พระบรมราชานุสรณ์
ผู้เรียบเรียง : ภาพิศุทธิ์ สายจำปา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
ด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนจึงมีพระบรมราชานุสรณ์หลายอย่างหลายประเภทเกิดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์ สถาบัน อาคาร สถานที่ ถนน และสะพานเป็นต้น ในที่นี้จะเรียงประเภทตามที่กล่าวมาและในแต่ละประเภทเรียงตามลำดับการจัดสร้าง
พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบรมราชานุสาวรีย์ หมายความถึงว่า อนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นคุณยิ่งใหญ่แก่ชาติไทยในยุคสมัยต่าง ๆ ตามที่มีเรื่องราว หรือพระนามปรากฏในเอกสาร หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นสิ่งที่รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน สร้างขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และประดิษฐานไว้ในที่สาธารณะ หรือ ณ ที่ซึ่งเปิดให้มหาชนสักการะบูชาและชมได้ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย มีดังนี้
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละพระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินให้แก่ราษฎรทั้งหลาย และได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เปิดโอกาสสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาในสยามประเทศ นับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีส่วนสำคัญในการจรรโลงประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งของประเทศไทย ๓๗ ปี ต่อมา เมื่อจะมีการสร้างอาคารรัฐสภา บนพื้นที่ในบริเวณพระราชวังดุสิตถัดจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ถัดจากพระที่นั่งอนันตสมาคมไปทางทิศเหนือ ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๔ รัฐสภาได้เสนอความคิดว่าควรมีพระบรมราชาสาวรีย์ไว้ที่หน้าอาคารหลังใหม่นั้นต่อคณะรัฐมนตรี หากแต่ว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอีกหลายปีได้เกิดเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองการปกครองเป็นระลอก ส่งผลเป็นความชะงักงันและติดขัดในการดำเนินการ แม้ว่าจะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต และได้เริ่มเรี่ยไรเงินเพื่อสมทบกับงบประมาณแผ่นดินในการสร้างแล้วก็ตาม จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๒๐ ประธานรัฐสภาคนใหม่ คือ พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ได้มีความแข็งขันในการผลักดันโดยการกราบบังคมทูลขอและได้รับพระบรมราชานุญาตเป็นคำรบสอง ของบประมาณให้เป็นที่แน่นอน และเรี่ยไรเงินอีกครั้งจนหาทุนได้เพียงพอ จึงได้เดินหน้าออกแบบพระบรมรูปและปรับพื้นที่ประดิษฐาน เมื่อปั้นหุ่นจำลองแล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินในยามที่ทรงพระชราไปที่โรงหล่อที่บริเวณรัฐสภาเพื่อทอดพระเนตรและทรงติชม[1]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ณ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ในวันที่๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๓ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปีจะมีพิธีวางพานพุ่มถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันรัฐธรรมนูญและในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ของทุกปี มีพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็ฯการเทิดพระเกียรติยิ่งขึ้น
รูปแบบรายละเอียดเชิงศิลปะ : พระบรมราชานุสาวรีย์นี้มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริง ทรงเครื่องพระบรมราชภูษิตาภรณ์ฉลองพระองค์ครุย สวมพระชฎามหากฐินปักขนนกการเวก เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งพุดตาลกาญจนสิงหาสน์ พระหัตถ์วางเหนือพระเพลาทั้งสองข้าง ไม่มีฉากหลัง ฐานแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ด้านหน้าปรากฏรอยจารึกลายพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติบางส่วนพร้อมพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ออกแบบปั้นโดยนาวาเอกสมภพ ภิรมย์ มีนายสาโรช จารักษ์ ประติมากรกองหัตถ์ศิลป์ (ในสมัยนั้น) นายสนั่น ศิลากรณ์ ผู้ปั้นพระบรมรูป นายประเทือง ธรรมรักษ์ ผู้ปั้นพระที่นั่งพุดตาลกาญจนสิงหาสน์ ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์ เป็นผู้ออกแบบฐานและบริเวณโดยรอบ[2] และควบคุมการปั้นโดยกรมศิลปากร[3]
พระบรมราชานุสาวรีย์นี้นับเป็นแห่งแรกที่มีการสร้างและถือได้ว่าเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ระดับชาติด้วย สร้างขึ้นโดยรัฐสภาจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินบริจาคของประชาชน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานเกียกกาย ถนนทหาร กรุงเทพมหานคร
กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ด้วยขณะที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงรับราชการเป็นนายทหารเหล่าปืนใหญ่และผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ ตามลำดับ พื้นที่ตั้งหน่วยทหารนี้ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแห่งนี้ เริ่มดำเนินการสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙ และในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีเปิดตามลำดับ
รูปแบบและรายละเอียดเชิงศิลปะ: เป็นพระรูปหล่อโลหะสัมฤทธิ์รมดำ ขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริงประทับยืนในท่าพัก ฉลองพระองค์เครื่องแบบนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เต็มยศ พระหัตถ์ขวาทรงพระคทา พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงกระบี่ ฉากหลังเป็นกำแพงโค้งหินอ่อนสง่าสวยงาม พระแท่นด้านหน้าปรากฏแผ่นจารึกประพระราชประวัติแบบย่อพร้อมที่มาของพระบรมราชานุสาวรีย์
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจังหวัดนนทบุรี
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่หน้าศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์ในบริเวณ อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๖ เนื่องในโอกาสครบ ๑๐๐ ปี วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกเสด็จเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระบรมรูป เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๖
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชซึ่งมีนามอันเนื่องมาจากพระนามทรงกรม “สุโขทัยธรรมราชา”สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นปูชนียสถานสำหรับข้าราชการ ประชาชนได้สักการะบูชาเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของพระองค์
รูปแบบรายละเอียดเชิงศิลปะ: วัสดุที่ใช้หล่อพระรูปคือ โลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความคงทนถาวรยาวนานตลอดจนง่ายต่อการบำรุงรักษา ขนาดสองเท่าของพระองค์จริง ในพระอิริยาบทยืน ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูติตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงพระมาลาเส้าสูงปักขนนกการเวก ทรงพระมหาสังวาลนพรัตน์และสังวาลพระนพ (เฉียงจากขวาไปซ้าย) ทรงคาดสายรัดพระองค์นพรัตน์ ทรงถือพระแสงดาบฝักทองเกลี้ยงและทรงพระภูษาทับสนับเชิงงอน ทรงเครื่องเต็มยศอย่างโบราณราชประเพณี ฉากหลังเป็นอาคารสัญลักษณ์ศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์จารึกพระราชประวัติและประวัติชื่อของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สวนพฤกษชาติ เหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งเริ่มดำเนินการสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยในรัชกาลของพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนบ่อถ่านศิลา (หรือเหมืองแร่) ที่มีอยู่ในประเทศไว้เพื่อทางราชการ ยังผลให้เหมืองแม่เมาะมีถ่านหินไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แก่ประเทศไทยในปัจจุบัน
รูปแบบรายละเอียดเชิงศิลปะ: พระบรมรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ขนาดสองเท่าของพระองค์จริง ประทับนั่งบนพระเก้าอี้ ทอดพระเนตรไปทางทิศเหนือ ในฉลองพระองค์ชุดลำลอง พระมาลาแบบสากลวางที่พระเพลา ไม่มีฉากหลัง ภูมิทัศน์หลังเป็นภูเขาไม้ แท่นหินประดิษฐานมีแผ่นทองเหลืองจารึกพระราชหัตเลขาที่ทรงลงพระปรมาภิไธยเกี่ยวเนื่องกับการเหมืองแร่ให้สงวนบ่อถ่านศิลาเพื่อกิจการของประเทศ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สวนสาธารณะเขาหินเหล็กไฟ'''' จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เทศบาลตำบล หัวหิน สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงคุณูปการต่อการพัฒนาท้องถิ่นหัวหิน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติการจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พุทธศักราช ๒๔๖๙” เพื่อจัดตั้งองค์กรนำร่องการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล เป็นรากฐานของการจัดตั้งเทศบาลตำบลหัวหินในเวลาต่อมา
พระบรมราชานุสาวรีย์นี้ เริ่มเตรียมการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ หยุดชะงักไประยะหนึ่ง และเริ่มใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างได้ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ พระวรวงศ์เธอ พระพระองค์เจ้าสุธสิริโสภา เสด็จเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์พระแท่น เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๔
หากมองจากสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ริมแฟร์เวย์ด้านทิศตะวันตก แล้วแหงนหน้าขึ้นมองข้างบน จะเห็นเขาหินเล็กไฟ ซึ่งประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์นี้อยุ่เบื้องหน้า[4]
รูปแบบรายละเอียดเชิงศิลปะ : พระบรมรูปหล่อโลหะ โดยช่างกรมศิลปากร ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง พระอิริยาบทยืนบนพระแท่น ทรงชุดทหารบก ผินพระพักตร์ไปทางซ้ายเล็กน้อย คล้ายทอดพระเนตรไปยัง สวนไกลกังวล (วังไกลกังวล) ที่ทรงสร้างและทรงใช้เป็นที่แปรพระราชฐานมาประทับในรัชกาล ฉากหลังเป็นทัศนียภาพของป่าที่สวยงาม
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
หลังจากที่ได้สร้างอาคารประชาธิปกศักดิเดชน์แล้ว คณะกรรมการการบริหารโรงพยาบาลพระปกเกล้าได้มีมติเห็นชอบให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นที่หน้าอาคารนั้น[5] และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากรในปี พ.ศ.๒๕๓๘แล้ว จึงได้เริ่มการปั้นและหล่อพระบรมรูปเสร็จเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๓ ต่อมาในวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ มีพิธีอัญเชิญพระบรมรูปขึ้นสู่แท่นประทับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑
พระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งอยู่ที่หน้าอาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ บนลานแกรนิตยกสูงจากพื้นอย่างสง่างาม งานภูมิสถาปัตยกรรมจัดวางอย่างลงตัวและสมพระเกียรติยิ่ง เบื้องหลังล้อมไปด้วยต้นลีลาวดีที่สมบูรณ์ทั้งดอกสีขาวและใบ ส่งผลให้ทัศนียภาพที่ฉากหลังเป็นอาคาร ประชาธิปกศักดิเดชน์ สวยงามยิ่งขึ้น ด้านหน้าของพระบรมราชานุสาวรีย์คือสวนสาธารณะจังหวัดอันสวยงาม มีสระน้ำขนาดใหญ่ ร่มไม้นานาพรรณและบ้านเมือง ประดุจดั่งพระองค์ทอดพระเนตรทุกข์สุขของประชาชนอยู่เสมอ
ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ของทุกปี ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนจะร่วมกันจัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รูปแบบรายละเอียดเชิงศิลปะ : พระบรมรูปหล่อด้วยโลหะ มีพันโทนภดล สุวรรณสมบัติ ประติมากร สถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากรเป็นผู้ปั้น องค์พระบรมรูปมีขนาดสองเท่าของพระองค์จริง ประทับในพระอิริยาบถยืน ฉลองพระองค์จอมทัพไทย พระหัตถ์ถือกระบี่ พระพักตร์ตรง ประดิษฐานเด่นสง่าบนพื้นแกรนิตและหินอ่อน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 'ณ สำนักงาน ก.พ. ตำบลตลาด' ขวัญ อำเภอเมือง นนทบุรี
ด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางรากฐานระบบข้าราชการพลเรือน ปรากฏหลักฐานเด่นชัด ว่าในวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริว่าสมควรที่จะวางระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพได้ทรงสนองพระราชดำริด้วยการทรงเรียบเรียงระเบียบข้าราชการพลเรือน ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นที่มาของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๑
ต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๕ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๘๐ ปี ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๑ นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือ (ก.พ.) ในขณะนั้นจึงได้พิจารณาเห็นว่าสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน สมควรดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ประดิษฐานภายในสำนักงาน ก.พ. จังหวัดนนทบุรี โดยวันพุธที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ คณะโหรพราหมณ์จากฝ่ายพราหมณ์กองพระราชพิธีเป็นผู้ดำเนินการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. ในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี และได้อัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานยังแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒
รูปแบบรายละเอียดเชิงศิลปะ : สำนักงาน ก.พ. ได้ใช้พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้นแบบในการหล่อพระรูปด้วยโลหะสัมฤทธิ์มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริงประทับในในพระอิริยาบถยืน ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงพระมาลาเส้าสูงปักขนนกการเวก ทรงพระมหาสังวาลนพรัตน์และสังวาลพระนพ (เฉียงจากขวาไปซ้าย) ทรงคาดสายรัดพระองค์นพรัตน์ ทรงถือพระแสงดาบฝักทองเกลี้ยงและทรงพระภูษาทับสนับเชิงงอน แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ออกแบบให้สามารถเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่ประดิษฐานโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงบริเวณกลางพื้นที่ บริเวณแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์มีแผ่นจารึกเฉลิมพระเกียรติ ลานพระบรมรูปราชานุสาวรีย์เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปูหินแกรนิต
พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปกรรมสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นที่ปรึกษาและได้มอบหมายให้นางวงขวัญ อุตตะมะ และนายพีระพงษ์ พีระสมบัติ จากกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ
สถาบัน อาคารสถานที่
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ที่ตั้ง : ๙/๙ หมู่ ๙ ตำบล บางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทรศัพท์ :๐ ๒๕๐๔ ๗๗๗๗ เวบไซต์ : http://www.stou.ac.th
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเปิดโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล และโดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินพระบรมราโชบายขยายโอกาสทางการศึกษาทั้งโดยการเร่งรัดการจัดการศึกษาภาคบังคับ การยกเลิกการเก็บเงินค่าศึกษาพลี และการยกระดับมหาวิทยาลัยให้ประสาทปริญญาได้ ตลอดจนมีพระราชหฤทัยใส่ในการวิทยุกระจายเสียงและการภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยจึงประสงค์ที่จะเทิดพระเกียรติว่าได้ทรงวางรากฐานการศึกษาทางไกลในระดับมหาวิทยาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า “สุโขทัยธรรมาธิราช” คล้ายพระนามกรมเดิมตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๗ มาประกอบกับรูปเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยเป็นตราเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัยและใช้สีเขียวทองเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ด้วยสีเขียวเป็นสีประจำวันพุธ วันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยจึงกำหนดวันที่ ๕ กันยายน ของทุกปีเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ สำนักบรรณสารสนเทศ ชั้น ๒ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี
ห้องนี้เป็นห้องสมุดเฉพาะที่จัดเก็บหนังสือเอกสารและให้บริการสารสนเทศเกี่ยวกับทั้งสองพระองค์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสมัยรัชกาลที่ ๗ ในสำนักบรรณสารสนเทศ (หอสมุดกลาง) ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนี้ มีที่มาสืบเนื่องจาก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่มูลนิธิบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้เสนอให้การสนับสนุนแก่ มสธ. ในการจัดทำถาวรวัตถุเพื่อเฉลิมพระเกียรติ แต่โดยที่ในขณะนั้น มสธ. ยังไม่มีที่ทำการถาวร ต่อมาเมื่อ มสธ. ได้ย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้เริ่มดำเนินการไปสู่การจัดตั้งห้องเอกสารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการให้สำนักบรรณสารสนเทศจัดทำบรรณานุกรมประกอบบรรณนิทัศน์เอกสาร จัดพิมพ์เผยแพร่โดยความสนับสนุนของมูลนิธิฯขึ้นก่อน เพื่อนำร่องการจัดหาเอกสารขึ้น ต่อมาได้จัดสรรพื้นที่ และได้ดำเนินการจัดสร้างห้องขึ้น ให้มีบรรยากาศสะท้อนให้เห็นถึงพระราชจริยวัตร แต่มีเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยไว้จัดเก็บและให้บริการหนังสือเอกสารและสารสนเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมงกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดในวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๘
สถาบันพระปกเกล้า
ที่ตั้ง :ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐พรรษา แขวงทุ่งสองห้อง ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐ โทรศัพท์ : ๐๒ ๑๔๑ ๙๖๐๐ เว็บไซต์ : http://www.kpi.ac.th/
สถาบันพระปกเกล้ามีฐานะเป็นนิติบุคคลในการกำกับดูแลของรัฐสภาเป็นสถาบันทางวิชาการ เผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสู่ประชาชน ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. ๒๕๔๑
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ แก่ปวงชนชาวไทย เป็นมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงแก่การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย สถาบันพระปกเกล้าจึงได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อของสถาบัน
มูลนิธิประชาธิปก - รำไพพรรณี
ที่ตั้ง : อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น ๙ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
ด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเป็นส่วนใหญ่อยู่ที่สวนบ้านแก้วในจังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๙๓ ถึง พ.ศ.๒๕๑๑ และได้ทรงสร้าง “ตึกประชาธิปก” ตึกผ่าตัดที่ทันสมัยพระราชทานโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งคือโรงพยาบาลพระปกเกล้าในปัจจุบัน ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในกิจการโรงพยาบาลและวิทยาลัยพยาบาล ด้วยการพระราชทานทุนสนับสนุนโดยทรงใช้ชื่อว่า “ทุนประชาธิปก”
ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชกุศลมีความต่อเนื่องสืบไป จึงได้ทรงก่อตั้ง มูลนิธิประชาธิปก ขึ้นด้วยพระราชหฤทัยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีต่อพระองค์ ประเทศชาติและประชาชน มูลนิธิประชาธิปกได้จดทะเบียนกับทางราชการ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ทรงกำหนดให้มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพระปกเกล้าและวิทยาลัยครูจันทบุรี ในด้านการก่อสร้าง การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในกิจการต่างๆ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๗ โดยได้ทรงทำพระพินัยกรรม พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งแก่มูลนิธิ ดังนั้นเพื่อเป็นพระราชานุสรณ์ ในการที่ได้ทรงก่อตั้งและทรงเป็นองค์ประธานกรรมการของมูลนิธิฯ มาแต่แรกคณะกรรมการมูลนิธิฯ จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผนวกพระนามไว้ในชื่อของมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ขยายวัตถุประสงค์ให้ทำการให้ความสนับสนุนทำนองเดียวกันกับที่ระบุในวัตถุประสงค์เดิมสู่สถาบันอื่นๆได้ด้วย
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ที่ตั้ง : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
สืบเนื่องมาจากการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ คณะกรรมการอำนวยการสร้างฯซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้ง จึงเห็นควรนำเงินส่วนที่เหลือมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสนองศรัทธาของประชาชนชาวไทยผู้บริจาคเป็นการสืบเนื่อง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว“ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มูลนิธิฯได้ผนวกพระนามไว้ในชื่อของมูลนิธิฯ
อีกทั้งมูลนิธิฯ นี้มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการอบรมการศึกษาและให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาที่ขัดสน สนับสนุนสถาบันการแพทย์และจัดให้มีการรักษาพยาบาลแก่คนไข้ที่ยากจน เผยแพร่พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ร่วมมือส่งเสริมและประสานงานกับสถาบันการกุศลอื่น โดยไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด ปัจจุบันมูลนิธิฯมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาปริญญาตรี และนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก เพื่อการทำวิทยานิพนธ์เป็นหลัก นอกเหนือไปจากกิจกรรมเผยแพร่พระเกียรติ โดยเน้นในสาขาวิชาที่เคยต้องทรงเอาพระราชหฤทัยใส่หรือที่สนพระราชหฤทัยเป็นการส่วนพระองค์
โรงพยาบาลพระปกเกล้า
ที่ตั้ง : เลขที่ ๓๔ ถนนเลียบเมือง ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี เดิมชื่อว่าโรงพยาบาลจันทบุรี โดยใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงนรินทร์ประสารทเวช (เจน สุนทโรทัย) อดีตสาธารณสุขมณฑลจันทบุรี เป็นผู้ริเริ่ม[6] และในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อครั้งเสด็จมาประทับ ณ สวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ได้ทรงตระหนักพระราชหฤทัยในกุศลจิตและดำริเป็นการสมควรที่จะสร้างอาคารและจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น จึงทรงพยายามจัดหาทุนทรัพย์ใช้ในการก่อสร้าง ตึกศัลยกรรมพร้อมเครื่องมือทันสมัย โดยพระราชทานทุนส่วนพระองค์เป็นทุนส่วนใหญ่สำเร็จเป็น “ตึกประชาธิปก”
ด้วยพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ รัฐบาลสมัยนั้นจึงสนองพระราชดำริโดยการปรับปรุงโรงพยาบาลให้มีขนาดใหญ่และทันสมัยยิ่งขึ้น และได้สร้างวิทยาลัยพยาบาลเพื่อเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของภาคตะวันออกทั้งให้มีการเปลี่ยนนามโรงพยาบาลเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงรับโรงพยาบาลพระปกเกล้า และวิทยาลัยพยาบาลไว้ในพระราชินูปถัมภ์ และได้พระราชทานทุนในการดำเนินงานของโรงพยาบาลชื่อ “ทุนประชาธิปก” ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้พัฒนาขึ้นเป็น “มูลนิธิประชาธิปก” ในปีพ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า และวิทยาลัยครูจันทบุรี (มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณีในปัจจุบัน) ในการก่อสร้าง จัดซื้อวัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนพยาบาลและนักศึกษาวิทยาลัยครูจันทบุรีที่เรียนดี มีความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เงื่อนไขสำคัญของการรับทุนคือผู้รับทุนต้องกลับมาทำงานพัฒนาท้องถิ่นของตนต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดป้ายชื่อ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙
ปัจจุบัน ที่บริเวณโถงหน้าห้องประชุมรำไพพรรณี ที่ชั้น ๗ อาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ ของโรงพยาบาลประปกเกล้า จัดแสดงนิทรรศการกึ่งถาวรเกี่ยวกับพระพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ
วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพ-
พรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ โดยทรงรับวิทยาลัยพยาบาลแห่งนี้ ไว้ในพระราชินูปถัมภ์ ตั้งแต่เปิดทำการในปี พ.ศ.๒๕๐๘ จนถึงเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ เริ่มทำการสอนครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๘ หลักสูตรพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ปัจจุบันมีโครงสร้างการบริหารงาน ตามแผนผัง[7]
ตึกประชาธิปก ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรที่ดินที่จังหวัดจันทบุรีและระหว่างทรงช่วยข้าราชบริพารเตรียมพระกระยาหารและทรงทำมีดบาดพระดัชนีเป็นรอยแผล จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด และทราบด้วยพระองค์เองว่าโรงพยาบาลจังหวัดจันทบุรีในขณะนั้นเป็นเพียงอาคารขนาดเล็กและยากไร้ด้วยเครื่องมือแพทย์ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการแสดงละครในพระราชินูปถัมภ์เพื่อจัดหาทุนก่อสร้างตึกผ่าตัดให้แก่โรงพยาบาล เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในพ.ศ. ๒๔๙๗ ได้พระราชทานนามตึกหลังนี้ว่า “ตึกประชาธิปก” และพระราชทานตราศักดิเดชน์ ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ อันเป็นพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นตราประจำตึกและพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประดิษฐานที่ห้องโถงของตึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดแพรคลุมป้าย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙[8]
พิพิธภัณฑ์สถาน พระปกเกล้ารำไพพรรณี เฉลิมพระเกียรติ 'วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า' จังหวัดจันทบุรี
พิพิธภัณฑสถาน พระปกเกล้ารำไพพรรณี เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี สร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในรัชกาลที่ ๗ ที่มีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ชาวจังหวัดจันทบุรีและวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี โดยได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเปิดแพรคลุมป้ายพิพิธภัณฑ์ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑
อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๙ ชั้น ตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร สร้างด้วยงบประมาณแผ่นดินและเงินสมทบจากมูลนิธิประชาธิปก - รำไพพรรณี และ มูลนิธิจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ การก่อสร้างอาคารหลังนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๗
อาคารมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี เป็นที่ตั้งของสถาบันไทยคดีศึกษา สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ สถาบันการขนส่ง ห้องสมุด วิทยาลัยประชากรศาสตร์ และมีห้องประชุมทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่อยู่ด้วย ห้องประชุมขนาดใหญ่คือห้องประชุมจุมภฎ – พันธุ์ทิพย์ที่ชั้น ๔ และมูลนิธิประชาธิปก – รำไพพรรณี มีสำนักงานอยู่ที่ชั้น ๙
ตึกศักดิเดชน์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร
เป็นอาคารสูง ๔ ชั้น ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของ กองจักษุกรรม ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้บริการผู้ป่วยโรคตา มีห้องผ่าตัดตา หอผู้ป่วยพิเศษตา อาคารนี้คุณหญิง มณี สิริวรสาร พันเอกนายแพทย์ ปชา สิริวรสาร หม่อมราชวงศ์ เดชนศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภานุพันธุ์ หม่อมราชวงศ์ ทินศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภานุพันธุ์ รวมทั้งผู้บริจาคอื่นๆ ร่วมกันสมทบทุนสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำพระนาม "ศักดิเดชน์" มาใช้เป็นชื่ออาคารพร้อมอัญเชิญตราพระจำพระองค์มาประดิษฐาน ณ อาคารหลังนี้ด้วย
ตึกศักดิ์เดชน์ เปิดวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ[9]
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สืบเนื่องมาจากการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ การนี้อดีตประธานรัฐสภา พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ได้ดำริว่าสมควรจะใช้ห้องใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่อยู่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้เป็นสถานที่ซึ่งประชาชนผู้มีส่วนบริจาคเงินสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์จะได้ทราบ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงทราบ พระองค์จึงได้พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเพื่อจัดแสดง ณ ห้องใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ดำเนินการโดยสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดบริการครั้งแรก ในงานพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ตามพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งมีการจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้าขึ้นมีมาตราหนึ่งกำหนดให้โอนงานในส่วนของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันพระปกเกล้า ต่อมาสถาบันพระปกเกล้าได้รับมอบสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์มาจัดแสดง ณ อาคารอนุรักษ์ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในสังกัดใหม่และสถานที่ใหม่นี้ จัดแสดงนิทรรศการถาวรพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ชั้น ๒ และ ๓ และนิทรรศการถาวรสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ที่ชั้น ๑ และศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษาให้บริการอยู่ที่ชั้นล่าง อาคารรำไพพรรณีด้านหลัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕
พิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์ ณ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์ ตั้งอยู่ในกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เป็นอาคารที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่พระองค์ทรงรับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารปืนใหญ่ (พ.ศ. ๒๔๕๘ – ๒๔๖๔ ) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องลูกว่าว แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ด้านหน้าจะมี ๓ ห้อง คือ ห้องทรงงาน ห้องบรรทม และห้องพระกระยาหาร ส่วนด้านหลังเป็นห้องเตรียมพระกระยาหารและยังมีชานโล่งสำหรับพักผ่อนภายนอก อาคารนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เผยแพร่พระเกียรติคุณและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ จึงนับเป็นพระบรมราชานุสรณ์อย่างหนึ่งได้
ค่ายพระปกเกล้า
อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๕ และได้อัญเชิญพระนามาภิไธยไปตั้งชื่อ เข้าใจว่าเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการที่พระองค์ทรงเป็นนายทหารปืนใหญ่และได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักเขาน้อย ในเมืองสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นเวลาประมาณ ๒ เดือน
ถนน
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ความต้องการใช้รถใช้ถนนมีเพิ่มมากขึ้นทั้งในเขตพระนครและธนบุรีและในต่างจังหวัดที่รถไฟไปไม่ถึง รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ของราษฎรในการสัญจรติดต่อค้าขาย แม้ว่าขณะนั้นงบประมาณแผ่นดินจะขาดแคลน การตัดถนนในสมัยรัชกาลที่ ๗ นี้ จากจดหมายเหตุรายวันและพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาการตัดถนนในพระนคร รวม ๓๔ สาย
ในที่นี้จะกล่าวถึงถนนที่เป็นอนุสรณ์ของพระองค์เท่านั้น ได้แก่
ถนนสุโขทัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เริ่มตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าน้ำสามเสน ตรงไปจนตัดกับถนนสวรรคโลก เดิมชื่อถนนดวงเดือนนอก ดวงเดือนใน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุโขทัย” เพราะมีบางส่วนที่ติดอยู่กับ “วังศุโขทัย” วังส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาผู้เสด็จเข้าประทับเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑
ถนนประชาธิปก
“ถนนประชาธิปก” มีนามเช่นนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและทำถนนเชื่อมพระนครกับธนบุรี ถนนที่สร้างขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร
ถนนพระปกเกล้า
ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอัญเชิญพระนามาภิไธยไปตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการที่ได้เสด็จเลียบใน พ.ศ. ๒๔๖๙
สะพาน
สะพานพระปกเกล้า
สะพานพระปกเกล้าสร้างขึ้นเพื่อลดความแออัดของการจราจรในบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงชนิดต่อเนื่องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งพระนคร ณ ถนนจักรเพชร และฝั่งธนบุรีที่ถนนประชาธิปก โดยสร้างขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ สะพานนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๔ เปิดใช้เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๗ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้โปรดฯให้สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพุทธยอดฟ้าฯขึ้น สะพานพระปกเกล้าจึงได้รับพระราชทานบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อสะพาน
สะพานพระราม ๗
เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับ ถนนวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร สะพานนี้เป็นสะพานแบบคอนกรีตอัดแรงชนิดต่อเนื่อง มีช่องทางรถวิ่งจำนวน ๖ ช่องทางจราจร เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เชื่อว่า สะพานพระราม ๗ เพราะอู่คู่ขนานกับสะพานพระราม ๖ สะพานรถไฟวิ่งซึ่งเริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ แต่สร้างเสร็จในสมัยรัชการที่ ๗ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อและเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ (พ.ศ. ๒๔๗๐ นับตามปฏิทินปัจจุบัน)
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. (๒๕๒๔). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: รัฐสภา.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (๒๕๔๓). ย้อนหลังบางแง่มุม ในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: กุลการพิมพ์.
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา กองการศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า. (๒๕๕๘ ก.พ. ๒๔). ww.entpmk.pmk.ac.th/webpage/resulary.html. เรียกใช้เมื่อ ๒๔ ก.พ. ๒๕๕๘ จาก www.entpmk.pmk.ac.th: www.entpmk.pmk.ac.th/webpage/resulary.html
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี.รายงานประจำปี ๒๕๔๔.
ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม,พันเอก. ๒๕๔๗ ๗๐ ปี พล.ปตอ. กรุงเทพฯ: ทวีพัตร.
ราชภัฏรำไพพรรณี,มหาวิทยาลัย: ๒๕๔๓ พระมิ่งขวัญรำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิซซิ่ง.
พระปกเกล้า,โรงพยาบาล. ๒๕๕๕. ๗๒ ปี โรงพยาบาลพระปกเกล้า: กรุงเทพฯ : จามจุรีโปรดักท์.
หะริน หงสกุล, พลอากาศเอก พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในที่ระลึก ใน
โอกาสอายุครบ ๖ รอบ'.กรุงเทพฯ: กองทัพอากาศ, ๒๕๒๙.
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.). (๒๕๕๓). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) พระผู้ทรงวางรากฐานระบบข้าราชการพลเรือน. กรุงเทพฯ: แอร์บอน พรินต์.
อัษฎา ตียพันธ์,รองศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ (๒๕๕๕). ๗๒ ปี โรงพยาบาลพระปกเกล้า. กรุงเทพฯ: จามจุรีโปรดักท์.
[1] หะริน หงสกุล, พลอากาศเอก พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในที่ระลึก ในโอกาสอายุครบ ๖ รอบ'.กรุงเทพฯ: กองทัพอากาศ, ๒๕๒๙.
[2] หะริน หงสกุล, พลอากาศเอก พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในที่ระลึก ในโอกาสอายุครบ ๖ รอบ'.กรุงเทพฯ: กองทัพอากาศ, ๒๕๒๙. หน้า 144.
[3] มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. รายงานประจำปี ๒๕๔๔.
[4] มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี.รายงานประจำปี ๒๕๔๔.
[5] โปรดศึกษาเรื่อง มูลนิธิประชาธิปก – รำไพพรรณี เพิ่มเติม
[6] ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา กองการศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า. (๒๕๕๘ ก.พ. ๒๔). ww.entpmk.pmk.ac.th/webpage/resulary.html. เรียกใช้เมื่อ ๒๔ ก.พ. ๒๕๕๘ จาก www.entpmk.pmk.ac.th: www.entpmk.pmk.ac.th/webpage/resulary.html.
[7] ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา กองการศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า. (๒๕๕๘ ก.พ. ๒๔). ww.entpmk.pmk.ac.th/webpage/resulary.html. เรียกใช้เมื่อ ๒๔ ก.พ. ๒๕๕๘ จาก www.entpmk.pmk.ac.th: www.entpmk.pmk.ac.th/webpage/resulary.html.
[8]พระปกเกล้า,โรงพยาบาล. ๒๕๕๕. ๗๒ ปี โรงพยาบาลพระปกเกล้า: กรุงเทพฯ : จามจุรีโปรดักท์, หน้า ๑๓๐.
[9] ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา กองการศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า. (๒๕๕๘ ก.พ. ๒๔). ww.entpmk.pmk.ac.th/webpage/resulary.html. เรียกใช้เมื่อ ๒๔ ก.พ. ๒๕๕๘ จาก www.entpmk.pmk.ac.th: www.entpmk.pmk.ac.th/webpage/resulary.html.