พัฒนาไทย (พ.ศ. 2544)
พรรคพัฒนาไทย
พรรคพัฒนาไทย เรียกชื่อย่อว่า “พ.น.ท.” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAI DEVELOPMENT PARTY” เรียกชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “TH.D.P” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 1/2544 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544[1]
เครื่องหมายพรรคพัฒนาไทยเป็นพานรัฐธรรมนูญมีรูปดอกบัวคั่นกลาง ทั้งหมดอยู่ในกรอบฟันเฟืองที่ตั้งอยู่บนฐานซึ่งมีชื่อพรรคเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ด้านใน ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้[2]
รัฐธรรมนูญ หมายถึง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ฟันเฟืองสีน้ำเงิน หมายถึง การรวมพลังของมวลสมาชิกเพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาไปสู่ความเป็นไท
รูปดอกบัวสีขาวกำลังเบ่งบาน หมายถึง ดอกไม้แห่งคุณธรรมกำลังเบ่งบาน
พื้นวงกลมสีแดง หมายถึง ชาติไทยและปวงชนชาวไทย
สีประจำพรรค คือ สีเหลืองและสีขาว
สีเหลือง หมายถึง ศาสนาอันเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ
สีขาว หมายถึง คุณธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในประเทศ
รวมกันแล้ว หมายถึง ประเทศอันมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ประกอบด้วยคุณธรรม
ตรายางเครื่องหมายพรรค มีลักษณะเดียวกันกับภาพเครื่องหมายพรรค หากแต่ใช้สีเดียว [3]
มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคพัฒนาไทย ตั้งอยู่เลขที่ 202 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84160 [4]
นโยบายของพรรคพัฒนาไทย พ.ศ. 2543 [5]
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายๆประเทศที่กำลังพัฒนา และหลายๆประเทศที่เริ่มพัฒนามาพร้อมๆกับประเทศไทย มีบางประเทศได้พัฒนาก้าวหน้ากว่าประเทศไทยไปหลายเท่าตัว เนื่องจากรากฐานการผลิตของเศรษฐกิจไม่อยู่บนศักยภาพที่แท้จริงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งแต่ตัวเลข การส่งออกใช้วิธีการกู้เงินเพื่อมาสร้างตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตเพื่อส่งออก อาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศคือ เกษตรกรรมแต่เราไม่เน้นไม่ทำอย่างจริงจัง ฉะนั้นวิกฤตเศรษฐกิจไทยจึงแก้ไม่ได้
สังคมที่จะเข้มแข็งได้ต้องเริ่มพัฒนาจากจุดล่างสุดเพราะเป็นฐานของการพัฒนา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทุกๆด้าน
วิกฤตทางการเมืองเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนักการเมืองยังไม่มีคุณธรรมเพียงพอ ขาดจิตวิญญาณในการให้บริการสังคมอย่างแท้จริง
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้พรรคพัฒนาไทยขออาสาเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาพรรคจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยยึดหลักคุณธรรมเป็นที่ตั้งจะสร้างความกินดีอยู่ดี ความปลอดภัย และความเสมอภาคทางกฎหมายให้กับประชาชนโดยเท่าเทียมกัน ภายใต้คำขวัญ “พัฒนาคน พัฒนาชาติ เลิกทาสทางเศรษฐกิจ กู้วิกฤตทางการเมือง”
1. นโยบายด้านการศึกษา ปฏิรูปการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เน้นพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณธรรม กระจายอำนาจให้สถานศึกษาต่างๆมีส่วนร่วมจัดการศึกษาอย่างแท้จริง และให้ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
2. นโยบายด้านการเมืองการปกครอง ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เร่งรัดปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ กำหนดให้ผู้ที่เข้ามารับราชการเป็นผู้ที่เคร่งครัดในด้านศีลธรรมและอบายมุข คัดค้านการปกครองระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ และสนับสนุนการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น
3. นโยบายด้านเศรษฐกิจ ดำเนินการด้านเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง ปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ดินของตนเอง ส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม โดยกระจายเงินทุนให้มากที่สุด ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศแต่เน้นวัตถุดิบภายในประเทศ และสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งในชนบทและในเมือง
4. นโยบายด้านสาธารณสุข ส่งเสริมให้มีศูนย์การแพทย์แผนไทย และสนับสนุนผลักดันให้แต่ละตำบลมีศูนย์การแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีจริยธรรมและคุณธรรม เร่งขยายสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพทั่วประเทศ และส่งเสริมดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
5. นโยบายด้านสังคม สิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรม ส่งเสริมให้นำหลักธรรมทางศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ส่งเสริมสวัสดิภาพของประชาชนให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง และเพิ่มศาลท้องถิ่นให้นำธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามในแต่ละท้องถิ่นมาช่วยแก้ปัญหา
6. นโยบายด้านการคลัง จัดสรรงบประมาณให้ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ เน้นด้านการเกษตร เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณสุข รวมทั้งเพิ่มสวัสดิการในด้านต่างๆให้กับประชาชน ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเองได้ และปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรม
7. นโยบายด้านต่างประเทศ ให้ความร่วมมือย่างเต็มที่ในการสร้างสันติภาพ แก้ไขข้อพิพาทความขัดแย้งต่างๆ และดำเนินการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางพาณิชยกรรมและการบินในภูมิภาคนี้
8. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
9. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน สนับสนุนการวิจัยของสถาบันต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ทันสมัยอย่างเข้มงวดจริงจัง
10. นโยบายด้านความมั่นคงและการทหาร แยกกองทัพออกจากการเมืองโดยเด็ดขาด ส่งเสริมความเข้มแข็งของกองทัพให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้กองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความสงบภายใน
11. นโยบายด้านแรงงาน ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานให้มีความเป็นธรรม สร้างประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการจัดให้มีการลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน และสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้น
พรรคพัฒนาไทยไม่เคยมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 10/2545 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ให้ยุบพรรคพัฒนาไทยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา” เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถกระทำได้ดังกล่าว ให้พรรคการเมืองนั้นเป็นอันยุบไปตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (5) ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลา (ภายใน 14 สิงหาคม 2544) พรรคพัฒนาสังคมไทยมีจำนวนสมาชิกพรรคและจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยภายหลังแม้ว่าจะมีการตรวจสอบเห็นว่ามีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง 4 สาขา นายสุวรรณ ไหมศรีกรด หัวหน้าพรรคพัฒนาสังคมไทยมีหนังสือชี้แจงลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2544 สรุปได้ว่า กรณีผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่สาขาพรรคเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรค มีชื่อ-สกุล แตกต่างกันแต่ลายมือชื่อไม่แตกต่างกันนั้น พรรคได้มอบหมายให้เลขาธิการพรรคเป็นผู้ตรวจสอบลายมือชื่อและได้รับการยืนยันว่าการจัดส่งเอกสารจากคณะผู้จัดตั้งสาขาพรรคมายังพรรคนั้น ครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายส่วนลายมือชื่อจะแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร พรรคพัฒนาไทยไม่สามารถรับรู้ได้[6]
นอกจากนี้พรรคพลังพัฒนาไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า ต้องจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมา (พ.ศ. 2544) ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามวิธีการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด และแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบ ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว พรรคพัฒนาไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพรบ.ดังกล่าว ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญเมื่อพิจารณาคำร้องและคำชี้แจงแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ และผิดจริงในมาตรา 35 จึงตัดสินให้ยุบพรรคพัฒนาไทย[7]
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 19 ง, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544, หน้า 70, 79.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 19 ง, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544, หน้า 80-81.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 19 ง, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544, หน้า 81.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 19 ง, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544, หน้า 81.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 19 ง, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544, หน้า 70-79.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 85 ง, 11 กันยายน 2545, หน้า 45. และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 38 ก, 6 พฤษภาคม 2546, หน้า 168-174.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 85 ง, 11 กันยายน 2545, หน้า 45. และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 38 ก, 6 พฤษภาคม 2546, หน้า 168-174.