พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2471

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2471

ความนำ

          ในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้มีการจัดทำกฎหมายเพื่อจัดระเบียบแก่ข้าราชการเพื่อสรรหาผู้ที่มีความรู้และความสามารถ พร้อมทั้งกำหนดหน้าที่และวินัยอันข้าราชการประเภทต่าง ๆ ควรต้องปฏิบัติในปี พุทธศักราช 2471 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ต่อมาในเดือนมีนาคมปีเดียวกันได้มีการประการใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการฯ เพื่อเพิ่มเติมกฎหมายอันมีอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติฯ ขึ้นโดยมีเนื้อหาหลักดังต่อไปนี้

 

สาระสำคัญของกฎหมาย

          ระยะเวลาที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

          พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการฯ กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2472 ซึ่งห่างจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2471 เป็นระยะเวลาถึงหนึ่งปี

          หน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

          พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2471 กำหนดให้ “เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม” เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ ดังนี้

          1) อำนาจออกกฎเสนาบดีและนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับ (มาตรา 3)

          2) หน้าที่นำความกราบบังคับทูลพระกรุณาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงตั้งเลื่อน หรือ ถอน ข้าราขการตุลาการ (มาตรา 4 วรรคแรก)

          3) หน้าที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติสั่งย้ายข้าราชการตุลาการ (มาตรา 4 วรรคสอง)

          4) สั่งให้บุคคลเข้าฝึกหัดเป็นผู้พิพากษา (มาตรา 6 วรรคสอง)

          คุณสมบัติของผู้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ (มาตรา 5)

          ผู้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ ต้องเป็นผู้มีนิสัยดีและต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ

          1. มีสัญชาติเป็นชาวสยาม

          2. อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี

          3. ไม่เป็นผู้มีโรคหรือกายพิการทุพพลภาพหรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบเป็นเหตุให้ไร้สามารถหรือไม่สมควรที่จะรับราชการ

          4. ไม่เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว

          5. ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยฐานประมาท

          6. สอบไล่กฎหมายได้รับประกาศนียบัตรชั้นเนติบัณฑิตและเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาแล้ว หรือได้รับประกาศนัยบัตรจากโรงเรียนกฎหมายในเมืองต่างประเทศซึ่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมรับรองว่าเสมอด้วยประกาศนียบัตรเนติบัณฑิต

          7. เคยกระทำการใช้วิชากฎหมายในสำนักทนายความหรือในกรมอัยการ หรือในกรมหรือศาลใด ๆ ซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงยุติธรรม

          นอกจากนี้ผู้ที่จะได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตุลาการ จะต้องได้ฝึกหัดเป็นผู้พิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่าปีหนึ่งเป็นที่พอใจของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (มาตรา 6)

          ข้อยกเว้นคุณสมบัติและยกเว้นการฝึกหัดเป็นผู้พิพากษา ได้แก่

          1. เป็นข้าราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าชั้นปลัดกรมในกระทรวงยุติธรรมหรือในกรมอัยการ  (มาตรา 6 วรรคท้าย (ก))

          2. เป็นทนายความซึ่งได้ว่าความมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี (มาตรา 6 วรรคท้าย (ข))

          3. เป็นบุคคลสัญชาติต่างประเทศซึ่งรัฐบาลได้ทำสัญญาจ้างไว้เป็นข้าราชการตุลาการ (มาตรา 7)

          ยศของข้าราชการตุลาการ

          กฎหมายกำหนดให้นำยศตาม มาตรา 26 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2471 มาใช้บังคับแก่ยศของข้าราชการตุลาการ ดังนี้ (มาตรา 8)

          - ชั้นสัญญาบัตร ได้แก่ มหาอำมาตย์เอก มหาอำมาตยโท มหาอำมาตย์ตรี อำมาตย์เอก อำมาตย์โท อำมาตย์ตรี รองอำมาตย์เอก รองอำมาตย์โท รองอำมาตย์ตรี

          - ชั้นราชบุรุษ ได้แก่ ราชบุรุษ

          เงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการตุลาการ

          ข้าราชการตุลาการจะได้รับพระราชทานเงินเดือนตามอัตราที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาติไว้ และเมื่อออกจากราชการมีสิทธิได้รับพระราชทานบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญฯ (มาตรา 9)

          วินัยและข้อห้ามของข้าราชการตุลาการ

          ข้าราชการตุลาการต้องรักษาวินัย รวมถึง ข้อห้ามดำเนินการ ดังนี้

          1. ข้าราชการตุลาการต้องรักษาตนให้เป็นผู้มีชื่อเสียงดีและอุทิศเวลาทั้งหมดของตนให้แก่ราชการ (มาตรา 10)

          2. ข้าราชการต้องปฏิบัติตามคำสั่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม หรือ หัวหน้าศาลในประเภทงานที่เกี่ยวกับกิจการภายในของศาล แต่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี (มาตรา 12)

          3. ข้าราชการตุลาการจะประกอบกิจการค้าหรือเป็นตัวกระทำการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทไม่ได้ (มาตรา11)

          โทษและกระบวนการลงโทษข้าราชการตุลาการที่กระทำผิดวินัยหรือข้อห้าม

          โทษผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้ มี 4 สถาน คือ

          1. ไล่ออก[1]

          2. ลดตำแหน่งหรือลดชั้น

          3. ตัดเงินเดือน

          4. ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร

          ส่วนการลงโทษสถานอื่นนอกเหนือจากโทษไล่ออก เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจทำได้โดยลำพัง อนึ่ง ถ้าเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเห็นว่าจะให้คงอยู่ในหน้าที่ระวางไต่สวนหรือพิจารณาจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ จะสั่งพักหน้าที่ราชการระวางนั้นก็ได้ (มาตรา 18) การสั่งให้พักหน้าที่ราชการจะให้พักได้ไม่เกินเวลาไต่สวนหรือพิจารณา ถ้าปรากฎว่าข้าราชการมิได้มีมลทินความผิดต้องให้กลับคืนเข้าตำแหน่งเดิม ถ้าปรากฏว่าถึงแม้การไต่สวนหรือพิจารณาจะไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่าผู้ที่ถูกสั่งให้พักได้กระทำความผิดแต่ก็มีมลทินอยู่ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมสามรถสั่งให้กลับคืนเข้าตำแหน่งเดิมอาจเสียหายแก่ราชการ จะไม่ให้กลับคืนเข้าตำแหน่งเดิมก็ได้ แต่ถ้าเห็นว่าผู้นั้นยังอาจจะเป็นประโยชน์แก่ราชการในตำแหน่งอื่นใดที่เสมอหรือต่ำกว่าตำแหน่งเดิม จะรับเข้าตำแหน่งเช่นนั้นก็ได้ (มาตรา 19)

          กระบวนการพิจารณาโทษฐานผิดวินัย (มาตรา 17)

          พระราชบัญญัตินี้กำหนดกระบวนการพิจารณาโทษทางวินัยว่าต้องให้โอกาสแก่ข้าราชการตุลาการเพื่อ “ชี้แจงหรือแก้ตัว” หรือ “นำพยานมาแสดง” ต่อหัวหน้าก่อน คำชี้แจงหรือข้อแก้ตัวนั้น ถ้าทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือหัวหน้าได้บันทึกไว้และลงลายมือชื่อทั้งสองคนแล้วให้เสนอต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

          เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะตั้ง “กรรมการไต่สวน” จำนวนไม่น้อยกว่าสามนายก็ได้ โดยกรรมการต้องเป็นข้าราชการตุลาการและนายหนึ่งต้องมียศเสมอหรือสูงกว่าข้าราชการผู้ที่ต้องไต่สวนนั้น ในการไต่สวนกรรมการมีอำนาจหมายเรียกพยานมาสาบานเบิกความได้

 

บทสรุป

          พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2471 มีผลใช้บังคับมาจนกระทั่งมีการประกาศ “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477” ขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2477 และมีการประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2471 ด้วย “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2479” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2480

 

บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 45/หน้า 410/วันที่ 31 มีนาคม 2471. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2471

 

อ้างอิง

[1] การไล่ออกจากราชการจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต (มาตรา 14) สำหรับการกระทำผิดในกรณีดังต่อไปนี้ (มาตรา 15) 1. ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต 2. ต้องพระราชอาชญาจำคุกในความผิดอาชญา 3. มีหนี้สินล้นพ้นตัว และ 4. ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง