พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2479

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง อลงกรณ์ อรรคแสง


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479 [1] นับเป็นกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย แม้ชื่อกฎหมายจะว่าเรียกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น แต่ต้องเข้าใจว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นในที่นี้หมายถึงสมาชิกสภาเทศบาลโดยเฉพาะ

ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยการก่อการของคณะราษฎรใน พ.ศ.2475 ความพยายามหนึ่งของคณะราษฎร คือ การขยายความรู้ ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไปสู่ประชาชน เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยของไทยเกิดจากชนชั้นนำของประเทศจำนวนหนึ่งเท่านั้น หาได้เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เพื่อที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยเกิดความสมบูรณ์ทั้งชื่อและเนื้อหาสาระ เพื่อที่จะให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเจริญงอกงามได้ และให้ประชาชนได้คุ้นเคยกับระบอบการปกครองของประเทศ รัฐบาลจึงได้จัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์คือการให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน หน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ว่านี้คือ เทศบาล โดยจำลองรูปแบบการปกครองของรัฐบาลกลางมาย่อยส่วน กล่าวคือ การปกครองประเทศมีรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ในส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาลก็จัดให้มีสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรีเป็นผู้ดำเนินการเช่นกัน [2]

แนวคิดเกี่ยวกับการตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นของรัฐบาลคณะราษฎรในขณะนั้น เป็นแนวคิดที่จะทำให้ทุกตำบลทั่วประเทศเป็นเทศบาลทั้งหมด[3] กล่าวคือ รัฐบาลต้องการให้มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นเพียงรูปแบบเดียว คือ เทศบาล ดังนั้นคำว่า “สภาท้องถิ่น” ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479 นี้จึงหมายถึงสภาเทศบาล[4]


พัฒนาการของเทศบาล

พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย ได้กำหนดให้เทศบาลมีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร

เทศบาลตำบล ได้แก่ ตำบลซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลตำบล มีฐานะเป็นทบวงการเมือง[5] เทศบาลเมือง ได้แก่ ตำบลหรือส่วนของตำบลอันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด หรือ ชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่แต่ 3,000 คนขึ้นไป และมีความหนาแน่นของประชากรไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ที่มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง [6] และ เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีราษฎรตั้งแต่ 30,000 คน ขึ้นไปและมีความหนาแน่นของประชากรไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร และมีพระราชบัญญัติจัดตั้งเป็นเทศบาลนคร [7]

หลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 รัฐบาลได้ทยอยตราพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลขึ้นหลายแห่ง ในเบื้องแรกของการจัดตั้งเทศบาลนั้นเป็นการยกฐานะจากสุขาภิบาลที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นจำนวน 35 แห่ง ขึ้นเป็นเทศบาล แบ่งเป็นสุขาภิบาลที่เข้าเกณฑ์โดยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 32 แห่งและเทศบาลตำบล 2 แห่ง [8] นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครอีก 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครกรุงธนบุรี[9] รวมแล้วในเบื้องแรกมีการจัดตั้งเทศบาลรวม 37 แห่ง และมีการทยอยจัดตั้งเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา

โครงสร้างภายในของเทศบาลเป็นโครงสร้างรูปแบบสภาและคณะผู้บริหาร (Council-Executive Form) ประกอบด้วยสภาเทศบาลและคณะผู้บริหาร ตามกฎหมายเทศบาลฉบับแรกนี้เรียกว่าสภาของเทศบาลว่า สภาตำบล สภาเมืองและสภานคร [10] ซึ่งเป็นสภาของเทศบาลตำบล เทศบาลเมืองและเทศบาลนครตามลำดับ ส่วนฝ่ายบริหารของเทศบาลเรียกว่าคณะมนตรีตำบลในกรณีเทศบาลตำบล คณะมนตรีเมืองในกรณีเทศบาลเมือง และคณะมนตรีนครในกรณีเทศบาลนคร [11]

พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 กำหนดให้สภาตำบลและสภาเมืองประกอบด้วยสมาชิกซึ่งประชาชนในหมู่บ้านเลือกตั้งขึ้นหมู่บ้านละ 1 คน ถ้าหมู่บ้านใดมีราษฎรมากกว่า 200 คน ให้หมู่บ้านนั้นเลือกสมาชิกสภาเพิ่มอีก 1 คนทุกๆ ประชาชน 200 คน เศษของ 200 ถ้าเกินครึ่งให้นับเป็น 200 ส่วนสภานคร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตำบลละ 1 คน ถ้าตำบลใดมีราษฎรมากกว่า 2,000 คน ให้ตำบลนั้นมีสมาชิกเพิ่มอีก 1 คน ทุกๆ ประชาชน 2,000 คน เศษของ 2,000 ถ้าเกินครึ่งให้นับเป็น 2,000 อย่างไรก็ตาม จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลในเทศบาลแต่ละประเภทได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง พิจารณาได้ในลำดับต่อไป

1. องค์ประกอบและที่มาของสภาเทศบาล

พ.ศ.2479 ได้มีกฎหมายแก้ไขให้สภาตำบล (สภาเทศบาลตำบล) ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 9 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละ 1 คน ถ้าหมู่บ้านใดมีราษฎรมากกว่า 200 คน ให้มีสมาชิกเพิ่มอีกหนึ่งคนทุกๆ ราษฎร 200 คน สภาเมือง (สภาเทศบาลเมือง) ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 18 คน มาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละ 1 คน ถ้าหมู่บ้านใดมีราษฎรมากกว่า 400 คน ให้มีสมาชิกเพิ่มอีกหนึ่งคนทุกๆ ราษฎร 400 คน ส่วนสภานคร (สภาเทศบาลนคร) ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 36 คน มาจากการเลือกตั้งตำบลและ 1 คน ถ้าตำบลใดมีราษฎรมากว่า 4,000 คน ให้มีสมาชิกเพิ่มอีกหนึ่งคนทุกๆ ราษฎร 4,000 คน

พ.ศ.2481 มีการประกาศใช้กฎหมายเทศบาลฉบับใหม่ โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของสภาเทศบาลได้แก่ กำหนดให้จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลมีจำนวนที่คงที่ ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรเหมือนในกฎหมายฉบับก่อนหน้า โดยกำหนดให้สภาตำบลประกอบด้วยสมาชิก 9 คน สภาเมืองมีสมาชิก 18 คน และสภาบาลนครมีสมาชิก 36 คน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของเขตเลือกตั้งคือไม่ใช้ระบบตัวแทนจากหมู่บ้านหรือตำบลละ 1 คนแล้ว แต่ได้เปลี่ยนเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ละเขตมีสมาชิกสภาได้ 3 คน ดังนั้นเทศบาลตำบลจึงแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 3 เขต เทศบาลเมืองแบ่งออกเป็น 6 เขต และเทศบาลนครแบ่งออกเป็น 12 เขต

พ.ศ.2486 มีการประกาศใช้กฎหมายเทศบาลฉบับใหม่ โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของสภาเทศบาลได้แก่ การเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลในเทศบาลแต่ละประเภท โดยกำหนดให้สภาตำบลประกอบด้วยสมาชิก 12 คน สภาเมืองมีสมาชิก 24 คน และสภานครมีสมาชิก 48 คน ระบบการเลือกตั้งยังเป็นเหมือนปี พ.ศ.2481

พ.ศ.2496 มีการประกาศใช้กฎหมายเทศบาลฉบับใหม่ โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของสภาเทศบาลได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโดยลดจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลในเทศบาลแต่ละประเภท โดยกำหนดให้เทศบาลตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภา 12 คน เทศบาลเมืองมีสมาชิกสภา 18 คน และเทศบาลนครมีสมาชิกสภา 24 คน ในส่วนของที่มาของสมาชิกสภาเทศบาลกำหนดให้มี 2 ประเภท คือ สมาชิกจำนวนครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

พ.ศ.2499 มีกฎหมายแก้ไขให้สมาชิกสภาเทศบาลมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้ง 3 ประเภทมีจำนวนเท่าเดิม คือ เทศบาลตำบลมีสมาชิกสภาจำนวน 12 คน เทศบาลเมืองมีสมาชิกสภาจำนวน 18 คน และเทศบาลนครมีสมาชิกสภาจำนวน 24 คน ซึ่งจำนวนสมาชิกสภาในเทศบาลแต่ละประเภทมีจำนวนคงที่มาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2552)

พ.ศ.2501 มีกฎหมายแก้ไขเขตเลือกตั้งจากเดิมที่เขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 3 คน เป็นให้เขตเลือกตั้งหมายถึงเขตท้องถิ่นซึ่งกำหนดให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น นั่นหมายความว่าเขตเลือกตั้งคือทั้งเขตพื้นที่ของเขตเทศบาล ระบบการเลือกตั้งเทศบาลจึงกลายเป็นแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ จากระบบเดิมแต่ละเขตเลือกตั้งมีขนาดเล็กประชาชนสามารถลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งได้ 3 เบอร์ เปลี่ยนเป็นประชาชนสามารถลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลที่ตนเองมีสิทธิ์เลือกตั้ง กล่าวคือ กรณีของเทศบาลตำบลประชาชนสามารถลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งได้ 12 เบอร์ กรณีเทศบาลเมืองประชาชนสามารถลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งได้ 18 เบอร์ และในกรณีเทศบาลนครประชาชนสามารถลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งได้ 24 เบอร์

พ.ศ.2545 มีประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฉบับใหม่ โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของสภาเทศบาลได้แก่ เขตเลือกตั้งใหม่ โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบล ให้แบ่งเขตเทศบาลออกเป็น 2 เขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมือง ให้แบ่งเขตเทศบาลเป็น 3 เขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครให้แบ่งเขตเทศบาลออกเป็น 4 เขตเลือกตั้ง และต้องมีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลเท่ากันทุกเขตเลือกตั้ง หมายความว่าเขตเลือกตั้งมีขนาดเล็กลง แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลได้ 6 คน ประชาชนสามารถลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งได้ 6 เบอร์

2. องค์ประกอบและที่มาของฝ่ายบริหารเทศบาล

กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย คือพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 กำหนดให้ฝ่ายของเทศบาลเรียกว่า คณะมนตรี โดยคณะมนตรีของทั้งเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ประกอบด้วยนายกมนตรี 1 คน และมนตรีอย่างน้อย 2 คน อย่างมาก 4 คน มาจากการที่ข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้เลือกตั้ง ในการเลือกตั้งคณะเทศมนตรีนั้น นายกเทศมนตรี หรือเทศมนตรีไม่มีบทบังคับว่าจะต้องเลือกตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจเลือกจากสมาชิกสภาเทศบาลหรือบุคคลอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลก็ได้ แต่มีบทบังคับเพียงว่าบุคคลนั้นจะต้องมีวิทยฐานะตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ คือ มีวิทยฐานะเทียบชั้นประถมศึกษาสามัญ พ.ศ.2481 มีการประกาศใช้กฎหมายเทศบาลฉบับใหม่ โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของฝ่ายบริหารเทศบาลที่เปลี่ยนแปลงไปได้แก่ การเปลี่ยนชื่อเรียก คณะมนตรี เป็น คณะเทศมนตรี การให้นายกเทศมนตรีทำหน้าที่ประธานสภาเทศบาล การกำหนดนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีมาจากความเห็นชอบของสภาเทศบาล โดยจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของคณะเทศมนตรีต้องเลือกจากสมาชิกสภาเทศบาล และในส่วนของจำนวนของคณะเทศมนตรี กฎหมายได้กำหนดให้เทศบาลตำบลมีนายกเทศมนตรี 1 คน และเทศมนตรี 2 คน เทศบาลเมืองให้มีนายกเทศมนตรี 1 คน และเทศมนตรีอย่างน้อย 2 คน อย่างมาก 4 คน และเทศบาลนครให้มีนายกเทศมนตรี 1 คน และเทศมนตรีอย่างน้อย 2 คนและอย่างมาก 6 คน

พ.ศ.2486 มีการประกาศใช้กฎหมายเทศบาลฉบับใหม่ โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของฝ่ายบริหารเทศบาลที่เปลี่ยนแปลงไปได้แก่ กำหนดให้เทศบาลเมืองให้มีนายกเทศมนตรี 1 คน และเทศมนตรีอย่างน้อย 2 คน อย่างมาก 3 คน และเทศบาลนครให้มีนายกเทศมนตรี 1 คน และเทศมนตรีอย่างน้อย 2 คนและอย่างมาก 4 คน

พ.ศ.2496 มีการประกาศใช้กฎหมายเทศบาลฉบับใหม่ โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของฝ่ายบริหารเทศบาลที่เปลี่ยนแปลงไปได้แก่ กำหนดให้นายกเทศมนตรีไม่ได้เป็นประธานสภาเทศบาลโดยตำแหน่ง และกำหนดให้เทศบาลเมืองมีนายกเทศมนตรี 1 คนและเทศมนตรี 2 คน เทศบาลนครให้มีนายกเทศมนตรี 1 และเทศมนตรี 4 คน

พ.ศ.2523 มีกฎหมายแก้ไขให้เทศบาลเมืองที่มีรายได้จัดเก็บตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ให้มีเทศมนตรีเพิ่มขึ้นได้อีกหนึ่งคน (เพิ่มขึ้น 1 คนเป็น 3 คน)

พ.ศ.2543 มีการแก้ไขกฎหมายให้ที่มาของฝ่ายบริหารของเทศบาลอาจมีที่มาได้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือรูปแบบเดิมเป็นรูปแบบคณะผู้บริหารที่มาจากมติของสภาเทศบาล กล่าวคือเป็นรูปแบบการเลือกตั้งฝ่ายบริหารเทศบาลแบบทางอ้อมหรือเป็นโครงภายในแบบรัฐสภา (Parliamentary System) รูปแบบที่สอง เป็นรูปแบบใหม่ที่กฎหมายเปิดช่องให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งนายกเทศมนตรีได้โดยตรง หรือเป็นโครงภายในแบบประธานาธิบดี (Presidential System) ซึ่งการที่เทศบาลหนึ่งๆ จะเลือกใช้โครงสร้างภายในแบบรัฐสภาหรือแบบประธานาธิบดี กฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนโดยการทำประชามติ อย่างไรก็ตามกฎหมายได้กำหนดให้เทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่หมดวาระทำการเลือกตั้งสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีทางตรงได้เลยโดยไม่ต้องทำประชามติ ส่วนเทศบาลตำบลกฎหมายกำหนดรอจนถึง พ.ศ.2550 แล้วจึงทำประชามติว่าประชาชนในเทศบาลตำบลนั้นๆ ต้องการที่จะใช้โครงสร้างภายในรูปแบบใด

พ.ศ.2546 มีการแก้ไขกฎหมายให้เทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี และให้นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน นั่นหมายความว่านับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ส่งผลให้ทุกเทศบาลมีโครงสร้างภายในเหมือนกันคือโครงสร้างภายในแบบสภาและนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งทางตรง (Presidential System)

กระแสที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นมีมากขึ้นหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 โดยในมาตรา 285 กำหนดให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาก็ได้ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทศบาลโดยเฉพาะสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจึงได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายบริหารของเทศบาลมาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาฝ่ายบริหารที่อ่อนแอซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดกับการบริหารงานของเทศบาลมาอย่างยาวนาน ผลของการผลักดันดังกล่าวจึงนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายเทศบาลใน พ.ศ.2543 และ 2546 ดังกล่าว กระแสความต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงดังกล่าว นอกจากนำมาซึ่งการแก้ไขกฎหมายเทศบาลแล้ว ยังมาซึ่งการแก้ไขกฎหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัดและกฎหมายองค์การบริหารส่วนตำบลให้มีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนในปลายปี พ.ศ.2546 อีกด้วย ดังนั้นนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา โครงสร้างภายในขององค์กรปกครองท้องถิ่นทุกรูปแบบในประเทศไทยจึงมีโครงสร้างเหมือนกันหมด คือรูปแบบสภาและนายกที่ต่างฝ่ายต่างมาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชน (Presidential System)

3. อำนาจหน้าที่ของเทศบาล

พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 ได้กำหนดหน้าที่ที่เทศบาลมีอำนาจหน้าที่จัดทำนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หน้าที่ที่เทศบาลต้องกระทำและหน้าที่ที่ไม่บังคับให้ต้องทำ แต่สามารถจัดทำได้ตามกำลังของตน ซึ่งในเทศบาลแต่ละประเภทจะมีอำนาจหน้าที่แตกต่างตามขนาดของเทศบาล ดังนี้

เทศบาลตำบลมีอำนาจหน้าที่ที่ต้องจัดทำ ดังนี้

1. จัดการสาธารณสุข

2. จัดการให้ราษฎรได้มีน้ำจืดบริโภค

3. จัดให้มีและบำรุงถนนและทางกับการระบายน้ำในเขตเทศบาล

4. จัดการให้ราษฎรได้มีความสะดวกในการสื่อสาร

5. จัดการแก้ไขและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎรให้ดีขึ้นตามสมควร

6. จัดการให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรมชั้นประถมศึกษา

7. จัดการอบรมให้ราษฎรเข้าใจการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ

8. จัดการรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี อีกทั้งระงับเหตุรำคาญในท้องถิ่น ตลอดจนป้องกันมิให้ผู้ใดละเมิดกฎหมาย

9. จัดให้มีศาลาเทศบาล

10. หน้าที่อื่นๆ ซึ่งจะได้มีกฎหมายบังคับให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบล

บริการสาธารณะที่เทศบาลตำบลอาจจัดทำได้ตามกำลังของตน มีดังนี้

1. จัดให้มีการบำรุงตลาด คอกสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ที่อาบน้ำ และซักฟอก ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม สุสานและณาปนสถานของเทศบาล

2. จัดตั้งและบำรุงโรงเรียนชั้นมัธยมขึ้นไปหรือโรงเรียนวิชาชีพใดๆ

3. จัดให้มีและบำรุงการประปาเพื่อจำหน่ายน้ำสะอาดให้แก่ราษฎรในตำบล

4. จัดให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บ และปัจจัยสำหรับสาธารณูปโภคประเภทอื่นๆ

5. จัดให้มีเครดิตสถาน

6. จัดให้มีและบำรุงการไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายกระแสไฟให้แก่ราษฎรในตำบลหรือให้แสงสว่างโดยวิธีอื่นตามที่ชุมนุมชน

7. จัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬาและพลศึกษา

8. จัดให้มีและบำรุงสวนสำหรับเดินเล่น

9. จัดให้มีและบำรุงโรงมหรสพ

10. กิจการอื่นๆ ซึ่งไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย

ส่วนอำนาจหน้าที่ของเทศบาลเมืองนั้น นอกจากจะต้องจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ ที่บังคับให้เทศบาลตำบลทำทุกประการแล้ว เทศบาลเมืองยังมีบริการสาธารณะบางอย่างที่ต้องจัดทำเพิ่มเติมจากที่เทศบาลตำบลจัดทำ คือ

1. จัดให้มีการบำรุงตลาด คอกสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ที่อาบน้ำ และซักฟอก ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม สุสานและณาปนสถานของเทศบาล

2. จัดให้มีและบำรุงการประปาเพื่อจำหน่ายน้ำสะอาดให้แก่ราษฎร

3. จัดให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บ และปัจจัยสำหรับสาธารณูปโภคประเภทอื่นๆ

4. จัดให้มีและบำรุงการไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายกระแสไฟให้แก่ราษฎรในตำบลหรือให้แสงสว่างโดยวิธีอื่นตามที่ชุมนุมชน

5. จัดให้มีและบำรุงกองดับเพลิง

นอกจากนี้เทศบาลเมืองอาจจัดทำบริการสาธารณะอื่นๆ เพิ่มเติมได้ซึ่งเป็นบริการสาธารณะเช่นเดียวกับที่กำหนดให้เทศบาลตำบลเลือกจัดทำ

ในส่วนเทศบาลนคร นอกจากจะต้องจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ ที่บังคับให้เทศบาลเมืองทำทุกประการแล้ว เทศบาลนครยังมีบริการสาธารณะบางอย่างที่ต้องจัดทำเพิ่มเติมจากที่เทศบาลเมืองจัดทำ คือ

1. จัดให้มีและบำรุงสุขศาลาและโรงพยาบาล

2. จัดให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและทารก

3. จัดให้มีและบำรุงการสงเคราะห์คนอนาถา

4. จัดให้มีและบำรุงส้วมสาธารณะ

5. จัดให้มีและบำรุงสถานที่สาธารณะสำหรับการกีฬาและพลศึกษา

นอกจากนี้เทศบาลนครอาจจัดทำบริการสาธารณะอื่นๆ เพิ่มเติมได้ตามกำลังของตน ซึ่งเป็นบริการสาธารณะเช่นเดียวกับที่กำหนดให้เทศบาลตำบลเลือกจัดทำ

อำนาจหน้าที่ของเทศบาลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 นับได้ว่ามีขอบเขตที่กว้างขวางและครอบคลุมการให้บริการประชาชนในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนในกฎหมายเทศบาลฉบับใหม่และกฎหมายฉบับปรับปรุงแก้ไขในระยะหลังๆ ซึ่งพบว่าอำนาจหน้าที่ของเทศบาลมีขอบเขตที่แคบลงและมีขนาดของภารกิจที่เล็กลง

สมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการแต่งตั้งให้เป็นผู้เริ่มการ

แม้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 จะกำหนดให้สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้ง แต่ในบทเฉพาะกาลแห่งกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้รัฐบาลแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติและพื้นความรู้ตามที่กฎกระทรวงกำหนด ให้เป็นสมาชิกของสภาเทศบาลผู้เริ่มการ โดยในการแต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นผู้เริ่มการ รัฐบาลต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติและพื้นความรู้ตามที่กฎกระทรวงกำหนด ซึ่งคุณสมบัติและพื้นความรู้ดังกล่าวได้แก่

1. มีความรู้อ่านหนังสือไทยออกและเขียนได้ ทั้งมีความเข้าในในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ

2. มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3. ต้องเป็นบุคคลที่ทางราชการได้สอบสวน และพิจารณาโดยถ่องแท้แล้วว่ามิได้เป็นบุคคลอันธพาลหรือเป็นหัวหน้าโจร หรือหัวหน้าซ่องกระทำผิดต่อกฎหมาย

4. มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักฐานสนับสนุน

นับจากพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 มีการประกาศใช้ รัฐบาลได้ทยอยตราพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดตั้งเทศบาล และได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อแต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลผู้เริ่มการ โดยรายชื่อสภาเทศบาลและจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลผู้เริ่มการซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งนับตั้งแต่ พ.ศ.2478 ถึง พ.ศ.2489 สามารถพิจารณาได้ดังนี้

ลำดับ รายชื่อสภาเทศบาล จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลผู้เริ่มการ (คน)
1 สภานครกรุงเทพ 127 127
2 สภานครธนบุรี 84 84
3 สภานครเชียงใหม่ 19
4 สภาเมืองจันทบุรี 24 24
5 สภาเมืองฉะเชิงเทรา 40 24 40
6 สภาเมืองชลบุรี 36 36
7 สภาเมืองชุมแสง 14 14
8 สภาเมืองตรัง 33 24 33
9 สภาเมืองตราด 9 9
10 สภาเมืองนครศรีอยุธยา 69 69
11 สภาเมืองนครปฐม 38 38
12 สภาเมืองนครนายก 19 19
13 สภาเมืองนครราชสีมา 35 69 35
14 สภาเมืองนครสวรรค์ 40 40
15 สภาเมืองนครศรีธรรมราช 58 58
16 สภาเมืองบางมูลนาค 16 16
17 สภาเมืองบ้านโปร่ง 21 69 21
18 สภาเมืองบ้านเซ่า 16 69 16
19 สภาเมืองปราจีนบุรี 12 12
20 สภาเมืองพิษณุโลก 36
21 สภาเมืองเพ็ชรบุรี 69 57
22 สภาเมืองโพธาราม 15 69 15
23 สภาเมืองภูเก็ต 63 63
24 สภาเมืองระยอง 13 13
25 สภาเมืองราชบุรี 45
26 สภาเมืองลพบุรี 20
27 สภาเมืองสงขลา 69
28 สภาเมืองสมุทรปราการ 48 48
29 สภาเมืองสมุทรสาคร 73
30 สภาเมืองสระบุรี 18
31 สภาเมืองสิงห์บุรี 8 8
32 สภาเมืองสุพรรณบุรี 25 63 25
33 สภาเมืองสุราษฎร์ธานี 34 34
34 สภาเมืองอุตรดิตถ์ 24 24
35 สภาเมืองอุทัยธานี 26 26
36 สภาเมืองหาดใหญ่ 18 18
37 สภาเมืองสองพี่น้อง 23 21
38 สภาเมืองกระบี่ 18 18
39 สภาเมืองขุขันธ์ 21 21
40 สภาเมืองชุมพร 20 20
41 สภาเมืองชัยนาท 20 20
42 สภาเมืองชัยภูมิ 20 20
43 สภาเมืองนราธิวาส 21 21
44 สภาเมืองปทุมธานี 18 18
45 สภาเมืองพิจิตร 20 20
46 สภาเมืองสมุทรสงคราม 18 18
47 สภาเมืองอ่างทอง 20 20
48 สภาเมืองนนทบุรี 28 34 28
49 สภาเมืองน่าน 26 34 26
50 สภาเมืองบุรีรัมย์ 19 19
51 สภาเมืองพังงา 20
52 สภาเมืองมหาสารคาม 22
53 สภาเมืองยะลา 20
54 สภาเมืองร้อยเอ็ด 18
55 สภาเมืองลำพูน 21
56 สภาเมืองสตูล 19 19
57 สภาเมืองสุรินทร์ 18 18
58 สภาเมืองกาญจนบุรี 12 12
59 สภาเมืองขอนแก่น 44 12 44
60 สภาเมืองเชียงราย 18 18
61 สภาเมืองนครพนม 31 31
62 สภาเมืองประจวบคีรีขันธ์ 12 12
63 สภาเมืองปัตตานี 40 40
64 สภาเมืองแพร่ 50 50
65 สภาเมืองลำปาง 98 98
66 สภาเมืองหนองคาย 35 35
67 สภาเมืองอุบลราชธานี 38 38
68 สภาเมืองกำแพงเพชร 18 18
69 สภาเมืองตาก 27 27
70 สภาเมืองพัทลุง 20 20
71 สภาเมืองเพ็ชรบูรณ์ 18 18
72 สภาเมืองแม่ฮ่องสอน 20 18 20
73 สภาเมืองระนอง 20
74 สภาเมืองเลย 19 19
75 สภาเมืองสกลนคร 20 20
76 สภาเมืองสวรรคโลก 22 22
77 สภาเมืองอุดรธานี 19 19
78 สภาตำบลหัวหิน 24 31
79 สภาตำบลชะอำ 24
80 สภาเมืองพนัสนิคม 22
81 สภาเมืองพะเยาว์ 19 27
82 สภาเมืองปากพนัง 23
83 สภาเมืองบางบัวทอง 21 19 21
84 สภาเมืองเสนา 20 20
85 สภาเมืองตะกั่วป่า 22 20 22
86 สภาเมืองกาฬสินธุ์ 22 22
87 สภาเมืองสุโขทัยธานี 21 20 21
88 สภาเมืองพระประแดง 20 20
89 สภาตำบลพล 19 19
90 สภาตำบลบางคล้า 14 20 14
91 สภาตำบลวัดสิงห์ 11 14 20 11
92 สภาตำบลโนนสูง 47 20 47
93 สภาตำบลกันตัง 12 14 20 12
94 สภาตำบลธาตุ 10 20 10
95 สภาตำบลแม่สอด 9 20 9
96 สภาตำบลอรัญญประเทศ 20 9
97 สภาตำบลเบตง 20 9
98 สภาตำบลสะเดา 20 9
99 สภาตำบลพิบูลมังษาหาร 9
100 สภาตำบลท่าใหม่ 9 9
101 สภาตำบลหลังสวน 9 10 20 9
102 สภาตำบลปากแพรก 9
103 สภาตำบลสุไหงโกล๊ค 10 20 9
104 สภาตำบลนาสาร 20 9
105 สภาตำบลตะลุบัน 9 9
106 สภาตำบลอัมพวา 9 9
107 สภาตำบลกระทุ่มแบน 9 20 9
108 สภาตำบลหนองตาเตี้ยง 20 9
109 สภาตำบลป่าโมก 9
110 สภาเมืองพระตะบอง 18 9
111 สภาตำบลยะโสธร 9 20 12
112 สภาตำบลแก่งคอย 9 20 12
113 สภาตำบลศรีพนมมาศ 20 12
114 สภาตำบลท่าเรือ 12 9 20 9
115 สภาตำบลตะพานหิน 12 9 20 9
116 สภาตำบลหล่มศักดิ์ 12 9 20 9
117 สภาตำบลศรีราชา 9 20 12
118 สภาตำบลขลุง 12 9
รวม 2,928


การเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลภายใต้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2479

พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 บัญญัติไว้ว่าภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่สภาท้องถิ่น (สมาชิกสภาเทศบาลผู้เริ่มการ) ได้มีการประชุมกันครั้งแรก ให้สมาชิกของสภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ได้แก่ผู้ที่พลเมืองได้เลือกตั้ง ประเภทที่ 2 ได้แก่ผู้ที่รัฐบาลได้แต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินสมาชิกประเภทที่ 1 และเมื่อเทศบาลใดมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ได้มีการศึกษาจบประถมศึกษาสามัญมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมดแล้ว ให้เทศบาลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ในปลายปี พ.ศ.2479 วาระของสมาชิกสภาเทศบาลผู้เริ่มการบางแห่งจะสิ้นสุดลงนับจากครบ 1 ปีนับแต่มีการประชุมกันครั้งแรก ในการนี้รัฐบาลจึงได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อแต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลประเภทที่ 2 ในเทศบาลต่างๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้น และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2479 เพื่อรองรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลประเภทที่ 1 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2479 พิจารณาได้ดังต่อไปนี้

1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

1.1 ต้องมิใช่ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในวันเลือกตั้ง

1.2 มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่ ผู้มีสัญชาติไทยคนใด

1.2.1 ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งได้สมรสกับมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนภาษาไทยจนได้ประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) หรือได้รับราชการประจำการตามกฎหมายลักษณะเกณฑ์ทหาร หรือเป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือ ครูโรงเรียนประชาชนบาลโดยมีเงินเดือนประจำแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี
1.2.2 ถ้าเป็นบุคคลที่แปลงชาติเป็นไทยต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2.2.1 หรือได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรติดต่อกันนับแต่เมื่อแปลงชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี

1.3 อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันแรกแห่งระยะเวลาซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้ง

1.4 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

1.5 ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้

1.6 ไม่เป็นไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช

1.7 ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

2. คุณลักษณะของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล

2.1 ต้องมิใช่ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในวันเลือกตั้ง

2.2 มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่ ผู้มีสัญชาติไทยคนใด

2.2.1 ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งได้สมรสกับมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนภาษาไทยจนได้ประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) หรือได้รับราชการประจำการตามกฎหมายลักษณะเกณฑ์ทหาร หรือเป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือ ครูโรงเรียนประชาชนบาลโดยมีเงินเดือนประจำแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี
2.2.2 ถ้าเป็นบุคคลที่แปลงชาติเป็นไทยต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2.2.1 หรือได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรติดต่อกันนับแต่เมื่อแปลงชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี

2.3 อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันแรกแห่งระยะเวลาซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้ง

2.4 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

2.5 ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้

2.6 ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช

2.7 ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

2.8 ไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นความผิดส่วนตัวหรือฐานประมาท

2.9 อายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์ในวันแรกแห่งระยะเวลาซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้ง

2.10 มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้

2.11 ไม่เป็นผู้อยู่ในฐานะเหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญ

2.12 ไม่เป็นบุคคลหูหนวกหรือเป็นใบ้หรือตาบอดทั้งสองข้าง

2.13 ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

2.14 ไม่เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลไม่สั่งให้พ้นจากคดี

2.15 ไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานเทศบาลซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำในจังหวัด

3. การลงคะแนนเลือกตั้ง

3.1 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2479 กำหนดให้หมู่บ้านเป็นหน่วยเลือกตั้งสำหรับสภาตำบล (สภาเทศบาลตำบล) และ สภาเมือง (สภาเทศบาลเมือง) และให้ตำบลเป็นหน่วยเลือกตั้งสำหรับสภานคร (สภาเทศบาลนคร)

3.2 ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ให้คณะกรมการอำเภอประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่ซึ่งเห็นได้ง่าย

3.3 บุคคลใดไม่มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใด ถ้าเห็นว่าตนเองสมควรมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยนั้น ให้ยื่นตำร้องต่อคณะกรมการอำเภอให้ลงชื่อตนในบัญชีรายชื่อนั้นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน

3.4 นายจ้างทั้งปวงต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่ลูกจ้างในอันที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง

3.5 วันเลือกตั้งให้เปิดการลงคะแนนตั้งแต่เวลา 07.00 น.–17.00 น.

3.6 การลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนได้เพียงครั้งเดียวและไม่เกินจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีได้ในหน่วยเลือกตั้ง และในการลงคะแนนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปลงคะแนนด้วยตนเอง

3.7 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดได้รับบัตรเลือกตั้งแล้วไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้ใด ให้คืนบัตรนั้นแก่กรรมการตรวจนับคะแนนและให้กรรมการตรวจคะแนนบันทึกไว้ในบัญชีรายชื่อ

3.8 ในวันเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแสดงตนต่อกรรมการตรวจคะแนนเพื่อให้ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในขณะที่กรรมการตรวจคะแนนจะส่งบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้ใดนั้น ต้องอ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดังๆ หากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งคนใดทักท้วงว่ามิใช่บุคคลผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อ ให้กรรมการตรวจคะแนนวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้สิทธิลงคะแนนหรือไม่

4. การนับคะแนนและการประกาศผล

เมื่อปิดการลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ให้กรรมการตรวจนับคะแนนโดยเปิดเผย มิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนน ต้องทำต่อให้เสร็จในรวดเดียว และเมื่อการนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้กรรมการตรวจคะแนนประกาศผลของการเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งนั้น แล้วเรียบทำรายงานแสดงผลการเลือกตั้ง

ในกรณีที่หน่วยเลือกตั้งซึ่งมีสมาชิกสภาท้องถิ่นได้เพียงคนเดียว ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น

ในกรณีที่หน่วยเลือกตั้งซึ่งมีสมาชิกสภาท้องถิ่นได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงตามลำดับลงมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นจนครบจำนวน และกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเท่ากัน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้คะแนนเท่ากันจับฉลากว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งหรือไม่ต่อหน้าคณะกรรมการตรวจคะแนน

โดยสรุปการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479 เป็นระบบการเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ กล่าวคือเขตเลือกตั้งหนึ่งซึ่งได้แก่หมู่บ้านในกรณีเทศบาลตำบลและเทศบาลเมือง หรือ ตำบลในกรณีเทศบาลนคร มีสมาชิกสภาเทศบาลได้หลายคนขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในหมู่บ้านหรือตำบล และระบบการนับคะแนนเป็นแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย หรือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้คะแนนมากที่สุดก็เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นจะได้คะแนนร้อยละเท่าใดถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือไม่

5. ข้อห้ามกระทำผิดการเลือกตั้งและบทกำหนดโทษ

5.1 ห้ามมิให้ตั้งข้าราชการประจำอ่านและเขียนหนังสือไทยได้ ห้ามมิให้ตั้งข้าราชการประจำการ นายกมนตรี มนตรี และพนักงานเทศบาลหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการตรวจคะแนนหรือกรรมการสำรอง

5.2 ภายในปริมณฑลสามสิบเมตรแห่งที่ทำการเลือกตั้งห้ามมิให้ผู้ใดชักชวนขอคะแนนหรือทำการโฆษณาเพื่อการเลือกตั้ง ผู้ใดกระทำการละเมิด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินกว่าห้าสิบบาท

5.3 ห้ามมิให้บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติเป็นไทยกระทำการใดๆ โดยเจตนาจะช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ผู้ใดได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น

5.4 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งผู้ใด บังอาจนับบัตรเลือกตั้ง หรือคะแนนในการเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือจงใจรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิได้มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย หรือให้กลายเป็นบัตรเสีย หรือจงใจอ่านบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือจงใจทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความจริง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เดือนหนึ่งขึ้นไปจนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเสีย มีกำหนดเวลาไม่ต่ำกว่าสี่ปี และไม่เกินแปดปี

5.5 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งหรือเจ้าพนักงานผู้ใดมีหน้าที่จัดการอย่างใดๆ ในการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ จงใจไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือกระทำการอันใดโดยเจตนาขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวแก่การเลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเสียมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.6 ข้าราชการประจำการ นายกมนตรี มนตรี และพนักงานเทศบาลผู้ใดใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ อันเป็นอุปการะหรืออันเป็นโทษแก่การเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเสียมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.7 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งคนใดอ่านหรือตรวจดู หรือยอมให้ผู้อื่นอ่าน หรือตรวจดูเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งก่อนการคลีบัตรออกเพื่อนับคะแนน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.8 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งผู้ใดแจ้งแก่ผู้ใดให้ทราบจำนวนบัตรเลือกตั้งซึ่งได้ลงคะแนนไว้หรือให้ทราบจำนวนคะแนนอันได้ลงไว้สำหรับบุคคลใดหรือให้ทราบว่าผู้ใดได้ลงคะแนนหรือไม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.9 ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ใด หรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใดๆ แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใด โดยเจตนาจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองก็ดี หรือให้แก่ผู้ใดก็ดี หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้ใดก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเสีย มีกำหนดเวลาสี่ปี

5.10 ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งบังอาจเข้าสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.11 ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดจัดรถ หรือเรือ หรือยานพาหนะใดๆ นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้ง หรือกลับจากที่เลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสานพาหนะซึ่งต้องเสียตามปกติหรือผู้ใดกระทำการเช่นว่านั้น เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเสียมีกำหนดเวลาสีปี

5.12 บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทยผู้ใด กระทำการใดๆ โดยเจตนาจะช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ผู้ใดได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.13 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใดๆ เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อรับสัญญาว่าจะลงคะแนนเลือกตั้งหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใด มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเสียมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.14 ภายหลังแต่เวลาที่ได้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งไว้เพื่อการลงคะแนนแล้วก็ดี หรือภายหลังแต่เวลาทีได้ปิดหีบบัตรนั้น เพื่อรักษาไว้เมื่อการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นแล้วก็ดี ผู้ใดบังอาจเปิดหีบบัตรเลือกตั้งนั้นโดยมิได้มีอำนาจจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และให้ศาลสั่งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเสียมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.15 ผู้ใดมิได้มีอำนาจจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำด้วยประการใดๆ โดยเจตนาขัดความหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนน หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังว่านั้นภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.16 ผู้ใดโดยเจตนาทุจริตลงเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งซึ่งมิใช่ของตน หรือผู้ใดมิได้มีอำนาจจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย บังอาจทำเครื่องหมาย หรือเครื่องสังเกตโดยวิธีใดๆ ไว้ที่บัตรเลือกตั้ง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.17 ผู้ใดลงคะแนนเลือกตั้ง หรือพยายามลงคะแนนเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้นได้ก็ดี หรือทอดบัตร หรือพยายามทอดบัตรมากกว่าบัตรหนึ่งก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และให้ศาลสั่งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเสียมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.18 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใด โดยเจตนาทุจริตในการเลือกตั้งไม่คืนบัตรเลือกตั้งให้กรรมการตรวจคะแนน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

5.19 ผู้ใดก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่เลือกตั้งหรือในที่ประชาชนชุมนุมกันอยู่ เพื่อรอการเข้าไปลงคะแนนเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.20 นายจ้างทั้งปวงต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่ลูกจ้างในอันที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ใดละเมิดมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท

ที่มา

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2479.

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482.

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 วันที่ 4 มีนาคม 2501.

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 107 วันที่ 17 ตุลาคม 2545.

พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯ พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2479.

พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงธนบุรี พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2479.

พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ พุทธศักราช 2478, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 29 มีนาคม 2478.

พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 24 มิถุนายน 2477.

พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2479 หน้า 599-560, มาตรา 3, 5 และ 6.

พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2481, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 1 เมษายน 2482.

พระราชบัญญัติเทสบาล พุทธศักราช 2486, ราชกิจจานุเบกสา ตอนที่ 12 เล่ม 60 วันที่ 25 กุมภาพันธ 2486.

พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496, ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 14 เล่ม 70 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2496.

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2499, ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 11 เล่ม 74 วันที่ 29 มกราคม 2500.

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2523, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 131 ฉบับพิเศษ หน้า 6 วันที่ 21 สิงหาคม 2523.

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2543, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนที่ 41 ก หน้า 13 วันที่ 12 พฤษภาคม 2543.

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 120 ตอนที่ 124 ก หน้า 3 วันที่ 22 ธันวาคม 2546.

กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 22 มีนาคม 2477.

กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 23 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 1394-1406 วันที่ 20 ตุลาคม 2478.

แถลงการณ์ เรื่อง การยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 10 ธันวาคม 2478.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สภาผู้เริ่มการแห่งสภานครกรุงเทพ และ สภานครธนบุรี,ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 23 มีนาคน 2479.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 30 ธันวาคม 2478.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 18 มกราคม 2479.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเมือง, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 23 มีนาคม 2479.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 2 สิงหาคม 2479.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเมือง, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 24 พฤษภาคม 2480.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งสมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาตำบลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสภาตำบลชะอำ จังหวัดเพ็ชร์บุรี, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 6 ธันวาคม 2480.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาท้องถิ่น, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 55 วันที่ 8 สิงหาคม 2481.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 25 มีนาคม 2482, น.3697-3700.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 57 วันที่ 24 มิถุนายน 2483.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 58 วันที่ 23 มกราคม 2484.

ประกาสกระซวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกสา ตอนที่ 4 เล่มที่ 60 วันที่ 19 มกราคม 2486.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 62 ตอนที่ 17 วันที่ 27 มีนาคม 2488.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 62 ตอนที่ 21 วันที่ 10 เมษายน 2488.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 62 ตอนที่ 30 วันที่ 29 พฤษภาคม 2488.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 62 ตอนที่ 39 วันที่ 24 กรกฎาคม 2488.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 62 ตอนที่ 53 วันที่ 25 กันยายน 2488.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภาเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 63 ตอนที่ 11 วันที่ 5 มีนาคม 2489.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540.

ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปีการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, กรุงเทพมหานคร : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2540.

พงศักดิ์ พิพัฒนเดชา, “นายกเทศมนตรีในประเทศไทย : การศึกษาเฉพาะกรณีอนุวัติการตามคำสั่งของคณะปฏิวัติ” ,วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2506.

สุวัสดี โภชน์พันธุ์. “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476 – 2500.” วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

อลงกรณ์ อรรคแสง, “พัฒนาการการจัดโครงสร้างขององค์กรปกครองท้องถิ่นของไทยเปรียบเทียบต่างประเทศ” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปีการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, กรุงเทพมหานคร : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2540.

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2479.

พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 24 มิถุนายน 2477.

สุวัสดี โภชน์พันธุ์. “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476 – 2500.” วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

อลงกรณ์ อรรคแสง, “พัฒนาการการจัดโครงสร้างขององค์กรปกครองท้องถิ่นของไทยเปรียบเทียบต่างประเทศ” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2479 หน้า 604-630.
  2. ขุนจรรยาวิเศษกับนายทองหล่อ บุณยวนิช, คำอธิบายเทศบาล, (พระนคร : โรงพิมพ์ดำรงธรรม, 2479), น. 8 อ้างถึงใน พงศักดิ์ พิพัฒนเดชา, “นายกเทศมนตรีในประเทศไทย : การศึกษาเฉพาะกรณีอนุวัติการตามคำสั่งของคณะปฏิวัติ” ,วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2506, น.9.
  3. ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปีการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, กรุงเทพมหานคร : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2540, น.119.
  4. พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 24 มิถุนายน 2477 หน้า 82-107.
  5. เพิ่งอ้าง, มาตรา 4.
  6. เพิ่งอ้าง, มาตรา 42.
  7. เพิ่งอ้าง, มาตรา 48.
  8. แถลงการณ์ เรื่อง การยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 10 ธันวาคม 2478, น.1803-1804.
  9. พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯ พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2479, น.704-709. และ พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงธนบุรี พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2479, น.710-714.
  10. เพิ่งอ้าง, มาตรา 5, 43 และ 49.
  11. เรื่องเดียวกัน.