พรรคทางเลือกที่สาม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.อนันต์ เกตุวงศ์


ในประเทศที่ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (two-party system) จะมีพรรคการเมืองใหญ่และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลจะมีเพียงสองพรรค (โดยถึงแม้ว่าจะมีพรรคการเมืองอีกหลายพรรคก็ตาม แต่พรรคการเมืองเล็ก ๆ เหล่านั้นจะไม่มีหรือมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าร่วมรัฐบาล) กล่าวคือ เมื่อมีพรรคการเมืองหนึ่งได้เป็นรัฐบาล อีกพรรคการเมืองหนึ่งก็จะเป็นพรรคฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการบริหารประเทศของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกตัวแทนของเขาเพียง 2 ทางเท่านั้น กล่าว คือถ้าไม่เลือกพรรคการเมืองที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาล ก็ต้องเลือกพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้าน (โดยถึงแม้ว่าผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกพรรคการเมืองอื่นหรือไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลยก็ตาม แต่ผลของการเลือกตั้งจะทำให้มีเพียงพรรคการเมืองใหญ่ที่มีเสียงมากที่สุดและรองลงมาเพียง 2 พรรคเท่านั้น) ทั้งนี้ก็เพราะกฏหมายเลือกตั้งในประเทศใด้ใช้วิธีการเลือกตั้งเสียงข้างมากอย่างง่าย (simple majority) ที่เรียกว่า “ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง” (first-past-the-post) ดังที่ปฏิบัติกันในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ทำให้ประชาชนในประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคแทบไม่มีโอกาสทางเลือกพรรคที่สาม เพราะถึงแม้ว่าจะมีพรรคการเมืองอื่นนอกจากพรรคการเมืองใหญ่เพียงสองพรรคก็ตาม แต่ระบบการเลือกตั้ง

ดังกล่าวย่อมจะทำให้พรรคการเมืองเล็กหมดโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาล ถึงแม้ว่าระบบสองพรรคแม้ว่าจะมีผลดีต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ช่วยให้ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งง่ายขึ้นต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็ตาม แต่ก็มีข้อเสียในการจำกัดทางเลือก (alternative) ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้แคบลงด้วยเช่นกัน เพราะในหลายกรณีผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวมมิใช่มีนโยบายในการแก้ปัญหาสำคัญดังกล่าวเพียง 2 นโยบายของพรรคการเมืองเพียง 2 พรรคเท่านั้น หากแต่ควรจะต้องมีนโยบายอย่างอื่นอีกที่เป็นทางเลือกของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย