พัฒนาจังหวัด (พ.ศ. 2517)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคพัฒนาจังหวัด

พรรคพัฒนาจังหวัดเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยได้ยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ทะเบียนเลขที่ 29/2517 หัวหน้าพรรคคือ นายสฤษดิ์ เพ็ญสุภา รองหัวหน้าพรรค 2 คน ได้แก่ นายวิศาล ภัทรประสิทธิ์ และนายวิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรคการเมือง คือ นายดิเรก เพ็ญสุภา รองเลขาธิการพรรคคือ นายพิบูลย์ เนตยานันท์ กรรมการอำนวยการอื่น ได้แก่ นางสาววรรณี รัตนชัยวงศ์ นางสาวสร้อยศรี ภัทรประสิทธิ์

อุดมการณ์ของพรรคพัฒนาจังหวัด

พรรคพัฒนาจังหวัดจะเทอดทูนไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ผืนแผ่นดินไทยเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ จะยึดถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะสนับสนุนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ พรรคพัฒนาจังหวัดจะมุ่งยกระดับชนชั้นกรรมาชีพให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยยึดถือเกษตรกรเป็นหลักใหญ่ เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และชาวประมง จะส่งเสริมให้มีที่ดิน ประกอบอาชีพเป็นของตนเองโดยเคารพซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น พร้อมทั้งสนับสนุนและบำรุงทางด้านการศาสนา การสาธารณสุข การศึกษาและการสาธารณูปโภค

นโยบายทางการเมือง

พรรคพัฒนาจังหวัดมีนโยบายสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ โดยขอเทอดทูนไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผืนแผ่นดินไทยเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่พรรคจะยึดเป็นหลักในการดำเนินงาน

นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคพัฒนาจังหวัดจะมุ่งส่งเสริมให้ความสนับสนุนการอุตสาหกรรม และการพาณิชยกรรมให้เจริญก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพควบคู่กับเกษตรกรรม และการประมง เพื่อยกระดับคนจนให้มีฐานะดีขึ้นโดยยึดเอาเกษตรกร เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง และประชาชนทั่วไปเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมให้มีที่ดินเป็นของตนเอง โดยเคารพซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น ให้การสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพให้มีงานทำโดยทั่วกัน จะยกฐานะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีความสำคัญยิ่งขึ้น

นโยบายด้านสังคม พรรคพัฒนาจังหวัดจะส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การสาธารณูปโภค ศิลป วรรณกรรม จารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ พรรคพัฒนาจังหวัดจะทำนุบำรุงส่งเสริมศาสนาทุกศาสนาที่ประชาชนนับถือ จะดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคอันเป็นพิษและเป็นภัยต่อสังคม จะส่งเสริมสุขภาพและพลานามัยของประชาชนให้อย่างทั่วถึง จะส่งเสริมการศึกษาของประชาชนทุกระดับสาขาให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมปัจจุบัน พร้อมกับยกฐานะครูให้มีหลักประกันมั่นคงยิ่งขึ้น จะส่งเสริมและดำเนินการทางด้านสาธารณูปโภคอันจำเป็นแก่การดำรงชีพของประชาชน ให้ได้รับความสะดวกดียิ่งขึ้นอย่างทั่วถึงโดยเสมอภาค

พรรคพัฒนาจังหวัดส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 โดยผู้สมัครของพรรคพัฒนาจังหวัดได้รับเลือกตั้งเพียง 1 คน แต่หลังจากนั้นพรรคพัฒนาจังหวัดก็ต้องยุติบทบาทลงโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับพรรคการเมืองทั้งหมดที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ 2517 ซึ่งต้องสิ้นสภาพลงเมื่อคณะทหารเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ตอนที่ 92 เล่มที่ 193 ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2518, หน้า 377-380

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519

สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531

บุญทัน ดอกไธสง, การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2520