ปิตุภูมิ (พ.ศ. 2500)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

พรรคปิตุภูมิ

พรรคปิตุภูมิ เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดยยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยมีนายยงโชค จึงแย้มปิ่น เป็นหัวหน้าพรรค และนายเฉลิม ตุงคะมณี เป็นเลขาธิการพรรค ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2501 พรรคปิตุภูมิได้ยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค โดยมีนายหัด ดาวเรือง ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายจรัญ บถดำริห์ เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่

นโยบายของพรรคปิตุภูมิ

แนวนโยบายทั่วไปของพรรคปิตุภูมิคือ จะยึดมั่นต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในด้านการต่างประเทศ พรรคปิตุภูมิจะรักษาและส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ โดยมูลฐานแห่งความเสมอภาคและสิทธิอันเท่าเทียมกัน ในทางปฏิบัติจะยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกองค์การนี้อย่างเคร่งครัด

นโยบายด้านการเศรษฐกิจ พรรคปิตุภูมิจะส่งเสริมงานด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และพาณิชกรรม โดยเปิดโอกาสให้มีการลงทุนพัฒนาจากในประเทศและนอกประเทศตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งจะยึดมั่นในวิธีการสหกรณ์เป็นหลักในการส่งเสริมอาชีพของราษฎรอย่างกว้างขวาง อีกทั้งจะส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ตลอดจนความปลอดภัยของประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยยึดหลักว่าสิ่งใดราษฎรทำไม่ได้ จะให้รัฐนำทำเมื่อสิ่งนั้นมั่นคงแล้ว ก็จะปล่อยให้ประชาชนรับไปดำเนินการ ภายใต้การช่วยเหลือส่งเสริมของรัฐอย่างใกล้ชิด

นโยบายด้านการคลัง พรรคปิตุภูมิจะปรับปรุงแก้ไขภาษีอากรให้เป็นธรรม และสอดคล้องกับวิธีดำเนินการทางเศรษฐกิจของชาติ และจะควบคุมการใช้เงินภาษีอากรให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

นโยบายด้านการศึกษา พรรคปิตุภูมิจะส่งเสริมสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย เตรียมอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา โดยจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคให้ทั่วถึง นอกจากนี้ ปริมาณและคุณภาพครู อุปกรณ์การเรียน การสอนจะต้องเพิ่มพูนให้มีจำนวนเพียงพอแก่ความจำเป็นด้วย

นโยบายด้านการศาสนา พรรคปิตุภูมิจะอุปถัมภ์และส่งเสริมการประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาทุกศาสนาซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนด้วยความเที่ยงธรรม และเสมอภาค

นโยบายด้านการทหาร พรรคปิตุภูมิจะส่งเสริมทหาของชาติให้มีระเบียบวินัย และสมรรถภาพอันสูง จะไม่ยอมให้ทหารเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง หรือนักการเมืองคนใด จะให้ทหารเป็นทหารของรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง

นโยบายด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ พรรคปิตุภูมิจะส่งเสริมและธำรงความสงบด้วยการเพิ่มพูนเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอแก่การพิทักษ์รักษาความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยของประชาชน จะปรับปรุงระบบราชทัณฑ์ให้เหมาะสม เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม นอกจากนี้ พรรคปิตุภูมิจะปราบคอรัปชั่น กำจัดอิทธิพลมืด ทำลายการตั้งศาลเตี้ยและบั่นทอนพวกอภิสิทธิ์ชนให้สิ้นไปด้วยการลงโทษทัณฑ์กันอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมและสันติ

พรรคปิตุภูมิได้ส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคปิตุภูมิไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว


ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 3 ลงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2501 หน้า 15-18

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 74 ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2501 หน้า 2609-2610

สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหาร สมัย 2489 ถึง 2507, พระนคร: โรงพิมพ์สื่อการพิมพ์, 2507

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2511

ส่วนการทะเบียนและการเลือกตั้ง กรมมหาดไทย, รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย เล่ม 1, พระนคร: โรงพิมพ์กระดาษไทย, 2500

สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531