ประชามติ(รศ.ดร.ปธาน)
ประชามติ
ความหมายของประชามติ
ประชามติ หรือ Referendum หมายถึง เป็นกระบวนการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองผ่านการออกเสียงลงคะแนนว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อมาตรการหรือคำเสนอของรัฐ หรือต่อสิ่งที่เกิดจากความคิดริเริ่มของประชาชน นิยมใช้เป็นที่เข้าใจว่า หมายถึง การออกเสียงแสดงประชามติต่อเรื่อง กล่าวคือ การออกเสียงของประชาชนต่อร่างกฎหมายหรือต่อเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญของประชาชน การประชามติต่อร่างกฎหมายอาจเป็นทั้งประชามติต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ประชามติต่อกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ หรือจะกระทำในกฎหมายระดับท้องถิ่นก็ได้
ประชามติจะมีลักษณะต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งอาจกำหนดรูปแบบ ผลผูกพันและระดับในการจัดทำประชามติแตกต่างกันได้ เช่น อาจกำหนดให้ผลของประชามติมีผลเป็นข้อผูกมัดรัฐบาลให้ต้องผูกพันตามผลของประชามติ หรือกำหนดให้ผลของประชามติเป็นเพียงการสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อนการดำเนินการ เสมือนเป็นการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล(consultative referendum)ก็ได้
นอกจากนี้ ยังมีประชามติต่อบุคคล หรือ plebiscite ซึ่งมีรากฐานมาจากภาษาลาติน (Latin) ที่เรียกว่า Plebiscita หมายถึง การลงคะแนนเสียง หรือการลงคะแนนชี้ขาด หมายถึงประชามติที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลนั้น ๆ เสนอขึ้นมา เป็นการขอให้ประชาชนแสดงความไว้ใจในตัวบุคคลใดหรือรับรองเห็นชอบในการกระทำของบุคคลนั้น
การออกเสียงแสดงประชามติต่อตัวบุคคลนี้นิยมใช้ในผู้นำเผด็จการโดยเฉพาะช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น สมัยนโปเลียนของฝรั่งเศส หรือในอิตาลียุคฟาสซิสต์ อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วโลกเห็นว่า ระบบประชามติต่อตัวบุคคลทำให้ได้ความเห็นของประชาชนที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่แท้จริง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตัวบุคคลมาก และไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจใช้วิธีการดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันการสืบทอดอำนาจของตนเองหรือใช้เป็นเครื่องมือขับไล่บุคคลใดให้พ้นจากตำแหน่ง จึงไม่มีการนำมาใช้ในปัจจุบันอีก แต่ปัจจุบัน บางประเทศยังคงใช้คำว่า Plebiscite ในความหมายทำนองเดียวกับ Referendum
แนวคิดและที่มาของประชามติ
ประชามติมีรากฐานมาจากระบอบประชาธิปไตย (Democracy System) หรือระบอบการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ซึ่งมีที่มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณหรือเมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเธนส์ (Athens) และรัฐอื่น ๆ ของกรีกซึ่งเป็นรัฐที่มีประชาชนไม่มาก พลเมืองจึงเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรง ต่อมา เมื่อสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมืองพัฒนา และมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ประชาธิปไตยโดยตรงจึงสูญหายไปและเกิดระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ซึ่งมีแนวคิดว่า ประชาชนได้มอบอำนาจอธิปไตยของตนให้ผู้แทน และประชาชนจะใช้อำนาจอธิปไตยผ่านตัวแทนซึ่งผู้แทนจะต้องยังคงอยู่ใต้อาณัติของประชาชนด้วย ต่อมาระยะหลัง ได้มีการนำระบบการออกเสียงประชามติมาเป็นกระบวนการเสริมทฤษฎีตัวแทนของประชาชนดังกล่าว เนื่องจากองค์กรผู้แทนอาจใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนอย่างไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงต่อเจตนารมณ์ ซึ่งระบบการออกเสียงประชามติจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองมากขึ้น นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory democracy)
ประชามติในรัฐธรรมนูญไทย
ประเทศไทยได้บัญญัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492 โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ควรเพิ่มพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์กรณีไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมาย แต่สภายังคงยืนยันตามเดิม ให้ทรงสามารถนำร่างกฎหมายนั้นออกให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่า ไม่ควรให้ประชามติเกี่ยวกับการยับยั้งกฎหมายเพราะเกรงจะเกิดปัญหา จึงอภิปรายจนได้ข้อสรุปให้ทรงพระราชอำนาจเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างของหลายประเทศในขณะนั้น
จวบจนถึงปัจจุบัน มีรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับ ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตยได้ด้วยวิธีการออกเสียง นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2511 พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539) พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2549 (ฉบับชั่วคราว) และฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับ พ.ศ. 2550
ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2511 และฉบับปี พ.ศ. 2517
ทั้ง 3 ฉบับ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐสภาและนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยฯ กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศ หรือประชาชนและทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น
ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539)
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภา ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำการยกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยได้มีการกำหนดไว้ให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญกระบวนการออกเสียงประชามติจึงไม่เกิดขึ้น
ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540
ได้นำเรื่องระบบการออกเสียงประชามติ มาบัญญัติไว้อีกครั้งหนึ่งในมาตรา 214 โดยกำหนดเหตุที่จะต้องมีการออกเสียงประชามติไว้ว่าจะต้องเป็นกิจการในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้ และนอกจากนี้ ผลของการออกเสียงประชามติก็ไม่ผูกพันรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัติตามเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ผลของการออกเสียงประชามติเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรี เท่านั้น
ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2549 (ฉบับชั่วคราว)
ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ไว้ในมาตรา 29 - มาตรา 31 ให้ประชาชนออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดย ถ้าเห็นชอบ ก็ให้นำร่างดังกล่าวออกบังคับใช้ แต่ถ้าไม่เห็นชอบ ก็ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี นำรัฐธรรมนูญ ฉบับใดฉบับหนึ่ง ออกมาใช้บังคับแทน
ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 (ฉบับปัจจุบัน)
ได้มีการกำหนดในมาตรา 165 กล่าวคือ กำหนดเหตุที่จะต้องมีการออกเสียงประชามติไว้ว่าจะต้องเป็นกิจการในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้ หรือเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ โดยอาจจัดให้มีข้อยุติโดยเสียงข้างมาก หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้
ประชามติ
ประชามติ (Referendum) หมายถึง การที่รัฐบาลขอฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นที่รัฐบาลเห็นว่า กระทบต่อสาธารณะ การออกเสียงประชามติเป็นพฤติกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศได้บัญญัติไว้ เป็นการให้สิทธิเสรีภาพในการออกเสียงรับรองหรือคัดค้านในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ประชาชนในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นผู้ตัดสินว่า ต้องการดำเนินการอย่างไรในประเด็นทางการเมืองนั้น เช่น การจะขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ให้การรับรองการออกเสียงประชามติว่าเป็นสิ่งชอบด้วยกฎหมาย มีการเปิดโอกาสให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ดังที่บัญญัติไว้ว่า “มาตรา 214 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของปะเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้ ...”
หลักของการทำประชามติมีอยู่ 4 ประการ คือ 1. การออกเสียงประชามติเป็นการขอความเห็นจากประชาชนทั่วไป 2. การออกเสียงประชามติอาจมีลักษณะเป็นการขอคำปรึกษาจากประชาชน แต่จะต้องไม่ใช่เรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลใดหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง 3. ประเด็นปัญหาที่เสนอขอความเห็นจากประชาชนในการออกเสียงประชามตินั้น ต้องเป็นประเด็นปัญหาที่แท้จริง 4. การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบหรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้น ต้องมีกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อประชาชนด้วย
รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล