บัตรไฮบริด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง:  รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560
ที่คณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้เรียกเป็นชื่อทั่วไปว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งในการลงคะแนนเสียงนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 1 ใบเพื่อกาลงคะแนน แต่สามารถแสดงเหตุผลของการตัดสินใจผ่านบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบได้หลายอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกชื่อบัตรเลือกตั้งดังกล่าวที่เกิดขึ้นว่า “บัตรไฮบริด” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ความหมาย หรือ แนวคิด

          บัตรไฮบริด หมายถึง บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันเลือกตั้งเพียง 1 ใบ แล้วกากบาทเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือก แต่คะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนดังกล่าวมีผลต่อการนำไปคำนวนคะแนนบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งสังกัด รวมถึงแนวโน้มของการเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคการเมืองเหล่านั้นเสนอด้วย ดังนั้น บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงใบเดียวที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงสามารถตีความการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้หลายประการตามเหตุผลที่ได้อธิบายไว้แล้ว ซึ่งทำให้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งดังกล่าวมีลักษณะเป็นบัตรพันทาง หรือไฮบริด ที่ไม่แน่ใจว่าคะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกากบาทลงไปในการเลือกตั้งเพราะเหตุผลเกี่ยวกับตัวบุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น หรือชื่นชอบนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัด หรือเห็นชอบกับรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเสนอ

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

          การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 เดิมทีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ได้เสนอแนวคิดต่อสื่อมวลชนก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งว่าได้มีแนวคิดที่จะใช้บัตรเลือกตั้งที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัครอย่างเดียวเรียงลำดับหมายเลข 1  2  3 ................. จนครบตามจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ โดยไม่ปรากฏชื่อผู้สมัคร และเครื่องหมายหรือโลโก้อันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นสังกัด แต่เมื่อข้อเสนอนี้ของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ปรากฏออกมาตามสื่อช่องทางต่าง ๆ ก็ถูกกระแสสังคมต่อต้าน โดยเฉพาะการอ้างถึงหลักการปฏิบัติการเลือกตั้งที่ไม่ถูกต้องตามหลักสากล ตามหลักสากลบัตรเลือกตั้งควรมี (1) หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง (2) ชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง (3) ชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัด (4) โลโก้พรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัด รวมทั้งขัดต่อหลักการของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในหมวดที่ 16 การปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะมาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้[1]

ก. ด้านการเมือง

(1) ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน และให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด

          เมื่อข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ถูกหลายฝ่ายพิจารณาว่า บัตรเลือกตั้งที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัครอาจสร้างความสับสนจนนำไปสู่การทุจริตการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมต้องการเลือกผู้สมัครที่ตนมีความตั้งใจที่จะลงคะแนนให้จริง ๆ บัตรเลือกตั้งที่ดีจึงควรมีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น หมายเลขผู้สมัครรรับเลือกตั้ง ชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัด เครื่องหมายหรือโลโก้พรรคการเมือง เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนอาจอ่านชื่อพรรคการเมืองไม่ออก แต่ใช้วิธีจำโลโก้ของพรรคการเมืองที่ตนต้องการเลือกแทน ยกตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น อินเดีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งออกมาว่า การออกแบบเครื่องหมายหรือโลโก้พรรคการเมืองต้องเป็นรูปแบบที่ประชาชนจดจำได้ง่าย บางประเทศให้มีชื่อผู้สมัครและรูปของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง การออกแบบบัตรเลือกตั้งที่มีความละเอียดถี่ถ้วน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถอ่านออก เขียนได้ ทั้งนี้บัตรเลือกตั้งในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน ในประเทศญี่ปุ่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเขียนชื่อของผู้สมัครลงในบัตรเลือกตั้ง ในประเทศฝรั่งเศสผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกบัตรที่มีชื่อผู้สมัครและนำมาหย่อนในหีบบัตรเลือกตั้ง

         

3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

          บัตรไฮบริดนี้เกิดขึ้นจากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ได้อ้างอิงว่าได้นำแนวคิดของระบบการเลือกตั้งดังกล่าวนี้มาจากประเทศเยอรมนี ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจหลักการเลือกตั้งดังกล่าวผู้เขียนจึงนำหลักการเลือกตั้งและประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในเยอรมนีมาอธิบายหลักการสำคัญดังนี้

          สนธิ เตชานันท์[2] อธิบายหลักการของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบจัดสรรปันส่วน (Proportional representative election) ของเยอรมนีเพื่อให้เห็นลักษณะสำคัญของหลักการณ์ต่าง ๆ
ที่ปรากฏในระบบการเลือกตั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนโดยยกตัวอย่างการเลือกตั้งระบบดังกล่าวในเยอรมนีสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศเยอรมนีสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) ได้แบ่งเขตเลือกตั้งของประเทศออกเป็น 35 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งได้กำหนดคะแนนเสียงโควต้าไว้ตายตัวคือ 60,000 คะแนน จะมีผู้แทน 1 คน ดังนั้น ทุก ๆ 60,000 คะแนนของคะแนนเสียงรวมจึงเป็นที่นั่งสภาผู้แทนที่แต่ละพรรคได้รับในนามพรรคการเมือง จำนวนรวมของสมาชิกสภาผู้แทนจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงรวมในการเลือกตั้ง สำหรับคะแนนเสียงส่วนเกินในเขตเลือกตั้งนั้นมีวิธีการที่สามารถดำเนินการ 2 วิธี คือ วิธีแรกคะแนนเสียงพิเศษ 1 ที่นั่ง ทุก ๆ 60,000 คะแนนเสียง วิธีที่สองเอาคะแนนเสียงส่วนเกินในทุกเขตเลือกตั้งมารวมกัน
และทำการจัดสรรที่นั่งให้โดยใช้คะแนนโควต้า 60,000 คะแนน จะเห็นว่าระบบที่ใช้คะแนนเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก สภาผู้แทนจะเป็นผลสะท้อนของความเข้มแข็งของพรรคการเมืองในประเทศ ระบบนี้ยังช่วยให้พรรคการเมืองควบคุมสมาชิกได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากพรรคเป็นผู้จัดอันดับรายชื่อในบัญชีเลือกตั้ง

          ผลจากการปฏิบัติได้ทำให้มีการปรักปรำระบบนี้อย่างกว้างขวาง เห็นกันว่าระบบนี้ได้ยังผลให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยขึ้นมา จากการรวมคะแนนเสียงที่พรรคนั้นได้รับในหลายๆเขตเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองเหล่านั้นได้รับการจัดสรรที่นั่งอย่างน้อยก็ 2 – 3 ที่สำคัญกว่านั้นก็คือวิจารณ์กันว่าระบบนี้ได้ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้ภายหลังการเลือกตั้ง เกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในสภาผู้แทน ทำให้ไม่สามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพขึ้นมาได้ หรือรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการบัญญัติกฎหมายซึ่งจะมีผลดีต่อประเทศชาติได้ เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ การเลือกตั้งในระบบนี้ทำให้อำนาจตกอยู่กับบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่ก็เกินเลยไปที่จะกล่าวว่าการเลือกตั้งระบบนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้สาธารณรัฐไวมาร์ถึงกาลอวสาน เพราะอันที่จริงแล้วเป็นผลเนื่องมาจากบรรยากาศซึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมรัฐสภา เนื่องจากมีการชิงดีชิงเด่นกันในระหว่างกลุ่ม[3]

          ในปัจจุบัน สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี ได้มีการแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคะแนนโควต้าดังกล่าว โดยแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งให้มีระบบการออกเสียงเลือกตั้งที่ผสมกันระหว่างระบบการเลือกตั้งผู้แทนแบบแบ่งเขต ซึ่งเขตเลือกตั้งหนึ่งเลือกผู้แทนได้ 1 คน กับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ระบบนี้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1949 และได้รับการแก้ไขในปี ค.ศ. 1953 และปี ค.ศ. 1956 ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวมีวิธีการดังนี้

          1. การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จากจำนวนสภาผู้แทนซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 496 คนนั้น ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้คือ 248 คน จะเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยเขตหนึ่งเลือกผู้แทนได้ 1 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง

          2. การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ สมาชิกสภาผู้แทนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งคือ 248 คน จะเป็นการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะเสนอบัญชีรายชื่อของตน

          ในการเลือกตั้ง ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะออกเสียงได้ 2 เสียง เสียงแรกจะเป็นการเลือกตัวบุคคลที่สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น อีกเสียงหนึ่งเป็นการเลือกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ อีกนัยหนึ่งก็คือการเลือกพรรค ซึ่งเสียงแรกนั้นไม่มีปัญหาดังกล่าวแล้วในข้างต้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง สำหรับเสียงที่สองซึ่งเป็นการเลือกพรรคการเมืองนั้นจะเอาคะแนนของแต่ละพรรคมารวมกันเพื่อที่จะได้ทราบว่า มีการออกเสียงที่ 2 ให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนเท่าใดบ้าง ต่อจากนั้นก็เอาที่นั่งในส่วนที่สองนี้มาจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ตามคะแนนเสียงแต่ละพรรคได้รับตามสูตรการคิดคะแนนที่วางไว้

สำหรับบัตรเลือกตั้งของประเทศไทยที่ผ่านมามี 2 แบบ กล่าวคือ แบบดั้งเดิมใช้สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต โดยมีตัวเลขกับช่องกากบาท ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544
มีระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น บัตรเลือกตั้งจึงเพิ่มชื่อและเครื่องหมายหรือโลโก้พรรคการเมือง ซึ่งก่อนจัดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะจับฉลากว่าได้หมายเลขใด เช่น พรรค “พ” จับได้หมายเลข 1 ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะมีกี่เขต ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรค “พ” จะใช้หมายเลข 1 ในการหาเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ

          ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับลักษณะของบัตรเลือกตั้ง ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561 กำหนดให้บัตรเลือกตั้งที่จะใช้ลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ประกอบด้วย (1) หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง (2)
ชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง (3) ชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัด ซึ่งบัตรเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นการพลิกโฉมการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ ซึ่งมีการตั้งชื่อว่า “บัตรไฮบริด” คือเป็นบัตรลูกผสมที่มาจากบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เพราะเมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งกากบาทลงคะแนนได้เพียงครั้งเดียวในบัตรเลือกตั้งในใบเดียวดังกล่าว จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกได้ถึง 3 อย่าง ได้แก่
(1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต  (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และ(3) บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น

          ปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกอย่างสำหรับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปโดยการใช้บัตรเลือกตั้ง “ไฮบริด”
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 คือ มีการกำหนดเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 350 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องจับหมายเลขที่ใช้ในการหาเสียงของตนเอง ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะมีหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับการจับฉลากได้หมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นในเขตเลือกตั้งนั้น ดังนั้น หมายเลข 1 ของแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรคการเมืองแตกต่างกัน ทำให้บัตรเลือกตั้งที่ต้องจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีทั้งสิ้น 350 แบบ จึงเกิดปัญหาสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า พรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะพรรคบางพรรคส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง บางพรรคส่งครบทุกเขตเลือกตั้งเป็นต้น เพราะถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัด เข้าใจว่าพรรคที่ตนชื่นชอบได้ส่งผู้สมัคร และได้ไปกาช่องกากบาทที่ไม่มีผู้สมัครย่อมทำให้บัตรเลือกตั้งใบดังกล่าว กลายเป็นบัตรเสีย สำหรับปัญหาสำคัญสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ เมื่อหมายเลขผู้สมัครของแต่ละพรรคไม่ตรงกันทั้งประเทศ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะจดจำหมายเลขผู้สมัครในเขตของตนอย่างไร ประเด็นปัญหาดังกล่าวเปรียบเหมือนการทำให้การสิทธิเลือกตั้งของประชาชนอยู่ในภาวะถอยหลังลงคลอง เพราะก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกเขตของแต่ละพรรคการเมืองใช้หมายเลขประจำตัวเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและเข้าใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งใช้ปฏิบัติในการเลือกตั้งมาหลายครั้งก่อนหน้านี้และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเริ่มชินกับวิธีการดังกล่าว แต่การให้เหตุผลของผู้ร่างกฎหมายเลือกตั้งในครั้งนี้ที่ว่าไม่สามารถกำหนดหมายเลขของผู้สมัครเหมือนกันทุกเขตทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา เพราะบางพรรคไม่ส่งผู้สมัครให้ครบทุกเขตนั้นพบว่าในทางปฏิบัติไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะหากพรรคไม่ส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น สามารถหาทางออกโดยไม่ต้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาช่องกากบาทที่ไม่มีผู้สมัครของพรรคนั้นในเขตนั้นไปเลย หรืออาจแก้ไขโดยให้พรรคที่ส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขตเลือกตั้งให้อยู่ลำดับท้ายๆ เพื่อป้องกันความสับสน ความสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยคือ ประชาชนต้องมีส่วนในการเมือง เมื่อพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองนั้นย่อมมีหน้าที่ต้องนำนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ กำหนดเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ รูปแบบการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ย่อมทำให้ประชาชนสามารถเลือกพรรคการเมืองที่ตนพอใจได้อย่างถูกต้อง[4]

 

4. สรุป

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560
ที่คณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้เรียกเป็นชื่อทั่วไปว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งในการลงคะแนนเสียงนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 1 ใบเพื่อกาลงคะแนน แต่สามารถแสดงเหตุผลของการตัดสินใจผ่านบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบได้หลายอย่าง กล่าวคือ บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงใบเดียวที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสามารถตีความการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้หลายประการ  ทำให้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งดังกล่าวมีลักษณะเป็นบัตรพันทาง
หรือไฮบริด ที่ไม่แน่ใจว่าคะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกากบาทลงไปในการเลือกตั้งเพราะเหตุผลเกี่ยวกับตัวบุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น หรือชื่นชอบนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัด หรือเห็นชอบกับรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
ที่พรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเสนอ

 

5.บรรณานุกรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก

http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563

สนธิ เตชานันท์. (2543). พื้นฐานรัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Meehan, E. J., Roche, J.P. & Stedman, M. S. (1966). The Dynamics of Modern Government.

New York: McGraw-Hill Book Company.

 

อ้างอิง

[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[2] สนธิ เตชานันท์. (2543). พื้นฐานรัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.น. 215 – 220

[3] Meehan, E. J., Roche, J.P. & Stedman, M. S. (1966). The Dynamics of Modern Government.

New York: McGraw-Hill Book Company. P. 134

[4] รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563