พลังสามัคคี (พ.ศ. 2543)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคพลังสามัคคี

พรรคพลังสามัคคี เรียกชื่อย่อว่า “พ.ส.ค.” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “PALANG SAMAKKEE PARTY” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 8/2543 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543[1]

เครื่องหมายพรรคพลังสามัคคี ประกอบด้วย[2]

รูปดอกบัวสีขาวกำลังเบ่งบาน หมายถึง ดอกไม้แห่งคุณธรรมกำลังเบ่งบาน

พื้นวงกลมสีแดง หมายถึง ชาติไทย

รวมกันแล้ว หมายถึง คุณธรรมกำลังเบ่งบานขึ้นภายในชาติ

สีประจำพรรค หมายถึง สีขาว

สีขาว หมายถึง ศาสนาและคุณธรรม

ตรายางเครื่องหมายสำหรับประทับรับรองเอกสารของพรรคเป็นเครื่องหมายย่อในลักษณะเดียวกัน หากแต่ใช้สีเดียว[3]

มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคพลังสามัคคี ตั้งอยู่เลขที่ 62/108 หมู่ที่ 4 ซอยอัสสัม 4 ถนน เสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร 10240[4]


นโยบายของพรรคพลังสามัคคี พ.ศ. 2543 [5]

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายๆประเทศที่กำลังพัฒนา และหลายๆประเทศที่เริ่มพัฒนามาพร้อมๆกับประเทศไทย มีบางประเทศได้พัฒนาก้าวหน้ากว่าประเทศไทยไปหลายเท่าตัว เนื่องจากรากฐานการผลิตของเศรษฐกิจไม่อยู่บนศักยภาพที่แท้จริงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งแต่ตัวเลข การส่งออกใช้วิธีการกู้เงินเพื่อมาสร้างตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตเพื่อส่งออก อาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศคือ เกษตรกรรมแต่เราไม่เน้นไม่ทำอย่างจริงจัง ฉะนั้นวิกฤตเศรษฐกิจไทยจึงแก้ไม่ได้

สังคมที่จะเข้มแข็งได้ต้องเริ่มพัฒนาจากจุดล่างสุดเพราะเป็นฐานของการพัฒนา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทุกๆด้าน

วิกฤตทางการเมืองเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนักการเมืองยังไม่มีคุณธรรมเพียงพอ ขาดจิตวิญญาณในการให้บริการสังคมอย่างแท้จริง

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้พรรคพลังสามัคคีขออาสาเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาพรรคจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยยึดหลักคุณธรรมเป็นที่ตั้งจะสร้างความกินดีอยู่ดี ความปลอดภัย และความเสมอภาคทางกฎหมายให้กับประชาชนโดยเท่าเทียมกัน ภายใต้คำขวัญ “คุณธรรมนำชีวิต สร้างเศรษฐกิจพอเพียง ฟังเสียงประชาชน”

1. นโยบายด้านการศึกษา

ปฏิรูปการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เน้นพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณธรรม กระจายอำนาจให้สถานศึกษาต่างๆมีส่วนร่วมจัดการศึกษาอย่างแท้จริง และให้ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

2. นโยบายด้านการเมืองการปกครอง

ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เร่งรัดปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ กำหนดให้ผู้ที่เข้ามารับราชการเป็นผู้ที่เคร่งครัดในด้านศีลธรรมและอบายมุข คัดค้านการปกครองระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ และสนับสนุนการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น

3. นโยบายด้านเศรษฐกิจ

ดำเนินการด้านเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง ปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ดินของตนเอง ส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม โดยกระจายเงินทุนให้มากที่สุด ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศแต่เน้นวัตถุดิบภายในประเทศ และสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งในชนบทและในเมือง

4. นโยบายด้านสาธารณสุข

ส่งเสริมให้มีศูนย์การแพทย์แผนไทย และสนับสนุนผลักดันให้แต่ละตำบลมีศูนย์การแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีจริยธรรมและคุณธรรม เร่งขยายสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพทั่วประเทศ และส่งเสริมดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส

5. นโยบายด้านสังคม สิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรม

ส่งเสริมให้นำหลักธรรมทางศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ส่งเสริมสวัสดิภาพของประชาชนให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง และเพิ่มศาลท้องถิ่นให้นำธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามในแต่ละท้องถิ่นมาช่วยแก้ปัญหา

6. นโยบายด้านการคลัง

จัดสรรงบประมาณให้ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ เน้นด้านการเกษตร เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณสุข รวมทั้งเพิ่มสวัสดิการในด้านต่างๆให้กับประชาชน ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเองได้ และปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรม

7. นโยบายด้านต่างประเทศ

ให้ความร่วมมือย่างเต็มที่ในการสร้างสันติภาพ แก้ไขข้อพิพาทความขัดแย้งต่างๆ และดำเนินการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางพาณิชยกรรมและการบินในภูมิภาคนี้

8. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

9. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน

สนับสนุนการวิจัยของสถาบันต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ทันสมัยอย่างเข้มงวดจริงจัง

10. นโยบายด้านความมั่นคงและการทหาร

แยกกองทัพออกจากการเมืองโดยเด็ดขาด ส่งเสริมความเข้มแข็งของกองทัพให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้กองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความสงบภายใน

11. นโยบายด้านแรงงาน

ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานให้มีความเป็นธรรม สร้างประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการจัดให้มีการลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน และสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้น

พรรคพลังสามัคคีไม่เคยมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 5/2544 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 ให้ยุบพรรคพลังสามัคคีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตมบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา” เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถกระทำได้ดังกล่าว ให้พรรคการเมืองนั้นเป็นอันยุบไปตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (5) ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลา (ภายใน 23 มกราคม 2544) พรรคพัฒนาสังคมไทยมีจำนวนสมาชิกพรรคและจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยหัวหน้าพรรคพัฒนาสังคมไทยมีหนังสือชี้แจงลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 ความว่า ไม่สามารถจัดหาสมาชิกพรรคให้ครบห้าพันคน และไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ครบสี่สาขา ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จึงขอให้ยุบพรรคได้ โดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆทั้งสิ้น ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงตัดสินให้ยุบพรรคพลังสามัคคี [6]


อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 23 มิถุนายน 2543, หน้า 100,109.
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 23 มิถุนายน 2543, หน้า 109-110.
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 23 มิถุนายน 2543, หน้า 110.
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 23 มิถุนายน 2543, หน้า 110.
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 23 มิถุนายน 2543, หน้า 100-108.
  6. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 28 ง, 23 มีนาคม 2544, หน้า 6. และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 2 ก, 3 มกราคม 2545, หน้า 1-3.