ปาล พนมยงค์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ปาล พนมยงค์ : ผู้เจอข้อหากบฏสันติภาพ

        ในการเมืองไทยยุคใหม่มี  “กบฏ” อยู่หลายกรณี และครั้งหนึ่งก็มี  “กบฏสันติภาพ” ที่ทางรัฐบาลได้สั่งจับกุมแลคุมขังผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ ชื่อกบฎคราวนี้ค่อนข้างแปลก เกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ จอมพล แปลก หรือหลวงพิบูลสงคราม ที่ว่ากบฎสันติภาพเพราะบุคคลเหล่านี้เรียกร้องสันติภาพในโลกซึ่งถูกมองว่าไปทางเดียวกันกับการเรียกร้องของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการเมืองระหว่างประเทศ ผู้ต้องหาคดีกบฎที่เป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งนั้นคือ นายปาล พนมยงค์ ทายาทคนหนึ่งของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เพื่อนผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินร่วมกับจอมพล แปลกนั่นเอง คุณปาล พนมยงค์ ถูกจับในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่บิดาของตนเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย วันที่ถูกจับนั้นผู้เป็นมารดาคือท่านผู้หญิง พูนสุข พนมยงค์ ได้เขียนเล่าเอาไว้ว่า

“ต่อมาในวันที่ '13 พฤศจิกายน เวลาเช้าตรู่ ระหว่างลูกลาป่วยพักอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาล้อมบ้านสาธร เข้าค้นบ้าน และจับลูกนำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจสามยอด ในข้อหากบฎ ...”

        ปาล พนมยงค์ เป็นบุตรคนที่สองของบิดาและมารดา เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2474 ที่บ้านป้อมเพชร ถนนสีลม ซึ่งเป็นบ้านของคุณตาคุณยาย ตอนนั้นบิดาทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายและสอนหนังสือด้วยที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เกิดได้เพียง 6 เดือนก็มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ปี 2475 ที่บิดาร่วมเป็นผู้ก่อการฯ ด้วยคนหนึ่ง แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่ ปาล พนมยงค์ น่าจะจำได้มากเพราะเติบโตขึ้นมาจนอายุได้ 16 ปีแล้ว คือ การรัฐประหาร ปี 2490 ในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผู้ร่วมทำรัฐประหารได้นำรถถังไปยิงที่บ้านพักรับรองของบิดาที่ถนนพระอาทิตย์ เพื่อจับตัวบิดา คือ “รัฐบุรุษอาวุโส” ที่ขณะนั้นไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วแต่คลาดกัน

        ในด้านการศึกษา ปาล พนมยงค์ ได้เริ่มการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนใกล้บ้านคือโรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ โตพอสมควรแล้วจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธและต่อมาไปจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นจึงได้เข้าเรียนโรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 8 อันเป็นรุ่นสุดท้ายของโรงเรียน จบจากเตรียมธรรมศาสตร์แล้วจึงได้เข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ขณะที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ บิดาได้เดินทางไปลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ต่างประเทศ ความที่ท่านเป็นคนเรียนดีและมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษดี ตอนที่เรียนยังไม่ทันจบปริญญาตรี ก็ได้ไปสอบได้เข้าเป็นเสมียนของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงที่บิดาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน การที่พ่อไร้อำนาจและอยู่ที่ต่างประเทศ การสอบได้เป็นเสมียนของกระทรวงการต่างประเทศเช่นนี้  “ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นได้ประท้วงมายังกระทรวงฯ ว่าทำไมรับลูกชายหลวงประดิษฐ์ฯเข้าทำงาน...”

          ปาล พนมยงค์ นั้นนอกจากเป็นบุตรของผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯแล้ว ยังเป็นบุตรของนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของไทย บิดาของท่านเคยเป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง และจากการเลือกตั้ง สมาชิกพฤฒสภา รัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง ที่มีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ และเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กับเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีบทบาทสำคัญมาก ตลอดจนเคยเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ชีวิตของคุณปาล พนมยงค์ จึงน่าจะรุ่งเรือง แต่กลายเป็นว่าท่านถูกการเมืองเล่นงานอย่างร้ายกาจ หากลองหันกลับไปดูชีวิตของลูกอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยมีมาในประเทศไทย ชีวิตของคุณปาล พนมยงค์ ดูจะตกที่นั่งลำบากกว่าใคร มีโชคอยู่บ้างที่สอบเป็นเสมียนได้และกระทรวงการต่างประเทศยอมรับเข้าทำงาน แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากถูกเกณฑ์ทหารไปเป็นพลทหารสังกัดจเรทหารม้า ที่ร้ายที่สุดถูกเล่นงานด้วยคดีกบฎ เพื่อนร่วมคุกในคดีสันติภาพ เขียนถึงคุณ ปาล เอาไว้ว่า

“สำหรับนาย ปาล พนมยงค์ ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ '11 โดยถูกยัดเยียดให้อยู่ในกลุ่มกู้ชาติสายพลเรือนและกลุ่มนักศึกษาด้วยในขณะเดียวกัน”

        ท่านถูกตัดสินจำคุก 20 ปี และได้รับการลดหย่อนเหลือเพียง 13 ปี 4 เดือน  คุณปาล พนมยงค์ ถูกจำคุกอยู่จนถึงเดือนมีนาคม ปี 2500 จึงได้รับการปล่อยตัวในโอกาสการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ท่านถูกจับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนที่ได้รับการปล่อยตัวก็เป็นสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากได้รับการปล่อยตัวท่านจะอุปสมบท ยังได้ไปพบลาบวชกับนายกฯ หลวงพิบูลสงคราม ด้วย หลังจากนั้นคุณปาล จึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมบิดาซึ่งไม่ได้พบกันมาเป็นเวลาประมาณ  10 ปีที่ประเทศจีน แล้วจึงกลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนจบเป็นนิติศาสตรบัณฑิต

        ต่อมาคุณ ปาล พนมยงค์ ก็ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส และได้พบปะกับบิดาและมารดาเป็นประจำ เนื่องจากภายหลังท่านทั้งสองและบุตรกับธิดาได้เดินทางออกจากประเทศจีนมาพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ขณะที่คุณปาล พนมยงค์ ศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสนี้ ท่านได้สมรสกับ คุณงามชื่น นีลวัฒนานนท์ หลังจากการศึกษาที่ฝรั่งเศส ท่านก็ได้กลับมาทำงานในเมืองไทยในปี 2515 ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาของรัฐบาลจอมพล  ถนอม กิตติขจร ทีปกครองอยู่โดยอาศัยธรรมนูญการปกครองฯ สถานการณ์ทางการเมืองไทยไม่ราบรื่น รัฐบาลถูกล้มไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 ครั้นเกิดความวุ่นวายที่มีการปราบปรามอย่างรุนแรงในปี 2519  คุณปาล จึงเดินทางไปอยู่ที่ฝรั่งเศสเป็นการชั่วคราว

          กลับมาจากฝรั่งเศสแล้วท่านก็มีสุขภาพไม่ค่อยดีนัก ในวันที่ 9 กันยายน ปี 2524 ปาล พนมยงค์ จึงได้ถึงแก่กรรม