พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

พระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก ไว้ดังนี้ “มาตรา ๒๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก”

พระราชอำนาจประกาศสงคราม

รัฐธรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับการประกาศสงคราม ไว้ดังนี้ “มาตรา ๒๒๓ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา มติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ในระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง และการลงมติต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่”

พระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ ไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”

นอกจากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กล่าวข้างต้นแล้ว ตามหลักทั่วไปพระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งพระราชอำนาจเหล่านี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (Convention) ซึ่งมีค่าบังคับเป็นรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เหตุที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่า แต่เดิมพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิขาดในทุกๆ เรื่อง และทุกๆ กรณี ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญมาจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงเป็นที่ยอมรับกันว่า ถ้าในกรณีใดไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดขอบเขตหรือเงื่อนไขของการใช้พระราชอำนาจไว้ พระมหากษัตริย์ก็ยังคงมีพระราชอำนาจเช่นนั้นอยู่โดยผลของประเพณี อาทิ พระราชอำนาจที่จะทรงพิจารณาฎีกาที่ประชาชนผู้เดือดร้อนทูลเกล้าฯ ถวาย


หน้าหลัก | พระราชอำนาจ