ประโยชน์อื่นใด
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต
ประโยชน์อื่นใด
'1'. ความหมาย หรือ หลักการสำคัญ
คำว่า “ประโยชน์อื่นใด” เป็นคำที่มีความหมายกว้าง โดยกฎหมายแต่ละฉบับพยายามให้คำนิยามหรือคำจำกัดความไว้ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 4 “ประโยชน์อื่นใด” หมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลด โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543[1] ข้อ 3 “ประโยชน์อื่นใด” หมายความว่า สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563[2] ข้อ 4 “ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้” หมายความว่า สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
จากการให้คำนิยามของประโยชน์อื่นใดในข้างต้น จึงพอสรุปได้ว่า “ประโยชน์อื่นใด” คือ การได้รับผลประโยชน์ต่อตนเองหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นด้านใด ๆ ทั้งในส่วนของการได้รับสิ่งที่มีมูลค่าไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือ การบริการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านความบันเทิง การฝึกอบรม หรือ การที่ทำให้มูลหนี้ลดน้อยลงหรือระงับสิ้นไป นั่นเอง
องค์ประกอบของประโยชน์อื่นใด จึงประกอบด้วย 1) การรับผลประโยชน์ 2) เพื่อตนเอง หรือ ผู้อื่น
3) เป็นการกระทำโดยมีเจตนาที่จะรับผลประโยชน์
หลักการสำคัญของ “ประโยชน์อื่นใด” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงมีข้อห้ามและหน้าที่ให้แก่พรรคการเมืองดำเนินการ ดังต่อไป
1) ห้ามมิให้ “พรรคการเมือง” หรือ “ผู้ใด” เสนอให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก[3]
2) ห้ามมิให้ “ผู้ใด” เรียกรับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจาก “พรรคการเมือง” หรือ จาก “ผู้ใด” เพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก[4]
3) ห้ามมิให้ “พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด” เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประธโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือ สัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือ เพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ[5]
4) ห้ามมิให้ “พรรคการเมือง หรือ ผู้ใด” เรียก รับ หรือยอมจะรับ หรือให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด หรือ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใดให้สมาชิกลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้ใดในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ตามมาตรา 50) หรือ ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ตามมาตรา 51)[6]
5) คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองตลอดจนจัดให้มีการทำบัญชีตามมาตรา 59 ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง[7]
6) รายได้ของพรรคการเมือง รวมถึงเงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง หรือ ที่ได้จากการรับบริจาค รวมถึงดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง[8]
พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลทั่วไปซึ่งมีมูลค่าเกินปีละสิบล้านบาทมิได้ หรือ ในกรณีนิติบุคคลจะบริจาคเกินปีละห้าล้านบาทไม่ได้[9] อันเป็นมาตรการป้องกันมิให้พรรคการเมืองถูกบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นนายทุนพรรคการเมืองเพื่อบงการหรือมีอิทธิพล ครอบงำและชี้นำการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนแต่เพียงผู้เดียว หรือกลุ่มเดียวได้ ทำให้การบริหารกิจการของพรรคการเมืองไม่เป็นไปโดยอิสระและทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในพรรคการเมืองไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง[10]
ในกรณีที่สมาชิกของพรรคการเมืองต้องการบริจาคเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน[11]
ทั้งนี้ ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า
มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย[12] การกำหนดข้อห้ามดังกล่าวไว้เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเหล่านั้นอันจะทำให้พรรคการเมือง กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการกระทำความผิดไปด้วยและมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบพรรคการเมืองของประเทศไทย อันเป็นมาตรการที่สำคัญเพื่อเสริมสร้างระบบพรรคการเมืองของประเทศไทยให้เป็นสถาบันที่มีความโปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน[13]
'2'. ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น
ข้อเท็จจริงจากกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในกรณีที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้หรือบริจาคเงิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่ในฐานะผู้ถูกร้องมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาท อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินและรับเงินดังกล่าวจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จึงเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 วรรคสอง อีกทั้งการที่พรรคอนาคตใหม่ในฐานะของผู้ถูกร้องรับเงินกู้ยืม ในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาท จึงเป็นการรับบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่า ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 และเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องได้ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงมูลเหตุการให้กู้ยืมเงินโดยมีเหตุอันน่าสงสัยว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 ที่ห้ามพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยพรรคอนาคตใหม่ผู้ถูกร้องรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้วิธีการกู้ยืมเงินจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องเป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท ซึ่งปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่ผู้ถูกร้องมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามมาตรา 66 ที่ห้ามบุคคลใดบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปี และห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน
หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปี[14]
'3'. ความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในกรณี “ประโยชน์อื่นใด”
เมื่อพิจารณาบทนิยามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 4 บัญญัติคำว่า “บริจาค” หมายความว่า การให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกจาก ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง และให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง บรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย
การที่กฎหมายใช้คำว่า “ให้หมายความรวมถึง” ในการนิยามความหมายของคำในกฎหมาย ย่อมมีความหมายรวมถึงสิ่งอื่นนอกเหนือจากสิ่งที่จำกัดความหรือให้ความหมายไว้อีกด้วย เพราะฉะนั้น การให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองย่อมมีความหมายรวมถึงการกระทำที่มีลักษณะทำนองเดียวกับการให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไป หรือการให้ประโยชน์อื่นใด แก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายซึ่งโดยปกติต้องจ่ายอันมีลักษณะที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วย
คำว่าประโยชน์อื่นใดจึงเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “บริจาค” ตามคำนิยามในกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้นำความหมายของคำทั้งสองมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตีความของกฎหมายตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ต้องการ ควบคุมการสนับสนุนในทางการเงินให้แก่พรรคการเมืองอันเป็นผลให้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 นั่นเอง
'4'. บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137/ตอนที่ 21 ก/18 มีนาคม 2563'. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ '5'/'2563
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117/ตอนที่ 118 ก/19 ธันวาคม 2543. ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. '25'43
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137/ตอนที่ 20 ก/13 มีนาคม 2563. ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[1] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
[2] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 128 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
[3] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 30
[4] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 31
[5] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 46
[6] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 และ 54
[7] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 58
[8] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62
[9] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 วรรคสอง
[10] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 21 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2563 หน้า 39
[11] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 67
[12] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา 72
[13] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 21 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2563 หน้า 40
[14] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 21 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2563 หน้า 44