พระบรมราชสมภพ
ผู้เรียบเรียง : ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชสมภพเมื่อวันที่พุธ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ร.ศ. ๑๑๒ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศธุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวีล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร มีพระนามอย่างไม่เป็นทางการว่า “เอียดน้อย” สมเด็จพระบรมราชชนนีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมเยื้อนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหญิงมนัสวาสดิ์ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช และหม่อมเจ้าหญิงพโยมมาลย์ พระธิดาในพระพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ เป็นพระพี่เลี้ยง มีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐาร่วมพระบรมราชชนกชนนี ดังนี้
เสด็จพระราชสมภพ
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (๒๔๒๑-๒๔๓๐)
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี (๒๔๒๓-๒๔๖๘)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง (๒๔๒๔-๒๔๓๐)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (๒๔๒๕-๒๔๖๓)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (๒๔๒๘-๒๔๓๐)
- สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (๒๔๓๑-๒๔๓๑)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (๒๔๓๒-๒๔๖๗)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย (๒๔๓๕-๒๔๖๖)
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๔๓๖-๒๔๘๔)
พระราชสัญลักษณ์
ทรงใช้ตรา “ศักดิเดชน์” เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ตรานี้เป็นตรารูปโล่ ภายในแบ่งเป็น ๓ ช่อง คือครึ่งบน ๒ ช่อง ครึ่งล่าง ๑ ช่อง ครึ่งบนช่องซ้ายเป็นรูปจักรกับตรีบนพื้นสีเหลือง เป็นเครื่องหมายของพระบรมราชจักรีวงศ์ เพราะจักรกับตรีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธประจำพระองค์พระนารายณ์ ครึ่งบนช่องขวา เป็นรูปพระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎ เครื่องหมายประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระราชสมภพในวันอังคาร ซึ่งมีสีชมพูเป็นสีประจำวัน
ครึ่งบนของตราประจำพระองค์ในบรรดาพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเช่นนี้ทั้งสิ้น คือมีตราจักรีอยู่ด้านซ้าย และตราจุลมงกุฎอยู่ด้านขวาและพระสัญลักษณ์ประจำแต่ละพระองค์เป็นครึ่งล่างของตรา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ทรงใช้รูปศรสามองค์บนพื้นสีเขียวเป็นพระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่ครึ่งล่างของตรา ทั้งนี้ เพราะ “เดชน์” แปลว่าศร “ศักดิเดชน์” ซึ่งเป็นสร้อยพระนาม หมายถึงผู้ทรงศร หรือผู้ทรงอำนาจด้วยศร
รูปสัญลักษณ์บนตราศักดิเดชน์ จึงมีความหมายดังนี้ พระผู้ทรงอำนาจด้วยศรผู้ปกป้องประชา พระราชโอรสในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ส่วนที่มีศร ๓ องค์นั้น สันนิษฐานว่าเป็นการอนุโลมตามตำนานซึ่งปรากฏในพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า พระองค์ทรงทราบจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายหวายเทศ ๓ ลำ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ รับสั่งว่างามดี ทรงรำลึกว่ากรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีนามว่าศรีอยุธยา นับเนื่องเป็นนครที่พระนารายณ์เสด็จมาบังเกิดเป็นพระราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบหวายเทศ ๓ ลำนั้นเป็นพระแสงศร สำหรับประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชทานนามว่า พรหมาสตร์ ประลัยวาต และอัคนีวาต ซึ่งหมายถึงพระแสงศรของพระพรหม พระนารายณ์ (พระวิษณุ) และพระอิศวร (พระศิวะ) ตามลำดับ [1]
นอกจากตราศักดิเดชน์แล้ว เมื่อครั้งที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแหนบประดับกระเป๋าเสื้อราชประแตน เป็นรูปสัญลักษณ์ศรองค์เดียว กับพระนามย่อ “ปศ.” ประกอบกันบนพื้นสีเขียว
ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๗ แล้ว ได้พระราชทาน “เข็มข้าหลวงเดิม” แก่ข้าราชบริพารผู้ถวายงานอยู่แต่ก่อน เป็นรูปศรสามองค์ มีเลข ๗ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทรงใช้ศรสามองค์เป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ตั้งแต่เมื่อใด
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ทรงถือว่า ตราศักดิเดชน์ เป็นตราประจำพระองค์ องค์ประชาธิปกศักดิเดชน์ เห็นได้จากการที่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นต้นมา สมเด็จฯ พระองค์นั้น ได้พระราชทานตราศักดิเดชน์แก่คณะกรรมการจัดงานประเภทต่างๆ เพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบ “ทุนประชาธิปก” ที่ทรงตั้งขึ้น และแก่ผู้ที่ทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบทุนดังกล่าว [2]
ห้วงเวลาที่เสด็จพระราชสมภพ: นัยสำคัญ
ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพ สยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์สยาม ร.ศ. ๑๑๒ ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของสยามที่ปากน้ำเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ได้ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) และในเย็นวันนั้น ฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดต่อสยามด้วยการประกาศปิดอ่าว เมื่อสยามต่อรอง ฝรั่งเศสก็เรียกร้องมากขึ้น ยื่นคำขาดซ้อนคำขาด สยามไม่มีกำลังรบพอที่จะสู้ จึงต้องยอมรับและปฏิบัติตามคำขาดให้สยามยกกรรมสิทธิ์ในดินแดนในฝั่งซ้ายฟากตะวันออกของแม่น้ำโขงและในบรรดาเกาะทั้งหลายบนแม่น้ำนั้นแก่ฝรั่งเศส อีกทั้งจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินประมาณ ๑,๖๐๕,๒๓๕ บาท ตามหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศสลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
ในระหว่างที่มีการเจรจากันอยู่ก่อนการลงนามในหนังสือสัญญานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและทรงคิดว่าอาจสวรรคต ถึงกับมีพระราชปรารภเกี่ยวกับพระบรมศพ และอนาคตของพระราชโอรสพระราชธิดา
ครั้นผ่านพ้นวิกฤตการณ์ร้ายแรงนั้นมาได้เพียง ๑ เดือน ๕ วัน นับแต่วันที่มีการลงนามในหนังสือสัญญา สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี (พระอิสริยยศขณะนั้น) มีพระประสูติกาลพระราชโอรสพระองค์น้อย คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖
แม้สยามจะได้ให้คำมั่นแล้วก็ตาม ฝรั่งเศสยังไม่ได้ละท่าทีคุกคาม โดยได้แจ้งต่อสยามว่า จะยึดเมืองจันทบุรีไว้จนกว่าสยามจะได้ปฏิบัติตามคำขาดครบทุกประการ ซึ่งต่อมาปรากฏว่าฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๗ แล้วไปยึดเมืองตราดต่อจนถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๔๙ พฤติการณ์เสมือนว่าต้องการดินแดนเพิ่ม ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงหาวิธีการหลายประการที่จะรักษาเอกราชของชาติไว้ให้ได้ ซึ่งทางหนึ่งที่ทรงเห็นว่ามีความสำคัญและน่าจะได้ผลดีคือการเสด็จประพาสยุโรป เพื่อหาสัมพันธมิตรและเจรจากับประเทศที่ปองร้ายสยาม [3] ซึ่งก็ได้เสด็จฯ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ และเกิดผลดีขึ้นตามลำดับ ยังผลเป็นการยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคในปลายรัชกาลที่ ๖
ดังนั้น จึงวิเคราะห์ได้ว่า โดยที่ได้เสด็จพระราชสมภพและทรงเจริญพระชนม์มาในห้วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมทรงตระหนักในเบื้องลึกแห่งพระราชหฤทัยว่า การทำนุบำรุงรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติไว้เป็นภารกิจสำคัญยิ่ง เมื่อต้องทรงขึ้นครองราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชอุตสาหะยิ่งในการสานสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศ แสดงฐานะของประเทศเอกราชที่เท่าเทียม และในการปรับปรุงประเทศสู่ความเป็นสมัยใหม่ยิ่งขึ้น ทั้งในด้านระบอบการปกครองและวิถีชีวิตสังคม ทั้งนี้ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความระส่ำระสายจนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง จนเสียเลือดเนื้อระหว่างกันเองภายในประเทศ อันจะเป็นข้ออ้างให้มหาอำนาจตะวันตกเข้าแทรกแซง ให้สยามเสียอำนาจอธิปไตยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อ้างอิง
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ พระ. (๒๕๑๘). พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา. หน้า ๑๘๖.
- ↑ ประชาธิปก-รำไพพรรณี, มูลนิธิ. (๒๕๕๑). ตราศักดิเดชน์. ใน ความเป็นมาและกิจกรรมระหว่างปี ๒๕๔๖- ๒๕๕๐ ของมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: บริษัทเอ.เอส.พี.ดีไซน์ พริ้นติ้ง จำกัด. หน้า ๑๑-๑๓
- ↑ วุฒิชัย มูลศิลป์. (๒๕๕๑). ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชสมภพ. ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๐ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. มปพ.
บรรณานุกรม
กัลยาณิวัฒนา, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. (๒๕๑๗). จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดาและพระราชนัดดา. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านหญิงพรรณเพ็ญแข กฤดากร ณ เมรุวัดธาตุทอง ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วัฒนาพานิช.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ พระ. (๒๕๑๘). พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
ประชาธิปก-รำไพพรรณี, มูลนิธิ. (๒๕๕๑). ตราศักดิเดชน์. ใน ความเป็นมาและกิจกรรมระหว่างปี ๒๕๔๖-๒๕๕๐ ของมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: บริษัทเอ.เอส.พี.ดีไซน์ พริ้นติ้ง จำกัด.
วุฒิชัย มูลศิลป์. (๒๕๕๑). ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชสมภพ. ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๐ มุลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. มปพ. หน้า ๑-๘.
ศิริน โรจนสโรช. (๒๕๕๖). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ๑๒๐ ปีผ่านฟ้าประชาธิปก. นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.