มาตรการใหม่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรการใหม่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2560
บทความนี้จะได้นำเสนอมาตรการใหม่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานของรัฐซึ่งในที่นี้หมายความถึงการตรวจสอบบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรทางการเมือง อาทิเช่น สมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี อันเป็นการใช้อำนาจเพื่อบริหารประเทศในกิจการหลาย ๆ ด้าน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ดำเนินการประกาศใช้ภายใต้หลักการใหม่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าในหลายประเด็น ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจหลักออกเป็น 3 องค์กร อันได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ด้วยการคานอำนาจและตรวจสอบการใช้อำนาจระหว่างกันทั้งสามองค์กร กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติมักจะตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือการตั้งกระทู้ถามการทำงานของฝ่ายบริหารพร้อมกับการลงมติไม่ไว้วางใจ ในขณะที่ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้ประชาชนลงมติเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเข้าไปใหม่ ส่วนอำนาจตุลาการนั้นพบว่าในส่วนของตุลาการก็ถูกตรวจสอบและคานอำนาจด้วยการที่ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายใช้ได้เอง แต่ต้องตัดสินคดีด้วยหลักกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น ทั้งนี้ ฝ่ายตุลาการยังสามารถตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจว่าเป็นไปโดยชอบด้วยหลักกฎหมายหรือไม่ จากที่กล่าวถึงรูปแบบการตรวจสอบและคานอำนาจระหว่างองค์กรทางการเมืองหลักทั้งสามองค์กรแล้ว ประเทศไทยยังมีการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและองค์กรอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมักจะมี 4 แนวทาง ได้แก่
1. การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยทางการเมือง
2. การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
3. การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านองค์กรตุลาการและกระบวนการยุติธรรม
4. การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชน
หากศึกษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจากคำปรารภจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ มุ่งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น และมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อให้เจตนารมณ์ดังกล่าวของรัฐธรรมนูญบรรลุความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจึงได้จัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา รวมทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วย เช่น การเข้าชื่อถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อาจแยกการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ
3.1 การควบคุมตรวจสอบโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการริเริ่ม
การควบคุมตรวจสอบโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการริเริ่มอาจแยกออกได้ 2 กรณี คือ
3.1.1 การเข้าชื่อถอดถอนให้ออกจากตำแหน่ง และ
3.1.2 การเสนอเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
3.2 การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรของรัฐ
การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรของรัฐอาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
3.2.1 การควบคุมโดยองค์กรศาล และ
3.2.2 การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรอื่น ๆ
มาตรการใหม่ตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้จัดแบ่งออกเป็น 16 หมวด และ บทเฉพาะกาล ทั้งนี้ ในส่วนของบทบัญญัติที่กำหนดหลักการใหม่อันแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมามีหลายหลักการ แต่ในส่วนนี้จะกล่าวถึงมาตรการที่ใช้ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนี้
1. มาตรการใหม่ในการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ : ที่เกี่ยวกับประชาชน
1.1 รัฐธรรมนูญได้กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ในหมวด 3 โดยมีการวางหลักการในการคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐด้วยการวางหลักการให้ “อะไรที่ไม่ได้ห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย สามารถทำได้และได้รับการคุ้มครอง” พร้อมทั้งกำหนดกรอบในการใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักสากล (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ไว้ 3 ข้อ คือ ต้องไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยของชาติ ต้องไม่กระทบความสงบเรียบร้อย ต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ดังนั้น ในกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นสิทธิจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธินั้น และหากรัฐไม่ดำเนินการประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินการเพื่อให้ได้รับมาซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
1.2 มาตรการใหม่ที่กำหนดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ด้วยการกำหนดหลักการใหม่ในส่วนของหน้าที่ของประชาชนไทยด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ การตรวจสอบการใสช้อำนาจรัฐจะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับประชาชนคนไทยทุกคนที่จะร่วมด้วยช่วยกัน สามัคคีกันและไม่สร้างความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
2. มาตรการใหม่ในแง่ “หน้าที่ของรัฐ” ต่อการดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดขึ้น
รัฐธรรมนูญหมวด 5 หน้าที่ของรัฐอันเป็นหมวดใหม่ที่บัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนว่ารัฐต้องดำเนินการอันเป็นหน้าที่ของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดตามกำลังความสามารถทางการเงินการคลังของรัฐ เพื่อให้สิทธิของประชาชนในเรื่องสำคัญ ๆ เกิดเป็นรูปธรรมโดยที่ประชาชนไม่ต้องเรียกร้อง
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดมาตรการใหม่เพิ่มเติมหลายประการไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ดังนี้
- ในส่วนของการวางหลักการใหม่ให้รัฐพึงจัดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อให้มีแผนการพัฒนาประเทศโดยกำหนดกรอบเวลาและแนวทางพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติ สู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล
- หลักการในเรื่องการอุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา โดยการนำหลักการสาคัญของพระพุทธศาสนาเรื่องไตรสิกขามาบัญญัติเพิ่มเติมโดยกำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา
- การกำหนดนโยบายสำคัญให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนไทยจะได้การดูแลตามพันธกรณีหรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
- กำหนดหลักการสำคัญของนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ โดยยึดหลักระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ได้เพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่โดยเพื่อกำหนดให้รัฐพึงคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุและการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกันไม่ใช่มุ่งพัฒนาความเจริญทางวัตถุ พร้อมทั้งการกำหนดให้รัฐพึงคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุและการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกันไม่ใช่มุ่งพัฒนาความเจริญทางวัตถุเป็นหลัก
- กำหนดให้รัฐพึงมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นโดยรัฐจะต้องย้อนกลับไปดูกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้วว่าหมดความจาเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชนมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ยกเลิก หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นจริงในปัจจุบัน
- กำหนดให้รัฐส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
3. มาตรการใหม่ในการควบคุมและตรวจสอบ : โดยทางการเมือง
หลักการในการตรวจสอบโดยระบบรัฐสภาคือการตรวจสอบและคานอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ โดยในส่วนของมาตรการใหม่ในรัฐธรรมนูญมีดังนี้
- การกำหนดมาตรการใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ถ้าไม่มีรองประธานวุฒิสภา ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และให้ดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภาโดยเร็ว
- การกำหนดมาตรการใหม่เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาทางรัฐธรรมนูญเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยกระบวนการที่เพิ่มขึ้นนั้นได้กำหนดว่าเมื่อร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา ถ้าไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันตามจำนวนที่กำหนด เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือถ้าไม่มีกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเองว่าสมควรส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงให้นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันพ้นกาหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 81)
- การเพิ่มเติมหลักการใหม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องนั้น และการกำหนดไม่ให้นับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา (มาตรา 82)
- ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักการเลือกตั้งใหม่ที่มุ่งเน้นให้คะแนนเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงทุกคนมีความหมายมากที่สุด และให้ความสำคัญทั้งตัวบุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกของพรรคการเมือง และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครประกอบกัน ในการวางระบบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 จึงเปลี่ยนแนวคิดใหม่ให้คะแนนเสียงทุกเสียงของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด จากพรรคการเมืองใด คะแนนเหล่านั้นจะนำไปคำนวณเพื่อประโยชน์ในการกำหนดตัวผู้แทนราษฎรได้ทุกคะแนน โดยให้ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นแบบเขตเดียว เบอร์เดียว และใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อให้ประชาชนเกิดความสนใจ สามารถใช้สิทธิได้ง่าย ไม่มีความซับซ้อน และประหยัดงบประมาณ
นอกจากนี้ได้สร้างหลักการใหม่โดยให้ประชาชนมีสิทธิที่จะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยได้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็แต่อำนาจนั้นเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน คะแนนเสียงของประชาชนที่จะแสดงให้เห็นว่าอำนาจนั้นเป็นของประชาชน จึงสมควรทำให้เป็นที่ประจักษ์ โดยกำหนดว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้ง นอกจากจะต้องได้คะแนนเสียงมากที่สุดแล้ว ยังจะต้องได้คะแนนสูงกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด เพื่อเป็นการวางกรอบให้พรรคการเมืองในการเลือกสรรคนลงสมัครในนามของพรรคการเมือง ที่จะต้องเลือกบุคคลที่มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ และคุณงามความดีตามที่ประชาชนต้องการ
- ในส่วนของวุฒิสภา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่โดยเน้นความสำคัญของประชาชนทั่วไปที่จะเข้ามาสมัครได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกินกำลังของบุคคลทั่ว ๆ ไปโดยแยกออกเป็นกลุ่มที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน ให้มากที่สุดเพื่อที่จะทำให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติทุกคนสามารถเข้าสมัครในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ และเพื่อให้ผู้สมัครมีส่วนร่วมในเบื้องต้นอย่างแท้จริง จึงกำหนดให้ประชาชนเลือกกันเองดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107 ว่า “วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกันหรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้” การสร้าง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงและอย่างมีนัยสำคัญตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะสมาชิกวุฒิสภาจะใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการดาเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ มาสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนจากร่างกฎหมายโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของนโยบายของพรรคการเมือง
- ในส่วนของคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางหลักการใหม่โดยให้คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 164) รวมทั้งการกำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยกำหนดให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาจากผลกระทบจากการทำหนังสือสัญญา และประการสำคัญได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ในกรณีเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับประเภทของหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา (มาตรา 178)
- ในส่วนของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของสมาชิกรัฐสภาภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (4) ที่กำหนดขึ้นใหม่เพื่อเป็นข้อห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ไม่ให้แทรกแซงกลไกการทาหน้าที่ของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ พร้อมทั้งการกำหนดข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับรัฐมนตรีว่าจะต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม (มาตรา186)
- การปฏิรูปประเทศ เป็นบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่และเป็นกลไกสำคัญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วยบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายในการปฏิรูป การกำหนดประเด็นการปฏิรูปอย่างน้อย 7 ด้าน รวม 32 การกำหนดกลไกในการปฏิรูปในภาพรวม พร้อมทั้งการกำหนดกรอบการปฏิรูปที่เป็นรากฐานสำคัญสองเรื่อง คือ การปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิรูปการศึกษา พร้อมทั้งการกำหนดให้มีกลไกในการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นการปฏิรูปประเทศจึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐว่าเป็นไปตามกรอบแห่งการปฏิรูปประเทศมากน้อยเพียงใด
4. มาตรการใหม่ในการควบคุมและตรวจสอบ : โดยองค์กรตุลาการและกระบวนการยุติธรรม
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่สำคัญและจะขาดเสียไม่ได้ คือ องค์กรตุลาการพร้อมทั้งกระบวนการยุติธรรมที่สามารถเอื้ออำนวยในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้เป็นอย่างดี องค์กรตุลาการจึงเป็นการควบคุมและตรวจสอบที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นระบบการควบคุมและตรวจสอบที่ให้หลักประกันกับประชาชนให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกล่าวกันว่ารัฐใดรัฐหนึ่งไม่อาจถือได้ว่าเป็น “นิติรัฐ” หากรัฐนั้นปราศจากการควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ ทั้งนี้ เพราะองค์กรตุลาการขององค์กรอิสระที่มีการประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา นอกจากนี้องค์กรตุลาการยังมีวิธีพิจารณาเพื่อเป็นการคุ้มครองความเป็นธรรมในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้กำหนดมาตรการใหม่ในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในส่วนขององค์กรตุลาการและกระบวนการยุติธรรมดังนี้
- ในส่วนของศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญได้เพิ่มเติมหลักการใหม่ โดยได้เปิดโอกาสให้โจทก์และจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งการวางหลักการใหม่โดยกำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำารงตาแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ (มาตรา 195)
- ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะยกสถานะของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีฐานะเป็นศาล แต่เป็นศาลพิเศษ ที่ไม่ควรถือว่าเป็นศาลที่มีศักดิ์และฐานะรองจากศาลอื่น และเพื่อมิให้มีผู้นาไปจัดลาดับตามเลขที่ของ “ส่วน” จึงได้แยกศาลรัฐธรรมนูญมาบัญญัติไว้เป็นอีกหมวดหนึ่งต่างหากจากศาลทั่วไป
5. มาตรการใหม่ในการควบคุมและตรวจสอบ : โดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
องค์กรตามรัฐธรรมนูญถือเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้วัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรที่จัดตั้งขึ้น อนึ่ง จุดมุ่งหมายในการจัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำหน้าที่โดยปราศจากอำนาจของฝ่ายบริหาร จึงกำหนดขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญมีขอบเขตหน้าที่หลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐที่สำคัญ จึงถือเป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยเสริมการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการอีกทางหนึ่ง โดยมาตรการใหม่ที่ถูกวางหลักขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีดังต่อไปนี้
- องค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องใหม่อีกสองเรื่องที่ไม่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้คือ การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไปจนถึงหัวหน้าหน่วยงานธุรการในศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ และ การกำหนดให้องค์กรอิสระร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร และถ้าองค์กรอิสระใดเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในหน้าที่และอานาจขององค์กรอิสระอื่น ให้แจ้งองค์กรอิสระนั้นทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- องค์กรอัยการ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางหลักการใหม่แตกต่างจากที่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่สำคัญไว้หลายประการ กล่าวคือ ได้มีการบัญญัติองค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 248 วรรคสาม กำหนดให้ประธานกรรมการต้องไม่เป็นพนักงานอัยการ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากการเลือกกันเองของพนักงานอัยการ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเลือกบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นพนักงานอัยการมาก่อนสองคน การบัญญัติองค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารงานบุคคลไว้ในรัฐธรรมนูญก็เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจใด ๆ
นอกจากนี้ในมาตรา 248 วรรคสอง ยังได้กาพหนดว่า การพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการไม่ให้ถือว่าเป็นคาพสั่งทางปกครอง เพื่อทำให้การพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการเป็นอิสระอย่างแท้จริงไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้การแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาดังเช่นที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
บรรณานุกรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562.
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
บรรเจิด สิงคะเนติ. การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. http://publiclaw.net/publaw/view
.aspx?id=241.
บุญเลิศ ช้างใหญ่. การตรวจสอจอำนาจรัฐโดยภาคประชาชน. การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ. เอกสารสรุปการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 8 ประจำปี 2549/333.