ฟ้ารักพ่อ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง      
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม 
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต  แก้วหานาม
3.นายเด่นพงษ์ แสนคำ
4.นายเฉลิมพล แสงแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


1. ความนำ

          “ฟ้ารักพ่อ” เป็นประโยคยอดฮิตที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ของแฮชแทกยอดฮิตในทั้งทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คของไทยในช่วงก่อนเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อปี 2562 โดยความหมาย ฟ้ารักพ่อประกอบด้วยประธานคือ “ฟ้า” เป็นตัวผู้กระทำ (Actor) “รัก” เป็นกริยาซึ่งแสดงออกถึงการกระทำ (Action) ของฟ้าซึ่งเป็นผู้กระทำต่อ “พ่อ” ซึ่งเป็นกรรมในประโยค ด้วยเหตุนี้ประโยคนี้จึงเป็นการแสดงความสัมพันธ์ของฟ้าและพ่อโดยแสดงออกผ่านความรัก ทว่าโดยความหมายแล้ว นี่ไม่ใช่การแสดงออกถึงความรักที่เกิดขึ้นของคนสองคนตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ประโยคที่แสดงความรักนี้ถูกสื่อถึงบุคคลหลาย ๆ คนที่มีต่อคน ๆ หนึ่ง นั่นคือคนที่ได้ชื่อว่า “พ่อ” และคนหลาย ๆ คนก็ถูกแสดงผ่านแฮชแทกในสื่อสังคมออนไลน์อย่างมากมาย ซึ่งพ่อในที่นี้ก็คือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และฟ้าก็คือกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าคุนรุ่นใหม่นั่นเอง ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การสร้างพลังหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกใช้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่น่าสนใจที่จะนำไปสู่การเปิดพื้นที่ความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างเสรีในพื้นที่ของโลกออนไลน์ที่เป็นโลกเสมือน ซึ่งสามารถผนึกสร้างและเชื่อมต่อกับโลกจริงได้

 

2. ปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อกับสื่อสังคมออนไลน์

          ปรากฏการณ์แฮชแทกฟ้ารักพ่อมาจากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
เข้าร่วมงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73 จนมีกลุ่มแฟนคลับเข้ามาขอถ่ายรูปอย่างเป็นมิตร พร้อมกับมีการตะโกนคำว่า "ฟ้ารักพ่อ" อยู่หลายครั้งแม้แต่ตัวนายธนาธร เองยังหันมามองด้วยความสังสัย

ต่อมามีแฮชแทก "ฟ้ารักพ่อ" เกิดขึ้นและติดเทรนด์แฮชแทกอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ทำให้ผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากต่างสงสัยว่ามีที่มาจากไหนและหมายถึงใคร ก่อนจะพบกับคำตอบว่า คำว่า "ฟ้ารักพ่อ" นั้น มาจากละครเรื่อง "ดอกส้มสีทอง" ละครสะท้อนสังคมที่ออกฉายทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ออกอากาศตอนแรก วันที่ 30 มีนาคม 2554[1]

โดยวลีที่กล่าวว่า "ฟ้ารักพ่อ" นั้นมาจากตัวละครหญิงที่ชื่อ "เรยา" แสดงโดย ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต ซึ่งมีความหมายถึง การเรียกสามีที่เป็นผู้ใหญ่กว่า เป็นนักธุรกิจใหญ่ หน้าตาดี ในกรณีนี้ชาวเน็ตหมายถึงหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ดูมีอายุแต่ก็ยังแฝงไปด้วยเสน่ห์ดึงดูดสาวเล็ก สาวใหญ่ หรือแม้กระทั่งสาวประเภทสอง ที่ดูแล้วจะหลงเสน่ห์หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่[2] และจากกรณีฟ้ารักพ่อนี่เองที่ทำให้กระแสของการหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมามีความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่เป็นอย่างยิ่ง นอกจากผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนจะติดแฮชแทกคำว่า “ฟ้ารักพ่อแล้วนั้น” นายธนาธรก็ได้ตอบกลับไปว่า “พ่อก็รักฟ้าและประชาชนทุกคนครับ” จนทำให้แฮชแทกดังกล่าวขึ้นอันดับในทวิตเตอร์ตามมากับฟ้ารักพ่อในที่สุด

 

3. การเมืองกับสื่อสังคมออนไลน์

          สื่อสังคมออนไลน์ตรงกับคำภาษาอังกฤษคือ Social Media คำนี้ใช้สำหรับอธิบายถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ผู้คนใช้เพื่อแบ่งปันเนื้อหา เช่น วิดีโอ ภาพถ่าย ข้อความ ความคิด ความเข้าใจ อารมณ์ขัน ความคิดเห็น การซุบซิบนินทา ข่าวสารทั่วไป โดยแหล่งข้อมูลเหล่านี้อาจรวมถึง บล็อก (blogs)  เครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networks) กระดานข้อความสนทนา (message boards) บุ๊คมาร์คสาธารณะ (public bookmarking) และวิกิ (wikis) ตัวอย่างยอดนิยมของแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย ได้แก่ เฟสบุ๊ค ยูทูป ทวิตเตอร์ ไลน์ วิกิพีเดีย เป็นต้น[3] ซึ่งการใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นตัวอย่างของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่สนับสนุนต่ออุดมการณ์และความเป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นสิ่งที่มีศักยภาพที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ในรูปแบบที่ไม่ จำกัด เวลาและสถานที่[4] ซึ่งถือว่าเป็นสื่อสมัยใหม่ที่สามารถถ่ายทอดสารสนเทศและองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

การเกิดขึ้นของชุมชนออนไลน์ขนาดใหญ่ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจมากมาย รวมถึงธุรกิจโฆษณาออนไลน์ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงหลักพันล้านบาทจากปีก่อนๆ ที่มีมูลค่าเพียง 600-700 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการสื่อโฆษณาออนไลน์จะต้องพยายามปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว อาจอนุมานได้ว่าสื่อออนไลน์เองมีส่วนสำคัญต่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่ง ในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ใช้ช่องทางสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก องค์กรหลายแห่ง และผลิตภัณฑ์หลากหลาย ล้วนแล้วแต่มีช่องทางออนไลน์เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชนหรือภาครัฐก็ตามจากความเจริญเติบโตของสื่อออนไลน์ในสังคมดังที่ได้กล่าวมานั้นหน่วยงานทางการเมืองเองก็ไม่ได้ละเลยความสำคัญของการทำประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อออนไลน์เลยแม้แต่น้อย กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ก็สร้างเครือข่ายส่วนตนขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกันและกัน รวมไปถึงพรรคการเมืองต่างก็เร่งเปิดเว็บไซต์ทางการของพรรคเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสู่กลุ่มผู้รับสารเป้าหมายของตน[5] นอกจากนี้ นักการเมืองอีกหลายคนต่างมีเฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์เป็นของตนเอง ซึ่งมีผู้ติดตามและเป็นแฟนเพจของนักการเมืองดังกล่าวเป็นจำ นวนมาก ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ก็เปิดเฟสบุ๊คของตนเองเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสู่ผู้รับสารเป้าหมายของตนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงพอจะกล่าวได้ว่า สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่นักการเมืองให้ความสำ คัญอย่างยิ่งในการติดต่อสื่อสาร เพื่อประชาสัมพันธ์โน้มน้าวชักจูงใจผู้รับสารเป้าหมายของตน
โดยเป้าหมายหลักคือคะแนนเสียงและความนิยมที่ตนและพรรคของตนจะได้รับ[6]

ด้วยเหตุนี้การใช้สื่อสังคมออนไลน์จึงไม่ได้ถูกใช้แต่ในทางของการสร้างความเพลิดเพลินสนุกสนานเท่านั้น แต่สื่อสังคมออนไลน์สามารถที่จะตอบสนองการใช้งานตามความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างหลากหลาย ในทางการเมืองสื่อสังคมออนไลน์ถูกนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างกลุ่มและกระบวนการทางการเมืองที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งที่เป็นการสร้างอุดมการณ์ร่วม การสร้างการโต้ตอบระหว่างกลุ่มทางการเมืองอื่น ๆ เป็นต้น กระนั้นก็ตามการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางการเมืองไม่เพียงแต่เป็นการใช้โดยผู้เป็นเจ้าของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์นั้น ๆ เพียงคนเดียว แต่เป็นการสร้างร่วมกันที่เรียกว่าสังคมเสมือนในโลกออนไลน์ ที่แต่ละคนสามารถโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อกันในโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ในกรณีของสังคมไทย สื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันมีความสำคัญในฐานะการสร้างพื้นที่เสรีในการสร้างสังคมทางการเมืองสำหรับคนรุ่นใหม่และรุ่นอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

4. ภาพสะท้อนปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อสู่กรณีพลเมืองสร้างสื่อ สื่อสร้างพลเมือง

          จากปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อที่ขึ้นอันดับยอดนิยมในแฮชแทกทวิตเตอร์ ซึ่งแสดงถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่อุดมการณ์ ความรัก และความนิยมในตัวตนของผู้ที่เป็นนักการเมืองแล้วนั้น ปรากฏการณ์นี้ยังแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดก็คือการแลกเปลี่ยนและโต้ตอบเชิงอุดมการณ์ กล่าวคือหลังจากที่กลุ่มผู้ที่สนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจโพสต์ติดแฮชแทกในทวิตเตอร์ว่าฟ้ารักพ่อแล้วนั้น ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองอีกฝ่ายเห็นว่าเป็นการครอบงำอุดมการณ์และความคิดของคนรุ่นใหม่ จึงทำให้เขาเหล่านั้นออกมาตอบโต้ผู้สนับสนุนนายธนาธรว่า กลุ่มคนฟ้ารักอาจจะถูกชักจูงไปในทางที่หลงผิดก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการโต้ตอบกันในเชิงอุดมการณ์ทั้งสิ้น

          อย่างไรก็ตามข้อดีของการโต้ตอบกันจากกกรณีของฟ้ารักพ่อทำให้เห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์ได้สร้างพลเมืองที่หลากหลายขึ้นมาในการสร้างข้อโต้แย้งกันไปมาระหว่างกลุ่มของตนกับกลุ่มของผู้ที่มีความเห็นต่างออกไป สิ่งนี้ยังแสดงให้เห็นการที่ทุกคนต่างเข้ามาประทะสังสรรค์กันในทางความคิด เป็นการแลกเปลี่ยนแนวความคิดของตนเอง โดยสร้างข้อถกเถียงสำคัญ ๆ เกี่ยวกับประเด็นฟ้ารักพ่อ เช่น อุดมการณ์ของนายธนาธร แนวนโยบาย และกลวิธีในการสร้างความไว้วางใจต่อตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าในอดีตการนำเสนอสิ่งเหล่านี้มิได้นำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่นนี้ แต่จะเป็นการนำเสนอผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หนังสือ วารสาร และนิตยสาร ฯลฯ แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้เราสามารถส่งผ่านและเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตนเองอย่างตรงไปตรงมา ดังที่ Mary Bock ได้กล่าวเอาไว้ว่า

 

มีข่าวในโทรศัพท์ของเรามากกว่าที่เราเคยอ่านมันในกระดาษ ความได้เปรียบของมันก็คือเราได้อ่านมันเป็นชิ้น ๆ เป็นเรื่อง ๆ แทนที่เราจะนั่งใจจดใจจ่อกับการอ่านหนังสือพิมพ์ แต่เรากำลังพิจารณาไตร่ตรองข่าวเหล่านั้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ด้วยตัวเราเอง ด้วยเหตุนี้เราจึงเป็นเสมือน “ผู้รักษาประตูข่าวสาร” ('gatekeeper) ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เรากำลังทำการตัดสินใจว่าจะแชร์ข่าวอะไรหรือไม่ เมื่อนั้นเรากำลังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการข่าว เมื่อใดก็ตามที่เราโพสต์ข่าวที่เราประสบพบเจอด้วยตัวเราเอง เรากำลังทำหน้าที่เป็นนักข่าวผู้รายงานข่าว[7]

 

เมื่อผนวกเอาปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อในทวิตเตอร์ ให้เข้ากับคำอธิบายนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่าพลเมืองเป็นผู้สร้างสื่อในการสื่อสาร โต้ตอบ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี และทุกคนต่างก็พิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จะนำเอาการอ้างเหตุผลมาโต้ตอบซึ่งกันและกัน ในทางกลับกันการมีสื่อเหล่านี้ปรากฎผ่านโลกออนไลน์นั้นมันเป็นการสร้างพลเมืองในวิถีประชาธิปไตยที่ต่างคนต่างนำข้อมูลที่ตนมีอยู่มาร่วมถกเถียงและแสดงต่อกันและกัน ทำให้เกิดวิถีประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองบนพื้นที่สาธารณะของสังคมเสมือน นั่นก็คือสื่อสร้างพลเมืองนั่นเอง

 

5. บทสรุป

          ปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อได้สร้างความแปลกใหม่ให้การเมืองไทยที่ไม่เกิดขึ้นมากว่า 2-3 ทศวรรษแล้ว นั่นคือปรากฏการณ์ที่เหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง โดยเฉพาะการยืนอยู่ข้างกลุ่มของพรรคการเมืองที่พวกเขาเห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า และไม่สืบทอดอำนาจทางการเมือง จนกระทั่งนำมาสู่ปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อดังที่อธิบายไปในตอนต้น ปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อนี้เอง ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นพลังสำคัญในการได้รับชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ (ในตอนนั้น) ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดคือ การได้รับชัยชนะของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอนาคตใหม่ของจังหวัดขอนแก่นเขต 1 ที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนมากเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอแก่น และเกือบทุกหน่วยเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีรายชื่อนักศึกษาสังกัดเป็นลูกบ้านในทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัยลงคะแนนให้กับผู้สมัครรายนี้เป็นอันดับ 1 เกือบทุกหน่วยเลือกตั้ง ยกเว้นหน่วยเลือกตั้งของบุคลากรของมหาวิทยาลัยเท่านั้น และทำให้ฐานเสียงทางการเมืองเดิมของพรรคเพื่อไทยในเขตเลือกตั้งขอนแก่นที่ 1 ไม่ได้รับเลือกในครั้งนี้
แม้จะเคยได้รับชัยชนะมาทุกสมัยตั้งแต่ไทยรักไทยเป็นต้นมา นี่จึงเป็นที่ชัดเจนว่า ปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อเป็นสัญญะภาพแทนแห่งความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่อย่างแท้จริง

บรรณานุกรม

ผู้จัดการออนไลน์, “ส่องแฮชแท็ก "ฟ้ารักพ่อ" มาจากไหน ทำไมต้องเป็น "ธนาธร" MGRonline, (10 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก < https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000014262>, สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563

นันทวิช เหล่าวิชยา, “สื่อสังคมออนไลน์กับการสื่อสารการเมืองไทย”, วารสารนักบริหาร, 32.1 (2555), หน้า 105 – 109.

Drury, Glen. "Opinion piece: Social media: Should marketers engage and how can it be done effectively?." Journal of direct, data and digital marketing practice 9.3 (2008), pp. 274-277.

Hrastinski, Stefan. "The relationship between adopting a synchronous medium and participation in online group work: An explorative study." Interactive Learning Environments 14.2 (2006), pp. 137-152.

Mary Bock, “The Role of the “Citizen Journalist” in Today’s World is Changing”, UT NEWS, (October 19, 2016), from <https://news.utexas.edu/2016/10/19/role-of-the-citizen-journalist-is-changing/>, May 25, 2020

 

อ้างอิง

[1] ผู้จัดการออนไลน์, “ส่องแฮชแท็ก "ฟ้ารักพ่อ" มาจากไหน ทำไมต้องเป็น "ธนาธร" MGRonline (10 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก < https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000014262>, สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563

[2] เรื่องเดียวกัน

[3] Drury, Glen. "Opinion piece: Social media: Should marketers engage and how can it be done effectively?." Journal of direct, data and digital marketing practice 9.3 (2008), pp. 274-277.

[4] Hrastinski, Stefan. "The relationship between adopting a synchronous medium and participation in online group work: An explorative study." Interactive Learning Environments 14.2 (2006), pp. 137-152.

[5] นันทวิช เหล่าวิชยา, “สื่อสังคมออนไลน์กับการสื่อสารการเมืองไทย”, วารสารนักบริหาร, '32'.1 (2555), หน้า 105 – 109.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 108.

[7] Mary Bock, “The Role of the “Citizen Journalist” in Today’s World is Changing”, UT NEWS, (October 19, 2016), from <https://news.utexas.edu/2016/10/19/role-of-the-citizen-journalist-is-changing/>, May 25, 2020