พรรคประชาธิปไตยใหม่

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) ชื่อภาษาอังกฤษ NEW DEMOCRACY PARTY (NDP.) จดแจ้งการตั้งเมื่อ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554 มีนโยบายหลักในการยึดมั่นในอุดมการณ์ของการบริหารพรรคที่อยู่ภายใต้กฎหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ และจะยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลักในการบริหารประเทศ รวมทั้งได้กำหนดนโยบายการบริหารไว้ 16 ด้านที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการสื่อสารและการคมนาคม จนถึงนโยบายด้านการกีฬาและนันทนาการ เป็นต้น[1] ทั้งนี้พรรคประชาธิปไตยใหม่มี นายสุรทิน พิจารณ์ เป็นหัวหน้าพรรคจนถึงปัจจุบัน และเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรไทยมาแล้วในปี พ.ศ. 2554, 2562 และ 2566

          ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 พรรคประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เปิดตัวได้ไม่ถึง 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งระบบแบ่งเขต จำนวน 4 คนเท่านั้น ประกอบด้วย

          (1) นายกิติภัทร์ อนันต์เมธากุล ผู้สมัครเขต 1 จังหวัดนครราชสีมา ได้คะแนนเสียง 522 คะแนน

          (2) นายปฏิวัติ พิจารณ์ ผู้สมัครเขต 5 จังหวัดปทุมธานี ได้คะแนนเสียง 324 คะแนน

          (3) นายวิมล สารมะโน ผู้สมัครเขต 3 จังหวัดพิษณุโลก ได้คะแนนเสียง 348 คะแนน

          (4) นายจำรูญ ผายพิมพ์ ผู้สมัครเขต 1 จังหวัดยโสธร ได้คะแนนเสียง 163 คะแนน

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สมัครพรรคประชาธิปไตยใหม่จะไม่ได้รับเลือกตั้งทั้ง 4 เขต[2] แต่ด้วยการเน้นลงพื้นที่หาเสียงทั่วประเทศจนสามารถได้รับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ 125,784 คะแนน ทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ได้แก่ นางพัชรินทร์ มั่นปาน[3] และในเวลาต่อมาได้ย้ายไปสังกัดพรรคมหาชน

          ในขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 แม้จะมีคำสั่งของ คสช. ที่จำกัดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น แต่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปไตยใหม่ได้ใช้วิธีการเดินเคาะประตูบ้าน ปราศรัยทั้งงานบุญงานบวช แม้จะไม่เน้นการใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ แต่ได้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของพรรคจาก "ลูกโลก" มาเป็น "พญานาค 7 เศียร" คือ 7 วัน จันทร์ถึงอาทิตย์เพื่อให้จดจำง่ายในการหาเสียงว่า "เห็นพญานาคกาเลย" และใช้ส่งข้อความ "สวัสดีวันจันทร์" สร้างความจดจำในหมู่สมาชิกพรรคที่ใช้ LINE[4]  

          อย่างไรก็ดี แม้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 พรรคประชาธิปไตยใหม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งระบบแบ่งเขต จำนวน 204 เขต[5] แต่ไม่มีผู้สมัครของพรรคคนใดได้รับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ในขณะที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ได้รับคะแนนเสียงรวมทั้งหมด 39,260 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 0.11 ทำให้ได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ได้แก่ นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรค โดยแสดงจุดยืนของพรรคหลังการประกาศผลการเลือกตั้งว่า “ขอร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหน” และได้อยากทำงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะถือเป็นกระทรวงที่ทำงานใกล้ชิดมวลชนและทำงานด้านนี้มาโดยตลอด[6]

          ทั้งนี้ พรรคประชาธิปไตยใหม่ เป็นหนึ่งในพรรคเล็ก 12 พรรค ซึ่งได้คะแนนเสียงระหว่าง 33,000-68,000 คะแนน[7] ภายใต้การใช้สูตรคำนวณแบบปัดเศษของ กกต. ทำให้เกิดพรรคที่ได้ที่นั่งเพียง 1 ที่นั่ง ได้แก่ พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทรักธรรม และพรรคประชาชนปฏิรูป ในการประกาศจุดยืนพร้อมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้นอีกด้วย[8]

 

ภาพ : ตราสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปไตยใหม่[9]

NEW DEMOCRACY PARTY.jpg
NEW DEMOCRACY PARTY.jpg

          ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปไตยใหม่ที่น่าสนใจคือ การจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีใน วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่หอประชุมใหญ่เทศบาลเมืองคูคต จ.ปทุมธานี โดยมีวาระสำคัญคือ เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่ทั้งหมด และจะมีการเสนอชื่อ น.ส.ธนพร ศรีวิราช ภรรยาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้นเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2566[10]

          ในเวลาต่อมา นายสุรทิน พิจารณ์ ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ นายสุรทิน พิจารณ์ สิ้นสุดลงตาม มาตรา 101 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบกับผู้มีชื่ออยู่ใน ลำดับที่ 2 สิ้นสมาชิกภาพสมาชิกพรรคประชาธิปไตยใหม่ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 105 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จึงประกาศให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปไตยใหม่ เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนนายสุรทินลาออก ส่งผลให้ นางแพงศรี พิจารณ์ ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปไตยใหม่ ลำดับที่ 3 ได้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปไตยใหม่[11]  

          ด้านการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคพรรคประชาธิปไตยใหม่มีกรรมการบริหารพรรคจำนวนทั้งสิ้น 17 คน นอกจากมีนายสุรทิน พิจารณ์ เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ยังมีนายภัทรพล หงส์สูง เป็นเลขาธิการพรรค และว่าที่ร้อยตรีทนงชิต บุญทน ทำหน้าที่เป็นโฆษกพรรค

 

ตาราง : รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปไตยใหม่[12]

ลำดับ

ชื่อ-สกุล

วันที่เข้า

ตำแหน่ง

1

นายสุรทิน พิจารณ์

7 พฤศจิกายน 2564

หัวหน้าพรรค

2

นายชาญณรงค์เดช อยู่สุข

2 มีนาคม 2566

รองหัวหน้าพรรค

3

นายสมนึก หนูแสง

7 พฤศจิกายน 2564

รองหัวหน้าพรรค

4

นายปฏิวัติ พิจารณ์

7 พฤศจิกายน 2564

รองหัวหน้าพรรค

5

นายสืบพงศ์ นิลกุล

2 มีนาคม 2566

รองหัวหน้าพรรค

6

นายภัทรพล หงษ์สูง

2 มีนาคม 2566

เลขาธิการพรรค

7

นางจิรนาถ พรหมดนตรี

7 พฤศจิกายน 2564

รองเลขาธิการพรรค

8

นายศุภลักษณ์ สายยงค์

2 มีนาคม 2566

รองเลขาธิการพรรค

9

นางแพงศรี พิจารณ์

7 พฤศจิกายน 2564

เหรัญญิกพรรค

10

นางสาวปวีณา ปาคำ

7 พฤศจิกายน 2564

นายทะเบียนสมาชิกพรรค

11

ว่าที่ร้อยตรีทนงชิต บุญทน

7 พฤศจิกายน 2564

โฆษกพรรค

12

นายเทพภูวิศค์ เตชะสมบูรณะกิจ

2 มีนาคม 2566

กรรมการบริหารพรรค

13

นางสาววีรวรรณ อินสุข

2 มีนาคม 2566

กรรมการบริหารพรรค

14

นางสาวศิริวรรณ สุวรรณโคตร

7 พฤศจิกายน 2564

รองเหรัญญิกพรรค

15

นายธนชัย ไพรสิงห์

7 พฤศจิกายน 2564

รองโฆษกพรรค

16

นายสมเกียรติ วนะวนานต์

2 มีนาคม 2566

ผู้ช่วยโฆษกพรรค

17

นางอภิญญา ไกรศรี

7 พฤศจิกายน 2564

ผู้ช่วยนายทะเบียนสมาชิกพรรค

 

          จากข้อมูลพรรคการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปไตยใหม่มีสมาชิกทั้งหมด 41,560 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 19,922 คน รองลงมาคือในภาคใต้ จำนวน 8,626 คน ภาคกลาง จำนวน 7,611 คน และมีสมาชิกจำนวนน้อยที่สุดในภาคเหนือ จำนวน 5,401 คน ในขณะที่มีสาขาพรรคทั้งหมด 13 แห่ง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 แห่ง ภาคใต้ จำนวน 3 แห่ง ในขณะที่ทั้งในภาคเหนือและภาคกลางมีการจัดตั้งสาขาภาคละ 2 แห่ง อย่างไรก็ดี ด้านตัวแทนพรรคการเมือง มีทั้งหมด 17 คน อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13 คน และในภาคเหนือและภาคกลางภูมิภาคละ 2 คน

 

พรรคประชาธิปไตยใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

          ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พรรคประชาธิปไตยใหม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จำนวน 40 คน ใน 13 จังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 16 คน โดยได้หมายเลข 2

 

ตาราง : แสดงจำนวนเขตเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566[13]

จังหวัดที่ส่งผู้สมัคร

เขตเลือกตั้งที่ส่งผู้สมัคร

1

ขอนแก่น

3 เขต ได้แก่ เขต 1 , 5 , 9

2

ชัยภูมิ

2 เขต ได้แก่ เขต 3, 4

3

ปทุมธานี

3 เขต ได้แก่ เขต 5, 6 , 7

4

ปัตตานี

3 เขต ได้แก่ เขต 2, 4 , 5

5

มุกดาหาร

2 เขต ได้แก่ เขต 1, 2

6

ยโสธร

3 เขต ได้แก่ เขต 1, 2 , 3

7

ร้อยเอ็ด

4 เขต ได้แก่ เขต 3, 6 , 7, 8

8

เลย

1 เขต ได้แก่ เขต 2

9

ศรีสะเกษ

4 เขต ได้แก่ เขต 1, 2 , 6, 9

10

สุรินทร์

7 เขต ได้แก่ เขต 1, 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 8

11

หนองคาย

1 เขต ได้แก่ เขต 2

12

อำนาจเจริญ

2 เขต ได้แก่ เขต 1, 2

13

อุบลราชธานี

4 เขต ได้แก่ เขต 3, 4, 6, 7, 8

 

ตาราง : แสดงรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปไตยใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566[14]

ลำดับที่

รายชื่อ

1

สุรทิน พิจารณ์

2

แพงศรี พิจารณ์

3

ปวีณา ปาคำ

4

พลภัทร หอมแม้น

5

สมเกียรติ วนะวนานต์

6

วิบูลย์ โพทะจันทร์

7

สุธิพัฒน์ กิตติภักดีพันธ์

8

มะนาว คงคาคูล

9

พยัคฆ์ ชาครธรรม

10

ดีน สะดง

11

อับดุลรอชิด มะสุยี

12

อับดุลรอชิด มะสุยี

13

เจ๊ะไมหมะ ดึนเลาะ

14

สารีนา ฮะยีมะเซ็ง

15

นารีม๊ะ โต๊ะเล๊ะ

16

บัดรี ดะมอ

 

          นโยบายที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ใช้ในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ได้แก่

          (1) จัดตั้งกองทุนบำนาญประชาชนให้บุคคลที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท โดยแบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 750 บาท

          (2) บัตรประชาชนมีมูลค่า 60,000 บาท สามารถนำมาประกันตัวในชั้นสอบสวนและชั้นศาลได้

          (3) จัดตั้งโรงพยาบาลรักษาหนี้ ปลูกต้นไม้ใช้หนี้ หนีโลกร้อน ตั้งกระทรวงศาสนา

          (4) ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานทางเลือก สร้างระบบเก็บน้ำลงใต้ดินและนำน้ำมาใช้

          (5) ปฏิรูปการศึกษา เป็นการศึกษาอัจฉริยะ (SMART EDUCATION) เรียนฟรีตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปริญญาตรี

          (6) กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบาย Open Bangkok Open Thailand[15]

          ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปไตยใหม่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อรวม 266,799 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 0.68 [16] โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศให้ นายสุรทิน พิจารณ์ ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปไตยใหม่ ลำดับที่ 1 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          นอกจากนี้แล้ว พรรคประชาธิปไตยใหม่ยังเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่พรรคก้าวไกลได้ทาบทามให้เข้าร่วมรัฐบาลและสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในขณะนั้นได้ปฏิเสธการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคก้าวไกล[17] และในเวลาต่อมาพรรคประชาธิปไตยใหม่ได้แสดงจุดยืนมนการงดออกเสียงในการลงมติสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องมาจากข้อกังวลต่อนโยบายในการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ขัดต่อแนวทางและนโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่[18]

 

อ้างอิง

[1] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคประชาธิปไตยใหม่”, สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha. soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/062/61.PDF(15 กรกฎาคม 2566).

[2] “ม้ามืด! พรรคประชาธิปไตยใหม่ แซงโค้งเข้าป้าย ส.ส.”,  สืบค้นจาก https://hilight.kapook.com/view/60447(31 สิงหาคม 2566).

[3] “พรรคประชาธิปไตยใหม่ #1 เน้นเคาะประตูบ้าน ไม่หวั่นโซเชียล ไม่กลัวพลังดูด คสช.”, สืบค้นจาก https://prachatai.com/ journal/2018/05/76919(15 กรกฎาคม 2566).

[4] “พรรคประชาธิปไตยใหม่ #1 เน้นเคาะประตูบ้าน ไม่หวั่นโซเชียล ไม่กลัวพลังดูด คสช.”, สืบค้นจาก https://prachatai.com/ journal/2018/05/76919(15 กรกฎาคม 2566).

[5] “เลือกตั้ง 2562 : ยื่น กกต.ตรวจสอบ กก.บห.พรรคประชาธิปไตยใหม่”, สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/ content/279548  (1 กันยายน 2566).

[6] “ประชาธิปไตยใหม่” ชัดเจน “ใครตั้งรัฐบาลได้ผมรอร่วม” หลัง กกต. ยืนยันได้ 1 ส.ส. ”, สืบค้นจาก https://workpointtoday. com/dem-mai/ (31 สิงหาคม 2566).

[7] “เลือกตั้ง 2562 : กกต. ประกาศรับรอง 149 ส.ส. บัญชีรายชื่อ”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-48197070(31 สิงหาคม 2566).

[8] “เลือกตั้ง 66: ส่องโปรไฟล์พรรคการเมือง พรรคไหนเคยหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ”, สืบค้นจาก https://ilaw.or.th/node/ 6466 (15 กรกฎาคม 2566).

[9] “พรรคประชาธิปไตยใหม่”, สืบค้นจาก  https://www.ch7.com/election2566/party/635040(15 กรกฎาคม 2566).

[10] “'ประชาธิปไตยใหม่' ตั้งภรรยา 'ธรรมนัส' นั่งประธานยุทธศาสตร์พรรค คุยกวาด 25 ที่นั่ง”, สืบค้นจาก https://www.thaipost. net/politics-news/18628/(15 กรกฎาคม 2566).

[11] “ส.ส.พรรคประชาธิปไตยใหม่ เข้ารายงานตัว แทน ส.ส.ที่ลาออกไป”, สืบค้นจาก https://www.tpchannel.org/news/20180 (15 กรกฎาคม 2566).

[12] “พรรคประชาธิปไตยใหม่”, สืบค้นจาก  https://party.ect.go.th/dataparty-detail/24 (15 กรกฎาคม 2566).

[13] “ประชาธิปไตยใหม่”, สืบค้นจาก  https:// www.vote62.com/party/ประชาธิปไตยใหม่/(15 กรกฎาคม 2566).

[14] “เลือกตั้ง 2566 รายชื่อผู้สมัคร”, สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/เลือกตั้ง2566/รายชื่อผู้สมัคร/แบบบัญชีรายชื่อ/24 (31 สิงหาคม 2566).

[15] “พรรคประชาธิปไตยใหม่”, สืบค้นจาก  https:// elect.in.th/candidates/p/ประชาธิปไตยใหม่.html(15 กรกฎาคม 2566).

[16] “ผลการเลือกตั้งปี 2566 อย่างไม่เป็นทางการ”, สืบค้นจาก https://www2.ectreport.com/by-party (15 กรกฎาคม 2566).

[17] “หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ให้กำลังใจนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จัดตั้งรัฐบาล”, สืบค้นจาก   https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230621100140653(15 กรกฎาคม 2566).

[18] “พรรคประชาธิปไตยใหม่ งดโหวตหนุน “พิธา” นั่งนายกฯ อ้างปมแก้ 112”, สืบค้นจาก https://www.infoquest.co.th/2023/ 317064 (15 กรกฎาคม 2566).