ป.ป.ป.

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รศ. ดร.นิยม รัฐอมฤต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ป.ป.ป.ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการ คือ ป.ป.ป. ซึ่งเป็นคำย่อที่ใช้เรียก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ”

ป.ป.ป. จัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2518 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 เหตุผลในการจัดตั้ง ป.ป.ป. สืบเนื่องมาจากขบวนการนักศึกษาและประชาชนกดดันให้รัฐบาลยึดทรัพย์สินของผู้นำรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุจริตที่แพร่ระบาดมากในวงราชการ

ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินเก้าคน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของรัฐสภา อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี ทั้งนี้ ป.ป.ป. มีเลาธิการ ป.ป.ป. เป็นกรรมการและเลขานุการ

ในการบริหารงานของ ป.ป.ป. ให้เลขาธิการ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการทั้งปวงของสำนักงาน สำนักงาน ป.ป.ป. มีฐานะเทียบเท่ากรม อยู่ในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี

ปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ป. และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการยุบเลิก ป.ป.ป. และจัดตั้ง ป.ป.ช. ที่มีโครงสร้างองค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และมีอำนาจกว้างขวางกว่า ป.ป.ป. ขึ้นแทน คือ

1.ปัญหาโครงสร้างองค์กรที่ไม่เป็นอิสระ ยังอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของฝ่ายการเมือง
2.ปัญหาเกี่ยวกับของเขตอำนาจของ ป.ป.ป. มีเพียงแค่การชี้มูลความผิดทางวินัยและทางอาญาแล้วแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัย หรือแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหา ป.ป.ป. ไม่มีอำนาจดำเนินการในฐานะพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการในการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง