มหาราช 9 พระองค์
ผู้เรียบเรียง วิมลรักษ์ ศานติธรรม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ความหมาย
“มหาราช” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง มหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ ธงประจำพระองค์ พระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกว่า ธงมหาราช การถวายพระราชสมัญญามหาราชแด่พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตที่ผ่านมาไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เป็นมติของมหาชนในสมัยต่อมาที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ถวายพระสมัญญาต่อท้ายพระนามว่า มหาราช การเริ่มถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์นั้นสันนิษฐานว่าเริ่มมีขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ประมาณรัชกาลที่ 4 หรือ 5 เนื่องจากเป็นสมัยที่เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาติและบรรพบุรุษมากขึ้น ทำให้ประจักษ์ถึงวีรกรรมและพระราชอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ๆ จึงได้มีการยกย่องพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรงมีพระเกียรติคุณเด่นกว่าพระองค์อื่นขึ้นเป็นมหาราช[1]
ประเทศไทยได้มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงได้รับการเทิดทูนยกย่องว่าเป็นมหาราชของไทยมี 9 พระองค์ มีรายพระนามดังนี้
1. พญามังรายมหาราช (มหาราชแห่งอาณาจักรล้านนาไทย)
2. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (มหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงผู้ประดิษฐ์แห่งอักษรไทย)
3. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (มหากษัตริย์ชาตินักรบผู้กู้เอกราช)
4. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (มหากษัตริย์ผู้สถาปนายุคทองแห่งกรุงศรีอยุธยาหรือบิดาการทูตไทย)
5. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (มหาราชแห่งกรุงธนบุรี ผู้กอบกู้เอกราช)
6. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ปฐมบรมราชจักรีวงศ์)
7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช (พระปิยมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของชาวไทย)
8. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า (มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ของไทย)
9. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (มหาราชผู้ครองแผ่นดินโดยธรรม)
พญามังรายมหาราช (มหาราชแห่งอาณาจักรล้านนาไทย)
พญามังรายเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราว ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 พระองค์เป็นพระราชโอรสของพญาลาวเมง พระมหากษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราวกับพระนางเทพ คำข่ายหรือเทพคำขยาย ทรงขึ้นครองราชย์ ต่อจากพระราชบิดา ต่อจากนั้นก็ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ บ้านเล็กเมืองน้อยเข้าไว้ในพระราชอำนาจ และทรงสร้างชุมชนขึ้นใหม่ เพื่อรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มาตั้งเป็นเมืองใหม่ ในขณะเดียวกันก็ทรงแสวงหาชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นเมืองหลวงถาวร เมื่อ พ.ศ. 1817 ทรงสร้างเมืองฝาง ทรงตีเมืองหริภุญชัยได้เมื่อ พ.ศ. 1814 ถัดมาจึงสร้างเวียงกุมกามและเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1829 และ พ.ศ. 1839 ตามลำดับ เชียงใหม่จึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งแสนยานุภาพกลุ่มชน เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของชนเผ่าไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน และไทวน ซึ่งใช้ภาษาและอักษรเดียวกัน พญามังรายทรงเป็นมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนาไทย ผู้ทรงประกอบด้วยคุณธรรมมีพระปรีชาสามารถรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยแห่งแคว้นล้านนา ให้เป็นอาณาจักรเดียวกันจนเป็นผลสำเร็จ ส่วนการบริหารภายในอาณาจักรนั้น พญามังรายก็สามารถดำเนินงานได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอำนาจทางการทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางการทูต ความเจริญทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และเกษตรกรรม ตลอดจนการศาสนา ต่างก็ดำเนินไปภายใต้พระปรีชาสามารถในยุคนั้น พระองค์ทรงทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่ออาณาจักรและประชาชนของพระองค์ ซึ่งแม้วาระสุดท้ายนั้นพญามังรายสิ้นพระชนม์เพราะต้องอสนีบาต ในขณะทรงช้างพระที่นั่งออกตรวจตลาดกลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1860 ในขณะที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาถึง 80 พรรษา ทรงครองราชย์สมบัตินานถึง 60 ปี มีราชบุตร 3 พระองค์ คือ เจ้าเครื่อง เจ้าคราม และเจ้าเครือ
โดยพระราชกรณียกิจ พระปรีชาสามารถและน้ำพระทัยอันไพศาลของพญามังรายจึงเห็นว่าการถวายพระราชสมัญญาว่า “มหาราช” ต่อท้ายพระนามย่อมเป็นการเหมาะสมอย่างที่สุด[2]
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (มหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงผู้ประดิษฐ์แห่งอักษรไทย)
พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงเป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ได้ทรงก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ทรง ได้ราชสมบัติสืบต่อจากพ่อขุนบานเมือง โอรสองค์ที่ 2 พระรามคำแหง ทรงมีพระนามเดิมว่า “เจ้าร่วง” หรือ “พระร่วง” ส่วนพระนาม “พระรามคำแหง” เป็นพระนามที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้พระราชทานให้เมื่อครั้ง ได้เสด็จยกกองทัพร่วมกับพระราชบิดาไปรบกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ซึ่งยกกองทัพเข้ามาเตรียมจะยึดเมืองตากอันเป็นเมืองชายแดนของสุโขทัยทรงชนช้างกับขุนสามชนจนได้ชัยชนะ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงทรงปูนบำเหน็จรางวัลแด่พระองค์ และพระราชทานนามว่า “พระรามคำแหง” ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟู และเจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ทรงเสวยราชประมาณ พ.ศ. 1822 – 1841 การปกครองภายในรัชสมัยเป็นไปอย่างเข้มแข็ง มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่ดีกินดีโดยถ้วนหน้า สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การชลประทาน การสังคม การศึกษา การอุตสาหกรรม ศิลปกรรมและศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล
พระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคำแหงที่สำคัญที่สุดอีกด้านหนึ่งคือ พระองค์ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1826 เป็นการวางรากฐานแห่งความเจริญไว้ให้อนุชนชาวไทยรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างดียิ่ง นับว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาญาณล้ำเลิศ และทรงทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ไกล ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในสมัยสุโขทัยจะเทียบเทียมได้ สมควรที่ชาวไทยทุกคนจะเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระองค์ให้เป็น “มหาราช” อย่างแท้จริง [3]
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (มหากษัตริย์ชาตินักรบผู้กู้เอกราช)
สมเด็จพระนเรศวรเสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ทรงเป็นราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระเจ้าแผ่นดินราชวงค์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยากับพระวิสุทธิกษัตรี ยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรทรงขยายราชอาณาเขตของไทยให้กว้างไกลยิ่งใหญ่ นับแต่ทางใต้ไกลถึงนครศรีธรรมราช ครอบคลุมหัวเมืองมลายูทางด้านเหนือไกลออกไปจรดหัวเมืองไทยใหญ่ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินทั้งหมด ฝั่งตะวันตกตีเมืองเขมรได้และครอบครองล้านช้างยกเว้นเมืองญวนเท่านั้น ส่วนฝั่งตะวันตกก็สามารถได้เมืองมอญริมชายฝั่งทะเลอันดามันเอาไว้แทบทั้งหมด ยกเว้นแต่เพียงเมืองพม่าที่มีหงสาวดี ตองอู อังวะ แปร และเมืองไทยใหญ่บางเมืองเท่านั้น พระองค์ทรงสวรรคตด้วยสาเหตุของการประชวร เมื่อ พ.ศ. 2148 พระชันษา 50 ปี เสวยราชสมบัติเพียง 15 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงอุทิศพระองค์ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อกอบกู้เอกราชของบ้านเมืองจากการเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความสามารถทั้งในด้านการปกครองและการรบ เสด็จนำทัพต่อสู้ข้าศึกด้วยความกล้าหาญ ทรงมีชัยในการศึกยุทธหัตถีและการรบจนพระบรมเดชานุภาพและพระเกียรติยศเลื่องลือระบือไปทั่วทุกสารทิศ บรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่จึงต่างมาสวามิภักดิ์ เป็นเหตุให้อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาแผ่ขยายอย่างกว้างขวางเป็นที่ยำเกรงของหมู่ปัจจามิตร ทรงนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาราษฎร์ ทรงเป็นวีระบุรุษผู้ยิ่งใหญ่สมกับที่ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงแก่ชาติไทย[4]
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (มหากษัตริย์ผู้สถาปนายุคทองแห่งกรุงศรีอยุธยาหรือบิดาการทูตไทย)
สมเด็จพระนารายณ์หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระราชเทวีสิริธิดา เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2175
สมเด็จพระนารายณ์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้ทางด้านสงครามสมเด็จพระนารายณ์จะไม่โดดเด่น แต่ทรงพระปรีชาสามารถด้านการปกครอง การค้า การต่างประเทศ การศาสนา และวรรณกรรมเป็นอย่างมากจนถือได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี วรรณกรรมที่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในรัชกาลของพระองค์คือ สมุทรโฆษคำฉันท์ ทรงเป็นนักการค้าที่มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลถึงแม้ว่าบ้านเมืองต้องเผชิญกับการทำศึกสงครามเกือบตลอด ต้องใช้งบประมาณมากในการบูรณปฏิสังขรณ์บ้านเมือง ตลอดจนเพื่อพัฒนาบ้านเมืองจึงจำเป็นต้องแสวงหาเงินเข้าท้องพระคลัง พระองค์จึงได้ทรงจัดเรือสำเภาบรรทุกสินค้าส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมทั้งดินแดนทางตอนใต้ และฝั่งทะเลตะวันตก จนทำให้การค้าเรือสำเภาของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีรายได้เข้าท้องพระคลังอย่างมาก มีเงินตราไหลเข้าบ้านเมืองทำให้การคลังของบ้านเมืองในรัชสมัยพระองค์มีเสถียรภาพดีมาก
สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ เช่น มีการส่งราชทูตไปมาระหว่างประเทศฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หลายครั้ง จึงทำให้มีชาวตะวันตกเดินทางมาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศาสนา ตลอดจนเข้ารับราชการ ทำให้ชาวตะวันตกยอมรับนับถือกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 2231 มีพระชนมายุ 56 พรรษา ทรงครองราชย์ได้ 32 ปี ดังนั้น จากพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นทางด้านการค้า ด้านวรรณคดี ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงสมควรที่คนไทยจะเฉลิมพระนาม “มหาราช” ให้กับมหากษัตริย์ผู้ถือเป็นบิดาการทูตไทย [5]
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (มหาราชแห่งกรุงธนบุรี ผู้กอบกู้เอกราช)
สมเด็จพระเจ้าตากสินหรือสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 4 หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน ทรงเกิดในครอบครัวสามัญชน ทรงเป็นบุตรของนายไหยฮองเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว มารดาเป็นชาวไทยชื่อเอี้ยงหรือนกเอี้ยง (กรมพระเทพามาตย์) เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ พ.ศ. 2277 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาบิดาและมารดาได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระยาจักรี สินได้รับราชการเป็นหลวงยกกระบัตร และเจ้าเมืองตากโดยลำดับ ระหว่างนั้นเกิดศึกสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่าหลายครั้ง ในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาใกล้แตก สมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตากทรงคาดการณ์ว่า กองทัพไทยไม่สามารถต้านกองทัพพม่าได้ จึงทรงรวบรวมไพร่พลได้ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมออกจากพระนครไปตั้งที่มั่นใหม่ ณ เมืองระยอง เพื่อทรงหวังกลับมากอบกู้เอกราชในภายหลัง ต่อมา พ.ศ. 2310 ทรงเข้ายึดเมืองจันทบุรีเป็นที่มั่นสุดท้าย เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีธัญญาหารอุดมสมบูรณ์และมีป้อมปราการที่มั่นคง ต่อมาจึงเข้ายึดเมืองธนบุรีแล้วขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้น ทำให้แม่ทัพสุกี้นายกองตายในที่รบ ทำให้กรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่ายึดไว้ถึง 7 เดือน ได้กลับมาเป็นเอกราชอีกครั้ง หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีแห่งใหม่มาอยู่ที่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี
สมเด็จพระเจ้าตากสินองค์ปฐมกษัตริย์และเป็นพระองค์เดียวที่ทรงปกครองกรุงธนบุรีได้ถูกสำเร็จโทษเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ขณะมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 ปี ด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงกอบกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยาให้แก่ชาติไทยจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงจึงทรงได้รับถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช” โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ให้ใช้พระนามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในโอกาสฉลองกรุงเทพมหานครมีอายุครบ 200 ปี ใน พ.ศ. 2525[6]
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ปฐมบรมราชจักรีวงศ์)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระนามเดิมว่า “ด้วง” หรือ “ทองด้วง” เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 4 ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ (ทองดี) ส่วนพระมารดาชื่อ “ดาวเรือง” หรือ “หยก” (พระมเหสีหยก) เสด็จพระราชสมภพในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. 2279 รับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต จนกระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัตได้รับการแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายเสียกรุงให้แก่พม่า ใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จไปทรงรับราชการกับสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช จวบจนกระทั่งได้เสร็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์พระผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงกรำศึกสงครามกับพม่าตลอดเวลา หลังจากได้ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและโปรดเกล้าสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแห่งใหม่ ใน พ.ศ. 2328 พระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่าคิดจะแผ่ขยายอิทธิพลโดยเข้าตีไทยหวังครอบครองดินแดน จึงรวบรวมกำลังพล 144,000 นาย หวังจะยกทัพเข้าจู่โจม แบบไม่ให้ตั้งตัวได้ โดยแบ่งกำลังพลออกเป็น 9 กองทัพ ในขณะที่ไทยมีทหารเพียง 70,000 นาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่มาเป็นฝ่ายรุก ทำให้พม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ศึกไปและทำให้เกิดวีรสตรีไทย 2 พี่น้องในสงครามเก้าทัพคือ คุณหญิงจัน และคุณหญิงมุก ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาแต่งตั้งเป็นท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดให้ก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ “พระอารามหลวง” เฉพาะในกรุงเทพมหานคร รวม ๒๘ วัด พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ด้วยโรคชรา พระชนมายุ 72 พรรษาครึ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถในทุกด้าน ใน พ.ศ. 2525 มีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ให้ใช้พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[7]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช (พระปิยมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของชาวไทย)
พระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 8 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2396 เมื่อพระราชบิดาเสด็จสู่สวรรคต ขณะพระองค์มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา และยังทรงประชวรเพราะได้เชื้อไข้มาลาเรีย จึงจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกว่าจะทรงมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2411 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาธิไธย ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำการสำคัญยิ่งใหญ่คือ “การเลิกทาส” และทรงโปรดให้มีการตราพระราชบัญญัติเลิกทาส ใน พ.ศ. 2417 ทรงมีพระราชกรณียกิจอันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศมากมาย เช่น ให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑล เทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ ทรงนำวิทยาการสื่อสารคือ การไปรษณีย์และการโทรเลขเข้ามาใช้ ด้านการพยาบาลและสาธารณสุขทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง (โรงพยาบาลศิริราช) ทรงชักชวนสุภาพสตรีในราชสำนักร่วมกันตั้งกองบรรเทาทุกข์เรียกว่า “สภาอุณาโลมแดง” (สภากาชาดไทย) เรื่องสิ่งเสพติดทรงประกาศห้ามสูบฝิ่นและผสมฝิ่นเป็นยา มีพระราชบัญญัติกำหนดโทษผู้ทำฝิ่นเถื่อนและโปรดยกเลิกโรงฝิ่นในกรุงเทพได้ถึง 400 กว่าแห่ง ด้านกฎหมายมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้น ด้านการขนส่งทรงวางรากฐานการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้นด้วยการสร้างทางรถไฟโดยสายแรกคือ กรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ทรงสร้างระบบไฟฟ้า โดยมีการจ่ายกระแสไฟขึ้นครั้งแรก พ.ศ. 2433 ทรงเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรามาใช้เป็นธนบัตรและเหรียญสตางค์ ด้านเศรษฐกิจทรงเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บภาษีอากร มีการจัดตั้งธนาคาร “แบงค์สยามกัมมาจน” ใน พ.ศ. 2452 ทรงสร้างระบบน้ำประปา ด้านศาสนาทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดมากมาย ด้านการศึกษา พ.ศ. 2444 ทรงนำการศึกษารูปแบบใหม่ โดยตั้งโรงเรียนเพื่อเปิดสอนให้กับประชาชนทั่วไป คือ “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม” ด้านวรรณกรรมทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ที่มีพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยม ทรงพระนิพนธ์วรรณกรรมทั้งร้อยแก้วร้อยกรองจำนวนมาก เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน เงาะป่า ด้านสถาปัตยกรรมทรงรับอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งจักรีมหาประสาท พระราชวังดุสิต พระบรมราชนิเวศน์ ด้านกฎหมาย ได้มีการตรากฎหมายสำคัญขึ้นและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ตลอดพระชนมชีพ 57 พรรษาเศษ และ 42 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ และยังมีการปฏิรูปประเทศอย่างกว้างขวาง ด้วยพระปรีชาความสามารถการอุทิศพระองค์เพื่อพสกนิกรและประเทศชาติจนได้รับการถวายพระนาม “ปิยมหาราช”แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก[8]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า (มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ของไทย)
พระมหากษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 2 ในพระนางเจ้า เสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ พ.ศ. 2423 ในขณะทรงพระเยาว์ ทรงไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ อยู่ในยุโรป 9 ปีเศษ จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางแผนเกี่ยวกับการพัฒนาบุคคล ทรงส่งเสริมการศึกษาโดยทรงเปลี่ยนโรงเรียนมหาดเล็ก ให้เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นวชิราวุธวิทยาลัย ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทรงปรีชาด้านอักษรศาสตร์ทั้งพระราชนิพนธ์ บทละคร ประวัติศาสตร์ เรื่องแปล สารคดี เรื่องปลุกใจให้รักชาติ ผลงานพระนิพนธ์มีไม่ต่ำกว่า 1,300 เรื่อง ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงตั้งกองลูกเสือไทย ทรงจัดตั้งธนาคาร ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล ทำให้คนไทยมีนามสกุลใช้เป็นครั้งแรก และทรงออกแบบธงไตรรงค์ขึ้นใช้ จากพระราชกรณียกิจมากมาย ซึ่งล้วนส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศ อีกทั้งความเป็นนักปราชญ์นักกวีนิพนธ์ และนักอักษรศาสตร์ทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศเกียรติคุณถวายพระองค์ในฐานะทรงเป็นบุคคลสำคัญของชาติผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2523 ประชาชนชาวไทยจึงได้ถวายพระสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” อันหมายถึง “พระมหาราชจอมปราชญ์”[9]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (มหาราชผู้ครองแผ่นดินโดยธรรม)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุดลยเดช เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 3 ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์ต้นราชสกุล มหิดล ณ อยุธยา กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ในขณะมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา แต่เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ยังมีภารกิจในการศึกษา ณ มหาวิทยาโลซานน์ หลังจากนั้นได้เสด็จนิวัติประเทศไทย ใน พ.ศ. 2493 ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงเสด็จเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี
พระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในทุกถิ่นภูมิภาคของประเทศ แม้ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ทรงเก็บข้อมูลพร้อมพระราชทานความช่วยเหลือ ทรงรับรู้ปัญหาต่าง ๆ และทรงห่วงใยคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในทุกภาคส่วนของประเทศ ทำให้ราษฎรผูกพันอบอุ่นฉันพ่อ-ลูก ถึงกับเรียกว่า “พ่อหลวง” พระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์มีมากมาย เช่น โครงการ “ฝนหลวง” เพื่อแก้ภัยแล้งให้เกษตรกร โครงการพัฒนาชนบท “หุบกะพง” โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง โครงการพระดาบส โครงการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โครงการส่วนพระองค์ เพื่อทดลองพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร เช่น โครงการส่วนพระองค์ที่สวนจิตรลดาที่เรียกว่า “โครงการหลวง” ทรงจัดตั้งมูลนิธิต่าง ๆ เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา ทรงสอนให้ประชากรยึดหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการทำกินที่ยั่งยืน ในยามที่คนในชาติมีความขัดแย้งทางการเมืองและความคิด เกิดการแตกแยกถึงขั้นวิกฤต พระองค์จะทรงเข้ามาแก้ปัญหาให้ทุกครั้ง ทรงยุติปัญหาระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน ด้วยพระปรีชาสามารถในทุกแขนงวิชา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงงานหนักมากที่สุดในโลก ด้วยพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทำมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทรงได้รับทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลและเกียรติยศต่าง ๆ มากมายจากทั้งบุคคลและคณะบุคคลในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญ เป็นต้นว่า องค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ เมื่อ พ.ศ. 2549 และเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติถวายรางวัลดังกล่าวแด่พระองค์ในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี องค์การทรัพย์สินทางปัญญาไวโป (WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลในฐานะผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญาพระองค์แรกของโลก (WIPO Global Leaders Award) เนื่องจากทรงเป็นนักประดิษฐ์ เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนาและเทคโนโลยีการทำฝนเทียม เมื่อ พ.ศ. 2550 ดังนั้น พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ จึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530[10]
ด้วยพระราชกรณียกิจ พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของมหาราช ๙ พระองค์ สมควรให้ชนรุ่นหลังได้มีความสำนึกในความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ที่ได้เสียสละความสุขส่วนพระองค์ทำให้ชาติไทยสามารถรักษาความเป็นเอกราชและอธิปไตยได้จวบจนทุกวันนี้
อ้างอิง
- ↑ วิชุดา สีมาทอง. พระราชประวัติพระมหากษัติรย์มหาราชไทย. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2557 จาก
- ↑ ประภาศน์ อวยชัย. นวมหาราช. สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.สัมพันธ์พาณิชย์, 2531). หน้า 21 – 40.
- ↑ ธานัฐ ภัทรภาคร์. พระบิดาแห่งสยาม. (นนทบุรี : สำนักพิมพ์ก้าวไกล, 2553). หน้า 8 – 17.
- ↑ อ้างแล้วใน ประภาศน์ อวยชัย, หน้า 79 – 131.
- ↑ อานนท์ จิตรประภาส. 7 มหาราชชาติสยาม. (กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2552). หน้า 113 – 149.
- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. 10 มหาราช พระมหากษัตริย์ไทย. (นนทบุรี : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000, 2556). หน้า 153 – 182.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 199 – 263.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 279 – 323.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 382 – 432.
- ↑ ธนากิต. (นางแฝง). พระราชประวัติมหาราชไทย. (กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2543). หน้า 301 – 340.
บรรณานุกรม
กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. 10 มหาราช พระมหากษัตริย์ไทย. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000, 2556.
ธนากิต. (นามแฝง). พระราชประวัติมหาราชไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2543.
ธาณัฐ ภัทรภาคร์. บิดาแห่งสยาม. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ก้าวไกล, 2553.
ประภาศน์ อวยชัย. นวมหาราช. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.สัมพันธ์พาณิชย์, 2531.
วิชุดา สีมาทอง. พระราชประวัติพระมหากษัติรย์มหาราชไทย. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2557 จาก
http://sites.google.com/site /aaomiiez303. อานนท์ จิตรประภาส. 7 มหาราชชาติสยาม. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2552.
หนังสือแนะนำอ่านเพิ่มเติม
สงวน โชติสุขรัตน์. ประวัติศาสตร์ลานนาไทย. โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์ ถนนเฟื่องนคร จังหวัดพระนคร, 2503. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับแก้ไขปรับปรุง.
สำนักพิมพ์บรรณกิจ กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ 3, 2544.
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า.
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.
ประเสริฐ ณ นคร. รามคำแหงมหาราช, พ่อขุน. สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (เล่ม 25 :
ราชบัณฑิตสถาน-โลกธรรม). กรุงเทพฯ : สหมิตรพริ้นติ้ง, 2544.
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ :
กรมศิลปากร, 2548.
ธนากิต. (นามแฝง). พระราชประวัติ 9 รัชกาล และพระบรมราชินี. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2542.