ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี
บทนำ
ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นเป็นปัญหาที่มีมาแต่ยาวนาน ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมโลกทุกยุคทุกสมัย ในอดีตรูปแบบของการค้ามนุษย์นั้นจะอยู่ในลักษณะของการค้าทาสเพื่อใช้แรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยอียิปต์ มีการบังคับใช้แรงงานทาสเพื่อสร้างวิหารสร้างพีระมิดให้กับฟาโรห์ มีการการใช้แรงงานทาสเพื่อทำเกษตรกรรม[1] หรือในช่วงที่มีการค้นพบทวีปอเมริกาก็ได้มีการนำทาสแอฟริกันผิวดำเดินทางข้ามทวีปเพื่อนำมาใช้เป็นแรงงานในการสร้างประเทศ เป็นต้น [2] ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่19 สังคมโลกได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการยกเลิกการค้าทาสเนื่องจากว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเทศมหาอำนาจต่างๆ จึงประชุมกันเพื่อออกปฏิญญาสากลว่าด้วยการยกเลิกการค้าทาสขึ้นในปี ค.ศ.1815[3] จนกลายเป็นสิทธิมนุษยชนข้อหนึ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights)[4] ซึ่งส่งผลให้ประเทศต่างๆในสังคมโลกทยอยออกกฎหมายภายในประเทศของตนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าการค้าทาสในบริบทสังคมโลกจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ในยุคสมัยปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนารูปแบบจากการค้าทาสมาเป็นการค้ามนุษย์แทน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว การค้ามนุษย์ในปัจจุบันนี้ จะเป็นการกระทำโดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (Trans-national Organized Crime) ซึ่งเหยื่อที่ตกเป็นเป้าหมายขององค์กรอาชญากรรมเหล่านี้โดยหลักแล้ว มักจะเป็นกลุ่มของเด็กและสตรี [5]
ปัญหาการค้ามนุษย์ในASEAN
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นับได้ว่าเป็นภูมิภาคที่ประสบปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อขององค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์นั้น มักจะเป็นชาวลาว ชาวเมียนมา ชาวเวียดนาม ชาวไทย และชาวกัมพูชา ซึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์นั้นจะมาจากเหตุปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก[6] เหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมากถูกองค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์ทำการหลอกลวงโดยเสนอเงินหรือแนวทางในการหาเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เหยื่อเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ยกตัวอย่างเช่นการหลอกว่าจะพาไปทำงานในต่างประเทศโดยจะได้รับค่าตอบแทนที่ดี จากนั้นเมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะพาเหยื่อเข้าสู่การบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงผิดกฎหมายหรือนำเหยื่อไปค้าประเวณี เป็นต้น[7] จากปัญหาข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปในภูมิภาค ASEAN จึงได้มีการประชุมระหว่างรัฐสมาชิกร่วมกัน และได้ออกปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี [8] ขึ้นเพื่อสร้างมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของปฏิญญา
ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรีนั้น เป็นผลพวงที่เกิดขึ้น จากการที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations)ได้ออกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในปี ค.ศ.2000 [9] เพื่อเป็นแนวทางให้สังคมโลกได้ดำเนินมาตรการต่างๆในการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งในอนุสัญญาฯฉบับนี้ ได้มีพิธีสารเพิ่มเติมว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี [10] ออกมาเป็นส่วนส่งเสริมการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติด้วย
ASEAN จึงได้นำหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับข้างต้นมาวางกรอบการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ภายในภูมิภาค โดยนำมาประมวลไว้ในปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี ทั้งนี้ ปฏิญญาฯฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาคร่วมกัน [11] รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆเพื่อเป็นแนวทางให้รัฐสมาชิกนำมาตรการต่างๆไปปฏิบัติทั้งในระดับระหว่างประเทศ และการดำเนินการภายในของรัฐ
เนื้อหาสาระของปฏิญญา
ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี ได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย
1.การจัดตั้งศูนย์ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในอาเซียน รวมถึงการสร้างมาตรการและความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค
2.การดำเนินการมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในด้านของเอกสารเข้าเมืองต่างๆ
3.การดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในเรื่องเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานของประชากร
4.การประสานความร่วมมือในเรื่องของการตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการเฝ้าระวังในแนวชายแดน
5.การปฏิบัติต่อผู้เสียหายอย่างมีมนุษยธรรม รวมถึง การให้ความช่วยเหลือต่างๆแก่ผู้เสียหาย
6.การดำเนินการปราบปรามกลุ่มบุคคลที่กระทำการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
การประชุมที่น่าสนใจ
การประชุมในเรื่องการค้ามนุษย์ภายใต้กรอบอาเซียนที่สำคัญนั้น ประกอบด้วยการประชุมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่18-20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ประชุมได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักให้ทันตามเป้าหมายปี ค.ศ. 2015 โดยการประชุมดังกล่าวนี้ได้กำหนดประเด็นความสำคัญ ซึ่งรวมถึงเรื่องการค้ามนุษย์ด้วย โดยการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียนนั้น ที่ประชุมเห็นว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการระดมทุนให้เพียงพอ โดยอาเซียนจำเป็นต้องหานวัตกรรมทางการเงินหรือแนวทางระดมทุนอื่นๆจากประเทศนอกภูมิภาครวมถึงภาคเอกชน นอกจากนี้ที่ประชุมยินดีต่อการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration - AHRD) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคโดยจะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้เสียหายและพยานที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้การประชุมดังกล่าวนั้นยังมีการหารือถึงประเด็นด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยประเทศไทยได้เรียกร้องให้ประเทศภาคีร่วมมือกันจัดการปัญหายาเสพติดเพื่อให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดในปี ค.ศ.2015 และเร่งพิจารณาการประชุมอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ด้วย [12]
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 ในส่วนของเสาการเมืองและความมั่นคงนั้น ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นปัญหาโรฮินญา หรือที่รู้จักกันในนาม “ปัญหาการเคลื่อนย้ายบุคคลที่ไม่ปกติ” และเกี่ยวโยงกับเรื่องการค้ามนุษย์ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อผลการประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวกับปัญหาโรฮินญาในเดือนกรกฎาคมและการประชุมพิเศษที่กรุงเทพในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษของอาเซียนเพื่อสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชาว โรฮินญาและได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยผลจากการประชุมในครั้งนี้ ส่งผลให้มีการร่างอนุสัญญาต่อต้านการค้ามนุษย์ของอาเซียนขึ้น เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 ใน ค.ศ.2015 [13] ซึ่งหลังจากที่ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 เรียบร้อยแล้ว เหล่าผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศก็ได้ร่วมลงนามใน อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children) ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย [14]
การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์(ASEAN Convention on Trafficking in Persons – ACTIP)ครั้งที่ 6 อาเซียนร่วมกับคณะกรรมการกลางต่อต้านการค้ามนุษย์ของพม่าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ เมืองย่างกุ้งระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน ค.ศ. 2015 โดยที่ประชุมได้ยืนยันถึงความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่แพร่หลายมากเป็นอันดับสองรองจากการค้ายาเสพติด [15]
บทสรุป
ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี นั้นถือได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงว่าอาเซียนตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปฏิญญาฉบับนี้กำหนดแนวทาง และมาตรการในด้านต่างๆไว้ ทั้งต่อกลุ่มบุคคลผู้กระทำความผิดเอง ต่อตัวผู้เสียหาย ยกตัวอย่างเช่น การให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ต่อผู้เสียหาย หรือ การดำเนินการส่งผู้เสียหายกลับไปยังประเทศของตน รวมถึงการสร้างหลักเกณฑ์ความร่วมมือของรัฐสมาชิกในภูมิภาคที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการค้ามนุษย์นั้นมักจะกระทำโดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจะมีความเกี่ยวพันระหว่างรัฐตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งในแง่ของกฎหมายภายใน หรือบทลงโทษแต่เพียงรัฐเดียวนั้น อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างกันด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์นั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด [16]
บรรณานุกรม
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.2553.นโยบายยุทธศาสตร์แลมาตรการ
ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๙). http://www.nocht.m-society.go.th/album/paper/482af95e73ed0d3669a282211b714c5e.pdf (accessed 2015 April, 20)
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษ.2558. นายกรัฐมนตรีร่วมลงนามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก. <http://www.thaigov.go.th/index.php/th/government-th1/item/97659-97659.html?tmpl=component&print=1>(accessed 14 January,2016).
เฉลิมชัย ชัยมนตรี, การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ศึกษา : เปรียบเทียบกรณี การค้าหญิง และเด็กระหว่างไทย-ลาว (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2552) หน้า 3
ไทยโพสต์.2558. ‘กระบวนทรรศน์: ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2015’, <http://www.ryt9.com/s/tpd/2232524>(accessed 14 January,2016).
ประภัสสร เสวิกุล .2557.จากการค้าทาสถึงการค้ามนุษย์. http://www.komchadluek.net/detail/20140912/191937.html (accessed 2015 April, 8)
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.อารยธรรม.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2550
สถานทูตสหรัฐ กรุงเทพ ประเทศไทย . 2558. รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ.2557. http://thai.bangkok.usembassy.gov/tipthaireport14-t.html (accessed 2015 April, 8)
สำนักหอสมุด.2015. มหาวิทยาลัยบูรพา, ‘ประชาคมอาเซียน’, <http://www.lib.buu.ac.th/webaec/?p=74>(accessed 14 January,2016).
RUS Center for ASEAN studies.2015. ‘อาเซียนร่วมมือการค้ามนุษย์’, http://asean.rmutsb.ac.th/news_detail.php?newsid=news201406262306715 (accessed 14 January,2016).
อ้างอิง
- ↑ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์,อารยธรรม.(กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2550), หน้า24.
- ↑ ประภัสสร เสวิกุล .2557. “จากการค้าทาสถึงการค้ามนุษย์” http://www.komchadluek.net/detail/20140912/191937.html(accessed 2015 April, 8)
- ↑ Declaration Relation to the Universal Abolition of the Salve-Trade(1815)
- ↑ The Universal Declaration of Human Rights Article 4 “ No one shall be held in slavery or servitude; slavery and the slave trade shall be prohibited in all their forms.”
- ↑ เฉลิมชัย ชัยมนตรี , “การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ศึกษา : เปรียบเทียบกรณี การค้าหญิงและเด็กระหว่างไทย-ลาว” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2552) หน้า 3
- ↑ เฉลิมชัย ชัยมนตรี.2552.อ้างแล้ว.,หน้า18
- ↑ สถานทูตสหรัฐ กรุงเทพ ประเทศไทย . 2558. “รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ.2557.” http://thai.bangkok.usembassy.gov/tipthaireport14-t.html (accessed 2015 April, 8)
- ↑ ASEAN Declaration against Trafficking in Persons, Particularly Women and Children(2004)
- ↑ The United Nations Convention against Transnational Organized Crime (2000)
- ↑ Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons Especially Women and Children(2000)
- ↑ Reaffirming of Declaration against Trafficking in Persons, Particularly Women and Children
- ↑ สำนักหอสมุด, มหาวิทยาลัยบูรพา.2558.”ประชาคมอาเซียน.” <http://www.lib.buu.ac.th/webaec/?p=74>(accessed 14 January,2016).
- ↑ ไทยโพสต์,2558. “กระบวนทรรศน์: ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2015.” <http://www.ryt9.com/s/tpd/2232524>(accessed 14 January,2016).
- ↑ กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก.2558. “นายกรัฐมนตรีร่วมลงนามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก.” <http://www.thaigov.go.th/index.php/th/government-th1/item/97659-97659.html?tmpl=component&print=1>(accessed 14 January,2016).
- ↑ RUS Center for ASEAN studies.2558.”อาเซียนร่วมมือการค้ามนุษย์.” <http://asean.rmutsb.ac.th/news_detail.php?newsid=news201406262306715>(accessed 14 January,2016).
- ↑ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.2553. “นโยบายยุทธศาสตร์แลมาตรการ ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๙).” http://www.nocht.m-society.go.th/album/paper/482af95e73ed0d3669a282211b714c5e.pdf(accessed 2015 April, 20)