พระยาเสนาสงคราม
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระยาเสนาสงคราม : ผู้เสียเลือดวันเปลี่ยนแปลงฯ
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง “24 มิถุนายน 2475” นั้นกล่าวกันว่าเป็นการยึดอำนาจที่แทบจะไม่มีเลือดตกยางออก เว้นก็แต่ในกรณีพระยาเสนาสงคราม นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลเดิม ที่ถูกกระสุนปืนเข้าที่ท้อง เรื่องนี้จึงน่าสนใจ ถ้าอ่านในบันทึกเล่าของหม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิสกุล จะพบว่ามีความสั้นๆ ตอนหนึ่งถึงกรณีพระยาเสนาสงครามถูกกระสุนปืน ว่า
“...เข้าใจว่าเพราะเหตุนี้เอง พระยาเสนาฯ จึงถูกเรียกตัวทางโทรศัพท์ ลงมายิงเสียอย่างเลือดเย็น ในตอนเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน นั้น”
สำหรับหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พระยาเสนาสงคราม มีความตอนหนึ่งปรากฏอยู่ ในประวัติของผู้วายชนม์ ว่า
“ในวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระยาเสนาสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ดังนั้นจึงถูกนายทหารคณะผู้ก่อการไปดักยิงที่หน้าบ้าน ถนนนครไชยศรี อาการปางตายในเช้าวันนั้น...”
ส่วนคำบอกเล่าของผู้ก่อการฯ คนหนึ่งที่มีหน้าที่ไปจับตัวพระยาเสนาสงคราม คือ ร.ท.ขุนศรี ศรากร ที่ได้บันทึกอธิบายความตอนเกิดเหตุเอาไว้ว่า
“... ทั้งนี้เมื่อพระยาเสนาสงครามเปิดประตูบ้านออกมา ร.ท.ขุนศรีศรากรได้ยกมือขึ้นทำ ‘วันทยาหัตถ์’ แต่นายจ้อย ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไปด้วย เข้าใจผิดคิดว่าให้สัญญาณ จึงใช้พานท้ายปืนพาราแบลั่มตีศรีษะพระยาเสนาสงคราม และได้เกิดการยิงกันขึ้น กระสุนถูกหน้าท้องพลตรีพระยาเสนาสงคราม แต่ไม่ถึงแก่ชีวิต”
จึงสรุปได้ว่าพระยาเสนาสงครามถูกยิงจริง แต่จะถึงกับเรียกมายิงหรือถูกดักยิงอย่างไร คงต้องไปสืบเสาะวิเคราะห์รายละเอียดกันอีก ความสำคัญของพระยาเสนาสงคราม ที่ทางฝ่ายผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ กำหนดไว้ในรายชื่อบุคคลที่จะต้องส่งกำลังไปจู่โจมจับกุมตัวให้ได้ทันที ไม่ให้หนีไปได้ ก็เพราะท่านเป็นนายทหารที่มีตำแหน่งบังคับบัญชาสำคัญ กองทหารในเขตเมืองหลวง คือ เป็นผู้บัญชาการกองพล 1 รักษาพระองค์ ที่มีอำนาจสั่งการทหารในพระนครได้จริง มาดูชีวิตและงานของพระยาเสนาสงครามกันบ้าง
พระยาเสนาสงครามมีชื่อเดิมว่า อี๋ เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดในสกุล นพวงศ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2430 ที่วังเชิงสะพานอุบลรัตน์ ถนนราชินี อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร มีบิดาคือหม่อมเจ้าอบเชย และมารดาได้แก่ ม.ร.ว.สวาสดิ์ทรวง สำหรับการศึกษา ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์ ได้เข้าไปอยู่ในวังกับมารดาเมื่อตอนเด็ก จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ต่อมาเมื่อโตจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ในปี 2447 และสอบไล่ได้เป็นนายทหารในปี 2449 ขณะที่มีอายุได้ 19 ปี เข้ารับราชการทหารเป็นนายร้อยตรีตั้งแต่เบื้องแรก ส่วนชีวิตสมรสของท่านนั้น พระยาเสนาสงครามได้แต่งงานกับ น.ส.แส นาควิเวก
ชีวิตการรับราชการทหารได้เริ่มอยู่ในเหล่าทหารม้า ที่ต่อมาได้ย้ายไปประจำหน่วยทหารที่จังหวัดนครสวรรค์ แล้วจึงได้กลับมาอยู่ในนครหลวง ในปี 2471 ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี จากนั้นไม่นานก็ได้ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ อันเป็นตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในวันที่มีการยึดอำนาจเมื่อ 24 มิถุนายน ปี 2475 และท่านก็เป็นนายทหารคนสำคัญ 3 คนแรกที่นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้รับมอบหมายให้นำกำลังไปจับตัว แต่พระประศาสน์ฯ คุมตัว 2 คนแรกได้แล้ว จึงไม่อยากเสี่ยงพาตัวประกันตระเวนไปจับรายที่ 3 ต้องการรีบนำตัวกรมพระนครสวรรค์ฯ และพระยาสีหราชฯ ไปที่กองบัญชาการของฝ่ายก่อการฯ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเสียก่อน จึงได้มอบหมายให้ขุนศรีศรากรกับขุนจำนงภูมิเวท และพวกไปจับตัวพระยาเสนาสงคราม และเกิดการยิงกันขึ้น โดยพระยาเสนาสงครามถูกยิง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ท่านถูกออกจากราชการ แต่ก็ถูกทางรัฐบาลส่งคนไปเฝ้าตามดู เพราะถือว่าเป็นนายทหารที่มีศักยภาพที่จะนำคนมาโต้การปฏิวัติได้ จนเล่ากันว่าท่านขัดใจมากถึงกับกล้าว่ากระทบไปถึงผู้นำทหารของคณะราษฎรที่วังปารุสกวัน และเรื่องนี้ได้นำไปสู่การที่ท่านถูกลอบยิง ดังที่มีการบันทึกไว้ว่า
“.ท.ขุนศรีศรากรได้ยกมือขึ้นทำ ...ต่อมาอีกปีหนึ่ง พระยาเสนาสงครามได้ถูกคนร้ายดักยิง แต่รอดชีวิต ...”
ดังนั้นเมื่อเกิดกบฏบวรเดช ที่นำโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ในวันที่ 11 ตุลาคม ปี 2476 จึงมีชื่อพระยาเสนาสงครามเข้าร่วมด้วย มีบทบาทสำคัญที่จะนำทหารที่นครสวรรค์เข้าร่วมยึดอำนาจ แต่เมื่อเป็นฝ่ายที่แพ้เพราะรัฐบาลต่อสู้เต็มที่ จึงต้องหนีออกนอกประเทศทางบกไปอินโดจีนเช่นเดียวกับท่านหัวหน้า
“...พระยาเสนาสงครามได้ติดตามไปด้วย พำนักอยู่ที่กรุงไซ่ง่อนพักหนึ่ง แล้วมาอยู่ในประเทศมาเลเซีย จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นลงแล้ว พระยาเสนาสงครามจึงกลับมาสู่ประเทศไทย...”
ที่มาเลเซียนั้นท่านไปอยู่ที่ปีนัง และได้ย้ายไปที่สิงคโปร์ ตอนไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ ท่านยังถูกทางการสิงคโปร์จับว่าเป็นชนชาติศัตรู เป็นเวลาสั้นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว รัฐบาลนาย ควง อภัยวงศ์ ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ท่านจึงได้เดินทางกลับประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง และต่อมาในเดือนพฤษภาคม ปี 2499 ในสมัยที่คณะรัฐประหารเรืองอำนาจ มีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้สละเพศฆราวาส บวชเป็นพระที่วัดบวรนิเวศน์
พระยาเสนาสงครามได้บวชอยู่สืบมาอีก 7 ปี จึงมรณภาพในขณะเป็นสงฆ์ในวันที่ 22 ธันวาคม ปี 2506