ปิดสวิตซ์ ส.ว. ข้อเรียกร้องทางการเมือง
ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
บทนำ
“ปิดสวิตซ์ ส.ว.” เป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุครัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยมุ่งเน้นไปที่การยกเลิกมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ในช่วง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก สมาชิกวุฒิสภาที่มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (376 คน) ของรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่จำนวน 750 คน จากกรณีดังกล่าวจึงนำไปสู่ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในส่วนของมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจของวุฒิสภาในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2566 ที่มีรัฐสภาชุดแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการเสนอแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวจำนวน 7 ครั้ง โดยมาจากทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลรวมทั้งมาจากการเข้าชื่อร่วมกันของภาคประชาชน ซึ่งมองว่าการให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น อาจเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร ดังนั้นเพื่อเป็นการจำกัดกระบวนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร จึงทำให้เกิดกระแส “ปิดสวิตซ์_ส.ว.” ที่ต้องการจำกัดอำนาจของ ส.ว. ชุดดังกล่าว ไม่ให้มีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรี และมีบางข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ยกเลิกวุฒิสภาและใช้ระบบสภาเดียวดังเช่นในหลายประเทศทั่วโลก
กระบวนการ “เปิดสวิตซ์ ส.ว.”
หากจะกล่าวถึงข้อเรียกร้องเรื่อง “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” นั้น อาจจะต้องเริ่มต้นจากการพิจารณาถึงกลไกในการ “เปิดสวิตซ์ ส.ว.” ชุดดังกล่าวขึ้นมาก่อน นั่นคือ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 จากนั้นได้มีการนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนลงประชามติ ซึ่งกำหนดวันลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยมีประเด็นคำถามสำหรับการลงประชามติ 2 ประเด็นคำถาม ดังนี้[1]
ประเด็นคำถามที่หนึ่ง ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....” ซึ่งคำถามนี้เป็นการถามมติประชาชนว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ประเด็นคำถามที่สอง ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญ ซึ่งถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “คำถามพ่วง” เกิดจากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการพิจารณาประเด็นที่จะสอบถามเพิ่มเติมไปกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปใช้ลงประชามติ ดังจะเห็นได้ว่าคำถามดังกล่าวมีสาระสำคัญที่ก่อให้เกิดบทบัญญัติตาม มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในเวลาต่อมา[2]
สำหรับผลการลงคะแนนเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ปรากฏว่า ในส่วนของประเด็นคำถามแรก ที่ถามเรื่องการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ ร้อยละ 61.35 และลงคะแนนไม่เห็นชอบ ร้อยละ 38.65 และประเด็นคำถามที่สอง คือ การออกเสียงประชามติคำถามพ่วงที่จะกำหนดในบทเฉพาะกาลให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ลงคะแนนเห็นชอบร้อยละ 58.07 และลงคะแนนไม่เห็นชอบ ร้อยละ 41.93[3]
จากนั้นจึงได้มีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย โดยมีองค์ประกอบแบ่งเป็น 16 หมวด มีมาตราทั้งสิ้น 279 มาตรา โดยที่ประเด็นจากคำถามพ่วงนั้นได้มีการนำมาบัญญัติไว้ใน มาตรา 272 ความว่า
ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตาม มาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตาม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 หรือไม่ก็ได้[4]
ข้อความตามบทบัญญัติ มาตรา 272 มีประเด็นที่สำคัญอยู่ 2 ประเด็น กล่าวคือ ประเด็นแรก เป็นเรื่องของการกำหนดให้ในช่วง 5 ปีแรกของรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้ “รัฐสภา” ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้ลงมติให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอตามที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ โดยผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อดังกล่าวจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น[5] และอีกประเด็นหนึ่ง คือ ในกรณีที่ไม่สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ ให้ “รัฐสภา” ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ยกเว้นไม่ต้องใช้รายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองก็ได้ ซึ่งรายละเอียดของมาตรา 272 วรรคสอง นี้ เป็นรายละเอียดตามร่างดั้งเดิม แต่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำให้สอดคล้องกับผลการลงประชามติคำถามพ่วงในปี พ.ศ. 2559[6]
จุดเริ่มต้นของการ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” ในรัฐสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 (พ.ศ. 2562 – 2566)
จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนข้อเสนอเรื่อง “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2562 โดยผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น ปรากฏว่า ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment: MMA) ทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 27 พรรค[7] โดยพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงข้างมากในสภา แต่พรรคพลังประชารัฐซึ่งสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นถือเป็นการลงมติตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นครั้งแรก ซึ่งมีสมาชิกของทั้งสองสภารวมทั้งสิ้น 748 คน แต่มีสมาชิกมาร่วมประชุม 747 คน แบ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 497 คน โดยผลการลงมติครั้งนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองสภาจำนวน 500 คน แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 251 คน และสมาชิกวุฒิสภา 249 คน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 249 คน จากทั้งหมด 250 คน ซึ่งยกเว้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา ที่งดออกเสียงไป 1 เสียง[8] ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในครั้งแรกนั้น ส.ว. พร้อมใจกันลงมติให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นเอกฉันท์
จากกรณีการเลือกนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2562 สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมใจกันลงมติให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. ที่เคยก่อการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ได้กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยอาศัยบทบาทของพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ภายใต้กลไกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่รัฐสภาชุดแรกมีการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2562-2566 จึงมีความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 272 อยู่หลายครั้ง แต่เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้การพิจารณาญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยการลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม (376 เสียง) และจะต้องมีเสียงของ ส.ว. เห็นชอบด้วย จำนวนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด (ซึ่งก็คือ 84 เสียง) ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของรัฐสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการเสนอญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของมาตรา 272 หรือที่เรียกกันว่า “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีรายละเอียด ดังนี้[9]
ครั้งที่หนึ่ง เป็นการยื่นของกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 เสนอร่างแก้ไขที่ยกเลิก มาตรา 272 ทั้งมาตรา และแก้ไขเนื้อหาใน มาตรา 159 เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการลงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างฉบับดังกล่าว
ครั้งที่สอง เป็นการยื่นของภาคประชาชน นำโดยกลุ่ม iLaw เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เสนอร่างแก้ไขที่ยกเลิกมาตรา 272 ทั้งมาตรา และแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 159 เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการลงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างฉบับดังกล่าว
ครั้งที่สาม เป็นการยื่นของกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เสนอร่างแก้ไขที่ยกเลิก มาตรา 272 ทั้งมาตรา และแก้ไขเนื้อหาใน มาตรา 159 เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการลงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งมีมติรับหลักการร่างฉบับดังกล่าว แต่ ส.ว. ลงมติรับหลักการน้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ทำให้ร่างฉบับดังกล่าวเป็นอันตกไป
ครั้งที่สี่ เป็นการยื่นของกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เสนอร่างแก้ไขที่ยกเลิก มาตรา 272 ทั้งมาตรา และแก้ไขเนื้อหาใน มาตรา 159 เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการลงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งมีมติรับหลักการร่างฉบับดังกล่าว แต่ ส.ว. ลงมติรับหลักการน้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ทำให้ร่างฉบับดังกล่าวเป็นอันตกไป
ครั้งที่ห้า เป็นการยื่นของภาคประชาชน นำโดยกลุ่ม Resolution เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เสนอร่างแก้ไขที่ยกเลิก มาตรา 272 ทั้งมาตรา และกำหนดให้มีเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งแก้ไขเนื้อหาใน มาตรา 159 เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการลงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างฉบับดังกล่าว
ครั้งที่หก เป็นการยื่นของภาคประชาชน นำโดยกลุ่ม No 272 เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565 เสนอร่างแก้ไขที่ยกเลิกมาตรา 272 ทั้งมาตรา ซึ่งผลการลงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างฉบับดังกล่าว[10]
ครั้งที่เจ็ด เป็นการยื่นของกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เสนอร่างแก้ไขที่ยกเลิกมาตรา 272 ทั้งมาตรา แต่เนื่องจากเป็นช่วงปลายสมัย ส.ส. และ ส.ว. ไม่เข้าประชุมจำนวนมากทำให้การประชุมต้องล่มลงในครั้งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยกเลิก มาตรา 272 แต่ละครั้ง จะพบว่ามี ส.ว. ที่ลงมติรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอให้ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือที่เรียกว่ายอม “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” จำนวน 14 คน ที่รับหลักการดังกล่าวติดต่อกันมาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2565 ได้แก่ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นางประภาศรี สุฉันทบุตร นายประมนต์ สุธีวงศ์ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ นายมณเฑียร บุญตัน นายวันชัย สอนศิริ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล และนายอำพล จินดาวัฒนะ[11]
“ปิดสวิตซ์ ส.ว.” กับการจัดตั้งรัฐบาลในปี พ.ศ. 2566
การเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 2 หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 151 คน รองลงมาคือพรรคเพื่อไทย (141 คน) ซึ่งทั้ง 2 พรรคนั้น เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านในช่วงปี พ.ศ. 2562 ถึงต้นปี พ.ศ. 2566 ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติที่เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งกลับได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 36 คนเท่านั้น[12]
หลังจากที่ปรากฏผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว พรรคก้าวไกลได้ร่วมกับกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิมประกาศการจัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ รวมทั้งสิ้น 8 พรรคการเมือง มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คาดการณ์ไว้ทั้งสิ้น 313 คน (ภายหลังลดเหลือ 312 คน)[13] แต่กระนั้นจำนวนดังกล่าวก็ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตามบทบัญญัติ มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้รัฐสภาต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา นั่นคือ 376 เสียง ดังนั้น การรวมกลุ่มของพรรคฝ่ายค้านเดิมในการจัดตั้งรัฐบาลยังขาดคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างน้อยอีก 64 คน ซึ่งกระแสสังคมมีการเสนอให้ใช้คะแนนเสียงจาก 2 กรณี ดังนี้
กรณีแรก ใช้คะแนนเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดให้ได้เกิน 376 คะแนน ซึ่งจะทำให้พรรคก้าวไกลจะต้องเจรจากับพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม อาทิ พรรคภูมิใจไทย ที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 71 คน หรือพรรคพลังประชารัฐ ที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 40 คน ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 24 คน และพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ ซึ่งกรณีนี้พรรคก้าวไกลได้ออกมาประกาศชัดเจนว่าจะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลในช่วงปี พ.ศ. 2562-2566 ที่เคยสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
กรณีที่สอง คือ การใช้คะแนนเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภามาช่วยในการลงมติให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจาก ส.ว. บางส่วน ซึ่งออกมาแสดงจุดยืนผ่านสื่อมวลชน ว่าจะ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” หรือ “ปิดสวิตซ์ตัวเอง” ด้วยการ “งดออกเสียง” ให้กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล และประกาศให้ก้าวไกลรวบรวมเสียงข้างมากในสภาล่างให้ครบ 376 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง แทนที่จะหวังพึ่งเสียงจาก ส.ว.[14] แต่กระนั้น ในช่วงเวลาหลังวันเลือกตั้งผ่านพ้นไปได้ไม่นานนัก ก็พบว่ามี ส.ว. บางส่วนแสดงท่าทีสนับสนุนพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เห็นชอบให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
จากท่าทีของ ส.ว. ต่อกรณีดังกล่าว ส่งผลให้กระแสในสังคมออนไลน์เรียกร้องการปิดสวิตซ์ ส.ว. ผ่านการแสดงออกด้วยแฮชแท็ก #ปิดสวิตซ์สว. และ #สว.มีไว้ทำไม เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เนื่องจากประชาชนจำนวนมากต้องการให้ ส.ว. ยอมรับเสียงข้างมากที่มาจากการลงคะแนนของประชาชนในการเลือกตั้ง และเริ่มมีการจับตาการทำงานของ ส.ว. อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อาทิ การตรวจสอบประวัติการทำงานของ ส.ว. และเปิดเผยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ การชุมนุมเรียกร้องให้ ส.ว. เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้น[15]
บทสรุป
“ปิดสวิตซ์ ส.ว.” เป็นถ้อยคำที่สะท้อนข้อเรียกร้องของประชาชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการให้ยกเลิกบทบัญญัติ มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ให้อำนาจแก่วุฒิสภาในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกหลังจากที่มีรัฐสภาชุดแรก ซึ่งเกิดขึ้นจากประเด็น “คำถามพ่วง” เมื่อปี พ.ศ. 2559 จากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 จะเห็นว่าวุฒิสภาได้ลงมติอย่างพร้อมเพรียงกันในการเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้หลังจากนั้นเริ่มมีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยมีความพยายามยื่นเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวอยู่ทั้งสิ้น 7 ครั้ง ซึ่งมาจากการเสนอของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และภาคประชาชน แต่ร่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาทุกครั้ง จนกระทั่งในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2566 เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิมกลับมาได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่การลงมตินายกรัฐมนตรียังคงเป็นไปตาม มาตรา 272 ที่ใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา ดังนั้นจึงทำให้ ส.ว. ยังคงมีบทบาทในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง ส่งผลให้กระแสสังคมเรียกร้องและกดดันให้ ส.ว. ยึดถือและยอมรับเสียงข้างมากของประชาชนในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ทั้งนี้ข้อเรียกร้องเรื่องการ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 คือ การทำให้การลงมติของ ส.ว. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่เป็นอุปสรรคต่อพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในอันที่จะเสนอชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือการที่ ส.ว. ร่วมลงมติสนับสนุนพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง
บรรณานุกรม
“แก้รัฐธรรมนูญภาคสี่: ถอดรหัสการลงมติ #ตัดอำนาจสว ของ ส.ส. และ ส.ว..” iLaw (9 กันยายน 2565). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/6254>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (2562). ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
“คำถามพ่วง: เห็นชอบให้ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกฯ หรือไม่?.” iLaw (14 กรกฎาคม 2559). <https://ilaw.or.th/node/4195>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
“ตร.เตรียมพร้อมรับ 'ม็อบ' กดดัน ส.ว. 'โหวตพิธาเป็นนายกฯ' พรุ่งนี้.” คมชัดลึกออนไลน์ (22 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/crime/549495>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
“นับถอยหลังประชามติ รธน.: ใครมี “สิทธิ” ออกเสียงประชามติ และ “คะแนน” ของใครจะถูกนับ.” ไทยพับลิก้า (3 กรกฎาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2016/07/referendum-9/>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
“ปิดสวิตช์ ส.ว. เสนอมาห้าครั้ง ทุกรูปแบบทุกกระบวนท่า ไม่เคยผ่าน ส.ว..” iLaw (5 กันยายน 2565). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/6240>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
“เปิดสถิติ เลือกตั้ง 2562 “ที่สุด” ในรอบ 18 ปี.” Workpoint Today (9 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/เปิดสถิติ-เลือกตั้ง-2562-ที่/>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก (6 เมษายน 2560).
“เลือกตั้ง 2566 : กกต. รายงานผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก.ก. เหลือ 151 ส.ส. ส่วน ปชป. ได้เพิ่มเป็น 25 ส่งจุรินทร์ผ่านคุณสมบัติเป็นนายกฯ.” BBC (25 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/articles/c1d34xlzvrlo>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
“เลือกตั้ง 2566 : เปิดฉากทัศน์หาก ส.ว. ชิง “ปิดสวิตช์” ตัวเอง งดออกเสียงเลือก “พิธา” เป็นนายกฯ.” BBC (17 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/articles/c10q97p1zp8o>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
“เลือกตั้ง2566 : “พิธา” นำ 8 พรรคแถลงร่วมตั้งรัฐบาล 313 เสียง มั่นใจโหวตผ่านนายกฯ.” ThaiPBS (18 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/327925>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
“สรุปผลเลือกนายกฯ 500 ต่อ 244 เสียง ดูชัดๆ ใครโหวตใคร.” Workpoint Today (6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/votepm62/>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2559). ข้อมูลสถิติการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.
อ้างอิง
[1] “นับถอยหลังประชามติ รธน.: ใครมี “สิทธิ” ออกเสียงประชามติ และ “คะแนน” ของใครจะถูกนับ,” ไทยพับลิก้า (3 กรกฎาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2016/07/referendum-9/>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[2] “คำถามพ่วง: เห็นชอบให้ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกฯ หรือไม่?,” iLaw (14 กรกฎาคม 2559). <https://ilaw.or.th/node/4195>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[3] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ข้อมูลสถิติการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 2559), หน้า 5.
[4] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560,” มาตรา 272, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก (6 เมษายน 2560), หน้า 88.
[5] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560,” มาตรา 159, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก (6 เมษายน 2560), หน้า 46.
[6] คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562), หน้า 504-508.
[7] “เปิดสถิติ เลือกตั้ง 2562 “ที่สุด” ในรอบ 18 ปี,” Workpoint Today (9 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/เปิดสถิติ-เลือกตั้ง-2562-ที่/>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[8] “สรุปผลเลือกนายกฯ 500 ต่อ 244 เสียง ดูชัดๆ ใครโหวตใคร,” Workpoint Today (6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/votepm62/>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[9] “ปิดสวิตช์ ส.ว. เสนอมาห้าครั้ง ทุกรูปแบบทุกกระบวนท่า ไม่เคยผ่าน ส.ว.,” iLaw (5 กันยายน 2565). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/6240>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[10] “แก้รัฐธรรมนูญภาคสี่: ถอดรหัสการลงมติ #ตัดอำนาจสว ของ ส.ส. และ ส.ว.,” iLaw (9 กันยายน 2565). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/6254>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[11] เรื่องเดียวกัน.
[12] “เลือกตั้ง 2566 : กกต. รายงานผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก.ก. เหลือ 151 ส.ส. ส่วน ปชป. ได้เพิ่มเป็น 25 ส่งจุรินทร์ผ่านคุณสมบัติเป็นนายกฯ,” BBC (25 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/articles/c1d34xlzvrlo>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[13] “เลือกตั้ง2566 : “พิธา” นำ 8 พรรคแถลงร่วมตั้งรัฐบาล 313 เสียง มั่นใจโหวตผ่านนายกฯ,” ThaiPBS (18 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/327925>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[14] “เลือกตั้ง 2566 : เปิดฉากทัศน์หาก ส.ว. ชิง “ปิดสวิตช์” ตัวเอง งดออกเสียงเลือก “พิธา” เป็นนายกฯ,” BBC (17 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/articles/c10q97p1zp8o>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.
[15] “ตร.เตรียมพร้อมรับ 'ม็อบ' กดดัน ส.ว. 'โหวตพิธาเป็นนายกฯ' พรุ่งนี้,” คมชัดลึกออนไลน์ (22 พฤษภาคม 2566). , เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/crime/549495>. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566.