พระสารประเสริฐ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระสารประเสริฐ : ผู้ร่างคำปรารภฯคนแรก

            รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในบ้านเมืองเรานั้น เวลาที่นึกถึงคณะบุคคลที่มีส่วนในการ่างและพิจารณาก่อนที่จะได้ข้อยุติ นำออกมาประกาศใช้ได้ ผู้คนมักจะนึกถึงบุคคลที่เป็นนักกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวกฎหมายสำคัญที่เรียกกันว่า "แม่บทกฎหมาย" จึงต้องพึ่งนักกฎหมายในการร่าง หรือนึกถึงนักรัฐศาสตร์ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเอกสารสำคัญที่ระบุถึงอำนาจการปกครองประเทศ แต่แท้จริงแล้วยังมีบุคคลอีกอาชีพหนึ่งที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องอาศัยบุคคลในอาชีพนี้ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญบริบูรณ์ นั่นคืออาชีพนักอักษรศาสตร์ ที่รู้ภาษาไทยดี และรู้ไปถึงภาษาบาลี สันสกฤต ที่ภาษาไทยได้เอามาใช้ด้วย โดยเฉพาะคำศัพท์เก่าที่เขียนอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ

            นักอักษรศาสตร์ ผู้นี้คนไทยที่สนใจด้านวรรณกรรมและภาษาไทยรู้จักชื่อเสียงและฝีมือทางด้านอักษรศาสตร์ของท่านเป็นอย่างดี แต่มีน้อยคนนักจะทราบว่าท่านเป็นคนเขียนร่างคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ด้วย ท่านผู้นี้คือ พระสารประเสริฐ ผู้มีชื่อเดิมว่า ตรี นาคะประทีป

            นายตรี นาคะประทีป เป็นคนกรุงเทพฯนี่เอง ท่านเกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 ที่ตำบลตรีเพชร อำเภอพาหุรัด (การแบ่งเขตปกครองเดิม) โดยเป็นบุตรหลวงพิพิธวิรัชการ (เทียน นาคะประทีป) และนางสวน นาคะประทีป ดังนั้นท่านจึงได้รับการศึกษาที่โรงเรียนดังที่อยู่ใกล้บ้าน นั่นคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และด้วยความที่สนใจภาษาบาลีมาก เขาจึงเล่ากันว่าเด็กชายตรีได้ขอบวชเณรแล้วก็ได้เรียนรู้ด้านพุทธศาสนาอย่างดีมาก อายุประมาณ 18 ปี ก็สอบได้เป็นเปรียญ 7 ประโยค เป็น"มหา" ได้เป็นผู้สอนภาษาบาลี ที่วัดที่ท่านบวชอยู่คือวัดเทพศิรินทราวาส ท่านบวชอยู่จนอายุได้ 30 ปีจึงลาบวชออกมาทำงานที่กระทรวงกลาโหม ได้เป็นอนุศาสนาจารย์ ทำงานมาได้ 3 ปี ชื่อเสียงทางวิชาอักษรศาสตร์เป็นที่ทราบกันดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ คือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ขอโอนมหาตรีให้มาทำงานที่กรมวิชาการ อีกปีถัดมาท่านก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงธุรกิจภิธาน และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มาทำงานถวายความเห็นทางด้านภาษาขณะที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “มัทนะพาธา”

            ในปี 2469 กรมราชเลขาธิการได้ขอย้ายหลวงธุรกิจภิธาน มารับราชการเป็นปลัดกรมพระอาลักษณ์ และอีก 2 ปี ต่อมาหลวงธุรกิจภิธานก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสารประเสริฐ จนถึงปี 2475 ท่านจึงได้ย้ายกลับไปอยู่กระทรวงธรรมการตามเดิม สำหรับชีวิตสมรส ท่านมีภรรยาชื่อ สิริพันธ์

            ตอนที่อยู่กรมอาลักษณ์นี่เองก็เป็นช่วงเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ถ้าเคยพลิกอ่านรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับต่างๆที่มีมาในไทยก็จะพบว่าทุกฉบับจะมีคำปรารภอยู่ในส่วนนำก่อนจะเข้าสู่บทนำและมาตราแรกของตัวรัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เป็นกติกาการปกครองฉบับแรก จึงเป็นรูปแบบของการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีสืบต่อมา ในส่วนที่คุณพระสารประเสริฐร่างนั้นก็คือคำปรารภ เพราะคำปรารภนี้จะใช้ภาษามคธแลภาษาสันสกฤตมาเขียนปนอยู่มาก ตามคำให้การของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า

“...โปรดเกล้าฯให้พระสารประเสริฐไปร่างประกาศนี้ ซึ่งแต่แรกทรงหวังที่จะให้อาลักษณ์อ่านในเวลาที่พระราชทาน เมื่อพระสารประเสริฐได้ร่างแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าถวาย ทอดพระเนตรแล้วก็พระราชทานมาให้คณะกรรมการราษฎรดู คณะกรรมการราษฎรพิจารณาดู เห็นว่าถ้อยคำที่เขียนมานั้นถ้าจะใช้เป็นพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญ ก็จะเหมาะและงดงามดี จึ่งได้นำความกราบบังคมทูล ก็โปรดเกล้าฯว่าจะให้เป็น...”

คำปรารภของรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ส่วนหนึ่งที่ขึ้นต้นว่า "ศุภมัสดุ"นั้น ได้เขียนไว้ดังนี้

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค 2475 พรรษาปัจจุบันนสมัย จันทรคตินิยม ปละวังคสมพัตสร มฤคศิรมาส ศุกลปักษ์ เตรสีรดิถี สุริยคติกาล ธันวาคมมาส ทศมสุรทิน สนิวาร โดยกาลบริจเฉท”

            ตอนที่นำเสนอสภาผู้แทนฯสมัยนั้นแม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิมาก ยังเห็นว่า “มีภาษามคธและสันสกฤตที่จะแปลให้ฟังไม่ได้” พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงขอให้เชิญผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและสันสกฤตมาแปล ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาก็คืออาจารย์และนายเก่าของมหาตรี ได้แก่พระธรรมนิเทศทวยหาญ เมื่ออ่านแล้ว ในคำแปลคำว่าเดือนอ้ายที่เขียนว่า “อัครหายนมาส” นั้น ที่ประชุมฟังออกเสียงแล้วไม่สนิทหู จึงขอให้พระธรรมนิเทศฯช่วยหาคำอื่นที่มีความหมายเดียวกัน ที่ออกเสียงแล้วฟังดูดีกว่า พระธรรมนิเทศฯจึงเสนอคำ “มิคสิรมาส” ซึ่งเป็นภาษามคธให้ใช้แทน ที่ประชุมสภาฯก็คล้อยตาม

            แต่ท้ายที่สุดผู้ร่างตั้งแต่ต้นคือ พระสารประเสริฐได้ทราบถึงคำที่แก้ไข ท่านก็เห็นด้วยกับคำที่เอามาใช้แทน ความหมายตรงกัน แต่เมื่อคำอื่นๆที่ใช้เป็นภาษาสันสกฤต จะมาใช้คำ “มิคสิรมาส” อันเป็นคำมคธอยู่ได้อย่างไร ท่านจึงเปลี่ยนคำให้เป็นคำสันสกฤตว่า “มฤคศิรมาส” ปรากฏว่าที่ประชุมสภาฯในการพิจารณาครั้งสุดท้ายเห็นตามพระสารประเสริฐแก้ไข จึงเห็นได้ว่าการแก้ไขถ้อยคำในส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องกฎหมายหรือการปกครองแต่อย่างใดเลย เป็นเรื่องของภาษา การออกเสียงที่ต้องการให้อ่านแล้วฟังแล้วไม่ตะขิดตะขวงใจด้วย และต้องอาศัยนักอักษรศาสตร์ชั้นเอกเลยทีเดียว

            ต่อมาพระสารประเสริฐก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำรัฐธรรมนูญอีก ท่านย้ายกลับไปทำงานที่กระทรวงธรรมการและไปสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ปี 2488 ฝากไว้แต่ชื่อเสียงด้านวรรณกรรม