พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482
ผู้เรียบเรียง อลงกรณ์ อรรคแสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
กำเนิดสภาจังหวัด
สมาชิกสภาจังหวัดเป็นผู้แทนประชาชนในระดับท้องถิ่นที่เก่าแก่พอๆ กับสมาชิกสภาเทศบาล สืบเนื่องจากได้มีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาจังหวัดตั้งแต่พุทธศักราช 2476 โดยได้มีการตราไว้ในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 [1] ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2476 โดยมีหมวดที่ 3 ตั้งแต่มาตราที่ 54 – 57 เป็นหมวดที่ว่าด้วย สภาจังหวัดโดยเฉพาะ
มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 กำหนดให้สภาจังหวัดประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 10 คน โดยมาจากการเลือกตั้งอำเภอละ 1 คน แต่ถ้าอำเภอใดมีราษฎรมากกว่า 10,000 คน ให้มีสมาชิกสภาจังหวัดเพิ่มขึ้นอีก 1 คนต่อราษฎร 10,000 คน
แต่ถ้าคำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้วจังหวัดใดยังได้สมาชิกสภาจังหวัดไม่ครบ 10 คน กฎหมายกำหนดให้เอา 10 หารด้วยจำนวนราษฎร อำเภอใดมีราษฎรมากกว่าผลลัพธ์ดังกล่าว ให้มีสมาชิกสภาจังหวัดเพิ่มอีก 1 คน ทุกจำนวนที่ได้ผลลัพธ์ดังกล่าว
ในมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 ได้กำหนดให้สภาจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบและรายงานเรื่องงบประมาณซึ่งตั้งทางจังหวัดและสอบสวนการคลังทางจังหวัด
2. แบ่งสรรเงินอุดหนุนของรัฐบาลระหว่างเทศบาลในจังหวัด
3. เสนอข้อแนะนำรัฐบาลในการจังกอบ การเงิน และการอื่นๆ ของเทศบาลและกิจการอื่นๆ ในจังหวัด อาทิ การเกษตร การหัตถกรรม การขนส่ง การค้าขาย ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี และกิจการอื่นๆ อันจะส่งเสริมสวัสดิภาพของราษฎรในจังหวัด
4. ตั้งกระทู้ถามกรมการจังหวัด ในที่ประชุมสภาในข้อความใดๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ แต่กรมการจังหวัดมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าข้อความนั้นๆ ยังไม่ควรเปิดเผย
5. ให้คำปรึกษาในปัญหาต่างๆ เมื่อรัฐบาลร้องขอ
นอกจากนี้ ในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 ยังให้อำนาจสภาจังหวัดในการเลือกสมาชิกสภา 3-5 คน เพื่อตั้งเป็นคณะกรรมาธิการจังหวัด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจและรายงานเรื่องงบประมาณที่ตั้งโดยจังหวัด และสามารถสอบสวนการคลังของทางจังหวัดตามที่มีระเบียบหรือพระราชกฤษฎีการกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อแตกต่างระหว่างเทศบาล และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดอีกด้วย สมาชิกสภาจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งให้เป็นผู้เริ่มการ
แม้ในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 จะกำหนดให้มีสภาจังหวัด แต่ไม่มีการตรากฎหมายที่ใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดโดยเฉพาะ ดังนั้นการดำเนินการของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาจังหวัด จึงอ้างอิงหรือดำเนินการด้วยกฎหมายเทศบาลทั้งสิ้น
แม้มาตรา 54 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 จะกำหนดให้สมาชิกสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง[2] แต่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 60 ได้กำหนดให้รัฐบาลแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติและพื้นความรู้ตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ให้เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น เพื่อเป็นผู้เริ่มการ
และภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่สภาท้องถิ่น (สภาเทศบาล) ได้มีการประชุมกันครั้งแรก กฎหมายกำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท ประเภทที่ 1 ได้แก่ ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง และประเภทที่ 2 ได้แก่ ผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้ง ซึ่งมีจำนวนไม่มากกว่าสมาชิกสภาประเภทที่ 1
หลังจากนั้นหากท้องถิ่นใดมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจบการศึกษาสามัญมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ให้สภาท้องถิ่นนั้นมีสมาชิกสภาประเภทที่ 1 หรือมีสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
และบทบัญญัติที่ใช้กับสภาเทศบาลนี้ได้ถูกนำมาบังคับใช้กับสภาจังหวัดด้วยเช่นกัน
ในการแต่งตั้งสมาชิกสภาจังหวัดให้เป็นผู้เริ่มการนั้น รัฐบาลได้ทำการแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติและพื้นฐานความรู้ตามกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 [3] ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภาจังหวัดผู้เริ่มการดังนี้
1. มีความรู้อ่านหนังสือไทยออกและเขียนได้ ทั้งมีความเข้าใจในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ
2. มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่กำหนดความรู้
3. ต้องเป็นบุคคลที่ทางราชการได้สอบสวนและพิจารณาโดยถ่องแท้แล้วว่ามิได้เป็นบุคคลอันธพาล หรือเป็นหัวหน้าโจร หรือหัวหน้าซ่องกระทำการผิดต่อกฎหมาย
4. มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักฐานสนับสนุน
ในส่วนของคุณสมบัติของผู้สมัครตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เวลานั้นได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475[4] ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครไว้ดังนี้
1. มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่
- 1.1 ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ จะได้แต่งงานกับมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนหนังสือไทย จนได้ประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือได้รับพระราชทานประจำการตามประราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้ว หรือได้รับพระราชการประจำแผนกอื่นๆ ในตำแหน่งตั้งแต่เสมียนพนักงานขึ้นไปโดยมีเงินเดือนประจำแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี
- 1.2 ถ้าเป็นคนที่แปลงสัญชาติมาเป็นไทยต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 หรือได้อยู่ในราชอาณาจักรสยามเป็นเวลาติดต่อกันนับแต่ได้แปลงชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี
2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
3. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในขณะมีการเลือกตั้ง
4. ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวชในขณะมีการเลือกตั้ง
5. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิออกเสียง
6. มีอายุ 23 ปีบริบูรณ์
7. ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสเพลเป็นอาจิณหรือติดยาเสพติดให้โทษ
8. มีความรู้ตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้
9. ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 11 [5]
10. ต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือมีอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดนั้น และข้าราชการรับพระราชทานเงินเดือนของรัฐบาลในตำแหน่งประจำจังหวัดใด จะสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้
11 บุคคลหนึ่งจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดได้เฉพาะจังหวัดเดียว
ต่อมาในปี พ.ศ.2476 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ซึ่งได้ยกเลิกบทบัญญัติภาค 1 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นแทนดังนี้ [6]
1. มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่
- 1.1 ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ จะได้แต่งงานกับมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนหนังสือไทย จนได้ประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือได้รับพระราชทานประจำการตามประราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้ว หรือได้รับพระราชการประจำแผนกอื่นๆ ในตำแหน่งตั้งแต่เสมียนพนักงานขึ้นไปโดยมีเงินเดือนประจำแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี
- 1.2 ถ้าเป็นคนที่แปลงสัญชาติมาเป็นไทยต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 หรือได้อยู่ในราชอาณาจักรสยามเป็นเวลาติดต่อกันนับแต่ได้แปลงชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี
2. มีอายุ 30 ปีบริบูรณ์ (เดิม 23 ปี บริบูรณ์)
3. เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยและความประพฤติเรียบร้อยและไม่ติดยาเสพย์ติดให้โทษ
4. ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 11
5. ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ต้องมีความรู้ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้
6. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
7. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่ตามหมายจับ หรือหมายของศาล
8. ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวช
9. ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิออกเสียง หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาชญา
10. ต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือมีอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดนั้น
11. ข้าราชการรับพระราชทานเงินเดือนของรัฐบาลในตำแหน่งประจำจังหวัดใด จะสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้
12. บุคคลหนึ่งจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดได้เฉพาะจังหวัดเดียว
ดังนั้นในปี พ.ศ.2477 จึงได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงนามโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น เป็นประกาศเรื่องสภาจังหวัด ซึ่งเป็นประกาศรายชื่อสมาชิกสภาจังหวัดที่รัฐบาลได้ทำการแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติและพื้นฐานความรู้ตามกฎกระทรวงในจังหวัดต่างๆ 60 จังหวัดทั่วประเทศในขณะนั้นให้เป็นผู้เริ่มการ การประกาศรายชื่อสมาชิกสภาจังหวัดให้เป็นผู้เริ่มการดังกล่าวนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศออกมา 3 ฉบับ มีรายชื่อสมาชิกสภาจังหวัดทั่วประเทศทั้งสิ้น 1,235 คน โดยจังหวัดที่มีสมาชิกสภาจังหวัดมากที่สุดคือ จังหวัดอุบล มีสมาชิกสภาจังหวัดจำนวน 63 คน รองลงมาได้แก่จังหวัดพระนคร มีสมาชิกสภาจังหวัดจำนวน 54 คน[7] โดยจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดผู้เริ่มการที่รัฐบาลแต่งตั้งในจังหวัดต่างๆ สามารถพิจารณาได้จากตารางต่อไปนี้
ลำดับ รายชื่อจังหวัด จำนวนสมาชิกสภาจังหวัดผู้เริ่มการ
1. กระบี่ 10
2. กาญจนบุรี 10
3. กำแพงเพ็ชร์ 9
4. ขุขันธ์ 28
5. ขอนแก่น 33
6. จันทบุรี 9
7. ฉะเชิงเทรา 17
8. ชลบุรี 12
9. เชียงใหม่ 44
10. ชัยนาท 12
11. ชัยภูมิ 18
12. ตราด 10
13 ตาก 10
14. ตรัง 10
15. นครนายก 10
16. นครพนม 19
17. นครสวรรค์ 21
18. พระนครศรีอยุธยา 27
19. นราธิวาส 10
20. นครศรีธรรมราช 30
21. นครราชสีมา 44
22. หนองคาย 10
23. น่าน 17
24. บุรีรัมย์ 17
25. ประจวบคีรีขันธ์ 10
26. ปราจีนบุรี 14
27. พิจิตร 12
28. พัทลุง 10
29. เพ็ชรบุรี 10
30. พังงา 11
31. เพ็ชรบูรณ์ 11
32. แพร่ 15
33. ภูเก็ต 10
34. มหาสารคาม 47
35. ราชบุรี 27
36. ระนอง 10
37. ร้อยเอ็ด 37
38. ระยอง 10
39. ลำปาง 25
40. ลำพูน 14
41. เลย 11
42. ลพบุรี 12
43. สกลนคร 17
44. สิงห์บุรี 10
45. สระบุรี 17
46. สมุทรสงคราม 9
47. สุราษฎร์ธานี 15
48. สตูล 10
49. สงขลา 25
50. สวรรคโลก 12
51. สุพรรณบุรี 22
52. สมุทรสาคร 10
53. สมุทรปราการ 11
54. อุบลราชธานี 63
55. อุดร 19
56. อ่างทอง 10
57. อุตตรดิตถ์ 11
58. อุทัยธานี 10
59. ชุมพร 10
60. เชียงราย 33
61. ธนบุรี 19
62. นครปฐม 19
63. นนทบุรี 10
64. ปทุมธานี 10
65. ปัตตานี 17
66. พระนคร 54
67. พิษณุโลก 13
68. ยะลา 10
69. สุรินทร์ 26
70. แม่ฮ่องสอน 10
ที่มา : สรุปจากประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องสมาชิกสภาจังหวัด, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 หน้า 4534 วันที่ 22 มีนาคม 2477 , ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องสมาชิกสภาจังหวัด (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 หน้า 4668 วันที่ 30 มีนาคม 2477 และ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องสมาชิกสภาจังหวัด (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 1268 วันที่ 21 กรกฎาคม 2478.
สมาชิกสภาจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก
ในบทบัญญัติเฉพาะกาล มาตรา 60 วรรคสองตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 กำหนดให้ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่สภาท้องถิ่นได้มีการประชุมกันครั้งแรก ให้สมาชิกของสภาท้องถิ่นประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท ประเภทที่ 1 ได้แก่ผู้ที่พลเมืองได้เลือกตั้งประเภทที่ 2 ได้แก่ผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินสมาชิกประเภทที่ 1
ดังนั้นหลังจากระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่สภาจังหวัดเริ่มการได้มีการประชุมกันครั้งแรก เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐบาลจึงได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2479 โดยได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2 พุทธศักราช 2479 ซึ่งลงนามโดยธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น โดยในประกาศดังกล่าวประกาศให้ทราบว่าเพื่อเป็นไปตามมาตรา 60 ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 จึงสมควรจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดประเภทที่ 1 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2479 ฉะนั้นบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล ลงวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2477 ที่ปรารถนาจะรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดใด ให้ยื่นใบสมัครต่อกรมการอำเภอของจังหวัดนั้น [8]
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2479 เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ต่อมาในเดือนกันยายน กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาจังหวัดต่างๆ ทั้งสมาชิกสภาจังหวัดประเภทที่ 1 ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง[9] ซึ่งสามารถพิจารณาจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดในจังหวัดต่างๆ ได้จากตารางต่อไปนี้
ลำดับ รายชื่อจังหวัด จำนวนสมาชิกสภาจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกสภาจังหวัด ที่มาจากการแต่งตั้ง จำนวนรวม
1. กระบี่ 10 5 15
2. กาญจนบุรี 10 5 15
3. กำแพงเพ็ชร์ 9 5 14
4. ขุขันธ์ 28 14 42
5. ขอนแก่น 42 21 63
6. จันทบุรี 9 5 14
7. ฉะเชิงเทรา 18 9 27
8. ชลบุรี 12 6 18
9. เชียงใหม่ 43 22 65
10. ชัยนาท 14 7 21
11. ชัยภูมิ 21 11 32
12. ตราด 10 5 15
13 ตาก 10 5 15
14. ตรัง 10 5 15
15. นครนายก 10 5 15
16. นครพนม 24 12 36
17. นครสวรรค์ 21 11 32
18. พระนครศรีอยุธยา 27 14 41
19. นราธิวาส 10 5 15
20. นครศรีธรรมราช 35 18 53
21. นครราชสีมา 44 22 66
22. หนองคาย 10 5 15
23. น่าน 16 9 25
24. บุรีรัมย์ 21 11 32
25. ประจวบคีรีขันธ์ 10 5 15
26. ปราจีนบุรี 14 7 21
27. พิจิตร 12 6 18
28. พัทลุง 10 5 15
29. เพ็ชรบุรี 14 7 21
30. พังงา 11 6 17
31. เพ็ชรบูรณ์ 11 6 17
32. แพร่ 17 9 26
33. ภูเก็ต 10 5 15
34. มหาสารคาม 52 26 78
35. ราชบุรี 28 14 42
36. ระนอง 10 5 15
37. ร้อยเอ็ด 43 22 65
38. ระยอง 10 5 15
39. ลำปาง 24 12 36
40. ลำพูน 13 7 20
41. เลย 11 6 17
42. ลพบุรี 13 7 20
43. สกลนคร 21 11 32
44. สิงห์บุรี 10 5 15
45. สระบุรี 17 9 26
46. สมุทรสงคราม 10 5 15
47. สุราษฎร์ธานี 16 8 24
48. สตูล 10 5 15
49. สงขลา 22 11 33
50. สวรรคโลก 14 7 21
51. สุพรรณบุรี 22 11 33
52. สมุทรสาคร 11 6 17
53. สมุทรปราการ 13 7 20
54. อุบลราชธานี 64 32 96
55. อุดรธานี 24 12 36
56. อ่างทอง 11 6 17
57. อุตตรดิตถ์ 11 6 17
58. อุทัยธานี 10 5 15
59. ชุมพร 11 6 17
60. เชียงราย 33 17 50
61. ธนบุรี 23 12 35
62. นครปฐม 20 10 30
63. นนทบุรี 12 6 18
64. ปทุมธานี 10 5 15
65. ปัตตานี 17 9 26
66. พระนคร 67 34 101
67. พิษณุโลก 13 7 20
68. ยะลา 10 5 15
69. สุรินทร์ 26 13 39
70. แม่ฮ่องสอน 10 5 15
รวม 1,315 672 1,987
ที่มา : สรุปจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 1232 วันที่ 7 กันยายน 2479. และ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2 (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 1592 วันที่ 28 กันยายน 2479
ในการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาจังหวัด พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 มาตรา 54 วรรค 3 กำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสภาเมือง (สภาของเทศบาลเมือง) มาใช้บังคับในเรื่องสภาจังหวัดโดยอนุโลม และในมาตรา 44 เกี่ยวกับสภาเมืองกฎหมายบัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสภาตำบล (สภาของเทศบาลตำบล) มาใช้บังคับในเรื่องสภาเมือง
สาระสำคัญเกี่ยวกับสภาจังหวัดซึ่งกฎหมายกำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสภาเมืองมาบังคับใช้โดยอนุโลมนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดนั้น สามารถพิจารณาได้จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในส่วนของคุณสมบัติของสมาชิกสภาจังหวัดผู้เริ่มการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้สมัครเดียวกัน
ในส่วนของสาระสำคัญอื่นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาจังหวัดซึ่งกฎหมายกำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสภาเมืองมาบังคับใช้โดยอนุโลมนั้น สามารถพิจารณาได้ดังนี้
1. สมาชิกสภาจังหวัดย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนในจังหวัด มิใช่ผู้แทนเฉพาะผู้ที่เลือกตั้งตนเอง
2. การอยู่ในตำแหน่ง การเข้ารับหน้าที่ และการสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพ ให้นำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราชจักรสยาม มาตรา 18, 19 และ 21 มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติทั้ง 3 มาตรามีเนื้อหาสาระดังนี้[10]
- 2.1 มาตรา 18 ให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้เลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนให้เต็มตำแหน่งที่ว่างอยู่ แต่สมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
- 2.2 มาตรา 19 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ
- 2.3 มาตรา 21 สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ ถึงคราวออกตามวาระหรือยุบสภา, ตาย, ลาออก, ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สภา มติในข้อนี้ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
3. ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งสมาชิกสภาตามมติของสภาให้เป็นประธานแห่งสภาหนึ่งคน เป็นรองประธานหนึ่งคนหรือหลายคนก็ได้
4. หน้าที่ประธานและรองประธาน การเลือกประธานเฉพาะคราวประชุม องค์ประชุมและกำหนดสมัยประชุม ให้นำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม มาตรา 23, 24, 25, 26 และ 28 มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติทั้ง 5 มาตรามีเนื้อหาสาระดังนี้ [11]
- 4.1 มาตรา 23 การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากันให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
- 4.2 มาตรา 24 สมาชิกไม่ต้องรับผิดในถ้อยคำใดๆ ที่ได้กล่าวหรือแสดงเป็นความเห็นหรือในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม ผู้หนึ่งผู้ใดจะว่ากล่าวฟ้องร้องเพราะเหตุนั้นหาได้ไม่
- 4.3 มาตรา 25 ในการประชุมทุกคราวประธานต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ประจำในสภาจดรายงานรักษาไว้ และเสนอเพื่อให้สมาชิกได้ตรวจแก้ไขรับรอง แล้วให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมลงนามกำกับไว้
- 4.4 มาตรา 26 สภามีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้สอบสวนพิจารณาทำความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อปรึกษาหารือตกลงอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ประธานอนุกรรมการนั้นเมื่อสภาไม่ได้ตั้งก็ให้อนุกรรมการเลือกกันเองตั้งขึ้นเป็นประธานได้
- 4.5 มาตรา 28 คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสภา
5. การปรึกษาหารือในสภาจังหวัด ต้องเป็นที่เกี่ยวกับท้องถิ่นจังหวัดนั้นโดยเฉพาะ ห้ามมิให้มีการปรึกษาหารือในเรื่องการเมืองแห่งรัฐ
6. สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ มีกำหนดเวลาไม่เกิน 15 วัน แต่กระทรวงมหาดไทยจะอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปได้
7. เมื่อสมาชิกสภาจังหวัดมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเป็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งท้องถิ่นแล้ว ย่อมมีสิทธิรวมกันทำคำร้องขอต่อประธานแห่งสภาให้รีบรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย เรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาจังหวัดได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ประธานสภาจังหวัดรีบนำเรื่องเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยและรับสอนองคำสั่งซึ่งจะต้องรีบสั่งโดยด้วน
8. กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจที่จะยุบสภาจังหวัดมีอำนาจที่จะยุบสภาจังหวัดเพื่อให้พลเมืองเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในคำสั่งให้ยุบสภาเช่นนี้ต้องแสดงเหตุผลและมีกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายใน 90 วัน
9. ระเบียบการประชุมและการปรึกษาของสภาจังหวัดโดยทั่วไป ให้อนุโลมตามขอบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดภายใต้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า แม้สภาจังหวัดจะถือกำหนดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2477 แต่ก็เป็นการถือกำเนิดภายใต้ร่มเงาของพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 สภาจังหวัดไม่มีกฎหมายจัดตั้งของตนเอง ดังนั้นการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้สภาจังหวัดเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในระยะแรก จึงต้องนำบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อใช้กับเทศบาลมาปรับใช้โดยอนุโลม
สภาจังหวัดมามีกฎหมายจัดตั้งของตนเองในปี พ.ศ.2482 โดยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พุทธศักราช 2481 [12]
พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พุทธศักราช 2481 กำหนดให้จังหวัดหนึ่งๆ ให้มีสภาประจำจังหวัดสภาหนึ่ง เรียกว่าสภาจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 9 คน ซึ่งราษฎรในอำเภอเลือกตั้งขึ้นอำเภอละ 1 คน แต่ถ้าอำเภอใดมีราษฎรมากกว่า 30,000 คน ให้มีสมาชิก 1 คน ทุกราษฎร 30,000 คน เศษถ้าเกิน 30,000 ให้นับเป็น 30,000
แต่คำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าวยังได้สมาชิกสภาไม่ครบ 9 คน ให้ถือว่าอำเภอหนึ่งมีสมาชิกได้ 1 คน และจำนวนสมาชิกที่ยังขาด ให้ดำเนินการโดยเอา 9 หารจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใด ให้ถือเป็นเกณฑ์สำหรับคำนวณสมาชิกเพิ่ม อำเภอใดมีจำนวนราษฎรมากที่สุด ให้อำเภอนั้นมีสมาชิกเพิ่มอีก 1 คน แล้วให้เอาผลลัพธ์หักจำนวนราษฎรของอำเภอนั้นออก เหลือเท่าใดให้ถือเป็นจำนวนราษฎรของอำเภอนั้นสำหรับพิจารณาเพิ่มสมาชิกที่ยังขาด ดำเนินการดังนี้จนกว่าจะได้สมาชิกสภาครบ 9 คน
สมาชิกสภาจังหวัดมีวาระ 4 ปี สมาชิกภาพของสมาจังหวัดสิ้นสุดลงเมื่อ ถึงคราวออกตามวาระ, ยุบสภา, ตาย, ลาออก, ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด, ไม่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัด, สภาจังหวัดวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อเสียแก่สภาหรือความไม่สงบเรียบร้อยหรือกรำทำการอันอาจเสื่อมเสียประโยชน์จังหวัดด้วยมติไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
สภาจังหวัดตามพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พุทธศักราช 2481 มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ [13]
1. ตรวจและรายงานเรื่องงบประมาณซึ่งตั้งทางจังหวัดและสอบสวนการคลังทางจังหวัด ตามระเบียบซึ่งมีกฎกระทรวงกำหนดไว้
2. แบ่งเงินอุดหนุนของรัฐบาลระหว่างบรรดาเทศบาลในจังหวัด
3. เสนอข้อแนะนำต่อคณะกรรมการจังหวัด (เดิมเป็นการให้ข้อแนะนำแก่รัฐบาล) ในกิจการของจังหวัดดังต่อไปนี้
- 3.1 การรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
- 3.2 การประถมศึกษาและอาชีวะศึกษา
- 3.3 การป้องกันโรค การบำบัดโรค การจัดตั้งและบำรุงสถานการณ์พยาบาล
- 3.4 การจัดให้มีและบำรุงทางบกทางน้ำ
- 3.5 การกสิกรรมและการขนส่ง
- 3.6 การเก็บภาษีอากรโดยตรงซึ่งจะเป็นรายได้ส่วนจังหวัด
- 3.7 การเปลี่ยนแปลงเขตหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและเขตเทศบาล
4. ให้คำปรึกษาในกิจการที่คณะกรมการจังหวัดหรือรัฐบาลร้องขอ
5. สภาจังหวัดมีสิทธิตั้งกระทู้ถามกรมการจังหวัดในข้อความใดๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้ แต่กรมการจังหวัดทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าข้อความนั้นๆ ยังไม่ควรเปิดเผย
6. สภาจังหวัดอาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาหรือมิได้เป็นสมาชิกสภา จำนวน 3-5 คนตั้งเป็นคณะกรรมการสภาจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตรวจและรายงานเรื่องงบประมาณซึ่งตั้งทางจังหวัดและสอบสวนการคลังจังหวัดตามระเบียบที่มีกฎกระทรวงกำหนด และคณะกรรมการนี้มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อแตกต่างระหว่างเทศบาล
7. สภาจังหวัดอาจเลือกสมาชิกสภาตั้งเป็นคณะกรรมการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกหรือไม่ได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นกรรมการสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความใดๆ อันอยู่ในวงงานของสภา แล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมการที่ตั้งนี้ อาจเรียกบุคคลใดๆ มาชี้แจงแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กระทำหรือพิจารณาอยู่
หลังรัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ.2481 ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2482 ซึ่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482 [14]มีสาระสำคัญดังนี้
1. บททั่วไป
1.1 เขตเลือกตั้ง หมายถึง เขตอำเภอซึ่งกำหนดให้ราษฎรในเขตนั้นเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดตามจำนวนที่กำหนด
1.2 ระยะเวลารับสมัครเลือกตั้งจะต้องกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 15 วัน และไม่เกิน 30 วัน โดยกำหนดวันสุดท้ายของระยะเวลาไว้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน (นั่นหมายความว่ามีเวลาหาเสียงอย่างน้อย 30 วัน)
1.3 ในเขตเลือกตั้งใดถ้ามีผู้สมัครเท่าจำนวนสมาชิกสภาที่พึงมีหรือน้อยกว่า ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นราษฎรได้เลือกแล้วโดยไม่ต้องลงคะแนน
1.4 นายจ้างทั้งปวงต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่ลูกจ้างในอันที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง
2. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
2.1 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดต้องมิใช่ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาลในวันเลือกตั้ง
2.2 มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่ผู้ที่มีสัญชาติไทยคนใด
- 2.2.1 ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ ต้องเป็นผู้ที่เรียนภาษาไทยจนได้ประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) หรือได้รับราชการประจำการตามกฎหมายรับราชการทหาร หรือเป็นข้าราชการพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือครูโรงเรียนประชาบาล โดยมีเงินเดือนประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- 2.2.2 ถ้าเป็นบุคคลแปลงสัญชาติเป็นไทย ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่กำหนดไว้ในข้อ 2.2.1 หรือมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรติดต่อกันนับตั้งแต่แปลงชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
2.3 อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
2.4 ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง
2.5 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
2.6 ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้
2.7 ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
2.8 ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
3. คุณลักษณะของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด
3.1 ต้องมิใช่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาให้กักกันหรือจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ความผิดส่วนตัวหรือฐานประมาท ม.18
3.2 มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่ผู้ที่มีสัญชาติไทยคนใด
- 3.2.1 ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ ต้องเป็นผู้ที่เรียนภาษาไทยจนได้ประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) หรือได้รับราชการประจำการตามกฎหมายรับราชการทหาร หรือเป็นข้าราชการพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือครูโรงเรียนประชาบาล โดยมีเงินเดือนประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- 3.2.2 ถ้าเป็นบุคคลแปลงสัญชาติเป็นไทย ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่กำหนดไว้ในข้อ 3.2.1 หรือมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรติดต่อกันนับตั้งแต่แปลงชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
3.4 ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง
3.5 อายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
3.6 มีความรู้สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) หรือมีความรู้ซึ่งกระทรวงธรรมการรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่านั้นแต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นจำเป็นในกรณีแห่งเขตเลือกตั้งใด จะประกาศกำหนดพื้นความรู้ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาสามัญเฉพาะเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้ และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2482 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดให้บางจังหวัดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดมีพื้นความรู้เพียงอ่านและเขียนหนังสือได้เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวได้ประกาศให้ทุกเขตเลือกตั้งใน 12 จังหวัด และบางเขตเลือกตั้งใน 10 จังหวัด ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดมีพื้นความรู้เพียงอ่านและเขียนหนังสือได้ก็พอ [15]
3.7 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
3.8 ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้
3.9 ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
3.10 ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
3.11 ไม่เป็นผู้อยู่ในฐานะเหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
3.12 ไม่เป็นบุคคลหูหนวก หรือเป็นใบ้
3.13 ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ
3.14 ไม่เป็นผู้ล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
3.15 ไม่เป็นบุคคลที่เป็นโรคติดต่อตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
3.16 ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล ครูประชาบาล หรือลูกจ้างของรัฐบาลที่มีเงินเดือนประจำ
4. การลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
ในวันเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้เปิดการลงคะแนนตั้งแต่ 8.00 นาฬิกา ถึง 16.00 นาฬิกา[16] ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงคะแนนด้วยตนเอง ในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ให้ยื่นบัตรแก่กรรมการตรวจคะแนนผู้ประจำหีบบัตรเลือกตั้ง และให้กรรมการนั้นใส่บัตรลงในหีบทันที[17] ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้ใด ให้คืนบัตรเลือกตั้งให้แก่กรรมการตรวจคะแนน และให้กรรมการตรวจคะแนนบันทึกไว้ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง [18]
5. การนับคะแนนและการประกาศผล
เมื่อเสร็จการลงคะแนนเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้กรรมกมารตรวจคะแนนนับบัตร ตรวจบัตร และนับคะแนนโดยเปิดเผย ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนน[19] นั่นหมายถึงว่าตามนับคะแนนตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482 เป็นการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้ง ถ้ามีสมาชิกสภาจังหวัดได้เพียงคนเดียว ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด แต่ถ้ามีสมาชิกได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงกว่าผู้อื่นตามลำดับลงมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดจนครบจำนวน [20] นั่นหมายความว่า ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482 เป็นระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple majority system) และเขตเลือกตั้งเป็นแบบรวมเขตหลายเบอร์
6. ข้อห้ามกระทำผิดการเลือกตั้งและบทกำหนดโทษ
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482 มีกำหนดบทกำหนดโทษต่อที่กระทำความผิดดังต่อไปนี้
6.1 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งผู้ใดจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนในการเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือจงใจรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือกลายเป็นบัตรเสีย หรือจงใจอ่านบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความเป็นจริง หรือจงใจทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความจริง มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าบาทขึ้นไปจนถึงพันบาท หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนไปจนถึงห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่ต่ำกว่าสี่ปีแต่ไม่เกินแปดปี [21]
6.2 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งหรือเจ้าพนักงานผู้ใดมีหน้าที่จัดการอย่างใดๆ ในการเลือกตั้งตามกฎหมาย จงใจไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือกระทำการอันใดโดยเตนาขัดขวางมิให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎข้อบังคับ หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [22]
6.3 ข้าราชการประจำการและพนักงานเทศบาลผู้ใดใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ อันเป็นอุปการะ หรือเป็นโทษแก่การเลือกตั้งของผู้สมัครผู้ใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [23]
6.4 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งใด อ่าน หรือตรวจดู หรือยอมให้ผู้อื่นอ่านหรือดูเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งก่อนการคลี่บัตรออกเพื่อนับคะแนนต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [24]
6.5 ผู้ที่มีหน้าที่ในการเลือกตั้งแจ้งแก่ผู้ใดให้ทราบจำนวนบัตรเลือกตั้งซึ่งได้ลงคะแนนไว้ หรือแจ้งให้ทราบจำนวนคะแนนอันได้ลงไว้สำหรับบุคคลใด หรือให้แจ้งทราบว่าผู้ใดได้ลงคะแนนหรือไม่ ก่อนประกาศผลการนับคะแนน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [25]
6.6 ผู้สมัครหรือผู้ใดให้ หรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใดๆ แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใด โดยเจตนาจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองก็ดี หรือให้แก่ผู้อื่นก็ดี หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้ใดก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี [26]
6.7 ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง บังอาจสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี [27]
6.8 ผู้สมัครผู้ใดจัดยาพาหนะใดๆ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เพื่อไปลงคะแนน หรือกลับ โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะซึ่งต้องเสียตามปกติ หรือผู้ใดกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครคนใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [28]
6.9 บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทยผู้ใด กระทำการช่วยเหลือผู้สมัครคนใด โดยตรงหรือโดยปริยาย หรือมีส่วนหรือใช้อิทธิพลในการเลือกตั้งประการใดๆ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยถึงสองพันบาท หรือจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ [29]
6.10 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใดๆ เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยให้คำมั่นว่าจะลงคะแนนเลือกตั้ง หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี [30]
6.11 ผู้ใดมิได้มีอำนาจที่จะทำโดยชอบด้วยกฎหมาย อังอาจเปิดหีบบัตรเลือกตั้งซึ่งได้ปิดไว้เพื่อการลงคะแนนก็ดี หรือซึ่งได้ปิดเพื่อรักษาไว้ภายหลังการเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [31]
6.12 ผู้ใดมิได้มีอำนาจโดยขอบด้วยกฎหมาย กระทำประการใดๆ โดยเจตนาขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่ลงคะแนนหรือเข้าไปในที่ลงคะแนน หรือมิให้ไปถึงสถานที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะขอแก้บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [32]
6.13 ผู้ใดลงเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งซึ่งมิใช่ของตนเองโดยเจตนาทุจริต หรืออังอาจขีดเขียนหรือทำเครื่องสังเกตโดยวิธีใดๆ ไว้ที่บัตรเลือกตั้งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [33]
6.14 ผู้ใดลงคะแนนเลือกตั้ง หรือพยายามลงคะแนนโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยลงคะแนน หย่อนบัตรหรือพยายามหย่อนบัตรมากกว่าหนึ่งใบหรือมากกว่าหนึ่งครั้งในการลงคะแนนเลือกตั้ง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [34]
6.15 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใด โดยเจตนาทุจริตในการเลือกตั้งไม่คืนบัตรเลือกตั้งให้กรรมการตรวจคะแนนในกรณีไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้ใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี [35]
6.16 ผู้ใดก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ลงคะแนนหรือในที่ประชาชนชุมนุมกันเพื่อรอการเข้าไปขอแก้บัญชีหรือลงคะแนนเลือกตั้ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ [36]
6.17 นายจ้างที่ไม่อำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างในอันที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท [37]
6.18 ผู้ใดชักชวนขอคะแนนหรือทำโฆษณาใดๆ ภายในบริเวณสามสิบเมตรแห่งที่ลงคะแนน หรือใช้เครื่องเปล่งเสียง หรือทำเสียงอื่นใดโดยประการที่รบกวนหรือเป็นอุปสรรคการเลือกตั้งแม้จะทำนอกบริเวณ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ [38]
ที่มา
กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 22 มีนาคม 2477.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2 พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 14 มิถุนายน 2479.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดพื้นความรู้ของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2482.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัด, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 22 มีนาคม 2477.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัด (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 30 มีนาคม 2477.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัด (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 21 กรกฎาคม 2478.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 7 กันยายน 2479.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2 (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 28 กันยายน 2479.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 วันที่ 14 มิถุนายน 2476.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482.
พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 24 เมษายน 2477.
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49 วันที่ 21 ธันวาคม 2475.
พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พุทธศักราช 2481, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 หน้า วันที่ 1 เมษายน 2482.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49 วันที่ 10 ธันวาคม 2475.
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 24 เมษายน 2477.
พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พุทธศักราช 2481, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 1 เมษายน 2482.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 248
อ้างอิง
- ↑ พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 เมษายน 2477 เล่มที่ 51 หน้า 104.
- ↑ สภาท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479 หมายถึงสภาตำบล สภาเมือง และสภานคร ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบเทศบาล สภาท้องถิ่นตามกฎหมายไม่ได้หมายถึงสภาจังหวัดแต่อย่างใด แต่รัฐบาลในขณะนั้นได้ดำเนินการต่างๆ กับสภาจังหวัดด้วยวิธีการเดียวกับที่ดำเนินการกับเทศบาลเทศบาล
- ↑ กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 หน้า 1405-1406 วันที่ 22 มีนาคม 2477.
- ↑ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49 หน้า 558 วันที่ 21 ธันวาคม 2475. มาตรา 4,5,8 และ 9.
- ↑ บุคคลที่อยู่เหนือการเมือง ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้ง ก็ตามย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง, มาตรา 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475,ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๙ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ หน้า ๕๒๙ -๕๕๑
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 หน้า 337 วันที่ 14 มิถุนายน 2476.มาตรา 6,7,8,10,11 และ 12.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องสมาชิกสภาจังหวัด, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 หน้า 4534 วันที่ 22 มีนาคม 2477 , ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องสมาชิกสภาจังหวัด (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 หน้า 4668 วันที่ 30 มีนาคม 2477, ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องสมาชิกสภาจังหวัด (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 1268 วันที่ 21 กรกฎาคม 2478.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2 พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 546-549 วันที่ 14 มิถุนายน 2479.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 1232 วันที่ 7 กันยายน 2479. และ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2 (เพิ่มเติม), ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 1592 วันที่ 28 กันยายน 2479.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49 หน้า 537-538 วันที่ 10 ธันวาคม 2475. มาตรา 18,19 และ 21.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49 หน้า 537-538 วันที่ 10 ธันวาคม 2475. มาตรา 23,24,25,26 และ 28.
- ↑ พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พุทธศักราช 2481, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 หน้า 187-197 วันที่ 1 เมษายน 2482. (กฎหมายฉบับนี้ตราไว้ ณ วันที่ 29 มีนาคม 2481 แต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 1 เมษายน 2482)
- ↑ พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พุทธศักราช 2481, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 หน้า 194-196 วันที่ 1 เมษายน 2482. มาตรา 23, 25 และ 26.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 หน้า 1605-1636 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดพื้นความรู้ของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 หน้า 3452-3456 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2482.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 หน้า 1622 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482. มาตรา 42.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 47
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 48
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 50
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 53
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 58.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 59.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 60.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 61.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 62.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 63.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 64.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 65.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 66.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 67.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 68.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 69.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 70.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 71.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 72.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 73.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 74.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 75.