พระราชบัญญัติภาพยนตร์
กิจการจัดฉายภาพยนตร์ในสยาม เริ่มเติบโตแพร่หลายขึ้น ความคิดว่าอิทธิพลของภาพยนตร์ต่อผู้ชมชาวสยาม มีมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อขึ้นรัชกาลใหม่ เสียงเรียกร้องให้มีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ยังปรากฏอยู่ ในรัชกาลนี้มีการห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง The Light of Asia ซึ่งนำเสนอเรื่องพุทธประวัติผิดจากความจริง และมีการเรียกร้องให้ห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในหลายประเทศ ประกอบกับมีชาวต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในสยาม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้มีพระราชดำริที่จะควบคุมการถ่ายทำภาพยนตร์เช่นกัน ดังปรากฏในพระราชปรารภ เรื่อง การควบคุมชาวต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในสยาม พระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ วรพินิต เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้น “ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่ามีพวกอเมริกันเข้ามาตั้งฉายหนังในเมืองไทย การนี้ฝ่าพระบาทได้ทรงพระดำริ ให้มีการควบคุมอย่างไรแล้วฤาไม่ ทรงพระราชปรารภว่า พวกฉายหนังบางทีจะทำการยุ่มย่ามอย่างเมื่อคราวก่อน สมควรคิดระวัง จะควรจัดให้มี Board of Censor หนังฉายฤาไม่ ขอให้ทรงพระดำริ”
จากเสียงเรียกร้องต่างๆ นานา ทั้งในเรื่องการถ่ายทำ การนำเข้ามาฉาย ลักษณะภาพยนตร์ที่ฉาย และสภาพของโรงภาพยนตร์ อีกทั้งพระราชนิยมส่วนพระองค์ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ ขึ้น เพื่อเป็นกรอบให้นักภาพยนตร์ประเภทต่างๆ นั้นมีความรับผิดชอบ กำกับดูแลตนเองมากขึ้น รวมตลอดถึงการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคและรักษาศีลธรรมอันดีมากขึ้น
ที่มา
บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖