พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2538
ผู้เรียบเรียง อลิศรา พรหมโชติชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2538
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2538 เป็นกฎหมายฉบับแก้ไขเพิ่มเติมอันเนื่องมาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2538 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมในบทบัญญัติเกี่ยวกับสัญชาติและอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่จำกัดว่าผู้มีสัญชาติไทยผู้นั้นจะมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ และกำหนดเงื่อนไขของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ จึงทำให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งสามารถพิจารณารายละเอียดการแก้ไขได้ดังต่อไปนี้
1. การแก้ไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2538 ได้แก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ก่อนหน้า กฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขให้ผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ [1]
(1) กฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติจะต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งตามกฎหมายฉบับก่อนหน้าที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาตินั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้นั้นก็เป็นอันยกเลิกไป [2]
(2)ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งได้ลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้จากเดิมที่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง
(3)ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งกฎหมายฉบับก่อนหน้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
2.การแก้ไขผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิภสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2538 ได้แก้ไขกฎหมายฉบับเดิม[3] ให้บุคคลที่จะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ [4]
(1)ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีบิดาเป็นคนต่างด้าว ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[5] ซึ่งผู้ที่มีสัญชาติไทยที่มีบิดาเป็นบุคคลต่างด้าวจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ [6]
☺ เป็นผู้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนตามกำหนดเวลาและสอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
☺ ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงในประเทศตามหลักสูตรจนสามารถสอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรี
(2)ต้องเป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการใช้บังคับตามกฎหมายฉบับก่อนหน้า
(3)มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลที่สมัครเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้กับเทศบาลนั้นในปีที่สมัครหรือในปีก่อนปีที่สมัคร 1 ปี
3.การแก้ไขการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง
เดิมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2523 ได้กำหนดให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีบิดาเป็นคนต่างด้าวนั้น จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2523 เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ กล่าวคือ กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้กำหนดให้เทศบาลมีหน้าที่ทำการตรวจสอบว่า บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ และมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและคัดชื่อลงในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง ทั้งนี้ ในกรณีมีความจำเป็นต้องสอบถามบุคคลดังกล่าว ก็ให้เทศบาลส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามบุคคลนั้นได้ตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร [7]
ที่มา
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517, ราชกิจจานุเบกษา,เล่ม 91, ตอนที่ 154, วันที่ 17 กันยายน 2517, หน้า 425-426. มาตรา 4
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, ราชกิจจานุเบกษา,เล่ม 97, ตอนที่ 33, วันที่ 2 มีนาคม 2523, หน้า 24-25, มาตรา 13
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2538, ราชกิจจานุเบกษา,เล่ม 112, ตอนที่ 43 ก, วันที่ 9 ตุลาคม 2538, หน้า 4-5 มาตรา 3
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2535,ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 109 ตอนที่ 3, วันที่ 15 มกราคม 2535
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 112 ตอนที่ 7 ก, วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538
อ้างอิง
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2538, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 112, ตอนที่ 43 ก, วันที่ 9 ตุลาคม 2538, หน้า 4-5 มาตรา 3
- ↑ โปรดดู พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 91, ตอนที่ 154, วันที่ 17 กันยายน 2517, หน้า 425-426. มาตรา 4
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 97, ตอนที่ 33, วันที่ 2 มีนาคม 2523, หน้า 24-25, มาตรา 13.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2538, เพิ่งอ้าง, หน้า 5 มาตรา 5.
- ↑ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้นได้บังคับใช้ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ซึ่งได้มีบทบัญญัติให้บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 112 ตอนที่ 7 ก, วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538, หน้า26, มาตรา 111 (1)และ(2)
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2535, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 109 ตอนที่ 3, วันที่ 15 มกราคม 2535, หน้า11 มาตรา12.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2538, เพิ่งอ้าง, หน้า 5, มาตรา 7.