พรรคสามมิตร
ผู้เรียบเรียง:
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
พรรคสามมิตร
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้เกิดการปรับทัพของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องการลงสนามการเลือกตั้ง ซึ่งมีทั้งพรรคการเดิมที่อยู่ในระบบพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะในส่วนของฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นซึ่งไม่ได้มีพรรคการเมืองที่สังกัดเพราะเป็นคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่ต้องการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มมีการเคลื่อนไหวก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งกลุ่มที่มีความสำคัญดังกล่าวเรียกกันในเวลานั้นว่า “พรรคสามมิตร” ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
กลุ่มอิทธิพลเป็นการรวมกลุ่มของผู้มีผลประโยชน์อย่างเดียวกันเพื่อแสวงหาอิทธิพล กลุ่มอิทธิพลนั้นจะเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดและเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองที่เป็นการรวมกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นไม่เหมือนกับที่เดียวกันเข้าด้วยกัน แต่รวมกันเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมืองโดยวางนโยบายในการทำกิจกรรมทางการเมืองและเมื่อมีอำนาจทางการเมืองก็นำนโยบายของพรรคมาใช้ในการบริหารกิจการทางการเมือง ดังนั้น กลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพลต่อสู้ป้องกันผลประโยชน์ของกลุ่มโดยใช้อิทธิพลทางอ้อมต่อศูนย์กลางแห่งอำนาจมากกว่าที่ต้องการมีอำนาจโดยตรง แต่พรรคการเมืองพยายามที่จะเข้าไปมีอำนาจไม่ว่าจะโดยวิธีการเลือกตั้ง หรือโดยวิธีรุนแรง เช่น กระทำการปฏิวัติรัฐประหาร[1]
ส่วนการรวมกันเป็นองค์กรพรรคการเมืองเกิดขึ้นเพื่อปฏิบัติงานและประสานให้ภารกิจต่างๆ ในสังคมบรรลุวัตถุประสงค์ การเข้ามาทำหน้าที่ของพรรคการเมืองจะเสนอตัวเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาลหรือกลุ่มอิทธิพลกับรัฐบาล เพื่อพยายามจัดสรรและสนองผลประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มากที่สุด มีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่จะได้มาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ดังนั้นพรรคการเมือง ก็คือ กลุ่มบุคคลที่รวมกันขึ้นเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมืองตามวิถีทางของแต่ละรัฐซึ่งกำหนดไว้[2]
นอกจากนี้มีผู้ให้ความหมายของพรรคการเมืองไว้มากมาย โดยส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันอยู่สามประการ ดังนี้[3]
1. เป็นกลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกัน
2. มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน คือ สมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในแนวทางกว้างๆ คล้ายๆกัน
3. มีวัตถุประสงค์ให้ได้มาซึ่งอำนาจมหาชน และใช้อำนาจนั้นดำเนินการหรือบริหารประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น ลักษณะประการนี้สำคัญยิ่งเพราะโดยธรรมชาติในสังคมอาจมีการรวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิดเห็นคล้ายกันเข้าด้วยกัน หากแต่ถ้ากลุ่มดังกล่าวไม่ประสงค์จะเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ย่อมไม่ใช่พรรคการเมือง อาจเป็นสหภาพแรงงาน สมาคม หรือมูลนิธิเท่านั้น โดยสรุป ความหมายของพรรคการเมือง คือ กลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกันโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน โดยกลุ่มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะยึดกุมอำนาจรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เข้าเป็นรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามอุดมการณ์ของตนให้สัมฤทธิ์ผล
ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองโดยตรง นั้นคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[4] ซึ่งได้นิยาม “พรรคการเมือง” หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นมีขั้นตอนตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ดังนี้ มาตรา 9 บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและ ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ จํานวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนอาจร่วมกันดําเนินการเพื่อจัดตั้ง พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(2) มีอายุไม่ต่ํากว่ายี่สิบปี
(3) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ
(4) อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(5) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น
จากแนวคิดและแนวปฏิบัติตามกฎหมายข้างต้นทำให้เห็นได้ว่า “พรรคสามมิตร” เป็นเพียงกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองหนึ่งยังไม่ถึงมีการจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งกลุ่มสามมิตร เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการกลับมาร่วมงานทางการเมืองระหว่างบุคคลระดับแกนนำที่มีอักษรหน้าชื่อขึ้นต้นด้วย ส. ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งทั้งสามคนเคยมีส่วนสำคัญในการทำให้พรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2544 จากการเดินได้สายรวบรวมบรรดา ส.ส. ในพรรคต่างๆ เพื่อเข้ามารวมกันในพรรคไทยรักไทยสมัยนั้น และก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 กลุ่มดังกล่าวก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 จากการที่สมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยนายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย และนายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท เดินทางไปพบกับ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีต ส.ส. เลย พรรคเพื่อไทย ที่จังหวัดเลย โดยวันนั้นนายปรีชาเปิดเผยว่านายสุริยะ และนายสมศักดิ์ และตนเคยอยู่พรรคกิจสังคมกันมาก่อน และย้ายมาอยู่พรรคไทยรักไทยด้วยกัน เห็นว่าน่าจะมาระดมสมอง นำนโยบายความคิดของพวกตนนำไปเป็นนโยบายสานต่อการพัฒนาประเทศ โดยทางกลุ่มเรียกตัวเองว่า “กลุ่มสามมิตร” มีนายสุริยะเป็นหัวหน้ากลุ่ม และจากนี้จะมีการเดินสายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อคุยกับอดีต ส.ส. เพื่อหาแนวร่วม
เมื่อรวมกลุ่มเสร็จก็จะมีการพิจารณานโยบายของพรรคการเมือง หากพรรคไหนมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ทางกลุ่มก็พร้อมจะสนับสนุน และต่อมานายสุริยะ เปิดเผยในภายหลังว่า “กลุ่มสามมิตร” จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปภายหลังการจัดการเลือกตั้งทั่วไป[5]
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
“พรรคสามมิตร” เป็นเพียงกลุ่มการเมืองที่เกิดขึ้นจากการกลับมาร่วมงานทางการเมืองระหว่างบุคคลระดับแกนนำที่มีอักษรหน้าชื่อขึ้นต้นด้วย ส. ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งแต่ละคนมีประวัติส่วนตัวดังนี้[6]
1) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เริ่มต้นชีวิตในสนามการเมืองระดับชาติจากการได้รับเรื่องตั้งเป็น ส.ส. สุโขทัย ตั้งแต่ปี 2526 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ต่อมาในยุครัฐบาลชวน หลักภัย รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่สอง ก่อนย้ายมาสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งถือเป็นคนสำคัญของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นเพราะตลอดระยะเวลาของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่นายสมศักดิ์เข้าไม่ได้ดำรงในระดับรัฐมนตรี
ครั้งอยู่กับพรรคไทยรักไทย นายสมศักดิ์ และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำกลุ่มทางการเมืองในพรรคไทยรักไทย ที่ชื่อว่า “กลุ่มวังน้ำยม” ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น
เพราะมี ส.ส. ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือสังกัดอยู่ในกลุ่มนี้ราว 120 คน แต่หลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 นายสมศักดิ์และ ส.ส. กลุ่มวังน้ำยมส่วนหนึ่ง ได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ไปจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า "กลุ่มมัชฌิมา" ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 นายสมศักดิ์ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งมีคำสั่งถูกยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญสมัยนั้น ก่อนจะกลับมาเล่นการเมืองใหม่อีกครั้งภายใต้ชื่อ “พรรคมัชฌิมาธิปไตย” ซึ่งมีนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยาของนายสมศักดิ์เป็นหัวหน้าพรรค แต่ที่สุดแล้วก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตัดสินยุบพรรคอีกครั้งพร้อมกับพรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน ทำให้ ส.ส. ในกลุ่มของของนายสมศักดิ์ ได้ย้ายมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทยในระยะหนึ่ง แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 ซึ่งถูกตัดสินเป็นโมฆะไป นายสมศักดิ์ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 16 ด้วย และในปี 2561 ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้มีการระบุสมาชิกพรรคการเมือง นายสมศักดิ์ระบุที่จะไม่ทำการยืนยันสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย และได้ประกาศเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลุ่มการเมืองของตนเป็น “กลุ่มสามมิตร”
2) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และเป็นแกนนำกลุ่มวังน้ำยม ร่วมกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในสมัยที่เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประสบปัญหาในคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคดีได้สิ้นสุดลง ในปี 2555 หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ต่อมาในปี พ.ศ. 2550
จากกรณียุบพรรคไทยรักไทย นายสุริยะได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นได้เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัวพรรคภูมิใจไทยในปี 2552 ก่อนจะกลับมาเป็นหัวหน้ากลุ่มสามมิตรซึ่งประกาศร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562
3) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นขุนพลคนสำคัญทางเศรษฐกิจในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่อมานายสมคิดได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค จากนั้นได้ร่วมก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพรรค แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลังการรัฐประหารปี 2557 โดยคระรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายสมคิดได้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูแลรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งกับหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 นายสมคิดจึงได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ด้วย และต่อมาในปี พ.ศ. 2561 นายสมคิดได้เป็นแกนนำอีกหนึ่งคนที่สำคัญในกลุ่มสามมิตร
สำหรับการเปิดเผยเรื่องราวของกลุ่มสามมิตรนั้น เกิดขึ้นจากการที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้ากลุ่มสามมิตร ประกาศที่จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 กลุ่มสามมิตร ได้เชิญอดีต ส.ส.ประมาณ 50 คน
ข้าหารือ ที่สนามกอล์ฟ ไพน์เฮิร์สท เพื่อเตรียมพร้อมในการรวมตัวกันเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเป็นอดีต ส.ส.จากภาคอีสาน อาทินายจำลอง ครุฑขุนทด อดีต ส.ส.นครราชสีมา นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา นายสมคิด บาลไธสง อดีต ส.ส.หนองคาย นายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา นายเวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด และ นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต ส.ส.ขอนแก่น
โดยนายสุริยะ กล่าวถึงการตัดสินใจรวบรวมอดีต ส.ส.เข้าร่วมสังกัดพรรคพลังประชารัฐว่า อยากสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ ต่อไป เพราะที่ผ่านมาได้มีโอกาสหารือกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาโดยตลอด ถึงแนวทางและนโยบายที่จะดำเนินการทำให้เห็นถึงความตั้งใจของพล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจที่จะช่วยเพราะเชื่อในความสามารถ และมั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง พร้อมขอให้ทุกคนลงพื้นที่สอบถามความต้องการของประชาชนว่าต้องการนโยบายอะไร
เพื่อนำมาสรุปเป็นนโยบายนำเสนอผู้นำพรรคต่อไป
ต่อมาจากปรากฎการณ์กล่าวมานี้ ทำให้นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส. ลพบุรี สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการ กกต. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เพื่อขอให้มีการะงับ และไม่อนุญาตให้มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ พร้อมขอให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับ กลุ่มสามมิตร เนื่องจากมีเหตุให้เชื่อได้ว่าทั้งสามคนได้พยายามเชิญชวนโดยใช้ผลประโยชน์ให้ อดีต ส.ส. หลายพื้นที่เข้าร่วมพรรคประพลังประชารัฐ พร้อมกับข้อให้มีการไต่สวนพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่นที่เกี่ยวข้องในกรณีสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งที่จะเกิดครั้งหน้า สำหรับข้อร้องเรียนของนายสุชาติดังกล่าว ที่ระบุว่า แม้พรรคพลังประชารัฐ จะยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่กลับพบว่ามีการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ โดยกลุ่มสามมิตรได้เดินสายไปพบปะกับ อดีต ส.ส. เพื่อเชิญชวนให้ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีคนในรัฐบาล คสช. อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (4) ที่บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และทั้งนี้ส่วนในกรณีของนายสมศักดิ์ และนายสุริยะ นั้น นายสุชาติระบุว่า ทั้งสองได้มีการเสนอผลประโยชน์ให้กับอดีต ส.ส. ทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 30-31 ที่กำหนดว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใด ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมเพื่อจูงใจ ให้บุคคลหนึ่งบุคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค จะมีโทษตามมาตรา 109 จำคุก 5-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท ทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยวิธีการชักชวนของกลุ่มสามมิตร ในช่วงเวลาเดียวกันด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนต่อกรณีของนายสุชาติ ลายน้ำเงินข้างต้นประมาณว่า ไม่รู้จักกลุ่มดังกล่าว ส่วนที่ระบุว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็ถือเป็นเรื่องของเขา ตนไม่ได้รับรู้ด้วย ตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองเกิดขึ้น และตนเองยังไม่ได้ทำอะไร หากใครต้องการจะร้องเรียนก็ร้องไป เพราะตนเองยังไม่ได้ทำอะไร[7]
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
จากแหล่งข่าวต่างๆ เป็นที่รู้กันดีว่าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินสายดูดอดีต ส.ส.จากพรรคต่างๆ มาอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ โดยเฉพาะอดีต ส.ส.ที่เคยอยู่กับพรรคไทยรักไทย สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้มาอยู่สังกัดพรรคพลังประชารัฐซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 และมีนโยบายชัดเจนคือการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และอีกทางหนึ่งเพื่อลดกำลังของฝ่ายที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณไปในตัวด้วย ในจำนวนนั้น คือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองซึ่งมีการตั้งชื่อ “กลุ่มสามมิตร” ขึ้นซึ่งหมายถึง 3 ส. คือ ส.สมศักดิ์ ส.สุริยะ และ ส.สมคิด
จาตุศรีพิทักษ์[8]
สำหรับความสำคัญภายหลังการเลือกตั้งกลุ่มสามมิตรกลายเป็นกลุ่มกดดันภายในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องของกลุ่มต่อกรรมการบริหารพรรคและนายกรัฐมนตรีในฐานะที่กลุ่มตนมีขนาด ส.ส. จำนวนมาก จึงควรมีอำนาจต่อรองต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาลมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อมีการเปิดเผยรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกลุ่มต่อสื่อมวลชนจำนวน 31 รายดังนี้ สำหรับรายชื่อ 31 ส.ส.กลุ่มสามมิตร ประกอบด้วย 1) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
2) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3) นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4) นายสุรสิทธิ์
วงศ์วิทยานันท์ ส.ส.กำแพงเพชร 5) นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย 6) นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย 7)นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท 8) นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 9) นางบุญยิ่ง
นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี 10) นายสราวุธ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี 11) นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 12) นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 13) นายมานัส อ่อนอ้าย ส.ส.พิษณุโลก 14)นายภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.นครสวรรค์ 15) นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ 16) นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ ส.ส.ชัยภูมิ
17)นายสัมฤทธ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 18)พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร 19) นายอนันต์
ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร 20)นายปริญญา ฤกษ์หร่าย ส.ส.กำแพงเพชร 21) นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 22)นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 23) นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. 24) นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 25) นายภูดิท อินสุวรรณ ส.ส.พิจิตร 26) นายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พิจิตร
27) นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา 28) นายวันชัย ปริญญาศิริ ส.ส.สงขลา 29) นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา 30) นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา และ 31) นายธนะสิทธิ์ โค้วสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี[9]
4. สรุป
“พรรคสามมิตร” เป็นกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองหนึ่งยังไม่ถึงมีการจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งกลุ่มสามมิตร เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการกลับมาร่วมงานทางการเมืองระหว่างบุคคลระดับแกนนำที่มีอักษรหน้าชื่อขึ้นต้นด้วย ส. ประกอบด้วย 1) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 2) นายสุริยะ
จึงรุ่งเรืองกิจ และ 3) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งทั้งสามคนเคยมีส่วนสำคัญในการทำให้พรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2544 จากการเดินได้สายรวบรวมบรรดา ส.ส. ในพรรคต่างๆ เพื่อเข้ามารวมกันในพรรคไทยรักไทยสมัยนั้น และก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 กลุ่มดังกล่าวก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวเรียกตัวเองว่า “กลุ่มสามมิตร” มีนายสุริยะเป็นหัวหน้ากลุ่ม และมีการเดินสายไปยังจังหวัดต่างๆ
เพื่อคุยกับอดีต ส.ส. เพื่อหาแนวร่วม เมื่อรวมกลุ่มเสร็จก็จะมีการพิจารณานโยบายของพรรคการเมือง
หากพรรคไหนมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ทางกลุ่มก็พร้อมจะสนับสนุน และต่อมานายสุริยะ เปิดเผยในภายหลังว่า “กลุ่มสามมิตร” จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปภายหลังการจัดการเลือกตั้งทั่วไป
5. บรรณานุกรม
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ข่าวช่องสาม (2562) ย้อนความหลัง “กลุ่มสามมิตร” วันนี้เหลือแค่สอง? สืบค้นจาก
http://news.ch3thailand.com/politics/98482,สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.). “พรรคการเมือง”สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title,
สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
บีบีซีไทย. (2562). สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-47459168, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน
2563
ประชาไท. (2561). ‘กลุ่มสามมิตร’ คือใคร? 'ประวิตร' ชี้หนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกก็เรื่องของเขา
สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2018/07/77682, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน
2563
ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ. (2563) กลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพล กับพรรคการเมืองในสังคมประชาธิปไตย
สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/columnist/42638 เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก
https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
พีพีทีวีออนไลน์. (2562). เช็คชื่อ 31 ส.ส. “กลุ่มสามมิตร”ไล่ “สนธิรัตน์” พ้นเลขาฯ พปชร., สืบค้นจาก
https://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[1] ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ. (2563) กลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพล กับพรรคการเมืองในสังคมประชาธิปไตย สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/columnist/42638 เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[2] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น.114 – 115
[3] เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.). “พรรคการเมือง”สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title,
สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
[4] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก
https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[5] อ้างถึงในประชาไท. (2561). ‘กลุ่มสามมิตร’ คือใคร? 'ประวิตร' ชี้หนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกก็เรื่องของเขา
สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2018/07/77682, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน
2563
[6] อ้างถึงในประชาไท. (2561). ‘กลุ่มสามมิตร’ คือใคร? 'ประวิตร' ชี้หนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกก็เรื่องของเขา
สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2018/07/77682, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[7] บีบีซีไทย. (2562). สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-47459168, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน
2563
[8] ข่าวช่องสาม (2562) ย้อนความหลัง “กลุ่มสามมิตร” วันนี้เหลือแค่สอง? สืบค้นจาก
http://news.ch3thailand.com/politics/98482,สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
[9] พีพีทีวีออนไลน์. (2562). เช็คชื่อ 31 ส.ส. “กลุ่มสามมิตร”ไล่ “สนธิรัตน์” พ้นเลขาฯ พปชร., สืบค้นจาก
https://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563