่วมมือด้วยเป็นอย่างดี ทั้งท่านยังพำนักอยู่ในอังกฤษมานานสามารถติดต่อกับฝ่ายอังกฤษได้กว้างขวาง

          การทำงานเสรีไทยทำให้บุคคลสำคัญสองคนซึ่งถูกมองว่าอยู่คนละฝั่งแห่งอำนาจ  คือ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯที่ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ออกไปอังกฤษ และอยู่ที่อังกฤษต่อมา เพราะเป็นบุคคลเป้าหมายที่ทางรัฐบาลของผู้นำคณะราษฎรไม่ชอบใจมาตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดกรณีกบฏบวรเดชแล้ว และนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ต่อต้านระบบเดิม แต่เมื่อเข้ามาทำงานเสรีไทย ม.จ.ศุภสวัสดิ์ได้มีโอกาสพบกับคุณจำกัด พลางกูร ผู้แทนของหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศที่เดินทางไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองจุงกิง จึงได้พบปะพูดจากันนาน จนเข้าใจกันได้ดีว่างานเสรีไทยนั้นเป็นของประเทศชาติ ไม่แบ่งเป็นฝ่ายเจ้าหรือฝ่ายผู้ก่อการฯ การทำความเข้าใจกันได้นั้นมีความสำคัญทำให้ผู้แทนของขบวนการเสรีไทยในประเทศ ที่นอกจากจะสามารถติดต่อกับกลุ่มเสรีไทยนอกประเทศได้แล้วยังทำให้ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ด้วย

          ในหนังสือ “1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์” ได้ตีพิมพ์จดหมายที่ Ruth ( รู้ธ หรือนายปรีดี พนมยงค์ ) เขียนถึง “อรุณ”  (ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท)  ลงวันที่ 14 มิถุนายน ปี 2488 ก่อนวันประกาศสันติภาพ ประมาณสองเดือน มีรายละเอียดถึงแผนในการปฏิบัติการที่น่าสนใจ และในจดหมายฉบับนี้มีความที่แสดงถึงเป้าหมายในการร่วมมือกันทำงานตอนหนึ่งว่า

          “...ขอบใจมากและเห็นอกเห็นใจที่ได้อุส่าห์เพียรพยายามทำด้วยความเต็มใจ เพื่อให้ประเทศชาติของเรา คงเป็นไทยหยู่ตราบเท่าดินฟ้า...” (ภาษาที่เขียนนี้ตามต้นฉบับในจดหมาย)

          ดังนั้นเมื่อมีความเข้าใจกัน ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯจึงได้เข้ามาทำงานเสรีไทยในประเทศด้วย และท่านก็เป็นผู้ที่มีส่วนที่ทำให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักการเมืองออกมาในวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2488 ในสมัยรัฐบาลของ นายควง อภัยวงศ์ ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการฯ หลังสงคราม ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯได้กลับมาอยู่เมืองไทย แต่หลังปี 2490 ท่านก็กลับไปอังกฤษอีกจนถึงปี 2495 ท่านจึงได้กลับมาอยู่ไทยอย่างถาวร ไปทำ “สวนเสมา” ที่ริมทะเลชะอำ จนถึงวันที่ 22 เมษายน ปี 2520 ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ก็ได้สิ้นพระชนม์จากครอบครัวไป