ประชาชนกับการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์


ความเป็นมาของการฟ้องคดีโดยประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ

          นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 การนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น ศาลยุติธรรมที่กำลังพิจารณาคดี อัยการสูงสุด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าประชาชนทั่วไปไม่สามารถนำคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญได้เลย บทบาทและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรงแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาเกี่ยวข้องในการตรวจร่างกฎหมายและความชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอันเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ได้รับความคุ้มครองอย่างสูงสุดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ดี หากศาลรัฐธรรมนูญสามารถให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการเสนอเรื่องได้โดยตรงก็น่าจะทำให้ระบบการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ดีเพิ่มขึ้น แนวคิดดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการแก้ได้ให้ประชาชนสามารถ           “ร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ” ด้วย “การฟ้องคดีโดยประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ” ได้เป็นครั้งแรกดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 212

          “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

          การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”

          อย่างไรก็ดี บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เฉพาะกรณี “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น จนกระทั่งต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 213

          “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”

          บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงเน้นเพิ่มความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการอุดช่องว่างในกรณีที่ไม่มีอำนาจของศาลใดเข้าไปคุ้มครอง และเพื่อให้ความคุ้มครองไม่เพียงแต่การละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่เกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หรือแม้แต่การกระทำของเอกชนก็อยู่ในข่ายที่อาจถูกโต้แย้งว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน ซึ่งได้ให้สิทธิแก่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่[1]

 

เงื่อนไขการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

          เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 วางหลัก “...ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ” จึงจำเป็นให้ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561

          1. ผู้มีสิทธิฟ้องคดี ได้แก่ ประชาชนซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทําของหน่วยงานของรัฐเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานซึ่งใช้อํานาจรัฐ และได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น[2]

          ทั้งนี้ การยื่นคำร้องต้องระบุการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของตนโดยตรงให้ชัดเจนว่าเป็นการกระทำใดและละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตนอย่างไร โดยจะไม่ใช่เป็นเพียงความประสงค์ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือตอบข้อสงสัย และไม่ใช่เป็นเพียงแต่การขอความเป็นธรรม[3]

          อนึ่ง การใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพระหว่างประชาชนด้วยกันเอง และต้องมิใช้กรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้[4]

          (1) การกระทำของรัฐบาล เช่น การบริหารประเทศ การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การประกาศสงคราม หรือการทำสนธิสัญญา เป็นต้น

          (2) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กําหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว  

          (3) กฎหมายบัญญัติขั้นตอนและวิธีการไว้เป็นการเฉพาะและยังมิได้ดําเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการนั้นครบถ้วน

          (4) เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่นหรือเรื่องที่ศาลอื่นมีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว

          (5) การกระทําของคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 192

          (6) การกระทําที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองคณะกรรมการตุลาการทหารรวมถึงการดําเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร

          2. ประชาชนที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจำต้องดำเนินการเยียวยาสิทธิและเสรีภาพของตนตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน[5] (มาตรา๔๗(๓))

          3. ก่อนที่ประชาชนจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะต้องยื่นคำร้องต่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เสียก่อน ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าว[6] และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคําร้องต่อศาลพร้อมด้วยความเห็นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคําร้องจากผู้ร้อง[7]
แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องหรือไม่ทำตามเวลาที่กำหนด ประชาชนผู้ถูกละเมิดถึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง[8]

           

บรรณานุกรม

          สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562. หน้า 366.

อดิเทพ อุยยะพัฒน์, สิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ, ออนไลน์ http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/article_attach/magazine05.pdf, เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562.

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 12 ก, ลงวันที่ 2 มีนาคม 2561

'รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560, (6 เมษายน 2560), ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.

เอกสารอ่านประกอบ

ภาสพงษ์ เรณุมาศ, บทความ เรื่อง “ฟ้องตรงศาลรัฐธรรมนูญ กับแนวทางที่ยังต้องค้นหา”, ออนไลน์ http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=1224

ปัญญา อุดชาชน, การฟ้อง (ตรง) ต่อศาลรัฐธรรมนูญ, ออนไลน์ http://www.constitutionalcourt.or.th
/occ_web/download/article/article_20170720114818.pdf

อดิเทพ อุยยะพัฒน์, สิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ, ออนไลน์ http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/article_attach/magazine05.pdf

อภิวัฒน์ สุดสาว, ปัญหาในทางปฏิบัติของการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ, จุลนิติ พ.ย. – ธ.ค. 2553, หน้า 137-144.

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ, บริษัท แอคทีฟพริ้นท์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 1 : กรกฎาคม 2561.

อ้างอิง

[1] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562. หน้า 366.

[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 ประกอบ มาตรา 47

[3] อดิเทพ อุยยะพัฒน์, สิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ, ออนไลน์ http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/article_attach/magazine05.pdf, เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562.

[4] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47

[5]  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (3)

[6] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46

[7] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48

[8] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคสอง