ประธานยุทธศาสตร์พรรค

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ประธานยุทธศาสตร์พรรค

          ประธานยุทธศาสตร์พรรค เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นและเป็นหนึ่งในแกนหลักสำคัญด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นๆ ทั้งยังมีบทบาท เป็นแกนหลักในการให้คำปรึกษาแก่หัวหน้าและเลขาธิการพรรค รวมถึงสมาชิกทุกคนในพรรค[1]แม้ว่าตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคไม่ได้มีระบุไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือข้อบังคับของพรรคการเมือง แต่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ.2562 รวมทั้งบทบาทนำในการเคลื่อนไหวของพรรคหลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา

          ตัวอย่างผู้ดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคที่สำคัญ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา นายจาตุรนต์ ฉายแสง จากพรรคไทยรักษาชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กอย่าง นายพันธ์ยศอัครอมรพงศ์ จากพรรคภราดรภาพ เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี ประธานยุทธศาสตร์พรรคโดยเฉพาะในพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ยังมีบทบาทในการสร้างความเป็นเอกภาพและแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มย่อยต่างๆ ภายในพรรคด้วย อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากประธานยุทธศาสตร์พรรคแล้ว บทบาทของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคยังทำหน้าที่รับฟังและแก้ปัญหาให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ซึ่งแตกต่างจากรรมการบริหารพรรคที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของพรรค [2]

                                                                                     

อ้างอิง

[1] "ธรรมนัส"คอนเฟิร์มพลังประชารัฐเสนอ "บิ๊กป้อม" นั่งประธานยุทธศาสตร์พรรค. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/politic/news/597519 (20 สิงหาคม 2563).

[2] “ส.ส.หลายคนก็มี “อีโก้” เพราะถือว่ามาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้บริหารบางคนเพิ่งจะก้าวเข้าสู่การเมืองเป็นปีแรก ไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่” . สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/main/detail/43477(20 สิงหาคม 2563).