ป่ารอยต่อ
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
“ป่ารอยต่อ” เป็นชื่อเรียกมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (อ.ป.จ.) (ชื่อภาษาอังกฤษ Five Provinces Bordering Forest Preservation Foundation) เป็นมูลนิธิที่กองทัพบกจัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงจัดกิจกรรมสนับสนุนภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากร ตลอดจนดำเนินความร่วมมือกับองค์กรการกุศลต่าง ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ราษฎรในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ โดยเริ่มตั้งแต่หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกษียณอายุราชการ เมื่อเดือนตุลาคม 2548[1] ได้ดำเนินการในชื่อ “กองทุนป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” ก่อนจะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิขึ้นเมื่อ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 มีที่ตั้งอยู่ที่บ้านพักสวัสดิการของกองทัพบกในพื้นที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ เลขที่ 872 พหลโยธินซอย 8 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400[2]
ภาพ : สัญลักษณ์มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก [3]

สัญลักษณ์เครื่องหมายมูลนิธิ - วัวแดงแม่ลูก 2 ตัว แสดงถึง วัวแดงเป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ แต่ในพื้นที่แห่งนี้ พบวัวแดงอยู่กันเป็นฝูง -ต้นตะเคียน 5 ต้น แสดงถึง ต้นตะเคียนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ใหญ่หายาก อยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดนี้ -ภูเขาและแม่น้ำ แสดงถึง ความอุดมสมบูรณ์ของป่าและความชุ่มชื้นจากสายน้ำ ภาพทั้งหมดอยู่ภายในวงกลมและข้างล่างเป็นแถบผ้าครึ่งวงกลม มีข้อความว่า “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” |
อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร มีใจความสำคัญตามข้อบังคับของมูลนิธิฯ ประกอบด้วย[4]
(1) สนับสนุนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีสวัสดิการเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือน รวมทั้งครอบครัว ทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน ในขณะปฏิบัติหน้าที่ จนได้รับอันตราายถึงบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
(3) อนุรักษ์ตามกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการโครงการ อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริและการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป
(4) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าภายในโครงการ ตลอดจนสร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
(5) ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริในการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของการดำเนินงานโครงการ
(6) ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์และสังคมสงเคราะห์
(7) ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ประการใด
ตาราง : ในด้านของการบริหารงาน มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ประกอบด้วยคณะกรรมการ ดังรายชื่อต่อไปนี้[5]
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา |
ประธานกิตติมศักดิ์ | |
นายเจริญ สิริวัฒนภักดี |
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ | |
1 |
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ |
ประธานกรรมการ |
2 |
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล |
รองประธานกรรมการ |
3 |
พลเอกพัฑฒะนะ พุธานานนท์ |
รองประธานกรรมการ |
4 |
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา |
กรรมการ |
5 |
พลเอกอุดมเดช สีตบุตร |
กรรมการ |
6 |
พลเอกนพดล อินทปัญญา |
กรรมการ |
7 |
พลเอกเลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ |
กรรมการ |
8 |
นายกมล เอี้ยวศิวิกูล |
กรรมการ |
9 |
นายบำรุง ล้อเจริญวัฒนะชัย |
กรรมการ |
10 |
พลเอกกิตติพงษ์ เกษโกวิท |
กรรมการ |
11 |
พลเอกอภิชัย ทรงศิลป์ |
กรรมการ |
12 |
พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา |
กรรมการ |
13 |
พลเอกคณิต สาพิทักษ์ |
กรรมการ |
14 |
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล |
กรรมการ |
15 |
พลเอกวลิต โรจนภัดกดี |
กรรมการ |
16 |
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ |
กรรมการ |
17 |
นายอดิศร นุชดำรงค์ |
กรรมการ |
18 |
นายธัญญา เนติธรรมกุล |
กรรมการ |
19 |
นายอรรถพล เจริญชันษา |
กรรมการ |
20 |
พลโทสว่าง ดำเนินสวัสดิ์ |
กรรมการและเหรัญญิก |
21 |
พลตรีจักรกฤษณ์ ศรีนนท์ |
กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก |
22 |
พันเอกชินสรณ์ เรืองศุข |
กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก |
23 |
พลเอกสุรัตน์ วรรักษ์ |
กรรมการและเลขานุการ |
24 |
พลเอกอนันต์ กาญจนปาน |
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
25 |
พลเอกณัฐ อินทรเจริญ |
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
คณะกรรมการทั้งหมดในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นนายทหารและอีกส่วนหนึ่งเป็นอดีตข้าราชการและนักธุรกิจ ตัวอย่างเช่น หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ในขณะที่ นายกมล เอี้ยวศิวิกูล เป็นเจ้าของธุรกิจกลุ่มไมด้าเจ้าของโรงแรมใน จ.นครปฐม และนายบำรุง ล้อเจริญวัฒนะชัย เป็นนักธุรกิจประธานสภาหอการค้าจังหวัดสระแก้ว นอกจากนี้แล้วยังพบว่า กรรมการบางส่วนยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ พลเอกนพดล อินทปัญญา พลเอกเลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ พลเอกกิตติพงษ์ เกษโกวิท พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พลเอกคณิต สาพิทักษ์ พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน) พลเอกธีรชัย นาควานิช (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) พลเอกวลิต โรจนภักดี และ พลตรีณัฐ อินทรเจริญ อีกทั้ง พลเอกพัฑฒะนะ พุธานานนท์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นกรรมการของมูลนิธิได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)[6] ซึ่งเป็นของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม บริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ (TCC Group)[7]
ทั้งนี้ ยังมีการจัดโครงการการดำเนินงานภายใต้คณะทำงานและกรรมการด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย
(1) คณะทำงานฝ่ายเลขานุการ มีพลเอกสุรัตน์ วรรักษ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายเลขานุการ
(2) คณะอนุกรรมการฝ่ายหารายได้ มีพลเอกรุ่งโรจน์ จำรัสโรมรัน เป็นประธานอนุกรรมการ
(3) คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการ มีผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เป็นประธานอนุกรรมการ
(4) คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรม มีพลเอกสุรัตน์ วรรักษ์ เป็นประธานอนุกรรมการ
(5) คณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตราษฎร โดยมีผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 (ชลบุรี) เป็นประธานอนุกรรมการ
(6) คณะอนุกรรมการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ โดยมีรองอธิบดีด้านวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานอนุกรรมการ
(7) คณะอนุกรรมการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า โดยมีนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน เป็นประธานอนุกรรมการ
(8) คณะอนุกรรมการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืช โดยมีผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เป็นประธานอนุกรรมการ
(9) คณะอนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบและประเมินผล มีพลเอกสุภาษิต วรศาสตร์ เป็นประธานอนุกรรมการ
(10) คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย มีพลตำรวจเอกสมศักดิ์ แขวงโสภา เป็นประธานอนุกรรมการ
(11) คณะอนุกรรมการฝ่ายงบประมาณ มีพลเอกสุรัตน์ วรรักษ์ เป็นประธานอนุกรรมการ
ป่ารอยต่อ เครือข่ายพลเอกประวิตร และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ[8]
มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้รับความสนใจในทางการเมือง เมื่อ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี พ.ศ. 2563 โดยตั้งคำถามต่อการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นนายทหารเกษียณอายุ แต่มีการใช้พื้นที่ในเขตทหารอยู่ และจุดประสงค์ของการตั้งมูลนิธิฯ มีขึ้นเพื่อรักษาป่า[9] แต่กลับใช้เป็น “ฐานบัญชาการทางการเมือง” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยังเป็นประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด[10]
นอกจากนี้แล้ว นับตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เริ่มเข้ามาขับเคลื่อนงานของมูลนิธิแห่งนี้อย่างเต็มตัวหลังจากเกษียณอายุราชการและมูลนิธิแห่งนี้ก็ถูกจับตา เพราะมีฐานะเป็นพื้นที่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แหล่งชุมนุมกลุ่มผลประโยชน์สำคัญ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นศูนย์รวมเครือข่าย ทั้งการเมือง การทหาร ธุรกิจ ผ่านทางกรรมการมูลนิธิ ทำให้โครงข่ายอำนาจทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แผ่ขยายออกไปกว้างไกลและเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มีสถานะมั่นคงอยู่ในรัฐบาล ไม่ว่าพรรคการเมืองฝ่ายใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล[11]
อีกทั้งยังกล่าวได้ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งที่ทำการของกลุ่มอำนาจ 3_ป. ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในฐานะศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มักจะนัดรับประทานอาหารร่วมกัน อีกทั้งมูลนิธิป่ารอยต่อยังใช้เป็นศูนย์รวมนักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ทั้งในฝ่ายพลเรือน และฝ่ายความมั่นคงทุกเหล่าทัพ เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์และประเด็นปัญหาต่าง ๆ[12] รวมทั้งตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ภายใต้วาระของการจัดงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ทั้งยังมีผู้ให้การสนับสนุนและบริจาคเงินจำนวนมากให้แก่มูลนิธิแห่งนี้จากทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน[13]
ภาพ : แสดงเครือข่ายประวิตร-ป่ารอยต่อที่นำเสนอโดย รังสิมันต์ โรม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ[14]

อย่างไรก็ดี มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ยังเคยถูกระบุว่าเป็นพื้นที่การเมืองสำคัญในการประชุมจัดตั้งรัฐบาลแทนที่ทำเนียบรัฐบาล การนัดประชุมกลุ่มตัวแทนพรรคเล็ก 16 พรรค ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 และแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองต่าง ๆ [15] ทั้งการจัดการความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ[16] และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโปงหลักฐานที่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 พรรคเล็ก ได้ยอมรับว่ามาเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางการลงพื้นที่พบประชาชนจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณที่มูลนิธิแห่งนี้[17] นอกจากนี้ การอภิปรายของ นายรังสิมันต์ โรม ยังยกตัวอย่างอีกหลายบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์พัวพันกับมูลนิธิป่ารอยต่อ จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจทุน อีกทั้งกรรมการมูลนิธิคนอื่น ๆ ยังมีความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อีกด้วย[18]
หลังจากการอภิปรายเรื่อง “ป่ารอยต่อ” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจให้ทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีต่อไป ในขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลถูกออกหมายข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ[19]
ภาพ : การพบปะของนักการเมืองคนสำคัญกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่บ้านพัก “ป่ารอยต่อ” ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566[20]
![]() |
![]() |
อย่างไรก็ดี แม้ “ป่ารอยต่อ” จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร และกลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจับตามองในแวดวงการเมือง แต่ป่ารอยต่อยังคงเป็นพื้นที่ในการพบปะของนักการเมืองคนสำคัญ อาทิ การปรากฏภาพของแกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ร่วมโต๊ะทานข้าวมื้อเที่ยงกับ พล.อ.ประวิตร ภายใต้กระแสข่าวของการจับขั้วการเมืองใหม่ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมทั้ง "กลุ่มสามมิตร" ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มาเข้าพบ พล.อ.ประวิตร เพื่อลาออกจากพรรคพลังประชารัฐและย้ายกลับไปสังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นต้น อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรียังใช้บ้านพักในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ประชุมคณะกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสวัสดิการของรัฐ เร่งรัดระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลสวัสดิการของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาคนจนกลุ่มเปราะบาง[21]
อย่างไรก็ดี หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2566 และการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตร ได้ลดบทบาททางการเมืองของตนเองลงด้วยการลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐต่อไป พร้อมกับการลดบทบาทของบ้านพักในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ลงจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ที่ว่า “บ้านป่ารอยต่อฯ ปิดแล้ว เหลือไว้ทำแต่มูลนิธิ”[22]
อ้างอิง
[1] “ป่ารอยต่อ พล.อ.ประวิตร พื้นที่ดีลปัญหาการเมือง ราชกิจจาฯระบุ 7 ข้อ”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-992466(30 พฤษภาคม 2566).
[2] “ติดต่อกับเรา”, สืบค้นจาก http://www.5provincesforest.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538680467&Ntype=3 (30 พฤษภาคม 2566).
[3] “ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิอนุรักษป่ารอยต่อ 5 จังหวัด”, สืบค้นจาก http://www.5provincesforest.com/index.php?lay= show&ac= article&Id=538680590&Ntype=4(30 พฤษภาคม 2566).
[4] “ป่ารอยต่อ พล.อ.ประวิตร พื้นที่ดีลปัญหาการเมือง ราชกิจจาฯระบุ 7 ข้อ”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-992466(30 พฤษภาคม 2566).
[5] “รายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด”, สืบค้นจาก http://www.5provincesforest.com/index.php?lay= show&ac=article&Ntype=4&Id=538680558(30 พฤษภาคม 2566).
[6] “กก.มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด 'บิ๊กป้อม' 24 คน เป็น สนช. 11 คน”, สืบค้นจาก https://www.isranews.org/content-page/item/62285-report001-62021-62285.html (12 พฤษภาคม 2566).
[7] “นายเจริญ สิริวัฒนภักดี”, สืบค้นจาก https:// www.assetworldcorp-th.com/th/leadership/board-of-directors/7/นายเจริญ-สิริวัฒนภักดี(30 พฤษภาคม 2566).
[8] ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รังสิมันต์ โรม, (2564), เรียนประชาชนที่เคารพ: รวมบทอภิปรายไม่ไว้วางใจจากป่ารอยต่อถึงตั๋วช้าง, (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย).
[9] “‘มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด’ ฐานบัญชาการการเมือง ‘ประวิตร’ ”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/politics/ 868398 (30 พฤษภาคม 2566).
[10] “มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด “บ้านใหญ่“ ตัวจริง-เสียงจริง”, สืบค้นจาก https:// workpointtoday.com/มูลนิธิป่ารอยต่อ-5-จังหว/(30 พฤษภาคม 2566).
[11] “มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด “บ้านใหญ่“ ตัวจริง-เสียงจริง”, สืบค้นจาก https:// workpointtoday.com/มูลนิธิป่ารอยต่อ-5-จังหว/ (30 พฤษภาคม 2566).
[12] “ลือสนั่น ป่ารอยต่อฯ! เผย “บิ๊กป้อม” เรียก “ผู้ว่าหมูป่า” เข้าพบส่วนตัว ซุบซิบหนุนเป็น นายกฯ คนต่อไป? ”, สืบค้นจาก https:// truthforyou.co/69968/ (31 สิงหาคม 2566).
[13] “มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด “บ้านใหญ่“ ตัวจริง-เสียงจริง”, สืบค้นจาก https:// workpointtoday.com/มูลนิธิป่ารอยต่อ-5-จังหว/ (30 พฤษภาคม 2566).
[14] “เครือข่ายประวิตร อำนาจที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องตนเอง โดยทรัพยากรรัฐ โดยภาษีประชาชน เพื่อประวิตร club ”, สืบค้นจาก https://twitter.com/FWPthailand/status/1233240498334138368/photo/1(30 พฤษภาคม 2566).
[15] “ป่ารอยต่อ พล.อ.ประวิตร พื้นที่ดีลปัญหาการเมือง ราชกิจจาฯระบุ 7 ข้อ”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/ news-992466 (30 พฤษภาคม 2566).
[16] “คำต่อคำ ณ มูลนิธิป่ารอยต่อ " ไม่เอาธรรมนัส ผมลาออก”, สืบค้นจาก https://www.nationtv.tv/news/378848906 (31 สิงหาคม 2566).
[17] "พิเชษฐ" โยน "ประวิตร" คุย "ธรรมนัส" ปมจ่ายเงินดูแลพรรคเล็ก ”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/ politics/ 1016907(30 พฤษภาคม 2566).
[18] “ย้อนดู ส.ส.โรม อภิปรายปม 'ป่ารอยต่อ' ข้อต่ออำนาจทหาร-ทุน ภายใต้การนำของ 'ประวิตร'”, สืบค้นจาก https://prachatai.com/ journal/2020/02/86586(30 พฤษภาคม 2566).
[19] “มูลนิธิป่ารอยต่อ : อัยการยังไม่ส่งฟ้อง รังสิมันต์ โรม หลังตำรวจออกหมายจับ คดีหมิ่นประมาทอภิปรายมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ. ประวิตรในสภา”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-60790115(30 พฤษภาคม 2566).
[20] “เลือกตั้ง 66 สรุปความเคลื่อนไหว ‘บ้านป่ารอยต่อฯ’ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา”, สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/political-news-scoop/ (31 สิงหาคม 2566).
[21] “เลือกตั้ง 66 สรุปความเคลื่อนไหว ‘บ้านป่ารอยต่อฯ’ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา”, สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/political-news-scoop/ (31 สิงหาคม 2566).
[22] “"บิ๊กป้อม" ประกาศบ้านป่ารอยต่อฯ ปิดแล้ว เหลือไว้แต่มูลนิธิ อวยพรสื่อทุกคนโชคดี”, สืบค้นจาก https://mgronline.com/ politics/detail/9660000078570 (31 สิงหาคม 2566).
Fckmw0fckmw