พระสยามเทวาธิราช
ผู้เรียบเรียง : บุศรา เข็มทอง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ตั้งแต่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีเหตุการณ์ที่วิกฤตเกิดขึ้นในบ้านเมืองหลายครั้ง แต่จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่บ้านเมืองของเรามีปัญหา ก็จะสามารถฟันฝ่าจนพ้นอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ มาได้โดยตลอด ซึ่งคนไทยนั้นถูกปลูกฝังให้เคารพในสิ่งศักดิ์สิทธ์เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจมาโดยตลอดตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันประกอบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ผ่านมา ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าบ้านเมืองของเราต้องมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภัยและประสิทธิ์ประสาทความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชนคนไทย
ประวัติความเป็นมา
“พระสยามเทวาธิราช” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองกับคนไทยมาช้านานตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยพระองค์ได้มีพระราชดำริว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายครั้ง บางครั้งตกอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างอันตรายเป็นอย่างมากถึงกับอาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียอิสรภาพให้กับชาวต่างชาติ แต่เราก็รอดพ้นเหตุการณ์ที่เลวร้ายมาได้โดยตลอด นั่นอาจจะมาจากการที่บ้านเมืองของเราคงจะต้องมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องคุ้มครองอภิบาลรักษาอยู่
ดังนั้นรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระยศเป็นหม่อมเจ้ารับราชการในกรมช่างสิบหมู่ปั้นรูปเทพยดาสมมุติขึ้น โดยหล่อขึ้นด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว ทรงเครื่องกษัตริย์ สวมมงกุฎ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระในท่าประทานพร (ยกขึ้นจีบ) เดิมในสมัยรัชกาลที่ 4 สถิตอยู่ในเรือนแก้วที่ทำด้วยไม้จันทน์แบบ “วิมานเก๋งจีน” แกะสลักปิดทอง มีคำจารึกที่เบื้องผนังหลังเป็นอักษรภาษาจีน แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ที่สิงสถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช” ต่อมาให้รัชการที่ 5 โปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงประทับยืนเหนือแท่นหน้าซุ้มไม้จันทน์แกะสลักลายเป็นหงส์และมังกร กลางขอบซุ้มไม้จันทน์ ใช้สลักภาษาจีน [1] ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ในเครื่องทรงแบบพระสยามเทวาธิราชขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำรูปพระสยามเทวาธิราชประทับนั่งใส่ในด้านหลังของเหรียญกษาปณ์ เสี้ยว อัฐ และโสฬส เพื่อใช้ในรัชสมัยของพระองค์ด้วย ในขณะเดียวกันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำริว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์พระพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาไม้หุ้มปูน ที่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ยากที่จะบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงทั้งหมด และอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิมานทองสามมุขเหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตราบจนถึงทุกวันนี้[2]
ความสำคัญ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง (รัชกาลที่ 4) ทรงมีความเชื่อในเทวดาผู้คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์จักรีและประชาชนตลอดจนประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัยจากศัตรูและภยันตรายต่าง ๆ นานา ซึ่งบางครั้งเป็นภยันตรายอย่างใหญ่หลวงมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้หล่อรูปพระสยามเทวาธิราชขึ้นมาเพื่อเป็นเทพยดาเทพารักษ์คอยปกป้องคุ้มครองประเทศไทยและประชาชนคนไทย ครั้นเมื่อบ้านเมืองเกิดภัยพิบัติ สิ่งแรกคนไทยแทบทุกคนจะรำลึกถึงเพื่อขอประทานพรให้ช่วยเหลือปกป้องชาติบ้านเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ และคนไทยทุกคนที่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยก็คือ “พระสยามเทวาธิราช” เทวดาผู้ปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง ถ้าเปรียบกับที่อยู่อาศัยของเรา พระสยามเทวาธิราช ก็คือ “พระภูมิเจ้าที่” ที่คอยปกปักรักษาบ้านและผู้อยู่อาศัยให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้นการสร้างพระสยามเทวาธิราชก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิที่เปรียบเสมือนเทวดาคอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองและประชาชน
พระราชพิธีบวงสรวง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ท่านทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะถวายเฉพาะวันอังคารและวันเสาร์ก่อนเวลาเพล โดยจะมีพนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นในเป็นผู้เชิญเครื่องตั้งสังเวยบูชา เครื่องสังเวยประกอบด้วย ข้าวสุกหนึ่งถ้วยเชิง หมูนึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำพริกเผา ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม ขนมต้มแดงและขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล ผลไม้ตามฤดูกาลสองอย่างและน้ำสะอาดอีกหนึ่งถ้วย [3] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสังเวยในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
ดังนั้น ในทุก ๆ ปี จะมี “พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช” ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งตามประเพณีนิยมถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบโบราณอนุวัติ โดยเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะอัญเชิญ พระสยามเทวาธิราช เทวรูปพระสรัสวดีหรือพระพราหมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑ จากพระวิมานลงมาประดิษฐานที่โต๊ะสังเวยหน้าพระวิมาน และเชิญพระอิศวรองค์ใหญ่ เจว็ดมุกรูปพระภูมิเจ้าที่กับเจว็ดมุกรูปเจ้ากรุงพาลี จากหอแก้วพระภูมิมาประดิษฐานที่โต๊ะร่วมสังเวยด้วย พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาในพระราชพิธีนี้ด้วยพระองค์เอง ในกรณีที่ไม่สามารถเสด็จฯ ได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้า ลูกเธอหรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่เสด็จมาทรงสังเวยพระสยามเทวาธิราชแทนพระองค์ มีการประโคมฆ้องชัย สังข์แตร และดุริยางค์ จากนั้นมีการแสดงละครของกรมศิลปากร เป็นอันเสร็จพระราชพิธี[4]
สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ในกรณีที่ทรงมี พระราชกรณียกิจอื่นไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินมาในพระราชพิธีนี้ได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี หรือพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จแทนพระองค์มาทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะ และมีละครในจากกรมศิลปากรรำถวายมือในพระราชพิธีดังกล่าว [5]
การถวายสักการะ
ในปี พ.ศ.2525 เมื่อครั้งการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ระหว่างวันที่ 7 – 30 เมษายน พ.ศ.2525พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชจาก พระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณขึ้นเสลี่ยงประทับบนพานทอง 2 ชั้น สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง ในวันพุธที่ 7 เมษายน 2525 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนชนคนไทยได้เข้าสักการะพระสยามเทวาธิราชหลังเสด็จพระราชดำเนินกลับจากพระราชพิธี โดยประชาชนคนไทยสามารถเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2525 จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงนับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนคนไทยมีโอกาสได้เข้าถวายสักการะ พระสยามเทวาธิราชเฉพาะพระพักตร์
อ้างอิง
- ↑ ราม วัชรประดิษฐ์ . พระสยามเทวาธิราช. สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557 จาก http://www.aj-ram.com/view/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A
- ↑ เรือนไทย.วิชาการ.คอม (22 พฤษภาคม 2553) พระสยามเทวาธิราช. สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557 จาก http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3316.0
- ↑ เรื่องเดียวกัน
- ↑ อ้างแล้ว , เชิงอรรถที่ 1.
- ↑ อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 2
บรรณานุกรม
ขุนช้าง-รักนายหลวงและสมเด็จพระเทพ. ตำนานการสร้างพระสยามเทวาธิราช. สืบค้น 25 กรกฎาคม 2557 จาก
http://www.gunsandgames.com/smf/index.php?topic=29082.0;wap2 ราม วัชรประดิษฐ์ . พระสยามเทวาธิราช. สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557 จาก http://www.aj-
ram.com/view/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A เรือนไทย.วิชาการ.คอม (22 พฤษภาคม 2553)
พระสยามเทวาธิราช. สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557 จาก
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3316.0
ศูนย์พระดอทคอม. พระสยามเทวธิราช. สืบค้น 25 กรกฎาคม 2557 จาก
http://group.wunjun.com/agaligohome/topic/215788-5742
สังคม-สตรี. (5 มกราคม 2557) . สมเด็จพระสยามเทวาธิราช. สืบค้น 25 กรกฎาคม 2557 จาก