ปรากฎการณ์รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียง:       
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม
2.อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

          ปรากฏการณ์ทางเมืองที่สำคัญภายหลังที่พรรคพลังประชารัฐได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่มีเสียงสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลเกินกว่ากึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยไม่กี่เสียง จึงทำให้การลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในบางโอกาส เสียงของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลแพ้คะแนนต่อฝ่ายค้านจึงมีการเรียกรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุน ในสภาแบบก่ำกึ่งเพียงเล็กน้อยดังกล่าวว่า “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ซึ่งจะได้อธิบายดังต่อไปนี้

 

1.  ความหมาย หรือ แนวคิด

รัฐบาลแบบรัฐสภา (Parliamentary government) ตามทฤษฎีนั้นถือว่าประเทศสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบ จุดเด่นของรัฐบาลแบบนี้ คือ การถือเอาฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐ เนื่องจากรัฐสภานั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐบาลโดยตรง ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี หรือบุคคลในคณะรัฐมนตรี เพราะถูกเลือกจากสมาชิกรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ ซึ่งปกติคณะรัฐมนตรีมักมาจากพรรคที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา) รัฐสภามีหน้าที่ในการควบคุมการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีและฝ่ายบริหาร ได้แก่ การตั้งกระทู้ถาม และการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีก็มีสิทธิยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จากความสำคัญของรัฐบาลแบบรัฐสภาดังกล่าว จึงเห็นได้ว่ารัฐสภาเป็นศูนย์กลางของอำนาจดังกล่าวจึงสามารถเรียกรัฐบาลแบบนี้ว่าเป็นรัฐบาลแบบรัฐสภา (Parliamentary government) ก็ได้[1]

สำหรับสภาผู้แทนราษฎรของไทย ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ปรากฏว่าที่นั่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้รับมีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงทำให้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคจึงมีความหมายและความสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาล หรือการลงมติผ่านกฎหมายหรือนโยบายสำคัญต่างๆ ภายหลังการเลือกตั้งตามที่เกิดขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้เมื่อมีการลงมติต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร ผลการลงคะแนนจึงมีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยรวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลด้วย

ในการจัดตั้งรัฐบาลในระบบรัฐสภา ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 นั้น ปรากฏภาพเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนพรรคการเมืองที่ประกาศร่วมรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจำนวน 18 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน พรรคพลังประชารัฐ, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน พรรคประชาธิปัตย์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย, นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา, ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล พรรครวมพลังประชาชาติไทย, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนา, นายชัชวาลล์ คงอุดม พรรคพลังท้องถิ่นไท, พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ พรรคพรรคพลังชาติไทย, นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ พรรคประชาภิวัฒน์ นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล พรรคพลังไทยรักไทย, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศิวิไลย์, นายปรีดา บุญเพลิง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ พรรคประชานิยม, นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล พรรคประชาธรรมไทย, นายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป, นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย, นพ.ระวี มาศฉมาดล พรรคพลังธรรมใหม่ และ นายสุรทิน พิจารณ์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งขาดเพียง นายดำรงค์ พิเดช พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่ติดภารกิจส่วนตัว ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่มาแสดงความยินดี ส่วนคณะรัฐมนตรีที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ขอให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อทำให้ประเทศชาติเรามั่นคง ปลอดภัย ยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของเรา ต่อไปนี้เราจะมีแต่รอยยิ้มให้กัน[2]

 

2.  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ปรากฎการณ์ของสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” นั้นสามารถอธิบายผ่านรายละเอียดของเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วย 20 พรรคการเมืองแล้ว 2 เหตุการณ์ดังนี้

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ได้มีการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่าฝั่งเสียงที่สนับสนุนรัฐบาลพ่ายแพ้ต่อฝ่ายค้าน ด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว 205 ต่อ 204 โดยเป็นการลงมติในวาระการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในหัวข้ออำนาจหน้าที่ของประธานสภา ข้อ 9 ที่ระบุว่า “ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องวางตนเป็นกลาง” ซึ่งในการประชุมครั้งน้นพบว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลงดออกเสียง จึงทำให้เสียงของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลแพ้ต่อฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก[3]

และอีกเหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 จากการที่สภาล่มสองครั้งในการประชุมเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 กล่าวคือ แม้ว่าในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว พบว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ
ด้วยคะแนนเสียง 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 จากองค์ประชุม 469 คน ซึ่งถือเป็นมติที่ฝ่ายค้านชนะฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในคืนวันเดียวกันนั้น เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้มีการขอให้ลงมติกันใหม่
การประชุมก็ล่ม เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อองค์ประชุมสมาชิกไม่ครบ เพราะขณะนั้นผู้เข้าประชุมเหลือเพียง 92 เสียง ไม่ถึงครึ่ง จากจำนวน ส.ส. ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย 499 ในขณะนั้น และต่อมาในวันรุ่งขึ้น วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เรียกประชุมอีกครั้งเพื่อการนี้ แต่ที่ประชุมก็ล่ม (ไม่ครบองค์ประชุม) อีกครั้ง และในที่สุด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลก็แทบเข้าประชุมเพียงฝ่ายเดียว เพราะฝ่ายค้านแทบทั้งหมดไม่เข้าประชุม โดยมี ส.ส. ฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายรัฐบาลจำนวน 10 ราย ทำให้ที่ประชุมครบองค์ เพื่อที่ฝ่ายรัฐบาลขอยืนยันมติไม่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว และประสบความสำเร็จ ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 244 ต่อ 5 เห็นชอบ และงดออกเสียง 6 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ
จากองค์ประชุม โดยเกินองค์ประชุมมา 12 คน โดยองค์ประชุมอย่างน้อย ต้องอยู่ที่ 249 คน จาก ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้น 498 คน[4] 

จากการที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ และเคยมีประสบการณ์โหวตแพ้ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วนั้นปรากฏว่า บรรดาแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาล ต่างไม่กังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่รู้สึกเสื่อมเสียหน้าแต่อย่างใด ทั้งยังมั่นใจจะไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลให้เหตุผลคล้ายๆ กันคือ ครั้งแรกเป็นร่างข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และการโหวตนั้น จะยึดตามกรรมาธิการเสียงข้างมากอยู่แล้ว ทั้งนี้ยังมีการโทษสถานที่คือ รัฐสภาแห่งใหม่ว่ายังไม่สะดวกและครบสมบูรณ์ บางจุดก็ไม่ได้ยินเสียง ทำให้ ส.ส. ที่ออกมาผ่อนคลายอิริยาบถ กลับเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติไม่ทัน แต่ไม่โทษ ส.ส. ที่อาสาเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนแล้วจะต้องมีความรับผิดชอบและร่างข้อบังคับสภาฯ ก็เป็นเรื่องที่ใช้บังคับกับ ส.ส. โดยตรง แต่หลายคนดูเหมือนว่า จะไม่ให้ความสำคัญหรือใส่ใจ โดยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างยืนยันว่า หากเป็นการลงมติวาระสำคัญ หรือร่างกฎหมายฉบับสำคัญๆ จะไม่เกิดปัญหาเสียงรัฐบาลโหวตแพ้ฝ่ายค้านแน่นอน มั่นใจว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจะคุมกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์  ซึ่งความมั่นใจนี้ น่าจะเกิดจากกรณีมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 180/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือวิปรัฐบาล รวม 61 คน มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน มีรองประธาน 3 คน ได้แก่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายธาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และนายวิเชียร ชวลิต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในจำนวนวิปรัฐบาล 61 คน มาจากพรรคพลังประชารัฐ 24 คน พรรคประชาธิปัตย์ 14 คน พรรคภูมิใจไทย 9 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 3 คน พรรคชาติพัฒนา 2 คน พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคประชาภิวัฒน์ และพรรครวมประชาชาติไทย พรรคละ 1 คน  นอกจากนี้วิปรัฐบาลยังมีทีมที่ปรึกษาอีก 6 คน ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากพรรคพลังประชารัฐ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากพรรคพลังประชารัฐ  นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคชาติพัฒนา นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จากพรรคพลังประชารัฐ นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ ถือเป็นวิปรัฐบาลที่มีจำนวนมากเมื่อเทียบกับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลแล้วเท่ากับว่าวิป 1 คน จะดูแล ส.ส. 4 คน  โดยขณะนั้นรัฐบาลมีเสียงสนับสนุน 254 เสียง และต่อมาเมื่อนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส. พรรคไทยศรีวิไลย์ ประกาศเป็นฝ่ายค้านอิสระ ก็จะเหลือ 253 เสียง หากตัดประธานสภาที่ต้องงดออกเสียงก็จะเหลือเพียง 252 เสียง  เสียงของรัฐบาลที่ปริ่มน้ำนี้ แค่ทุกครั้งที่เริ่มเปิดการประชุมแล้วฝ่ายค้านขอให้นับองค์ประชุมก็เสี่ยงที่จะให้สภาล่มแล้ว เพราะจะต้องมี ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ฝ่ายรัฐบาลจึงมีความเสี่ยงที่จะโหวตแพ้ฝ่ายค้านอยู่เรื่อยๆ ด้วย ต่อมาจึงต้องห้าม ส.ส. ลากิจ และไม่ให้ป่วยในวันที่จะโหวตลงมติในวาระสำคัญด้วย[5]

 

3.  หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

ในทัศนะของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อย่าง ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่าสัญญาณรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมีมาตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เพราะเห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีความตั้งใจไม่ให้มีพรรคขนาดใหญ่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา เลยทำให้ได้รัฐบาลแบบนี้ขึ้น ซึ่งพรรคขนาดกลาง พรรคเล็กพรรคน้อยได้ที่นั่งจำนวนมาก พอเปิดประชุมสภาถึงตอนลงมติในวาระใด ก็จะเกิดเหตุการณ์เสียงปริ่มน้ำจริงขึ้น เพราะรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่ามีพรรคการเมืองร่วมด้วยมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือกว่า 20 พรรค จึงมิต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหนในการประคับประคองพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลต่างๆ ให้ดำเนินไปตามปกติ และจะเกิดภาพการประลองกำลังเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามไปเพื่อการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝั่งสนับสนุนรัฐบาลจะโหวตแพ้ฝ่ายค้านอีกไม่ได้เด็ดขาด

เรื่องลงมติในสภาผู้แทนราษฎร บางเรื่องถือเป็นเรื่องเล็กๆ เช่นการลงมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ประเด็นแค่แก้ข้อบังคับการประชุม ถ้าโหวตเรื่องใหญ่กว่านี้แล้วรัฐบาลแพ้จะเป็นเรื่องใหญ่ ถ้ารัฐบาลแพ้จะต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ นี่จึงเป็นจุดสำคัญที่ต่อจากนี้ ส.ส.พรรครัฐบาล ห้ามขาดประชุม ห้ามสาย ห้ามลา ห้ามลุกไปเข้าห้องน้ำด้วย จะตึงเครียดแค่ไหน ในขณะที่ ส.ส.เองก็มีภาระความรับผิดชอบในการลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อสอบถามสภาพปัญหาในชุมชน และการหาคะแนนเสียงจากประชาชนเพื่อการเลือกตั้งในครั้งต่อไป แต่การถูกรั้งให้ต้องเข้าร่วมการประชุมสภาทุกครั้งเพื่อการโหวตให้รัฐบาลก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้อาจารย์บัณฑิตชี้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลหลักอย่างพรรคพลังประชารัฐยังถือว่าเป็นพรรคใหม่ ไม่มีความเป็นสถาบัน สมาชิกพรรคยังไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป ในทางรัฐศาสตร์มีการใช้คำว่า Buffet Cabinet คืออธิบายภาพนักการเมืองในพรรคแย่งกันเป็นรัฐมนตรี ทุกคนจะอ้างว่าขอเป็นหน่อยอย่างน้อยสักครึ่งสมัยก็ดี เป็นภาพที่เกิดขึ้น สำหรับฝ่ายรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่มีพรรคร่วมมากอย่างพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบัน[6]

 

4.  สรุป

          รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เป็นวลีที่ใช้เรียกรัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562
จากการที่พรรคการเมืองมารวมกันถึง 20 พรรคมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งในสภาผู้แทนราษฎรได้เกิดสภาวะการณ์ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงสนับสนุน 254 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมีเสียง 246 จึงเกิดลักษณะก้ำกึ่งกันในการลงมติต่างๆ ซึ่งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเคยแพ้มติเสียงของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรด้วย จึงทำให้เกิดมาตรการต่างๆ ของแกนนำพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ใช้ควบคุม ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แพ้โหวตฝ่ายค้านขึ้นซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย

 

5.  บรรณานุกรม

ข่าวสด. (2562). 18 พรรคร่วมรัฐบาล ตบเท้าเข้าคารวะ บิ๊กตู่ หลังรับโปรดเกล้าฯนายกรัฐมนตรี, สืบค้นจาก

https://www.khaosod.co.th/politics/news_2606168, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. (2562). ความท้าทายของรัฐบาลปริ่มน้ำ, สืบค้นจาก

https://www.chula.ac.th/cuinside/22137/?fbclid=IwAR0Uu0l0VDSIOBpmxYpMsxls2PWYOP_XbD2eMep-uQTeqrHmknA2PoJlgS0, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

บีบีซีไทย. (2562). “ประชุมสภา : สภาล่มรอบ 2 ในรอบ 2 วัน ยังตั้ง กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม. 44 ไม่ได้”

สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-50313105 - เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563

บีบีซีไทย. (2562). “ประชุมสภา : รัฐบาล “พลิกโหวต” คว่ำญัตติตั้ง กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม. 44”สืบค้นจาก

https://www.bbc.com/thai/thailand-50639978 - เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563

มติชน. (2562). รัฐบาล เสียงปริ่มน้ำ ปากกล้าขาสั่น, สืบค้นจาก

https://www.matichon.co.th/newsroom-analysis/news_1629709, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

 

อ้างอิง

[1]โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น. 81

[2]18 พรรคร่วมรัฐบาล ตบเท้าเข้าคารวะ บิ๊กตู่ หลังรับโปรดเกล้าฯนายกรัฐมนตรี, สืบค้นจาก

https://www.khaosod.co.th/politics/news_2606168, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

[3]ความท้าทายของรัฐบาลปริ่มน้ำ, สืบค้นจากhttps://www.chula.ac.th/cuinside/22137/?fbclid=IwAR0Uu0l0VDSIOBpmxYpMsxls2PWYOP_XbD2eMep-uQTeqrHmknA2PoJlgS0, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

[4] โปรดดูประกอบข่าว “ประชุมสภา : สภาล่มรอบ 2 ในรอบ 2 วัน ยังตั้ง กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม. 44 ไม่ได้” สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-50313105 - เข้าถึงเมื่อ28 พฤษภาคม 2563 และ “ประชุมสภา : รัฐบาล “พลิกโหวต” คว่ำญัตติตั้ง กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม. 44”สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-50639978 - เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563

[5] มติชน. (2562). รัฐบาล เสียงปริ่มน้ำ ปากกล้าขาสั่น, สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/newsroom-analysis/news_1629709

[6]บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. (2562). ความท้าทายของรัฐบาลปริ่มน้ำ, สืบค้นจาก

https://www.chula.ac.th/cuinside/22137/?fbclid=IwAR0Uu0l0VDSIOBpmxYpMsxls2PWYOP_XbD2eMep-uQTeqrHmknA2PoJlgS0