พระบรมราโชบายด้านการต่างประเทศ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ความไม่เท่าเทียมของสยามกับนานาประเทศมีที่มาจากสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ที่สำคัญมักเกี่ยวกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งกระทบต่ออำนาจของศาลไทยอย่างมาก ทั้งยังมีผลต่อการกำหนดเพดานอัตราภาษีขาเข้าและออกของสยามด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้แก้ไขหรือทำสนธิสัญญาหรือสัญญาใหม่กับ ๗ ประเทศสำเร็จแล้ว ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้ดำเนินนโยบายต่อเนื่องจนสำเร็จอีก ๘ ประเทศ นับถึงปี ๒๔๗๔ ยังผลให้สยามไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเช่นที่ผ่านมา และมีความเสมอภาคกับนานาประเทศ สยามยังได้มีบทบาทที่แข็งขันในสันนิบาตชาติซึ่งเป็นต้นเค้าขององค์การสหประชาชาติในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความร่วมมือด้านการศึกษา ยาเสพติด และการแพทย์ การสาธารณสุข อีกทั้งได้แสดงตนเป็นประเทศที่มีเอกราชอย่างเต็มภาคภูมิในการออกเสียงเกี่ยวกับปัญหาระหว่างประเทศที่สำคัญบางประการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงเจริญพระราชไมตรีด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ โดยในปี ๒๔๗๒ ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา บาหลี ปี ๒๔๗๓ เสด็จประพาสอินโดจีนของฝรั่งเศส ได้แก่ เวียดนามและกัมพูชา ปี ๒๔๗๔ เสด็จประพาสญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา และได้เสด็จประพาสครั้งสุดท้ายในปี ๒๔๗๖-๒๔๗๗ เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว โดยเสด็จประพาสประเทศในยุโรป รวม ๙ ประเทศพร้อมกับทรงเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรที่อังกฤษ

ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินได้ทรงพระราชอุสาหะ ศึกษาความก้าวหน้าในวิทยาการ แนวความคิด และการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองของประเทศเหล่านั้นไว้ประกอบพระราชดำริ เพื่อประโยชน์ของสยามประเทศเป็นประจำ

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖