มาตรการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

มาตรการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

          หลักแนวคิดในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของประเทศไทยถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เป็นครั้งแรก โดยมีใจความสำคัญในการห้ามสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แนวคิดในเรื่องดังกล่าวนี้จึงถูกนำมากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดหลักในการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ในมาตรา 265-267 แต่ยังคงมีปัญหาในความไม่ชัดเจนในหลายประการจนนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ในบางประเด็นก็เป็นที่ยุติ แต่ในบางประเด็นก็ยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่ จากปัญหาดังกล่าวรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้ปรับปรุงหลักการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ในหมวด ๙ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ขึ้น โดยมีสาระสำคัญในการป้องกันไม่ให้บุคคลแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงการแทรกแซงกระบวนการทำงาน อันจะสร้างความเสียหายให้แก่รัฐและผลประโยชน์ของส่วนรวม

ความหมายของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest)

          คำว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์มีนักวิชาการให้ความหมายไว้หลากหลายทรรศนะ โดย  Katz & Kahn กล่าวว่าการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม หมายถึงสถานการณ์ซึ่งบุคคลที่เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือผู้ปฏิบัติในฐานะวิชาชีพในหน่วยงานราชการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง[1] หรือ การเป็นปฏิปักษ์อันมิอาจลงรอยกันได้ ระหว่างหน้าที่กับผลประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่แห่ง ความเชื่อถือและไว้วางใจของผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะ[2]  ในขณะที่สำนักงาน ก.พ. ได้ให้ความหมายของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หมายถึง สถานการณ์หรือการกระทำของบุคคล (ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ พนักงานบริษัท ผู้บริหาร) มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องจนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจหรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้น การกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา หรือบางเรื่องเป็นการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนไม่เห็นว่าจะเป็นสิ่งผิดแต่อย่างใด[3]

 

บทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในลักษณะทั่วไปไว้ในบทบัญญัติที่ใช้แก่สภาทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติหน้าที่ในมาตรา 114 โดยที่ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบบทบัญญัตินี้กับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ผ่านมาจะพบว่ามีเนื้อหาที่มุ่งเน้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน  

 

ตาราง 1 เปรียบเทียบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา

มาตรา 149 “...

ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย”

คงเนื้อหาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.
2540 และเพิ่มเติมข้อความ “โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” กำหนดไว้ในมาตรา 122 “...

ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

ปรับเปลี่ยนข้อความเพื่อประโยชน์
ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” นอกนั้นยังคงข้อความเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 114 “...

ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

         

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังกำหนดหลักในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในลักษณะเฉพาะไว้ในหมวด 9 การขัดการแห่งผลประโยชน์ในมาตรา184 – 187 ที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตลอดทั้งคู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลอื่นที่ดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา สรุปสาระสำคัญของหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้ดังนี้

          1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการใด ๆ ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการดำเนินงาน ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ รวมทั้งไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ (มาตรา 184) บทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้เพื่อต้องการแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกจากกัน เพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการแทรกแซงการใช้สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน นอกจากจะใช้บังคับกับสมาชิกรัฐสภาทั้งสองแล้วบทบัญญัติของกฎหมายยังถูกนำมาบังคับใช้แก่คู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลอื่นที่ดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาให้กระทำการในลักษณะเช่นเดียวกัน

          2) กำหนดข้อห้ามเพื่อป้องกันมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาใช้ตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงระบบราชการในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการประจำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้เงินงบประมาณหรือโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น
หรือ ของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม (มาตรา 185)

          3) กำหนดข้อห้ามเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและป้องกันมิให้ “รัฐมนตรี” แสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่เพื่อตนเอง และหรือของผู้อื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอย่างไรก็ดี รัฐมนตรีสามารถเข้าไปเป็นกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับรัฐมนตรีว่าจะต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมตามที่กาหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม
(มาตรา 186)

          4) กำหนดมาตรการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้เป็นรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรธุรกิจ
ที่รัฐมนตรีมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยหลักการที่รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ และกำหนดให้รัฐมนตรีสามารถโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทให้นิติบุคคลเข้ามาจัดการทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแทนได้ โดยต้องแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติทราบ (มาตรา 187)

          หลักการว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์นอกจากจะกำหนดใช้กับสมาชิกทั้งสองสภาแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังกำหนดให้หลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์นำมาใช้กับองค์กรอื่นอีก ได้แก่ องค์กรอัยการ (มาตรา 248) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 250 วรรคท้าย) กล่าวคือ

          1) การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการต้องมีมาตรการป้องกันมิให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใดอันอาจมีผลให้การสั่งคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปโดยอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
หรืออาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์  ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องกำหนดให้ชัดแจ้งและใช้เป็นการทั่วไป
โดยจะมอบอำนาจให้มีการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปมิได้ (มาตรา 248)

          2) กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย (มาตรา250
วรรคท้าย)

 

เปรียบเทียบบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. 2560

ไม่มีบัญญัติไว้เป็นหมวด หรือ ส่วนที่ชัดเจน แต่ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 110, มาตรา 111 มาตรา 128, มาตรา 208 และมาตรา 209

อยู่ในหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตั้งแต่มาตรา 265 - 269

อยู่ในหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ตั้งแต่มาตรา 184 - 187

มาตรา 110 ใช้บังคับกับสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎร
เท่านั้น

มาตรา 128 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 110 และ มาตรา 111 มาใช้กับสมาชิกวุฒิสภาด้วย

 

มาตรา 265 ใช้บังคับกับสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนคู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภานั้น ที่ดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาให้กระทำการตามมาตรานี้ด้วย

มาตรา 184 บัญญัติในลักษณะเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 265

มาตรา 128 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 110 และ มาตรา 111 มาใช้กับสมาชิกวุฒิสภาด้วย

 

มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

            (1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

            (2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ

            (3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 185 บัญญัติในลักษณะเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 266

            (1) ลักษณะเช่นเดียวกับมาตรา 266 (1) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

            (2) กระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในกิจการของรัฐสภา

            (3) ลักษณะเช่นเดียวกับ มาตรา 266 (2) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

 

มาตรา 208 รัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งหรือกระทำการใดตามที่บัญญัติในมาตรา 110 มิได้ เว้นแต่ตำแหน่งที่ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย

 

มาตรา 267 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 265 มาใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย

มาตรา 268 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอานาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

มาตรา 186 ให้นำความในมาตรา 184 มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้

            (1) การดำรงตำแหน่งหรือการดำเนินการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของรัฐมนตรี

            (2) การกระทำตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน
หรือตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

            นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเองของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม

มาตรา 209 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้รัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้รัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

            ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว

 

มาตรา 269 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

            นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทาการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามวรรคหนึ่ง มิได้

            บทบัญญัติมาตรานี้ให้นำมาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๕๙ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา187 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด

            ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีตามวรรคหนึ่งต่อไป ให้แจ้งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

            รัฐมนตรีจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามวรรคสองไม่ว่าในทางใด ๆ มิได้

            มาตรานี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ให้ใช้บังคับแก่'คู่สมรสแ'ละบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี และการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางใด ๆ ด้วย

 

บรรณานุกรม

ปฐมพงค์ ลิมปอังศุ. วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสิ้นสุดความเป็นสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีเพราะเหตุแห่งการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2555. หน้า 5.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.

วิชา มหาคุณ, เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ทับซ้อน('conflict of interest)', ออนไลน์, เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562.

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำงานงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน. คู่มือป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวม ('Conflict of Interest)'. ออนไลน์จาก http://www.amlo.go.th/acoc/uploads/content_attachfile/5b84bbbe539c8.pdf. เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. หน้า 4.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562

 

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. การขัดกันแห่งผลประโยชน์. ออนไลน์ https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-080.pdf (พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

ธนยศ ชวะนิตย์. การขัดกันแห่งผลประโยชน์ 'Conflict of Interest: COI'. วารสาร มจร การพัฒนาสังคม: ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน 2559. หน้า 51-62.

ปฐมพงค์ ลิมปอังศุ. วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสิ้นสุดความเป็นสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีเพราะเหตุแห่งการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2555

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำงานงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน. คู่มือป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวม ('Conflict of Interest)'. ออนไลน์จาก http://www.amlo.go.th/acoc/uploads/content_attachfile/5b84bbbe539c8.pdf. เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

อ้างอิง

[1] ปฐมพงค์ ลิมปอังศุ. วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสิ้นสุดความเป็นสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีเพราะเหตุแห่งการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2555. หน้า 5.

[2] วิชา มหาคุณ, เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ทับซ้อน('conflict of interest)', ออนไลน์, เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562.

[3] ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำงานงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน. คู่มือป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวม ('Conflict of Interest)'. ออนไลน์จาก http://www.amlo.go.th/acoc/uploads/content_attachfile/5b84bbbe539c8.pdf. เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. หน้า 4.