ปิดคลองสุเอซ มีนาคม 2564

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ปิดคลองสุเอซ มีนาคม 2564

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


บทนำ

          เหตุการณ์ปิดคลองสุเอซเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 เริ่มต้นมาจากเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ขนาดใหญ่ชื่อ Ever Given ประสบอุบัติเหตุเกยตื้นและขวางกั้นคลองสุเอซในประเทศอียิปต์นานนับเกือบ 1 สัปดาห์ จนทำให้การสัญจรในคลองสุเอซกลายเป็นอัมพาตชั่วคราว เรือขนส่งสินค้านับร้อยลำต้องหยุดเดินและเข้าคิวเพื่อรอให้มีการแก้ไขสถานการณ์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้สร้างความโกลาหลการจราจรทางน้ำ ในคลองสุเอซ การขนส่งสินค้า และเศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาล รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันโลก ทั้งนี้ จากการประมาณการณ์ การขนส่งทางน้ำในคลองสุเอซที่หยุดชะงักลงนี้อาจสร้างความเสียหาย ราว 9.6 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการกู้เรือ Ever Given สำเร็จและส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางน้ำในคลองสุเอซกลับมาเป็นปกติ

 

คลองสุเอซ: ยุทธศาสตร์การส่งขนทางน้ำโลก

          คลองสุเอซเป็นคลองที่มนุษย์ได้ขุดขึ้นเพื่อการขนส่งทางน้ำและถือว่ามีความสำคัญต่อการขนส่งทางน้ำแห่งหนึ่งของโลกโดยเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย การขุดคลองสุเอซนั้นมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ กล่าวคือ โครงการคลองสุเอซได้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศอียิปต์ในปี พ.ศ. 2397 ซึ่งแนวคิดในการขุดคลองสุเอซนั้นเป็นความริเริ่มของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ที่ต้องการขุดคลองเพื่อสร้างอำนาจทางการทหารในการเดินทางไปพิชิตดินแดนใหม่ๆ โดยการขุดคลองสุเอซได้เริ่มดำเนินการในสมัย ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2402 แล้วเสร็จและเปิดใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2412 สำหรับวิศวกรผู้ควบคุมการขุดนั้นชื่อว่านายเฟอร์ดินันด์ เดอแลสเซปต์ กงสุลฝรั่งเศสประจำเมือง อเล็กซานเดรียซึ่งได้มีการจัดตั้งบริษัทบริษัทคลองสุเอซสากลเพื่อบริหารจัดการโครงการคลองสุเอซ ทั้งนี้ ตามข้อตกลงคือรัฐบาลอียิปต์จะให้สัมปทานการขุดคลองสุเอซและแสวงหาผลประโยชน์แก่รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเวลา 99 ปี และภายหลังจากนั้นให้บริษัทคลองสุเอซสากลโอนคืนกรรมสิทธิ์แก่รัฐบาลอียิปต์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ภูมิศาสตร์ของคลองสุเอซพบว่ามีลักษณะพิเศษทางภูมิศาสตร์คือเป็นดินแดนที่แคบที่สุดที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย โดยคลองสุเอซเชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง มีความยาวถึง 193.30 กิโลเมตร ความลึกประมาณ 24 เมตร[1]

          ดังนั้น จะเห็นว่าทำเลที่ตั้งของคลองสุเอซถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการเดินเรือ การขนส่งสินค้าทางน้ำจากทวีปยุโรปไปยังทวีปเอเชีย โดยมีข้อมูลว่าหากไม่เดินเรือผ่านคลองสุเอซนี้จะต้องอ้อมไปที่ ปลายทวีปแอฟริกาซึ่งไกลมากกว่าเดิมถึง 7,000 กิโลเมตร และใช้เวลานานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10 วัน ซึ่งนั่นหมายถึงต้นทุน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ฯลฯ ที่แพงขึ้นตามมา ทั้งนี้ พบว่าในแต่ละปีจะมีเรือผ่าน
คลองสุเอซมากกว่า 20,000 ลำ[2]

 

ปิดคลองสุเอซ 2564 และการกู้เรือ

          สำหรับการปิดคลองสุเอซนั้นพบว่าในอดีตมีการปิดมาแล้วหลายครั้งทั้งสาเหตุจากปัจจัยทางการเมืองและอุบัติเหตุเช่นเดียวกับปี 2564 กล่าวคือ ภายหลังมีการเปิดใช้คลองสุเอซอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2412 ได้เกิดเหตุการณ์ที่อียิปต์เข้ายึดคลองสุเอซจากอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งรู้จักกันในชื่อสงครามอิสราเอลกับอาหรับ ครั้งที่ 2 วิกฤตการณ์ในครั้งนั้น ทำให้คลองสุเอซถูกปิดลงในระหว่างปี 2499 – 2500 และต่อมาในปี พ.ศ. 2510 เมื่อครั้งที่อิสราเอลเข้ายึดครองคาบสมุทรไซนายส่งผลให้คลองสุเอซถูกปิดไปจนถึงปี 2518[3] ในส่วน ของสาเหตุจากอุบัติเหตุทางเรือที่ทำให้คลองสุเอซถูกปิดลงนั้นพบว่าในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 เรือบรรทุกน้ำมัน Tropical Brilliance จากประเทศรัสเซียได้เกิดอุบัติเหตุโดยมีสาเหตุมาจากพวงมาลัยควบคุมเรือมีปัญหาทำให้เรือกีดขวางการเดินเรือในคลองสุเอซและต้องใช้เวลา 3 วันในการแก้ไขปัญหา[4]

          อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุการณ์ปิดคลองสุเอซในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เริ่มต้นมาจาก เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ชื่อ Ever Given ขนาดความยาว 400 เมตร ความกว้างเกือบ 60 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 224,000 ตัน และสามารถบรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้กว่า 20,000 ตู้ ซึ่งเดินทางมาจากท่าเรือ ในประเทศจีนมุ่งหน้าสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเกิดพายุทรายความเร็วลมมากกว่า 40 น็อต หรือประมาณ 74 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นเหตุให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นต่ำจนเรือ Ever Given สูญเสียการควบคุม และเกยเข้ากับฝั่งบริเวณกิโลเมตรที่ 151 ด้วยขนาดของเรือ Ever Given นั้นได้ทำให้การกีดขวางคลองสุเอซเป็นไปโดยสมบูรณ์และส่งให้การสัญจรทางน้ำกลายเป็นอัมพาต โดยมีเรือที่ไม่สามารถเดินทางต่อไปประมาณ 367 ลำ[5] ต่อมาทาง Ever Given ได้ร้องขอให้บริษัท SMIT salvage และบริษัท Boskalis ของประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อเข้ากู้เรือ โดยการกู้เรือตลอดระยะเวลา 6 วันนั้นได้มีการขุดทรายจำนวน 30,000 ลูกบาตรเมตรเพื่อปลดปล่อยเรือ Ever Given จากการเกยตื้น ประกอบกับการขอความช่วยเหลือไปยังเรือโยง Alp Guard จากเนเธอร์แลนด์ และเรือโยง Carlo Magno จากอิตาลี ซึ่งได้เดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยเรือโยงทั้งสองลำทำหน้าที่ช่วยดันเรือ Ever Given และสามารถกู้เรือได้สำเร็จในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.05 น. ตามเวลาท้องถิ่น [6]

          ทั้งนี้ จากความเห็นของนาย Peter Berdowski ซีอีโอของบริษัท Boskalis กล่าวถึงรายละเอียด ของปฏิบัติการกู้เรือครั้งนี้ว่าก่อนเรือโยง Alp Guard และเรือโยง Carlo Magno จะเดินทางมาถึงได้มีการขุดทรายจำนวนมหาศาล และไม่อาจแน่ใจได้ว่าเรือโยงทั้งสองลำนั้นจะสามารถกอบกู้เรือ Ever Given ได้หรือไม่ นอกจากนี้ ทางทีมกู้เรือยังมีแผนสำรองหากปฏิบัติการของเรือโยงทั้งสองไม่ประสบความสำเร็จ คือการถ่ายโอนหรือถอดตู้คอนเทรนเนอร์ลงจากเรื่อง Ever Given แต่อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ปฏิบัติการดังกล่าวโดยเรือโยง Alp Guard และเรือโยง Carlo Magno ประสบความสำเร็จ[7]

 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและขนส่งทางน้ำ

          เป็นที่ทราบกันดีว่าคลองสุเอซนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการขนส่งสินค้าทางน้ำเชื่อมต่อระหว่าง ทวีปยุโรปและเอเชียซึ่งจากข้อมูลพบว่าในปี พ.ศ.2563 คลองสุเอซมีกำไรมากถึง 5.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.67 แสนล้านบาท และในปี พ.ศ. 2562 มีกำไร 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.75 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์[8] ทั้งนี้ ในแต่ละปีนั้นจะมีจำนวนเรือสินค้าที่วิ่งผ่าน คลองสุเอซประมาณ 20,000 ลำ หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าการขนส่งทางน้ำของโลก นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ปิดคลองสุเอซในปี พ.ศ. 2564 นี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจากภาคพื้นยุโรปและเอเชีย และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยพบว่าการปิดคลองสุเอซนี้จะให้การขนส่งน้ำมันมีความล่าช้าประมาณวันละ 3-5 ล้านบาร์เรลต่อวัน[9] ซึ่งผลกระทบจากการส่งขนน้ำมันนี้ พบว่าในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564 ราคาน้ำดิบปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล[10]

          นอกจากนี้ มีการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการปิดคลองสุเอส จากข้อมูลของ Lloyd's List ระบุว่า สินค้าที่ตกค้างจากการขนส่งทางเรือคิดเป็นความสูญเสียค่าใช้จ่ายวันละ 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท คิดเป็นชั่วโมงๆ ละ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท[11] ดังนั้น จะพบว่านอกจากคลองสุเอซจะเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศอียิปต์แล้ว ยังมีความสำคัญต่อการขนส่งทางน้ำและระบบเศรษฐกิจโลกอีกด้วยดังสะท้อนได้จากความผันผวนและโกลาหลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาเกือบ 1 อาทิตย์ที่คลองสุเอซเป็นอัมพาต

 

บรรณานุกรม

“10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ คลองสุเอซ เส้นทางขนส่งที่สร้างรายได้มหาศาล” สปริงนิวส์ (29 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.springnews.co.th/news/807279>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

“26 กรกฎาคม 1956 อียิปต์ยึด คลองสุเอซ คืนจาก อังกฤษ-ฝรั่งเศส.” ศิลปวัฒนธรรม (26 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1233>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

“Ever Given Partially Refloated in the Suez Canal by Expert Salvage Team of Boskalis Subsidiary SMIT Salvage.” Energy Industry Review. (March 29, 2021). Available from <https://energyindustryreview.com/events/ever-given-partially-refloated-in-the-suez-canal-by-expert-salvage-team-of-boskalis-subsidiary-smit-salvage/>. (October 10, 2021)

“How a full moon and a ‘huge lever’ helped free Ever Given from Suez canal.” the Guardian (March 30, 2021). Available from <https://www.theguardian.com/world/2021/mar/30/powerful-tugs-and-an-ebbing-tide-how-the-ever-given-was-freed>. (October 10, 2021)

“Suez Canal blockage could cause problems for the globe: Here’s what you need to know.” CNBC (March 25, 2021) Available from <https://www.cnbc.com/2021/03/25/suez-canal-cargo-ship-blockage-could-cause-problems-for-the-globe.html>. (October 10, 2021)

“คลองสุเอซ: เรือเอเวอร์ กิฟเวน หลุดจากการเกยตื้นแล้ว หลังติดขวางการจราจรในคลองมาเกือบ 1 สัปดาห์.” บีบีซีไทย (29 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/international-56561323>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

ดลหทัย จิรวิวรรธน์ (2559). “คลองไทย: ประเด็นที่ต้องพิจารณา และ การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

“ประเมินผลกระทบเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ.” ไทยรัฐออนไลน์ (29 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/foreign/2058447>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

“ราคาน้ำมันดิบดีดขึ้น กังวลเรือสินค้าขวางคลองสุเอซกระทบอุปทานน้ำมันดิบ.” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (25 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/finance/news-636129>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

“รู้จัก คลองสุเอซ เส้นทางลัดสำคัญเอเชีย-ยุโรป โดนเรือยักษ์ขวางจนมิด.” ไทยรัฐออนไลน์ (27 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/foreign/2058597>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564

“เรือขวางคลอง.” แนวหน้า. (29 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก  <https://www.naewna.com/politic/columnist/47258>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

“เรือสินค้าเกยฝั่งขวางคลองสุเอซ กระทบโลกอย่างไร.”  the Standard (26 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/cargo-ship-blocked-suez-canal/>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

อ้างอิง

[1] ดู ดลหทัย จิรวิวรรธน์, “คลองไทย: ประเด็นที่ต้องพิจารณา และ การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 10-16.

[2] “เรือขวางคลอง,” แนวหน้า, (29 มีนาคม 2564), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/columnist/47258>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[3] “รู้จัก คลองสุเอซ เส้นทางลัดสำคัญเอเชีย-ยุโรป โดนเรือยักษ์ขวางจนมิด,” ไทยรัฐออนไลน์ (27 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/foreign/2058597>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564. และ “26 กรกฎาคม 1956 อียิปต์ยึด คลองสุเอซ คืนจาก อังกฤษ-ฝรั่งเศส,” ศิลปวัฒนธรรม (26 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1233>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[4] “10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ คลองสุเอซ เส้นทางขนส่งที่สร้างรายได้มหาศาล,” สปริงนิวส์ (29 มีนาคม 2564).
เข้าถึงจาก <https://www.springnews.co.th/news/807279>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[5] “คลองสุเอซ: เรือเอเวอร์ กิฟเวน หลุดจากการเกยตื้นแล้ว หลังติดขวางการจราจรในคลองมาเกือบ 1 สัปดาห์,”
บีบีซีไทย (29 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/international-56561323>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[6] “Ever Given Partially Refloated in the Suez Canal by Expert Salvage Team of Boskalis Subsidiary SMIT Salvage” Energy Industry Review, (March 29, 2021). Available from <https://energyindustryreview.com/events/ever-given-partially-refloated-in-the-suez-canal-by-expert-salvage-team-of-boskalis-subsidiary-smit-salvage/>. Accessed October 10, 2021.

[7] “How a full moon and a ‘huge lever’ helped free Ever Given from Suez canal,” the Guardian (March 30, 2021). Available from <https://www.theguardian.com/world/2021/mar/30/powerful-tugs-and-an-ebbing-tide-how-the-ever-given-was-freed>. Accessed October 10, 2021.

[8] “เรือสินค้าเกยฝั่งขวางคลองสุเอซ กระทบโลกอย่างไร,” The Standard (26 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/cargo-ship-blocked-suez-canal/>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[9] “Suez Canal blockage could cause problems for the globe: Here’s what you need to know,” CNBC (March 25, 2021) Available from <https://www.cnbc.com/2021/03/25/suez-canal-cargo-ship-blockage-could-cause-problems-for-the-globe.html>. Accessed October 10, 2021.

[10] “ราคาน้ำมันดิบดีดขึ้น กังวลเรือสินค้าขวางคลองสุเอซกระทบอุปทานน้ำมันดิบ,” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (25 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/finance/news-636129>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[11] “ประเมินผลกระทบเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ,” ไทยรัฐออนไลน์ (29 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/foreign/2058447>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.