พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ รอบ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


 

ความนำ

ตามความเชื่อของไทยและหลายชาติในเอเชีย วาระครบรอบนักษัตร (รอบละ ๑๒ ปี) เป็นวาระสำคัญแห่งช่วงชีวิตของคนเรา จึงถือว่าเป็นวาระพิเศษ ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ (๓๖ พรรษา) ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เสด็จขึ้นทรงครองราชย์เมื่อ ๔ ปีก่อนหน้านั้น (และในที่สุดเป็นการครบรอบนักษัตรครั้งเดียวในรัชกาล) จึงได้มีการจัดงานพระราชพิธีเป็นเวลาหลายวันกว่าทุกปี คือเพิ่มจาก ๔ วัน เป็น ๗ วัน อีกทั้งมีพิธีการอื่นๆ ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษด้วย

 

พระราชพิธี

พระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษาและเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ จัดขึ้นระว่างวันที่ ๖-๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ รวมทั้งสิ้น ๗ วัน มีรายละเอียดมากมาย ในที่นี้จะได้นำเสนอแต่โดยสังเขปให้ทราบว่าพิธีกรรมของแต่ละวันนั้นมีนัยสำคัญหลักๆ เช่นใด

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พิธีกรรมในวันนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการ “เบิกโรง” การพระราชพิธี โดยเมื่อเวลา ๑๘.๓๐ น. เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวังตามลำดับ ทรงประกอบพระราชพิธีตั้งสมณศักดิ์ ประทับทรงสดับพระสงฆ์สวดมนต์ ทรงพระสุหร่าย (พรมน้ำมนต์) และทรงเจิมพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ปางขอฝน ที่หล่อใหม่ในโอกาสพิเศษนี้ (ซึ่งทรงเททองหล่อเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม) ทรงจุดเทียนเท่าพระองค์ ทรงบูชาเทวดาและพระสยามเทวาธิราช และทรงบูชาพระแล้ว ทรงจุดเทียนพระราชทานชาวที่ (เจ้าพนักงาน) ไปจุดดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชาในการฉลองพระ

วันที่ ๗ พฤศจิกายน เวลา ๑๑.๐๐ น. เสด็จประทับพระที่นั่งอมรินทร์ฯ เพื่อทรงทำบุญเลี้ยงพระ และสังเวยเทวดา อีกทั้งทรงหลั่งน้ำเต้าทักษิโนทกพระราชทานเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ไปประพรมปล่อย สุกร เป็ด ไก่ และนก

เวลา ๑๖.๔๕ เสด็จประทับพระที่นั่งอัมรินทร์ฯ ในพิธีสงฆ์และพิธีบูชาเทวดา ทั้งที่นั่นและที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยพระที่นั่งสององค์นี้อยู่ติดกัน พระที่นั่งองค์แรกเป็นท้องพระโรงหน้าในเขตฝ่ายหน้า พระที่นั่งองค์หลังเป็นท้องพระโรงหลังในเขตฝ่ายในและประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ถัดเข้าไปเป็นพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทั้งสามองค์รวมกันเรียกว่าหมู่พระราชมณเฑียร

วันที่ ๘ พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา จึงมีพิธีกรรมหลายอย่าง คือ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำภัตตาหารเช้าไปถวายยังสำนักสงฆ์ ณ พระอาราม

เวลา ๑๒.๐๐ น. เสด็จออกมหาสมาคมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทให้เจ้านายและข้าราชการเฝ้าฯ ตามตำแหน่ง ทรงสถาปนาตั้งกรม ตั้งพระองค์เจ้า และเจ้าพระยา พระราชทานตราจุลจอมเกล้าพร้อมด้วยโต๊ะทอง กาทอง เจ้านายที่ได้ทรงสถาปนาถวายต้นไม้ทองเงินและดอกไม้ธูปเทียน พระราชทานพระบรมราโชวาท ตั้งข้อสังเกตได้ว่า มาในรัชกาลปัจจุบันนี้ การเสด็จออกมหาสมาคมมักจะเป็นที่พระที่นั่งอัมรินทร์ โดยมีการอ่านคำถวายพระพร และการพระราชทานพระราชดำรัสตอบเท่านั้นในพิธีช่วงเช้าของวันเฉลิมพระชนมพรรษา ส่วนการพระราชทานตราจุลจอมเกล้าจัดเป็นอีกพิธีหนึ่งต่างหาก

เสด็จประทับพระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเป็นเขตฝ่ายในเบื้องหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประทับคู่กับสมเด็จพระบรมราชินี (ในพระสถานะมหาสวามินี เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน) พระราชทานตราจุลจอมเกล้าฝ่ายใน

เสด็จออกที่เกยพระที่นั่งอาภรณพิโมกข์ปราสาท ประทับพระราชยานพุตตาลทอง (คานหาม) เสด็จเป็นกระบวนราบใหญ่ ไปเทียบที่เกยประตูหลังวัดพระแก้ว (นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคเพียงในบริเวณเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นนอก แต่ทั้งนี้ ราษฎรย่อมได้เฝ้าฯ ชมพระบารมีเมื่อเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวังทุกวันที่มีพระราชพิธี) เสด็จนำไปยังประสาทพระเทพบิดรเพื่อถวายบังคมพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ ๖ รัชกาล แล้วเสด็จกลับไปที่เทียบเกยพระที่นั่งบรมพิมาน

อนึ่ง ผู้ที่ทรงสถาปนาในวันนี้ มีดังต่อไปนี้ กรมพระดำรงราชานุภาพขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระยา กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธินขึ้นเป็นกรมพระ หม่อมเจ้าอาภาพรรณี สวัสดิวัตน์ (พระมารดาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากรขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า หม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์ ศุขสวัสดิ์ (พระพี่เลี้ยงแต่ครั้งทรงพระเยาว์) ขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พระยาเทพอรชุนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และพระยาราชนุกุลขึ้นเป็นเจ้าพระยามุขมนตรี

เวลา ๑๗.๔๕ น. พระราชพิธีช่วงบ่ายที่พระที่นั่งไพศาลฯ และพระที่นั่งอมรินทร์ฯ นี้เป็นการสวดมนต์และการบูชานพเคราะห์ แต่มีความพิเศษตรงที่มีการถวายพระธรรมเทศนามหามงคลวิเศษ ซึ่งเป็นธรรมเนียมต้องถวายในการเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อเป็นการสรรเสริญพระบารมีและการเจริญพระสติให้ทรงดำรงพระจริยวัตรอยู่ในทศพิธราชธรรม

วันที่ ๙ พฤศจิกายน เวลา ๑๘.๐๐ น. เสด็จสู่พระที่นั่งอัมรินทร์ ทรงประเคนผ้าไตรแก่พระสงฆ์แล้วเสด็จไปทรงบูชาพระสยามเทวาธิราชบนพระที่นั่งไพศาลฯ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทร์อีกครั้ง ทรงศีลแล้ว พระสงฆ์ธรรมยุติ ๖๐ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า(กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์) เป็นประธานสวดมหาสมยสุตตและจุลราชปริตต มีต้นและท้ายซึ่งสอดควบกันโดยมหาสมัยสูตรเป็นบทสวดว่าด้วยการชุมนุมใหญ่ของเทพยดาในสมัยพุทธกาล และเป็นบทสวดมนต์หลวงที่ใช้ในงานมงคลสำคัญจริงๆ

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เวลา ๑๐.๓๕ น. เป็นการทรงทำบุญเลี้ยงพระและสังเวยเทวดาที่พระที่นั่งอมรินทร์ฯ อีกคำรบหนึ่ง ความพิเศษของขั้นตอนนี้อยู่ที่การเสด็จประทับพระที่นั่งราชฤดีเพื่อทรงเครื่องเศวตพัสตร์ (นุ่งขาวห่มขาว) แล้วเสด็จออกทรงจุดเทียนที่โต๊ะสังเวยเทวดากลางหาว แล้วเสด็จขึ้นประทับพระแท่นสรงภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรเพื่อทรงสรงพระมุรธาภิเษกสนาน (สรงน้ำชำระพระวรกายให้ปราศจากมลทิน) เช่นเดียวกับในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อต้นรัชกาล สมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายน้ำ พราหมณ์ถวายน้ำ แล้วทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบประจำรัชกาล เสด็จกลับสู่พระที่นั่งอมรินทร์ พระราชทานวัตถุปัจจัยแก่พระสงฆ์และพัดรัตนาภรณ์ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ส่วนพระองค์) แก่พระราชาคณะ ทรงหลั่งพระเต้าทักษิโณทกพระราชทานหม่อมเจ้าที่ยังเยาว์ไปประพรมปล่อยปลา (โดยในวันที่ ๗ ไม่ได้มีการปล่อยปลา) จากนั้นพระราชทานเงินตราและผ้านุ่งห่มแก่ข้าราชการสูงอายุตั้งแต่ ๗๐ ปีขึ้นไป ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในรวม ๓๗ (เท่าพระชนมายุ บวก ๑ ปี) แล้วเสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งไพศาลฯ ทรงรับของเจ้านายแล้วเสด็จกลับ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียร

เวลา ๒๐.๓๐ น. เสด็จออกพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารแก่เจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายใน ในขณะที่โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศเลี้ยงทูตานุทูต ณ วังสราญรมย์ (ที่ทำการทระทรวงการต่างประเทศ) แล้วเวลา ๒๓.๐๐ น. เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จฯ และเจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายใน ออกท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมให้คณะทูตานุทูตเฝ้าฯ แล้ว เสด็จออกท้องพระโรงหน้าให้ข้าราชการซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มาในงานสโมสรสันนิบาตเฝ้าฯ และรับพระราชทานเลี้ยงอาหารว่าง และมีพระราชปฏิสันถารด้วย ทั้งสองประการนี้เป็นปกติในงานเฉลิมฯ ทุกปี

พระราชกรณียกิจต่อไปนี้ไปเห็นได้ชัดว่าเป็นเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ โดยเฉพาะ กล่าวคือ

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เวลา ๑๑.๐๐ น. เสด็จประทับพระที่นั่งอมรินทร์ฯ ทรงประเคนผ้าไตรย่ามแก่พระพิมลธรรมเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ผู้นำกับพระสงฆ์สหชาติปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ อีก ๓๒ รูป (สหชาติหมายถึงผู้ที่เกิดในปีนักษัตรและรอบเดียวกันกับพระองค์) ทรงศีลแล้วทรงประเคนภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ฉันแล้ว ทรงประเคนไทยธรรมกับพัดและซองบุหรี่มีรูปงูลงยาสีเขียว (สัญลักษณ์ปีนักษัตรและวันพุธวันพระราชสมภพ) พระสงฆ์สวดคาถาถวายพระพรพิเศษ

เวลา ๑๗.๐๐ น. เสด็จออกสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน ในการอุทยานสโมสรเจ้านายและข้าทูลละอองธุลีพระบาท ราชสกุล ราชินิกุลฝ่ายหน้าฝ่ายใน อุปชาติปีมะเส็ง (อุปชาติหมายถึงผู้ที่เกิดในปีนักษัตรเดียวกันแต่ต่างรอบกับพระองค์) เฝ้าฯ มีพระราชปฏิสันถาร พระราชทานเลี้ยงน้ำชาเครื่องว่าง

นอกจากนั้น ทรงอุทิศพระราชทานชิงเทียนทองเหลืองตรางูพันลูกศร (สัญลักษณ์ปีมะเส็งนักษัตรและสร้อยพระนาม “ศักดิเดชน์”) ไปยังปูชนียสถาน ๓๗ แห่งด้วย (ตัวเลข ๓๗ คือ ๓๖ พรรษา บวก ๑ เพื่อความเป็นมงคล)

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน เวลา ๒๐.๓๐ น. เสด็จออกพระที่นั่งอนันต์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทสหชาติปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน รวม ๔๙๖คนเฝ้าฯ มีพระราชปฏิสันถารแล้วประทับเสวยพระกระยาหารพระราชทานแหนบลูกศรกับซองบุหรี่มีรูปงูลงยาสีเขียวทั่วกัน

เห็นได้ว่า ในวโรกาสที่สำคัญเกี่ยวกับพระองค์เองนี้ ได้ทรงแผ่พระเมตตากรุณาคุณเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ที่เกิดในปีมะเส็งเช่นเดียวกับพระองค์ทุกรุ่นอายุ และหมู่เหล่าต่างๆ ตั้งแต่พระสงฆ์ เจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายใน และข้าทูลละอองธุลีพระบาทระดับต่างๆ

 

พระราชกรณียกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น ยังมีพระราชกรณียกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแทรกในวันอื่นๆ ของการพระราชพิธี ดังนี้

วันที่ ๘ พฤศจิกายน เวลา ๒๒.๐๐ น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรฯ ไปยังท่าวาสุกรีประทับเรือยนต์พระที่นั่งเสด็จทอดพระเนตรการแต่งโคมไฟทางน้ำ ซึ่งราษฎรจัดแต่งสถานที่สำคัญและบ้านเรือนร่วมเฉลิมฉลอง

วันที่ ๙ พฤศจิกายน เวลา ๑๖.๑๐ น. เสด็จยังพระราชอุทยานสราญรมย์ให้ลูกเสือและนักเรียนชายหญิงอุปชาติปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ (คือที่มีอายุ ๑๒ ปีในปีนั้น) รวมทั้งสิ้น ๓,๕๑๘ คน พร้อมครูผู้ควบคุมเฝ้าฯ โดยมีเด็กชายหมึก บุนนาค อ่านคำถวายพระพรในนามนักเรียน พระราชทานพระบรมราโชวาท และเสมาแก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการรับไปแจกนักเรียนอุปชาติทั้งหลายด้วย

พระบรมราโชวาท “ว่าด้วยลักษณะเอาอย่าง องค์นั้น” มีความบางตอนว่า

“ในปีนี้ข้าจะทำบุญอายุครบ ๓ รอบ กระทำให้หวนระลึกถึงพวกเจ้าซึ่งอายุพึ่งครบหนึ่งรอบนี้ด้วย ตามธรรมดาคนเราจะมีชีวิตอยู่ได้ก็ราว ๖ รอบเศษเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่ออายุครบ ๓ รอบ ก็นับว่าเข้าเขตต์ที่จะแก่ลงไป พวกเจ้านั้นพึ่งจะครบรอบเดียว ยังมีเวลาที่จะอยู่ทำประโยชน์ให้แก่ชาติอีกมากมาย...” และทรงแนะนำว่า

“เราจะเรียนแต่เอาอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเรียนคิดเองด้วยจึงจะเจริญแท้...พวกเจ้านั้น การศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว ควรจะมุ่งมั่นใช้ความคิดให้เป็นผลดียิ่งขึ้นอีก ไม่ใช่เรียนจำตามที่สอนเท่านั้น ต้องฝึกใช้ความคิด ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงาย...ต้องคิดอีกทีหนึ่งว่าจะทำอย่างไรจึงจะดีขึ้นได้อีก ต้องพยายามเรียนตลอดชีวิต...” [1] การที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนและลูกเสืออายุ ๑๒ ปีได้เฝ้าฯ ในครั้งนี้ แสดงถึงพระอุปนิสัยโปรดเด็กๆ ซึ่งเห็นได้จากที่ทรงพระราชอุปการะไว้ในวังหลายคน และทรงสั่งสอนในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นคติเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่เป็นอมตะ

ครั้นเวลา ๒๒.๐๐ น วันเดียวกัน ทรงรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน เสด็จทอดพระเนตรการแต่งโคมไฟทางบก

สรุปรวมได้ว่า ในการเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบนี้ มีทั้งงานพระราชพิธีซึ่งอนุโลมปฏิบัติตามพระราชประเพณี และพิธีการอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสให้บุคคลหมู่เหล่าต่างๆ ตั้งแต่เจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายใน พระสงฆ์ ข้าราชการ ข้าราชสำนัก ตลอดจนราษฎรวัยต่างๆ ได้เข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมีและทรงแผ่พระบารมีโดยทั่วถึง

อนึ่ง ในช่วงของพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังนั้น พึงสังเกตว่าฉลองพระองค์ที่ทรงเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวาระ ซึ่งเป็นฉลองพระองค์ทหารตามพระราชประวัติของพระองค์เองซึ่งทรงเป็นทหารอาชีพเรียงลำดับจากฉลองพระองค์ทหารปืนใหญ่ ทหารม้า ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และทหารอากาศ จอมพลผู้บังคับการพิเศษโรงเรียนนายร้อยทหารบก จอมพลทหารเรือ ถึงจอมพลทหารบก แสดงถึงความมีพระราชหฤทัยใส่ในการเพิ่มรายละเอียดเชิงสัญลักษณ์ซึ่งทรงใช้เป็นวิธีการผูกจิตผูกใจให้ผู้คนหมู่เหล่าต่างๆ มีความจงรักภักดีในพระองค์

 

บรรณานุกรม

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๗. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗. ภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.

www. Dhammajak. Net/board/viewtype.php?t=15461. เข้าถึงเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘

www.polyboon.com/kumpra/06-07.php. เข้าถึงเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘

th. Wikipidia.org/wiki/มหาสมัยสูตร. เข้าถึงเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘

 

อ้างอิง

  1. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๗. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗. ภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์. หน้า ๖๑๙-๖๒๙.