บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ : ผู้แทนฯตลอดกาล
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ : ผู้แทนฯตลอดกาล
นักการเมืองเรืองนามคนหนึ่งของภาคเหนือที่น่าจะได้รู้จักกันบ้าง เพราะท่านเป็นนักการเมืองที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงเลือกตั้งและไม่เคยแพ้เลือกตั้งเลยตั้งแต่ปี 2480 จนถึงปี 2535 จึงหยุดตัวเองโดยไม่ได้ลงเลือกตั้ง ท่านผู้นี้คือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง คุณบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ได้ลงเลือกตั้งครั้งแรกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ต่อมาท่านได้กลับมาลงเลือกตั้งที่บ้านเกิดของท่าน คือที่จังหวัดลำปาง
ตามประวัติ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นคนอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีบิดาชื่อ บุญเย็น เป็นปลัดอำเภอ และ ท่านมีมารดาชื่อ บุญมี เป็นผู้มีอาชีพค้าขาย โดยนายบุญเท่ง เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2454 ที่ตำบลล้อมแรด ในอำเภอเถิน แต่ชีวิตในวัยเด็กนั้นก็ไม่สบายนัก เพราะกำพร้าบิดาที่เสียชีวิตตั้งแต่นายบุญเท่ง มีอายุได้เพียง 10 ปี
ทางด้านการศึกษาท่านเริ่มเรียนจากโรงเรียนบ้านล้อมแรด ที่ตำบลบ้านเกิดของท่านนั้นเอง แต่ท่านก็เป็นเด็กที่ขยันเรียนและเรียนเก่ง จึงเคยได้รับทุนนักเรียนเรียนดีของอำเภอ จากนั้นจึงได้เดินทางเข้าไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่ตัวจังหวัดลำปาง ที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย อยู่ 2 ปี โดยไปเป็นเด็กวัดพักอยู่ที่วัดหมื่นกาด แล้วจึงย้ายไปเรียนชั้นมัธยม 3 และ4 ที่โรงเรียนเคนเนตแมคเคนซี่ ก่อนที่จะย้ายข้ามจังหวัดไปเรียนชั้นมัธยม 5 และ 6 ที่โรงเรียนยุพราช จังหวัดเชียงใหม่ จนจบชั้นมัธยม 6 จากนั้นจึงเดินทางไกลเข้ามาเมืองหลวง เข้ามาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จนจบชั้นมัธยม 8 ตอนที่มาเรียนที่พระนครนั้น บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ได้พักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม 8 นั้นพอดีมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นตลาดวิชาสำหรับผู้ไฝ่รู้ทั้งหลาย คุณบุญเท่งจึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ และศึกษาจบปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต จากนั้นก็เข้ารับราชการครั้งแรก ตามที่ ธวัช คำธิตา เขียนว่า “เป็นผู้ฟังคดีประจำศาลหรือโปริสสภา หรืออัยการตำรวจประจำศาลแขวงนครเหนือ” ด้านชีวิตครอบครัว คุณบุญเท่ง มีภรรยาคนแรกคือนางเทียมจันทร์ ต่อมาท่านแต่งงานอีกครั้งกับนางนารี ทองสวัสดิ์
แม้คุณบุญเท่งจะเป็นคนจังหวัดลำปาง แต่ในการลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งครั้งแรกของท่านนั้นท่านลงที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอนนั้นท่านอายุเพิ่งได้ 26 ปี นับว่าเป็นนักการเมืองที่หนุ่มมาก อายุเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงปีเดียว มีเรื่องเล่ากันว่าที่จริงคุณบุญเท่งอยากจะลงเลือกตั้งที่ลำปางอยู่เหมือนกัน แต่ที่ลำปางมีผู้แทนราษฎรได้คนเดียว และผู้แทนฯคนเก่าที่ได้รับเลือกเข้าสภาฯเมื่อปี 2476 คือนาย สรอย ณ ลำปาง ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลที่อำเภอเกาะคา เป็นบุคคลที่ทางครอบครัวนายบุญเท่งนับถือ มีความสัมพันธ์อันดีกันมา และนายสรอยก็ยังมีคะแนนเสียงดีอยู่ เมื่อคุณบุญเท่งอยากเล่นการเมืองและต้องการลงเลือกตั้งให้ได้ จึงต้องหาที่ใหม่ และคุณบุญเท่งก็เลือกไปลงสมัครเลือกตั้งทีจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะมีญาติไปทำการค้าไม้อยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง ซึ่งเป็นอำเภอใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการลงเลือกตั้งครั้งนั้นมีเรื่องเล่ากันว่าโชคเข้าข้างคุณบุญเท่ง เพราะผู้ที่ลงสมัครแข่งขันทำเรื่องไม่ถูกตามกติกาเกี่ยวกับรูปของผู้สมัครผลคือคุญบุญเท่งจึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เข้าสภาฯ ตอนนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี และสมัยนั้นไม่มีพรรคการเมืองให้ผู้แทนฯสังกัด แต่ในสภาฯมีสมาชิกสภาฯประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งอยู่ครึ่งสภาฯ
บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นสมาชิกสภาฯสมัยแรกในเวลาที่ค่อนข้างสั้น เพราะพอถึงปี 2481 รัฐบาลของพระยาพหลฯแพ้มติในสภาฯ จนนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาฯ มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ คุณบุญเท่งก็ลงเลือกตั้งอีกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และชนะเลือกตั้งเข้าสภาฯได้อีกครั้ง โดยยังไม่มีพรรคการเมืองสังกัด ได้เป็นผู้แทนฯสมัยที่สองนี้คุณบุญเท่งได้อยู่ในสภาฯนานกว่าวาระปกติ ตอนนั้นหลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลฯ หลวงพิบูลฯเป็นนายกฯที่มีฐานทางทหารที่แข็งมาก บทบาทของผู้แทนราษฎรในสภาจึงอ่อนลง ประกอบกับสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการอ้างสถานการณ์สงครามขยายเวลาการเป็นผู้แทนราษฎรมากขึ้นถึงสองครั้ง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่. จึงนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนมกราคม ปี 2489 คราวนี้คุณบุญเท่งย้ายมาลงสมัครเลือกตั้งที่จังหวัดลำปางซึ่งเป็นบ้านเกิด และก็ชนะได้เป็นผู้แทนฯจังหวัดลำปางสมใจ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้นายควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่มาลงเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนฯจังหวัดพระนคร ได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายควงชุดนี้นายบุญเท่งได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร แต่รัฐบาลนี้ก็มีอายุสั้นมาก อยู่ได้ถึงเดือนมีนาคมปี 2489 เกิดแพ้เสียงในสภาฯเรื่องการติดป้ายราคาสินค้า จนต้องลาออก ต่อมานายควงกับพวกที่สนับสนุนตั้งพรรคประชาธิปัตย์เพื่อจะสู้กับพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพ ที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ นายบุญเท่งจึงเป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง หลังจากนายควงลาออกจากนายกฯ นายปรีดี ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี นายบุญเท่งจึงไปเป็นฝ่ายค้านอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ จนรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อจากรัฐบาลของนายปรีดีถูกคณะรัฐประหารที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหวัณ เข้ามายึดอำนาจล้มรัฐบาล เมื่อปี 2490และคณะรัฐประหารได้ให้นายควงเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลต้องช่วยจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันใหม่อีกครั้งในตอนต้นปี 2491 การเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ผู้ที่สนับสนุนนายปรีดีต้องหนีหายและถูกกันไปจากการเลือกตั้งมากทีเดียว
ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2491 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ของคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 แล้ว รัฐสภาตอนนั้นก็เป็นรัฐสภาที่ประกอบด้วยสองสภา คือวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภาได้มีมติให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้รับการรับรองจากชาติต่างๆที่สำคัญในโลกตะวันตกสมใจเลยทีเดียว ปรากฏว่าในรัฐบาลชุดนี้ นายบุญเท่งยังได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นับว่าได้เป็นรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 แต่รัฐบาลชุดนี้ก็มีอายุสั้น เพราะในวันที่ 6 เมษายน ปี 2491หลังรัฐบาลที่มาหลังการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศได้ไม่นาน คณะรัฐประหารก็ได้ส่งนายทหารสี่นายมาพบนายกฯควง ที่บ้าน บอกให้นายกฯลาออก อ้างว่าคณะรัฐประหารเห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่ดี
การถูก “จี้” ทางการเมืองครั้งนั้นคนในรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์จึงได้ประชุมหารือกันและจะยอมทำตามแรงบีบของคณะรัฐประหาร มีแต่รัฐมนตรีบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ที่บอกว่าให้ขัดขืน และสู้ เพราะเป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง ถึงขนาดเชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของทหารเรือมาสนับสนุน ดังที่คุณบุญเท่งเขียนเล่าไว้ในใบปลิวหาเสียงให้บุตรีเมื่อปี 2539 ว่า
“...ผมคนเดียวคัดค้านไม่ให้ลาออก โดยให้เหตุผลว่าเราเป็นรัฐบาลโดยชอบตามกฎหมาย พวกทหารมาจี้ให้ออกจึงเป็นขบถ ทำผิดกฎหมาย เราควรจะสั่งจับนายทหารทั้งสี่มาลงโทษ ไม่ใช่กลัวลนลาน ...ผมได้ออกมาข้างนอก โทรศัพท์ไปเชิญฝ่ายทหารเรือคือพลเรือตรี ชลิต กุลกำธร พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ และ พลเรือตรี ผัน เปรมมณี มาพบ ...ตกลงที่สุดคณะรัฐมนตรีจะขอลาออก ...”
ท้ายที่สุดนายกฯควง ก็ลาออก และคนก็เล่าขานถึงวีรกรรมของคุณบุญเท่งกันต่อมา
คุณบุญเท่งจึงไปเป็นฝ่ายค้านอยู่ในสภาฯจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2494 จึงพ้นจากตำแหน่งผู้แทนราษฎร เพราะมีการยึดอำนาจอีกครั้งของคณะทหารที่นำโดยพลเอก ผิน ชุณหะวัณ ในปีถัดมาคณะทหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์ประท้วงการเลือกตั้งครั้งนั้น แต่ก็ไม่ห้ามสมาชิกของพรรคที่จะไปลงเลือกตั้งโดยไม่อ้างพรรค คุณบุญเท่งก็ยังคงลงเลือกตั้งที่จังหวัดลำปาง และชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนเข้าสภาฯ ตอนนั้นหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าคุณบุญเท่งลงเลือกตั้งและชนะเลือกตั้งทุกคราว ไม่ว่าจะสมัครอิสระหรือสังกัดพรรคใดก็ตาม อีกหลายครั้งและหลายพรรคการเมืองด้วย บ่งบอกว่าคนน่าจะเลือกคุณบุญเท่งโดยไม่สนใจว่าอยู่พรรคใด
ประวัติทางการเมืองของคุณบุญเท่งในการตั้งพรรคการเมืองเป็นครั้งที่สองเกิดขึ้นในยุคหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ครั้งนั้นคุณบุญเท่งร่วมมือกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคกิจสังคม นักการเมืองทั้งสองท่านนี้เป็นคนเก่าคนแก่ของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน เมื่อออกมาตั้งพรรคใหม่ลงสนามเลือกตั้ง จึงเป็นที่กลัวเกรงของพรรคการเมืองทั้งหลาย รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พี่ชายแท้ๆของหัวหน้าพรรคกิจสังคม เป็นหัวหน้าพรรค เลือกตั้งปี 2518 พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้ที่นั่งมากเป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่ถึงครึ่งของจำนวนทั้งหมด พรรคกิจสังคมของคุณบุญเท่งแพ้ผิดคาด ได้ที่นั่งเพียง 18 ที่ อยู่ในอันดับห้า แต่คุณบุญเท่งและหัวหน้าพรรคก็ชนะเลือกตั้งเข้าสภาฯได้ด้วย ครั้นเมื่อรัฐบาลเสียงข้างน้อยของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโ มช ไม่ได้รับความไว้วางใจในตอนที่แถลงนโยบายจึงต้องพ้นหน้าที่ไป เสียงข้างมากในสภาฯจึงหนุนให้พรรคกิจสังคมที่มีเสียงเพียง 18 เสียงเป็นแกนตั้งรัฐบาล ครั้งนี้คุณบุญเท่งคงมีบทบาทในการตั้งรัฐบาลอย่างสำคัญ จึงได้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อยู่จนช่วงสุดท้ายของรัฐบาลจึงได้ย้ายมาเป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรีก็ยุบสภา
ต่อมามีความวุ่นวาย เกิดเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” และคณะทหารได้เข้ายึดอำนาจ ทำให้คุณบุญเท่งต้องห่างสภาฯไปสองปีกว่า ครั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปปี 2522 คุณบุญเท่งยังลงเลือกตั้งที่เดิมในนามกลุ่มกิจสังคม ชนะเลือกตั้งเข้าสภาคราวนี้คุณบุญเท่งได้ตำแหน่งสำคัญ คือได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีคู่แข่ง และท่านก็เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่เกือบครบวาระสี่ปี มีนายกรัฐมนตรีสองท่านเรียงตามกัน คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมานันทน์ กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาพ้นตำแหน่งประธานสภาฯเมื่อมีการยุบสภาในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2526
ยุบสภาคุณบุญเท่งอาจไม่ชอบแต่ก็ไม่กลัว ท่านยังสังกัดพรรคกิจสังคม ลงเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2526 ที่จังหวัดลำปางและชนะอีก กลับเข้าสภาฯครั้งนี้ในรัฐบาลใหม่ที่มีนายกฯคนเดิมคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คุณบุญเท่งได้ร่วมรัฐบาลในส่วนของพรรคกิจสังคมได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี อยู่ต่อมาจนนายกฯยุบสภาในวันที่. 29 พฤษภาคม พ.ศ.2529 ในการเลือกตั้งใหม่ที่ตามมาคุณบุญเท่งก็ยังคงลงเลือกตั้งและได้รับเลือกตั้ง แต่ท่านย้ายมาสังกัดพรรคสหประชาธิปไตย อีกสองปีต่อมามีการยุบสภาอีกท่านต้องลงเลือกตั้งใหม่ท่านก็ย้ายพรรคใหม่มาอยู่พรรคเอกภาพและยังชนะเลือกตั้ง คุณบุญเท่งยังลงเลือกตั้งต่อมาอีกสองครั้งในปี 2535 ครั้งแรกในเดือนมีนาคม ท่านสังกัดพรรคสามัคคีธรรม ครั้งที่สองในเดือนกันยายน สังกัดพรรคชาติพัฒนา และชนะด้วยหลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งอีกเลย
บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ สนับสนุนให้บุตรีเล่นการเมืองต่อมา ท่านได้อยู่ดูการเมืองและการเลือกตั้งของไทยมาจนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2542